Work Shop ดี เก่ง และมีความสุขในตน: (4) การสร้างแรงบันดาลใจ ตอนที่ 1


แนวทางในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียน “ดี เก่ง และมีความสุขในตน”

                  จากที่ได้เคยบันทึกไว้ในตอนที่ผ่านมาของ Work Shop ดี เก่ง และมีความสุขในตน คงจำกันได้ว่า ในครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา มาบรรยายให้กับผู้เข้าร่วมประชุมฟัง เพื่อให้เห็น กรอบแนวคิดในเรื่อง “ดี เก่ง และมีความสุขในตน” โดยสิ่งที่นำมาเล่านั้นเป็นประสบการณ์โดยตรงในการบริหารโรงเรียนสัตยาไส ที่จังหวัดลพบุรี ชื่อหัวข้อในการบรรยายครั้งนี้มีว่า “การสร้างแรงบันดาลใจ” เนื่องจากท่านเห็นว่าแรงบันดาลใจนี้ จะเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีให้กับตัวเด็กเองในการที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง เนื้อหาสาระสำคัญของการบรรยายมีดังนี้...

                  ดร.อาจอง เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า แรงบันดาลใจนั้นสามารถเปลี่ยนวิธีคิด หรือทำให้คนมีการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ครูจึงมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนเอง ดังนั้นท่านได้ให้เคล็ดลับ สำหรับคุณครู ที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กได้นั้นคือ


                “ครูต้องมีเมตตากับเด็ก จึงจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจที่ออกจากใจไปสู่ใจของเด็กได้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพูดจากปากไปสมอง ผู้เรียนจะท่องได้ จำได้ แต่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นครูสอนเด็กได้แต่ไม่อาจเปลี่ยนให้เด็กเป็นคนดีได้ ดังนั้นในเรื่องคุณธรรม หากมีการพูดจากใจถึงใจแล้ว ก็ไม่ต้องสอนคุณธรรมเลย เพราะหากเข้าถึงใจได้ จะเปลี่ยนแปลงทันที”


                  เห็นได้ว่า ความเมตตาของครูที่มีต่อลูกศิษย์เป็นสิ่งสำคัญ ท่านมีวิธีนี้ในการคัดเลือกครูที่มีความเมตตาในโรงเรียนสัตยาสัยอีกด้วย วิธีการเริ่มจากในวันแรก จะเป็นการบรรยายถึงแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ที่เน้นคุณธรรม หลังจากวันนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้สมัครจะถอนตัวไป อาจมาจากไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว วันที่สอง ท่านจะอธิบายบทบาทของครูต้องมีความเสียสละ เป็นการเสียสละอย่างสูงแบบที่ว่า 24 ชั่วโมงเพื่อเด็ก ท่านยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์ที่ครูต้อง ตื่นกลางดึก เพื่อมาห่มผ้าให้เด็กนักเรียน ดังนั้นครูต้องเป็นผู้ที่เสียสละ ทุ่มเท ชีวิตจิตใจของตนเองเพื่อเด็ก หลังจากวันที่สอง อีกครึ่งหนึ่งของผู้สมัครจะถอนตัวไป และในวันสุดท้าย จะให้ครูได้สัมผัสกับเด็กโดยตรง และจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าครูท่านใดมีความเมตตา จากปฏิกิริยาของเด็ก เพราะเด็กจะมีความรู้สึกที่เร็ว ด้วยวิธีดังกล่าวเชื่อมั่นว่าจะได้ครูที่มีความเมตตาต่อเด็กอย่างจริงใจ
 

 onec2

ดร.อาจอง ขณะกำลังบรรยาย
                  

                  ผมเองได้ฟัง ดร.อาจองแล้ว ทำให้กลับมาดูบทบาทและหน้าที่ในการเป็นอาจารย์ของตัวเอง ทำให้เกิดความตั้งใจที่จะปรับปรุงตนเองเพราะเข้าใจแล้วว่า ความเมตตาต่อเด็กจะมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเองอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 87372เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2007 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เรียนท่านอาจารย์มณฑลผมไม่แน่ใจว่าในวงการวัดผลประเมินผลนั้น ได้มีการสร้าง "แบบวัดความเมตตา" เป็นการเฉพาะหรือไม่เพราะเท่าที่เห็นการสอบคัดเลือก ครู หรือ อาจารย์ จะเน้นเชิงวิชาการ และทักษะตามสาขา เท่านั้น ครับจึงไม่มีใครบอกได้ว่าผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็นครู หรือ อาจารย์ นั้น มีความเมตตา กรุณา หรือไม่ไม่เคยเห็นประกาศรับสมัครงานใด ที่ระบุคุณสมบัติ เรื่อง ความเมตตากรุณา ลงไปเลยครับ ขอบคุณครับ กัมปนาท 

 

ขอบคุณมากสำหรับ แนวคิดของการวัดความเมตา ในตัวครู - ผมเองเคยทำแบบทดสอบคล้ายๆกับวัด ความคิดเห็นของตัวเองว่าชอบไม่ชอบ ต่อเหตุการณ์ที่ครูจะต้องเจอ หรือ พบบ่อยๆ ผมเองคิดว่า น่าจะคล้ายกับแบบทดสอบความถนัดในการเป็นครู (ผมเองไม่แน่ใจเพราะยังไม่เคยทำแบบทดสอบตัวนี้)

ซึ่งในแบบทดสอบที่เคยทำนั้นมันก็สามารถสะท้อนความเมตตาของครูที่จะมีต่อลูกศิษย์ได้

ได้พบคำถามของคุณแจ๊ค ก็เลยทำให้นึกขึ้นได้ ถึงผลทดสอบในครั้งนั้น ผมได้คะแนนในระดับที่ผมเองประหลาดใจ (ให้คะแนนด้วยความซื่อสัตย์ต่อตนเอง) และไม่เชื่อว่าจะชัดขนาดนั้น

แต่นักศึกษามักประเมินผมว่าค่อนข้างจริงจังกับการสอนมาก...ขอบคุณที่ทำให้สะกิดนึกถึงความหลังได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท