รวมก๊วนสร้างพลังเรียนรู้ และพัฒนากิจกรรมผู้สูงอายุ (3) ผอ.สุธา นำด้วยเรื่องเล่า


จะบอกว่า ชมรมผู้สูงอายุและเครือข่ายทางด้านสาธารณสุขของเรานี่ จะไปช่วยแก้ปัญหาของสังคมได้อย่างไร

 

วันนี้ (26 กค.50) ก็มีผู้เข้าประชุมมาจากหลากหลายนะคะ มีทั้งทันตแพทย์ ทันตาภิบาล นักวิชาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล โภชนากร เจ้าหน้าที่บริหาร รวมไปถึง อสม. แน่ะ พี่ อสม. มาจากลำปลายมาศละค่ะ ... ก็มาจาก 11 จังหวัด ก็คือ จังหวัดเพชรบุรี สุพรรณบุรี ลำปาง เชียงใหม่ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ลำปาง ราชบุรี ...

ผู้อำนวยการกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัยค่ะ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ... ท่านมาเปิดประชุมให้ และแถมด้วยมาเล่าเรื่องที่ประทับใจให้ฟัง ดิฉันขอนำมาเล่าในบางส่วนค่ะ ...

  • อยากจะเรียนว่า สิ่งที่เรามาในวันนี้ ความจริงทุกคนเป็นขุมพลังของแต่ละหน่วย ที่มารวมตัวกัน วันนี้มี 5 กลุ่มใหญ่ๆ ที่จะทำงาน เป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องของสุขภาพ ... ถ้าเราอยู่เดี่ยวๆ อาจจะไม่เห็นว่า เรามีพลัง ... แต่ถ้ามารวมตัวกัน ก็จะมีพลังเยอะมาก และพลังตรงนี้จะไปช่วยหลายๆ เรื่องในพื้นที่ของเราเอง
  • ผมดูหนังสือพิมพ์ ฟังข่าว ว่า ... จริงๆ แล้ว ประเทศไทย เมืองไทยเรามีวิกฤติเยอะแยะ ผมไม่แน่ใจว่าในพื้นที่ของพวกเราจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ว่าใน กทม. เห็นข่าวไหมครับว่า มีการเดินขบวน เกิดวิกฤติ หรือเรื่องรัฐธรรมนูญ ...
  • ส่วนหนึ่ง ผมมองว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม จะเชื่อมโยงกับที่เรากำลังทำงานกันอยู่เยอะมากเลย เรื่องของชมรมผู้สูงอายุ
  • จะบอกว่า ชมรมผู้สูงอายุและเครือข่ายทางด้านสาธารณสุขของเรานี่ จะไปช่วยแก้ปัญหาของสังคมได้อย่างไร
  • เอาง่ายๆ นิดเดียว คือ วิกฤติตรงนี้มีเยอะแยะทั้งหมด ค่าเงินของเราก็แข็งขึ้น ... ข่าวปิดโรงงานไทยสิน เขาก็รู้ทันทีว่า โรงงานเขามีปัญหาจากค่าเงิน คนที่ทำเรื่องเศรษฐกิจจะมีผลทันที ที่ค่าเงินแข็งขึ้น ขณะที่หุ้นบูม ทำให้คนหนึ่งได้ ขณะที่อีกคนหนึ่งเสีย
  • อีกข่าวหนึ่ง ... ที่พนักงานแบ็งค์ได้เงินไปแสนกว่าบาท แถวพระราม 3 หรือได้ข่าวที่ Seven eleven ... ผมคิดว่ามันก็เป็นปัญหาที่มันเกิดขึ้น
  • ชุมชนจะเข้มแข็งได้ เพราะอะไรบ้าง ... ชมรมแม่บ้าน ชมรมที่เกี่ยวกับเยาวชน ... ผมว่าตรงนี้ก็เป็นกลไกหนึ่ง และที่เรามากันตรงนี้ ก็เป็นเรื่องของชมรมผู้สูงอายุ
  • จากที่ผมได้ไปที่ลำปาง พบว่าผู้สูงอายุหลายๆ ท่านมี power เยอะทีเดียว หมายความว่า เขามีบารมีที่สั่งสมมาตั้งแต่ทำงาน บางคนเป็นที่ปรึกษาของสภาจังหวัด ผู้สูงอายุสามารถที่จะเข้าไปนั่งประชุม ดูแลงบฯ ของผู้สูงอายุต่างๆ ได้ ... ผมคิดว่า กลุ่มผู้สูงอายุเป็นหัวใจของชุมชนที่เข้มแข็งได้มาก มากทีเดียว
  • ผมไปที่จังหวัดตราด เรื่องเกี่ยวกับที่อำเภอเขาสมิง ต.ท่าโสม จ.ตราด เขาดังเรื่อง กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ วันละบาท ทาง อบต. เข้าร่วมเยอะมาก และ อสม. เข้ามาร่วม ตอนนี้เขามีเงินที่ตำบลท่าโสม อยู่ที่ประมาณ 100 ล้าน และ สปสช. ก็เอาเรื่องของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ผนวกกับกองทุนตำบล (เงิน 37 บาท ที่ไปที่ตำบล) มาจับมือกัน แล้วสร้างเป็น หลักประกันระดับตำบลขึ้น ตรงนี้เริ่มจาก พระผู้นำ เขาขยายไปทั่วทั้งจังหวัด ครอบคลุมได้ประมาณเกือบ 40 กว่า% ... ก็เป็นธนาคารย่อมๆ เลย
  • ผมอยากให้เห็นว่า สิ่งที่เราทำกันอยู่ในทุกวันนี้ แม้นว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพช่องปาก แต่ถ้าเราโยงกันได้ ถ้าชุมชนเข้มแข็ง หมู่บ้านเข้มแข็ง คนหรือครอบครัวต่างๆ เข้มแข็ง มีความเอื้ออาทรกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ดูแลซึ่งกันและกัน คนมีมากก็ให้มาก มีน้อยก็ให้น้อย ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สังคมก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เข้ากับ slogan ของรัฐบาลทีเดียว ... แต่กำลังคานกันอยู่ระหว่างความเจริญทางวัตถุ กับความเจริญทางจิตใจ
  • พวกเราทุกคนก็ถือว่าเป็นตัวหลัก กลไกหลักที่อยู่ในชุมชน ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมประสาน ที่จะให้ชมรมต่างๆ นั้นเข้มแข็งขึ้น จะมีเนื้องานของเราที่เราเชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุข และเรื่องของสุขภาพช่องปาก
  • เมื่อคืนนี้ผมได้ดูรายการจุดเปลี่ยน ... เขาพูดเรื่องเด็กติดทีวี น่าสนใจไหมครับ
  • เพราะการเลี้ยงลูกที่ให้ลูกดูทีวี จะเกิดผลกระทบมากเลย ตั้งแต่เรื่องพัฒนาการ เด็กก็จะพูดได้ช้า คำศัพท์ต่างๆ ก็จะได้น้อยลง การสื่อสารกับผู้ปกครองก็จะน้อยลง ในรายการมีอาม่าเลี้ยงหลานอยู่คนเดียว และก็ไม่มีเวลาดูแล บ้านก็อยู่แถวเยาวราช ...
  • นี่คงเป็นลักษณะในสังคมของเรา ถ้ามีเพื่อนบ้านใกล้เคียง เข้าใจกับครอบครัวนี้ เข้ามาเสริมกันมากขึ้น มีชมรม หรือเครือข่ายต่างๆ ที่เกาะกลุ่มกันอยู่ในชุมชนมากขึ้น อย่างที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ในขณะนี้ ผมว่าแต่ละครอบครัวก็จะมีความสุขมากขึ้น
  • มีเรื่องในไทยรัฐเรื่องหนึ่ง ... ผมขอนำมาเล่าให้ฟัง ... มีข้อความหนึ่งที่ผมอ่านแล้วติดใจ
  • ... ถ้าเราจะทำเรื่องของชมรม ทำงานอยู่ที่ทำงาน เรื่องของชมรม การทำงานที่มีคนตั้งแต่ 1, 2, 3 และหลายคนเข้ามารวมตัวกันแล้วนี่ ก็มักจะเจอเรื่องที่เข้าใจกันบ้าง คนที่มีความรู้สึก ความชอบคล้ายๆ กันก็มารวมตัวกัน คนที่ชอบไปกินก๋วยเตี๋ยวก็จะไปกินก๋วยเตี๋ยวกัน คนที่ชอบไป Shopping ก็จะรวมกลุ่มกันไป คนที่ชอบทำงานหนักๆ ก็จะรวมกลุ่มกัน
  • แต่ว่ามันมีเรื่องของความเข้าใจกันในแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน และก็เกิดความขัดแย้งกันในองค์กร
  • ผมก็อยากเอา "บทความคอลัมน์ ชักธงรบ" มาให้พวกเราฟังสักนิดหนึ่ง
  • เรื่อง “อิฐสองก้อน” เขียนว่า
  • ... ชัย ราชวัตร อ่านหนังสือธรรมะบันเทิงหลายเรื่อง หลายเรื่องเล่าของพระฝรั่ง มีเรื่องที่ซาบซึ้งใจ ก็เลยมาเล่าต่อ คือ เรื่อง ก้อนอิฐสองก้อน
  • อ.พรหมเล่าว่า เมื่อที่ดินว่างเปล่าที่เทกระเป๋าซื้อ เริ่มเป็นรูปร่างเหมือนวัด ท่านก็กลายเป็นช่างก่อสร้างฝีมือดี เรียกคณะทำงานว่า บริษัทพุทธก่อสร้างได้เต็มปาก
  • แต่ตอนเริ่มต้นนั้น มันช่างยากเย็นแสนเข็น การก่อกำแพงอิฐ ที่ดูเป็นเรื่องง่ายๆ แค่โบกปูนลงไปแล้ว ก็วางก้อนอิฐ แตะด้านนั้นทีด้านนี้ทีให้เข้าที่ แต่ความจริงตอนเริ่มก่ออิฐใหม่ๆ แตะกดมุมหนึ่งให้ได้ระดับ อีกมุมหนึ่งกลับยกขึ้น พอกดด้านที่ยกให้ลงมา อิฐก็เริ่มแตกแถวแตกแนว ... พอดันให้กลับเข้าที่ มุมแรก ก็เริ่มสูงเกินไปอีก
  • อ.พรหม ศิษย์หลวงพ่อชา ผ่านวิชาพระป่าจากวัดหนองป่าพงมาแล้ว ไม่สนใจว่าจะใช้เวลายาวนานสักเท่าไร เพื่อให้มั่นใจว่าอิฐทุกก้อน ถูกวางไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ในที่สุดกำแพงอิฐ แผงแรกก็สำเร็จไปได้ด้วยดี
  • ก้าวถอยหลังออกมาชื่นชมผลงาน ก็เห็นอิฐสองก้อน ทำมุมเอียงกับอิฐก้อนอื่น มันทำให้กำแพงทั้งแผงดูไม่ดีเลย ถึงเวลานั้น ปูนก่ออิฐก็แข็งเกินกว่าที่จะดึงอิฐสองก้อนนั้นออกมาเรียงใหม่
  • อ.พรหม อับอายที่จะทำกำแพงน่าเกลียด ขออนุญาติเจ้าอาวาสทุบกำแพงทิ้งแล้วก่อใหม่ แต่เจ้าอาวาสไม่อนุญาติ
  • นับแต่วันนั้น เมื่อมีแขกมาเยี่ยมชมวัด อ.พรหม ก็มักจะพาแขกเลี่ยงกำแพงแถบนั้น ผลักความสนใจให้ไปอยู่ที่อื่น
  • ... สามเดือนต่อมา แขกคนหนึ่งเห็นกำแพงนั้น ออกปากว่า กำแพงนี้สวยดี “คุณ สายตาคุณเสื่อมหรือเปล่า คุณไม่เห็นรึ มันมีก่อนอิฐสองก้อนน่ะ วางไม่ดี” “ใช่ ผมเห็นอิฐสองก้อนนั้น” แขกที่มาชมวัดตอบ "แต่ผมก็เห็นด้วยว่า มีอิฐอีก 998 ก้อน เรียงกันอย่างเป็นระเบียบสวยงามมาก" อาตมาถึงกับอึ้ง
  • อ.พรหมบอกว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ที่ท่านเริ่มมองเห็นอิฐก้อนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้าย ด้านขวา ก่อไว้ดีไม่มีที่ตี นับแต่วันนั้น กำแพงนั้นก็ไม่น่าเกลียดอีกต่อไป
  • เปรียบกับชีวิตคน มีคนมากมายสัมพันธ์กัน เพียงเขาเพ่งมองแต่อิฐไม่ดีสองก้อน ของคนอื่น บางคนท้อแท้ สิ้นหวัง คิดฆ่าตัวตาย เพราะอิฐไม่ดีสองก้อนในตัวเอง เป็นเรื่องเศร้าหลายชั้น
  • คนเราทำลายกำแพงที่ดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ช่างก่อสร้างมืออาชีพ สารภาพ เคยทำสิ่งผิดพลาด แต่เขาจะบอกทุกครั้งว่า เป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ไม่มีใครเหมือน บางครั้งก็เบิกเงินเพิ่มได้ด้วย
  • ผมกำลังรู้สึกว่า อิฐสองก้อน ทำให้คนหลายฝ่ายทะเลาะกัน วิวาทขัดแย้งกัน จนกลายเป็นเรื่องทำร้ายบ้านเมืองมากเกินไปเสียแล้ว
  • อ.พรหมจบคำสอน “เพียงเลิกจดจ้องข้อผิดพลาดของคนอื่น และหัดมองให้เป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว ก็อาจเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ"
  • ผมคิดว่า ... ตรงนี้เป็นสิ่งที่นำมาจุดประกายให้เห็นว่า ในเรื่องของการทำงานในรูปแบบของภาคีเครือข่าย ในรูปแบบของชมรม ในรูปแบบของคนหมู่มาก มักจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และถ้าเราเห็นและเข้าใจในความเป็นตัวตนของเขาแล้วนี่ เราจะเข้าใจ จะรู้สึกในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ และนำสิ่งที่ดีดี มาเกื้อหนุน
  • การที่จะทำงานในเชิงของภาคีเครือข่าย เรื่องของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ หรือสุขภาพช่องปากที่เรากำลังดำเนินการอยู่นี้ ก็จะเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง
  • ตลอด 2 วันนี้ พวกเราคงจะได้สิ่งที่ดีดี ซึ่งเราได้ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ ในการทำงานให้ประชาชนในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ดำเนินไปได้ด้วยดี และสามารถขยายผลไปในที่ต่างๆ ได้มากขึ้นๆ แตกลูกแตกหน่อให้เต็มพื้นที่ของประเทศไทยทั้งหมด ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ที่ดูแลทั้งเรื่องของความปลอดภัย คุณภาพชีวิต รวมทั้งสุขภาพด้วย

นี่ก็เป็นข้อคิด + เรื่องเล่าที่มีความหมายจาก ผอ.สุธา เกิดการประชุม ลปรร. ของทีมงานผู้สูงอายุกันละค่ะ 

รวมเรื่อง "รวมก๊วนสร้างพลังเรียนรู้ และพัฒนากิจกรรมผู้สูงอายุ"

 

หมายเลขบันทึก: 115225เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2007 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน ท่านเพื่อนร่วมทาง

 อิฐทุกก้อน ร่วมก่อสร้างสรรค์ รวมพลัง แบ่งปัน tacit

  • เห็นไหมคะ อ.JJ มาช่วย confirm อิฐทุกก้อน "ร่วมก่อ สร้างสรรค์ รวมพลัง แบ่งปัน tacit"
  • ขอบคุณค่ะ อาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท