ตำนานเกาะช้าง


ตำนานเกาะช้าง
       ตำนานเกาะช้างนี้มีความเกี่ยวพันกันกับตำนานแหลมงอบ
มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าในจังหวัดตราดได้เล่าไว้
หลายกระแส ผู้เขียนพอรวบรวมมาได้ ความว่า
บ้านแหลมงอบนั้น มีหญิงชราคนหนึ่ง ชื่อยายม่อม  ได้เลี้ยงควาย
โดยมีคอกควายอยู่ที่สลักคอก วันหนึ่งควายได้หายไป ยายม่อมออกตามหาควาย จนไปจมน้ำทะเลตายกลายเป็น
โขดหินชื่อยายม่อม ส่วนงอบที่ยายม่อมใส่ไปนั้นกลายเป็นแหลมงอบ ควายของยายม่อมกลายเป็นโขดหินเช่นกัน


       สำหรับเกาะช้างนั้น มีตำนานเล่าว่า เดิมเกาะช้างนั้น มีเสือขนาดใหญ่อาศัยอยู่ชุกชุมมาก โดยข้ามไปมา
ระหว่างฝั่งตำบลแหลมงอบกับเกาะช้างกันได้ ความชุกชุมของเสือที่เกาะช้างในกาลครั้งนั้นปรากฏว่า เสือย่อมเที่ยวเพ่นพ่านหากินอยู่ตามละแวกหมู่บ้านคนนั่นเอง ในช่วงปลายสมัยรัชการที่ ๔ มีญวนผู้หนึ่ง ชื่อ “องค์โด้”
 มีวิชาอาคมแก่กล้า ที่สามารถขับไล่เสือออกไปจากเกาะช้างจนหมดสิ้น ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำ
สมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี และตราด ของหลวงสาครคชเขตต์
(อภิลักษณ์ เกษมพูลผล คอลัมภ์จดหมายเหตุเมืองตราดหนังสือพิมพ์ประชามติ :หน้า๙,๒๕๔๘) กล่าวถึงองค์โด้ ผู้นี้ไว้ว่า เป็นชาวญวณ ผู้มีวิชาอาคมที่แก่กล้าสามารถปราบเสือที่มีอยู่อย่างชุกชุมในเกาะช้างจนเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวบ้านยิ่งนัก
       “...ความได้ปรากฏว่า มีผู้วิเศษคนหนึ่งชื่อ องค์โด้ ได้มาที่เกาะช้าง แล้วจัดการทำพิธีร่ายอาคมลง อาถรรพ์ขับไล่เสือร้ายให้สูญหายไป แล้วหลังจากนั้น มาจนกระทั่งบัดนี้ ไม่ปรากฏว่ามีใครพบเห็นเสืออีกเลย...”


       สำหรับตำนานเรื่องนี้ นายติ้น ซึ่งเป็นชาวบ้านเกาะช้าง ได้เคยเล่าถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะช้าง  ซึ่งต่อมานายติ้นได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงติ้นต้นสกุลสลักเพชร

       เรื่องราวที่กล่าวถึงตำนานเกาะช้าง  ชุมชนในเกาะช้าง และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ ของตำนานและนิทานพื้นเมืองของจังหวัดตราดที่กรมศิลปากร ได้พยายามรวบรวม (มหาวิทยาลัยบูรพา,การรักษาเอกลักษณ์และสร้างภูมิต้านทานให้ชุมชนเกาะช้างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยว, ๒๕๔๕-๒๕๔๖:๗-๙)  สรุปได้ดังนี้

“ในสมัยหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้มาสร้างตำหนักเลี้ยงช้างอยู่ที่เกาะช้าง มีพลายเชือกหนึ่งเป็นจ่าโขลงชื่ออ้ายเพชรและมีสองตายายเป็นผู้เลี้ยง ชื่อยายม่อม ส่วนตานั้นไม่ปรากฏชื่อ วันหนึ่งอ้ายเพชรเกิดตกมันหนีเข้าป่าและผสมพันธุ์กับช้างป่า แลเกิดลูกสามเชือก เมื่อพระโพธิสัตว์ทราบเรื่อง สั่งให้ตายายออกตาม โดยให้ตาไปทาง
ทิศเหนือ ส่วนยายไปทิศใต้ อ้ายเพชรหนีไปจนสุดเกาะทางทิศเหนือ ก็ว่ายน้ำข้ามทะเลมาขึ้นฝั่งที่บ้านธรรมชาติ
ปัจจุบันนี้ ส่วนลูกทั้งสามตามไปแต่ว่ายน้ำไม่เป็นจึงจมน้ำตายกลายเป็นหินสามกอง ตรงบริเวณอ่าวคลองสน
ชาวบ้านเรียกว่า “หินช้างสามลูก” ส่วนอ้ายเพชรว่ายน้ำไปจนถึงกลางร่องทะเลลึกได้ถ่ายมูลไว้กลายเป็นหิน เรียกว่า “หินขี้ช้าง” เมื่อขึ้นฝั่งได้ อ้ายเพชรก็มุ่งหน้าเลียบชายฝั่งด้านใต้  ตาซึ่งเป็นผู้เลี้ยงตามไปไม่ทันจึงกลับให้ยายข้ามฝั่งตามไปคนเดียว จนกระทั่งไปตกหลุมโคลนถอนตัวไม่ขึ้นเสียชีวิต และร่างกลายเป็นหิน ชาวบ้านเรียกว่า “หินยายม่อม” ส่วนงอบที่สวมไปด้วยได้ลอยไปตอดตรงปลายแหลมและกลายเป็นหินตรงบริเวณที่ตั้งกระโจมไฟปัจจุบัน “แหลมงอบ” จึงเป็นชื่อที่ได้มาจากงอบของยายม่อมที่ลอยไปติดฝั่งนั่นเอง
       เมื่อพระโพธิสัตว์ทราบเรื่องจากตาจึงเข้าใจว่า อ้ายเพชรจะต้องไปยังเกาะอีก จึงเกณฑ์คนให้ทำคอกดัก ยาวเกือบถึงท้ายเกาะด้านใต้ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านแถบนั้นว่า “บ้านคอก” และเกาะที่เกิดจากลิ่มและสลักทำคอกเรียกว่า “เกาะลิ่ม” “เกาะสลัก” และส่วนใหญ่มักจะเรียกรวมกันว่า “บ้านสลักคอก”
       ส่วนอ้ายเพชรคิดข้ามไปยังเกาะจริง แต่ไม่กลับเข้าคอก แต่เดินอ้อมไปเข้าท้องอ่าวหน้านอก พระโพธิสัตว์จึงสั่งให้คนไปสกัดให้กลับมาเข้าคอก ชาวบ้านจึงเรียกที่ที่ไปสกัดช้าง ตามภาษาชาวบ้านว่า
 “สลักหน้า” หรือ“บ้านสลักเพชร” ซึ่งหมายถึงการสกัด (สลัก) หน้าอ้ายเพชรนั้น ด้วยเหตุแห่งความยุ่งยากทั้งหลาย จึงเป็นเหตุให้พระโพธิสัตว์ได้ฝังอาถรรพ์ไว้ตามเกาะต่างๆเพื่อไม่ให้ช้างเข้าไปอาศัยอีก นับแต่นั้นมาจึงไม่มีช้างอาศัยอยู่บนเกาะจนกระทั่งปัจจุบัน


ภูมิปัญญา อาชีพดั้งเดิมของชุมชนเกาะช้าง
       การอาชีพชาวเกาะ มีการทำสวนมะพร้าว การประมงและการหาสินค้าของป่าตามป่าเขาเป็นพื้นแต่เฉพาะที่เกาะช้างและเกาะหมาก มีการทำนา ทำสวนพริก และสวนหมาก ซึ่งปรากฏหลักฐานการทำสวนพริกไทยมาตั้งแต่สมันรัชการที่ ๕ ที่เจ้าของสวนพริกไทยและสวนหมากขอขายสวนให้เป็นของหลวงโดยพระประเสริฐวานิช ปลูกสวนหมากและพริกไทยที่ตำบลเกาะช้าง พร้อมโรงเรือน ลงทุนไปประมาณ
๗๐๐ ชั่ง มีพริกไทย ๒,๐๐๐ ค้าง สวนหมาก ๓,๐๐๐ ต้น แต่ขัดสนเรื่องเงินทอง จึงได้ตัดสินใจขายสวนดังกล่าวแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้าสยามมหามงกุฎ เป็นเงิน ๓๒๐ ชั่ง และตนก็ย้ายไปขายฝิ่นที่เมืองลาวโดยเจ้าคุณสุรศักดิ์มนตรี (มหาวิทยาลัยบูรพา,การรักษาเอกลักษณ์และสร้างภูมิต้านทานให้ชุมชนเกาะช้างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยว, ๒๕๔๕-๒๕๔๖:๑๐)(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมบทบรรณานุกรมเรื่อง “พระประเสริฐวานิช ขอขายสวนพริกสวนหมาก)

       จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นถึงลักษณะอาชีพการทำมาหากินของชุมชนเกาะช้าง
คือการทำอาชีพสวนหมากและสวนพริกไทยเป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนของพื้นที่ประกอบอาชีพทำนาด้วย

       นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพทำสวนยางพารารับเบอร์ กับสวนผลไม้เบ็ดเตล็ดบ้างเพราะพื้นที่เกาะช้างมีพื้นที่ราบ ทำนา ทำสวนได้มาก ดังนั้นการเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่จะเลี้ยงไว้เป็นพาหนะหรือใช้ในการทำนา เช่นกระบือ ที่เกาะช้างสมัยก่อนมีการเลี้ยงไว้มาก เพราะนอกจากจะใช้ไถนา การลากเข็นไม้แล้ว ยังมีการขายกระบือส่งไปบนฝั่ง ทางแขวงจังหวัดตราดอีกด้วย สัตว์จำพวกที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารมี สุกร เป็ด ไก่ เลี้ยงกัน
ทั่วไป

หมายเลขบันทึก: 46742เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2006 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

     ตามอ่านนะเนี่ย..เล่าไปเรื่อยๆนะ ขอรูปลงด้วยซิ

                                   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท