ลักษณะการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของชุมชนเกาะช้าง : ตอนที่ 2


ในส่วนเกาะช้างนั้น โดยทั่วไปจะเห็นว่าเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะทั้งหลาย ในทางทะเลด้านทิศตะวันออกแห่งหนึ่ง  นอกจากเกาะช้าง ยังมีเกาะกูฏ เกาะหมาก เกาะกระดาษ เกาะคลุ้ม เกาะไม้ซี้ เกาะหวายเกาะรังและเกาะอื่นๆ ขนาดใหญ่เล็ก มีจำนวนรวมกันหลายสิบเกาะ แต่เกาะที่มีคนอาศัยหาเลี้ยงชีพ และตั้งบ้านเรือนมากที่สุด คือเกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกระดาษ และเกาะกูฏ มีบ้างแต่น้อย ส่วนเกาะอื่นๆ บ้านเรือนราษฎรไม่มี
มีแต่ราษฎรพากันไปตั้งถิ่นฐานทำมาหาเลี้ยงชีพชั่วครั้งคราว บรรดาเกาะเหล่านี้ทางด้านปกครองจัดรวมกันเป็นตำบลหนึ่ง เรียกว่า “ตำบลเกาะช้าง” นามอำเภอเรียกว่า “อำเภอเกาะช้าง”เช่นกัน แต่อำเภอไม่ได้ตั้งอยู่ที่เกาะช้าง คือตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมงอบ
       พลเมืองที่อาศัยประกอบอาชีพอยู่ที่เกาะช้าง ส่วนมากเป็นไทย จีนไหหลำ กับญวน(ญวนเว้) จีนแต้จิ๋ว
มีบ้างเล็กน้อย ส่วนที่เกาะหมาก เกาะกระดาษ เกาะกูฏ มีแต่คนไทย จะมีพวกญวน ไทยทางเกาะช้างไปหากินตามเกาะอื่นๆ บ้างเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล”
เอกลักษณ์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนเกาะช้าง
       ความทรงจำจากผู้อาวุโส ผู้สูงอายุหลายคนบนเกาะช้าง (เกาะช้าง:ยุทธศาสตร์การท่องเที ยว,
๒๕๔๕:๓๔-๓๖) เล่าถึงบรรพชนที่เข้ามาอาศัยมีวิถีชีวิตบนเกาะช้างบางส่วนเริ่มตั้งแต่เข้ามาล่าสัตว์ หาของป่าจำพวกน้ำมันยางและแก่นไม้หอมกฤษณา ที่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพดี และบางส่วนก็เข้ามาเพื่อทำประมงพื้นบ้าน เป็นคนงานบริษัทสัมปทาน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ร้ายที่หลบหนีคดีมาจากบนฝั่ง ฯลฯ ต่อมาเมื่อเกาะช้างมีพื้นที่สมบูรณ์เพียงพอต่อการตั้งหลักแหล่งก็เริ่มชักชวนเครือญาติเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการตั้งถิ่นฐานที่อ่าวสลักเพชรและอ่าวคลองสน จนเกิดเป็นชุมชนใหญ่ โดยเฉพาะที่ ชุมชนอ่าวสลักเพชรมีผู้คนส่วนหนึ่งที่สืบเชื้อสายมาจากญวนอพยพ ซึ่งรอนแรมข้ามทะเลหนีภัยสงครามเวียดนามมาตั้งแต่ครั้งอดีต
        เกือบทุกครอบครัวในสมัยนั้น ยังชีพด้วยการทำสวนยางพารา สวนมะพร้าว และสวนผลไม้ บางส่วน
ก็ยึดอาชีพประมงพื้นบ้าน ส่วนบริเวณพื้นราบด้านหน้าเกาะทีอยู่ทางทิศตะวันตก มีผู้เข้ามาบุกเบิกทำกินน้อยราย
เพราะพื้นที่ดังกล่าวการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะมีภูเขาสูงชันกั้นอยู่ ต้องเดินทางติดต่อกันทางเรือเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมที่คลื่นลมแรง ยาวนานถึง ๖ เดือน ใครที่เข้าไปทำกินจึงเหมือนถูกตัดขาดจากภายนอก จากการสัมภาษณ์ (นายประจิม สนนิวาส ผู้อาวุโส อายุกว่า ๗๐ ปี )  ชาวบ้านดั้งเดิมของบ้านคลองสนเล่าให้ฟังว่า “เมื่อสมัยก่อนที่เกาะช้างยังไม่มีถนนเช่นปัจจุบัน ชาวบ้าน หรือ เด็กนักเรียน ที่อาศัยอยู่บริเวณหาดทรายขาว หาดคลองพร้าว แหลมไชยเชษฐ์ หรือหาดไก่แบ้ ไปจนถึงบางเบ้า หากจะเดินทางมายังบ้านคลองสนแหล่งชุมชนที่เจริญที่สุดในละแวกนั้นเพราะมีวัดคลองสน และโรงเรียนบ้านคลองสนตั้งอยู่ ต้องเดินทางด้วยเท้าลัดเลาะข้ามภูเขาสูง ทุรกันดารและใช้เวลาเดินทางเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหน้าฝนต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่าเดิมถึงเท่าตัว เด็กนักเรียนสมัยนั้นหากมีใจรักเรียนหนังสือจริงๆ ต้องแบกข้าวสารอาหารแห้งมาขออาศัยวัด หรือญาติในหมู่บ้านเพื่อเรียนหนังสือ การเดินทางไปเช้าเย็นกลับเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลย มาพักอาศัย ๑-๒ เดือนหรือโรงเรียนปิดเทอมจึงเดือนทางกลับบ้านสักครั้ง ยิ่งในช่วงหน้าลมมรสุมคลื่นลมจัดไม่สามารถเดินทางข้ามไปฝั ่งแหลมงอบเพื่อซื้อข้าวสารอาหารได้ บางครั้ง บางปี ต้องขุดหัวกลอย มาต้มกินแทนข้าว หรือ
ต้มข้าวปนกลอย เป็นหนึ่งสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ติดต่อกันก็ยังมี สุดแสนลำบาก  อัตคัดขัดสนยิ่งนัก”

แต่ถึงแม้จะมีจะมีความยากลำบากของการดำรงชีวิต แต่วิถีธรรมชาติก็ไม่อาจปิดกั้นความมุ่งมั่นของผู้บุกเบิกจำนวนหนึ่งหากไล่เรียงไปตามหาดทรายขาวจะพบว่ามีครอบครัวหลักๆ ที่เป็นตระกูลดั้งเดิมของชุมชนเกาะช้างตั้งแต่อดีต เช่น ตระกูลเกิดมณี ตระกูลจันเดิม  ชุมชนคลองพร้าวได้แก่ ตระกูลประศาสน์ศิลป์
ตระกูลสุนทรกิจ ชุมชนหาดไก่แบ้ ได้แก่ตระกูลขนรกุล  ครอบครัวในตระกูลดังกล่าวได้เปลี่ยนวิถีชีวิต
ของตนเองจากชาวสวนและชาวประมง มาประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

หมายเลขบันทึก: 46737เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2006 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

  ขอรูปประกอบด้วยซิ.. อยากเห็นเกาะช้าง ไม่เคยไปเที่ยวขอดูภาพไปพลางก่อนซิ

                                  Animation03v

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท