บทวิเคราะห์ทิศทางตลาดทุนโลก 2007


เป็นข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับผู้อยากรู้ความเป็นไปของตลาดทุนโลก เป็นบทวิเคราะห์ของ Merrill Lynch ออกมาในชื่อ World Wealth Report 2007

Download ได้จาก ที่นี่

มีข้อมูลหลากหลายพอสมควร 

บางส่วน วิเคราะห์เกี่ยวกับคนรวย และคนซูเปอร์รวย ว่ารวยแค่ไหน รวยอย่างไร ใช้ความรวยไปทำอะไร

จากประชากรโลก ปัจจุบัน คาดว่ามีประมาณ 6700 ล้านคน (ข้อมูลจากวิกิ)  ข้อมูลนี้ชี้ว่า มีคนที่รวยเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ มี 9.5 ล้านคน (เทียบเท่า 0.14 % ของประชากร) กลุ่มนี้ ครอบครองทรัพย์สินอยู่ 1 ใน 4 ของทั้งโลก และมีกลุ่ม "ซูเปอร์รวย" คือมีสินทรัพย์เกิน 30 ล้านเหรียญ มีอยู่ไม่ถึงราวไม่ถึงแสนคน และครอบครองสินทรัพย์อยู่ 13.1 ล้านล้านเหรียญ ครอบครองราว 9 % ของสินทรัพย์ทั้งโลก

แนวโน้มของการกระจุกตัวนี้ จะยิ่งเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ข้อมูลและมุมมองที่เกี่ยวกับภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เป็นข้อมูลกลาง ๆ ที่ใครทำมาค้าขาย คงสนใจ รวมไปถึงผู้สนใจภูมิรัฐศาสตร์ทั่วไปด้วย

ในบทความนี้ บ่งว่า สหภาพยุโรปกำลังแข็งแกร่งขึ้นทางการเงินอย่างเนิบนาบ และต่อเนื่อง น่าจับตามอง

เมื่อผนวกกับความแข็งแกร่งของเทคโนโลยีระดับต้นน้ำที่หลายปีมานี้ เริ่มแซงขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก เช่น การริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าฟิวชัน (ไม่ใช่ฟิชชันตามปรกตินะครับ การจัดการพลังงานฟิวชันเป็นโจทย์ที่ยาก โหด หิน ยิ่งกว่าการจัดการฟิชชันมากในทางเทคนิค) หรือโครงการฟิสิกส์พลังงานสูง Large Hadron Collider ของ CERN ที่กำลังรอเปิดปีหน้า (LHC ถือว่าเป็นยักษ์ เมื่อเทียบกับ Tevatron ของสหรัฐ แต่ Tevatron เอง ก็รอปิดตัวใน 2009 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรูดม่านปิดฉากการทดลองฟิสิกส์พลังงานสูงในสหรัฐ) ล้วนเป็นโครงการซึ่งจะเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมตามน้ำอีกมากมายในอนาคต ที่ทีมงานใน CERN เองเชื่อว่า จะทำให้เกิดการสมองไหลครั้งใหญ่ของนักฟิสิกส์จากฟากสหรัฐไปฝั่งยุโรป

หลายสิบปีก่อน สหรัฐชูธงโครงการอวกาศ ซึ่งเทคโนโลยีต้นน้ำนี้ เป็นรากฐานเสริมความแข็งแกร่ง เป็นจุดตั้งต้นของการแตกแขนงของเทคโนโลยีอื่นต่อไปอื่น

ตัวอย่างเช่น HACCP หรือระบบประกันคุณภาพมาตรฐานอาหาร โดยวิเคราะห์จุดอ่อนเชิงระบบของการผลิต ที่จะสร้างปัญหาการปนเปื้อนหรือความไม่ปลอดภัยในการบริโภค  ก็มีจุดตั้งต้นจากการตอบโจทย์งานจากนาซา ว่าจะทำอย่างไรให้นักบินอวกาศไม่ไปท้องเสียบนโน้น ซึ่งผู้ผลิตอาหารส่งออกเดี๋ยวนี้ ใครไม่มีตรานี้ประทับเสริมให้ครบพวง  ก็คงลำบาก ไม่ต้องค้าไม่ต้องขายกับตลาดโลกกัน

โครงการฟิสิกส์ยักษ์เหล่านี้ ไม่ใช่ของเล่นให้นักวิทยาศาสตร์เล่นแก้เหงา ส่วนหนึ่ง เพื่อตอบโจทย์เรื่องแหล่งพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมด และอีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจองค์ความรู้ระดับปฐมฐาน

เมื่อไหร่ก็ตาม ที่มนุษย์กล้าตั้งคำถามสำคัญที่ลงลึกที่สุดในระดับปฐมฐาน เรามักพบว่า มีผลกระทบตามมามากกว่าเรื่องนั้น โดยผลกระทบ มักแพร่ไปในทุกมิติของสังคม

กาลิเลโอ หรือนิวตัน ตั้งคำถามพื้นฐานในระดับปฐมฐาน และส่งผลกระทบลึกล้ำต่อสังคมตะวันตกในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมานี้  และคำถามดังกล่าว ก็ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือศาสนาด้วยซ้ำ

ลองคิดอย่างนี้ดูนะครับ ว่าทางฝั่งยุโรป เขามีวิธีคิดที่ขึ้นชื่อว่า เค็ม ไม่ทำอะไรแบบโยนทิ้งเปล่าไม่หวังผล การขับเคลื่อนอภิมหาโครงการยักษ์ระดับนี้ ต้องการพลังขับดันทางการเมืองที่สูงมากในสเกลที่คนไทยอาจไม่เคยมีวาสนาได้เห็นมาก่อน กว่านักการเมืองจะเห็นความสำคัญตรงนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ? น่าคิดอยู่นะครับ

สิ่งที่โครงการเหล่านี้จะดำเนินการในยุโรป ก็คงส่งผลทำนองเดียวกันต่อยุโรปไปได้อีกหลายสิบปี 

เมื่อมองภาพใหญ่ หากสหรัฐเริ่มทรุดจากปัญหาหนี้สินและหนี้เน่าที่มีมหาศาล ก็ชวนให้สงสัยว่า ขั้วอำนาจของโลก อีกไม่กี่ปี อาจเริ่มเห็นการพลิกกลับ และชวนให้จับตาว่า ขั้วใหม่ จะเป็นคู่ใด ?

 

หมายเลขบันทึก: 122106เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท