BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ฉันคือศูนย์กลางเอกภพ


โหราศาสตร์

แนวคิดโหราศาสตร์เริ่มต้นจากความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน... ในฐานะที่เราเป็น สิ่งหนึ่ง ในท่ามกลาง ทุกสิ่ง ดังนั้น ทุกสิ่งจึงมีอิทธิพลต่อเรา (ในมุมกลับเราก็มีอิทธิพลต่อทุกสิ่ง)...การล่วงรู้ว่า สิ่งรอบตัว (หรือทุกสิ่ง) มีอิทธิพลต่อเราอย่างไร ? นั่นคือ จุดเริ่มต้นของแนวคิดโหราศาสตร์....

วิธีการเบื้องต้น ก็ให้จินตนาการว่าเราเป็นศูนย์กลางของเอกภพ (หรือจักรวาฬ) ..นั่นคือ เราเป็นจุดศูนย์กลางของวงกลม...ต่อจากนั้นก็แบ่งสิ่งที่รอบๆ ตัวเราออกไป ๑๒ ส่วนเท่าๆ กัน ...กล่าวคือ มุมรอบวงกลม ๓๖๐ องศา แบ่งออกไป ๑๒ ส่วน (หรือเสี้ยว) จะได้ส่วนละ ๓๐ องศา ....

แต่ละส่วนที่เป็นรัสมีแผ่ออกไปจากตัวเรานั้น เรียกว่า ราศี (ราศีเป็นภาษาสันสกฤต... หรือ ราสิ ในภาษาบาลี แปลว่า กลุ่มหรือกอง)... ซึ่งในแต่ละส่วนหรือราศีจะมีการตั้งชื่อตามที่นักโหราศาสตร์โบราณสังเกตไว้ ซึ่งผู้เขียนค่อยเล่าต่อไป...

กรอบความคิดเบื้องต้น

เราเป็นศูนย์กลางเอกภพ แบ่งสิ่งรอบตัวเราออกไป ๑๒ ส่วน แต่ละส่วน เรียกว่า ราศี   

คำสำคัญ (Tags): #โหราศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 73091เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2007 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นครับ

แต่ว่าพระอาจารย์น่าจะเขียนผิด (ขอโทษด้วยหากว่าเป็นคำเฉพาะ)

"จักรวาล" กับ"รัศมี"

ส่วน "ราศรี" ผมไม่แน่ใจว่าเป็นคำเฉพาะหรือเปล่า แต่ผมเคยเห็นแต่ "ราศี" ครับ

ขอบคุณครับ

คุณอุทัย

ขอบใจมาก จ้า หลวงพี่ก็เขียนผิดๆ ถูกๆ นะแหละ 5 5 5

จักรวาฬ ศัพท์นี้เขียนได้ครับ ตามนัยบาลีสันสกฤต และอาจเขียนได้อีกว่า จักกวาล จักกวาฬ .. ภาษาไทยเก่าๆ ก็มีใช้ แต่ตอนนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ราชบัณฑิตย์ให้ใช้คำไหน

รัสมี เขียนได้ครับ ตามนัยบาลี ส่วนสันสกฤตเป็น รัศมี ..ซึ่งภาษาไทยก็ใช้ รัศมี โดยมากครับ..

ราศรี คำนี้ ตอนเขียนก็รู้สึกว่าอาจผิด ลองเปิดหนังสือก็ผิดจริงครับ สันสกฤตใช้ ราศี ...ส่วน ศรีเป็นสันสกฤต บาลีใช้ สิริ ....แต่พอเป็นภาษาไทย ศิริ ก็มีใช้ครับ (5 5 5)  

ขอบใจอีกครั้งจ้า

เจริญพร

มาถึงการแสดงความคิดเห็นบ้างครับ

ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ ผมเห็นว่า นั่นเป็นเพียงการเกิดของเหตุการณ์ที่ซ้ำ ๆ กัน จนมีคนที่สังเกตุเห็นความซ้ำ ๆ กันนั้น และด้วยข้อมูลนี้เป็นตัวตั้งแล้ว ก็มองหาว่า มีการเคลื่อนที่หรือเหตุการณ์อื่น ๆที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในแบบที่สัมพันธ์กันหรือไม่

แน่นอนว่าสิ่งที่ได้ก็คือ การดำเนินชีวิตของคนเรา สัมพันธ์กันกับดวงดาว(เป็นงั้นไป) ซึ่งแท้ที่จริง แล้ว ธรรมชาติเป็นอย่างนั้นเอง

วิทยาศาสตร์มีทฤษฏีหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ทฤษฏีที่กล่าวว่า "เราจะไม่รู้ว่าสิ่งหนึ่งดำรงอยู่อย่างไร จนกว่าจะเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่ง"

แต่ส่วนหนึ่ง คนเราเองต่างหากที่กำหนดสภาวะต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น การนิ่ง(เรากำหนดว่านั่นคือนิ่ง) เปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหว เรากำหนดอาการแบบนี้ว่า เดิน ว่า วิ่ง กระโดด

"มีโลก เพราะมีเรา"

คุณอุทัย

ถูกต้องครับ ตามที่ว่ามาไม่คัดค้าน

นี้เป็นการนำเสนอแนวคิด (ที่จริงเป็นการทบทวนหรือคิดซ้ำ) โหราศาสตร์ของหลวงพี่ เท่านั้น

เล่ากันว่า นายฮัลเลย์กับนายนิวตัน สนทนากัน พอมาถึงประเด็นโหราศาสตร์ก็ไม่ลงรอยกัน นิวตันเป็นนักโหราศาสตร์ด้วย แต่ฮัลเลย์เป็นเพียงนักดาราศาสตร์ ..นิวตันจึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเรื่องนี้ เราก็คุยกันไม่ได้ เพราะฉันรู้โหราศาสตร์ส่วนคุณไม่รู้โหราศาสตร์

คุณอุทัย ก็ลองทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ นะครับ ว่าเค้ามีวิธีคิดอย่างไร ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะเชื่อหรือไม่เชื่อ นั่นเป็นเรื่องส่วนตัว

เจริญพร

 

 

มโนทัศน์ "ความสัมพันธ์"  กับ " อิทธิพล"  ดูเหมือนจะเป็นคำยักษย์  ของโหราศาสตร์  เพราะ "ความเป็นไปได้"ของโหราศาสตร์ ขึ้นอยู่กับสองมโนทัศน์นี้ ทางโหราศาสตร์เขาคิดหรือนิยามสองคำนี้ว่าอย่างไรครับ 

อาจารย์ ดร.ไสว

คามสัมพันธ์ หมายถึงสิ่งหนึ่งโยงไปถึงสิ่งหนึ่ง ....ส่วน อิทธิพล นั่นคือ แต่ละสิ่ง เมื่อสัมพันธ์กันก็จะทำให้มีผลกระทบบางอย่างเกิดขึ้น ทั้งแง่บวกและแง่ลบ...

ยกตัวอย่างสั้นๆ นะครับ (อันที่จริงประเด็นนี้ คงจะอีกนานกว่าจะถึง) อาทิตย์ คือ ดาวผู้นำ ส่วน พุธ คือ ดาวที่ปรึกษา... ทั้งอาทิตย์และพุธมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ...ถ้าพุธเข้าใกล้อาทิตย์ก็จะหมดอำนาจ นั่นคือ ที่ปรึกษาจะต้องคล้อยตามผู้นำ ไม่สามารถแข็งขืนได้...

นัยตรงข้าง ถ้าพุธห่างจากอาทิตย์ พุธก็จะมีแสงรุ่งเรืองขึ้นมา คล้ายๆ กับที่ปรึกษาบางคนพอไม่มีนายก็ทำตัวยิ่งกว่านาย..ประมาณนี้...

ความเป็นไปของ อาทิตย์และพุธ ทำนองนี้ เรียกว่า อิทธิพล ครับ...

เจริญพร 

กราบพระอาจารย์ค่ะ                

         เคยอ่านที่เค้าวิจารณ์กันมาบ้างเกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์

มีคนวิจารณ์กันก็เยอะบ้างก็ว่างมงาย บ้างก็ว่าไร้สาระ

แต่ที่ฟังดูกลางๆก็คือที่ว่าเป็นเรื่องของสถิติ

แต่ความคิดเห็นส่วนตัวแล้วเชื่อว่าถ้าเป็นเรื่องสถิติ

ก็น่าเชื่อนะคะ  ประกอบกับที่เคยประสบมากับตัวเอง

ในบางอย่างก็ตรงมาก   พระอาจารย์เขียนต่อไปก็ดีค่ะ

อยากอ่านต่อว่าเป็นมาอย่างไรค่ะ
 

เจริญพร คุณโยม Miss ajarncath phamui

ด้วยความยินดีครับ...

เล่าประสบการณ์ส่วนตัวครับ ก่อนศึกษาโหราศาสตร์จะมีความเด็ดขาดในตัวเอง แต่เมื่อเริ่มรู้เรื่องโหราศาสตร์ความมั่นใจในตัวเองก็น้อยลงไป เพราะจะมีโหราศาสตร์มาเป็นปัจจัยหนึ่งมาประกอบในการตัดสินใจเสมอ...

อาตมามิใช่นักปราชญ์ (ขอออกตัวก่อน 5 5 5) ใครกล่าวไว้ก็จำไม่ได้ว่า นักปราชญ์มักจะรู้เรื่องโหราศาสตร์ด้วย กล่าวคือ เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิตมักจะหันมาสนใจโหราศาสตร์ เนื่องจาก บางสิ่งบางอย่างที่ศาสตร์แขนงอื่นๆ ไม่สามารถตอบคำถามได้ แต่โหราศาสตร์สามารถตอบคำถามนั้นได้...ประมาณนี้ครับ...

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท