ธรรมะขีดเส้นใต้ ๖: นายเหตุผลถาม....พุทธทาสตอบ[เขาจะทำการงานให้เหนื่อยยากกันทำไม ถ้าโลกมีแต่ทุกข์]


เพราะโลกทุกข์ นั่นซิ เราจึงต้องนอนตีพุงอยู่ไม่ได้; เพราะโลกทุกข์น่ะซี ต้องทำให้เราลุกขึ้นทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ เพื่อชนะทุกข์ของชีวิต; แลก็เพราะโลกทุกข์นะซี ที่ทำให้เราต้องใช้กำลังใจของเรา ต่อสู้อุปสรรคต่างๆ ที่เป็นก้างขวางทางแห่งความสุขของเราอยู่เรื่อยไป

ธรรมะขีดเส้นใต้ ๖: นายเหตุผลถาม....พุทธทาสตอบ

[เขาจะทำการงานให้เหนื่อยยากกันทำไม  ถ้าโลกมีแต่ทุกข์]

 

        ข้าพเจ้าขอให้  นายเหตุผล  ทำความเข้าใจความหมายของพุทธศาสนาดังกล่าวมานี้เสียก่อน  แล้วเชิญดูคำตอบต่อไป  ดังปรากฏข้างล่างนี้.            

        ๑.  คำถามของนายเหตุผลมีว่า :-  "พุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องทุกข์  โลกนี้มีแต่ทุกข์  จะสุขก็ต่อเมื่อนิพพาน  ดับเป็นขี้เถ้าจืดชืดไปหมดแล้ว.  พุทธศาสนา  ดูถูกอารยธรรมแผนใหม่ของมนุษย์  อย่างที่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีเหตุผลเลย  เขาจะทำการงานให้เหนื่อยยากกันทำไม  ถ้าโลกมีแต่ทุกข์  ข้าพเจ้าไม่ยอม."

        พุทธทาส:  จริง, พุทธศาสนา  กล่าวถึงเรื่องทุกข์ของโลก  การสอนของพุทธศาสนาเช่นนั้น  เป็นส่วนความรู้เห็น,  แต่ไม่ได้หมายให้ผู้รู้เห็นกลายเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ไปเลย.  พุทธศาสนาสอนให้ประชาชนพิจารณาดูให้เห็นสภาวะของโลกตามความเป็นจริงอย่างไร  เมื่อเห็นว่าโลกเป็นทุกข์  จะได้พยายามเยียวยาหรือถอนรากเสีย,  เหมือนกับการสอนให้คนตรวจดูโรคและอาการของโรคในตน  เมื่อพบแล้วจะหาทางแก้ไข  เพื่อจะได้พ้นจากการถูกรบกวนด้วยโรคนั้นๆ ต่อไป.

        ฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่า  พุทธศาสนาสอนให้ค้นหาทุกข์  เพื่อกำจัดมันเสีย  ไม่ได้สอนให้งมงายในเรื่องทุกข์และให้จมอยู่ในกองทุกข์เลย.  พุทธศาสนาสอนว่า  ความทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น,  ความทุกข์เท่านั้นดับไป;  นอกจากทุกข์ก็ไม่มีอะไรเกิด,  นอกจากทุกข์ก็ไม่มีอะไรดับ.  สุขที่เราพูดๆ กันนั้นที่แท้เป็นเพียงสมมติโวหาร  เรียกตามอาการหรือความรู้สึก  ในขณะที่ทุกข์ดับไปครั้งหนึ่ง,  เช่น  เราป่วย  ความทุกข์เวทนาเกิดขึ้น,  เราก็ทุรนทุรายอยากให้หาย,  เราหาวิธีเยียวยาต่างๆ เช่น  อ้อนวอนพระเจ้า,  บนบานบวงสรวงเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์และกินยา,  เราก็ว่าได้สุขอีกครั้งหนึ่ง;  เราเกิดอยากได้อะไรขึ้นมา  ทำให้เราดิ้นรน  กระวนกระวาย  จนบางครั้งกินอาหารไม่ได้  นอนไม่หลับ  พอสำเร็จในความปรารถนาในอารมณ์อยากอันนั้น  ทุกข์เพราะความอยากอันนั้นก็ดับไป  เราก็สมมติเอาว่านั่นเป็นสุข.  รวมความว่า  อาการพลิกแพลงแห่งกิเลสของเราเอง  ที่ทำให้เราเป็นสุขในสิ่งซึ่งที่แท้หาสุขมิได้.

        เราต้องไม่ลืมว่า  พุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ทั้ง กาย วาจา และใจ.  ฉะนั้นไม่ประหลาดอะไรที่พุทธศาสนาอาจปรากฏว่า  เป็นคำสั่งสอนในทางที่ตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของเรา  ผู้ที่ยังแปดเปื้อนด้วยกิเลส,  เพราะความบริสุทธิ์กับความไม่บริสุทธิ์เป็นสภาพที่ตรงกันข้าม.  จึงไม่เป็นปัญหาว่าสิ่งที่คนบริสุทธิ์เห็นว่าเลวทรามและสกปรก  อาจกลับเป็นสิ่งธรรมดา  หรือไม่น่ารังเกียจแก่คนชั่ว  หรือคนที่สกปรกเป็นนิสัยอยู่แล้วไปได้  คนๆ เดียวกันแท้ๆ เมื่อตอนที่เขากำลังเมาสุรามักจะพูดบ่อยๆ ว่า :- “ฉันไม่เมานา-โธ่-เห็นเป็นเมาไปได้,”  แต่พอเขาหายเมามักจะได้ยินคำพูดของเขาในทำนองตรงกันข้ามว่า :- “แหมคุณ  ไม่นึกเลยว่ามันจะเมา  ดื่มเข้าไปเป๊กเดียวแท้ๆ.”  ทีนี้ขอให้คิดดู  หากว่ามีใครมาบอกว่า  การดื่มสุราไม่ดี  มีโทษ  เราควรจะโกรธผู้บอกเราว่าเขาแกล้งตัดความสุขเราไหม?  ข้าพเจ้าคิดว่าคนที่เห็นความเมาดีเท่านั้นจึงจะโกรธ,  และเขาต้องโกรธ  เพราะเขาไม่มีปัญญาที่จะให้รู้สึกว่าความเมากับความไม่เมาต่างกันอย่างไร.  แต่คนที่เขารู้ความแตกต่างในประการทั้งสองนั้น  เขาจะไม่โกรธ  และจะไม่นึกอย่างไร  นอกจากว่าผู้บอกหวังดีต่อตนแท้ๆ.  พุทธศาสนาก็เหมือนกัน  แม้จะมีหลักการสอนที่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไรก็ตาม  แต่ก็คงไม่มีอำนาจทำให้คนที่ไม่รู้เหตุผลเห็นได้ง่ายๆ.

        เมื่อเป็นเช่นนี้  ก็จะแปลกอะไร  ที่คนซึ่งยังไม่รู้สึกว่าตนอยู่ในกองทุกข์  เห็นคำสอนในพุทธศาสนา  ซึ่งชี้ทุกข์เพื่อหาทางกำจัดทุกข์นั้นว่า  เป็นคำสอนเพื่อให้เรากลายเป็นทุกข์ไปหมด.  คำตอบตอนต้นนี้อาจสนับสนุนคำตอบนัยที่สองของ  นายเหตุผล  ที่ว่า  “พระพุทธศาสนาสอนว่าจะสุขก็ต่อเมื่อนิพพานดับเป็นขี้เถ้าจืดชืดไปแล้ว,”  พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนเราทุกข์แล้วให้แบกทุกข์ไว้  แต่ให้ปล่อยวางเสีย  โดยถอนรากเง่าของเหตุที่ปรุงแต่งมันขึ้น.  พระนิพพานนั้น  เป็นความหวังขั้นสุดของเราต่างหาก  เป็นที่สุดของทุกข์,  ที่สุดของชีวิตแห่งการบากบั่น,  โดยนัยที่แท้จริง  ชีวิตของเราเต็มไปด้วยความบากบั่น,  ความต่อสู้ – ต่อสู้เพื่อเอาชนะความทุกข์  หรือความดับทุกข์  ดังกล่าวแล้วข้างต้น.  แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อเรารู้จักหน้าตาของทุกข์  แลเหตุของทุกข์  ซึ่งเกิดมาเป็นอุปสรรคกีดขวางชีวิตอันราบรื่นของเราแล้ว  เราพยายามเอาชนะมันทุกๆ คราวที่มันเกิดขึ้น  ก็ยังชื่อว่าได้ความเยือกเย็นใจเรื่อยๆ ไป.  เพราะเป็นความจริงว่า  เราจะต้องมีความทุกข์  และความดับทุกข์เรื่อยๆ ไป  กว่าจะบรรลุพระนิพพาน,  ที่พักอันถาวรและพ้นจากการบากบั่นต่อสู้ของเรา.

        มันเป็นความจริงที่เถียงไม่ได้อีกอย่างหนึ่งว่า  มนุษย์หรือสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ทั้งหมดโดยไม่มีการยกเว้น  แม้เขาอาจจะไม่รู้ว่า  อะไรคือทุกข์และอะไรเป็นมูลของทุกข์  แต่เขาจะต้องรู้สึกรสของความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น  ไม่มากก็น้อย,  ไม่ทางหนึ่งก็ทางใด.  แม้พวกที่เพ่งโลกในเหลี่ยมสุข (Optimist)  เขาก็ต้องรู้รสของความทุกข์.  เพื่อให้คำอธิบายในเรื่องทุกข์ของชีวิตแจ่มแจ้งขึ้นอีก  ข้าพเจ้าจะขออุปมาชีวิตกับการต่อสู้เพื่อเอาชนะทุกข์  พอเป็นทางวินิจฉัย : ชีวิตเปรียบเหมือนคนเดินทางไปยังจุดหมายแห่งหนึ่ง  ซึ่งข้าพเจ้าจะขอสมมติว่า พระนิพพาน,  ทางซึ่งตรงไปยังสถานที่นั้นเต็มไปด้วยป่าดง  ตลอดถึงสรรพสัตว์ภัยต่างๆ.  จากอุปมานี้เราจะเห็นได้ว่าเขาจะต้องทำการผจญภัยทุกๆ ฝีก้าว  นับตั้งแต่ก้าวแรกเป็นต้นไป  เขาจะต้องมีอาวุธสำหรับถากถางกรุยทาง  ตลอดถึงอาจมีการต่อสู้กับสัตว์ร้ายเรื่อยไป  กว่าจะถึงที่หมาย.  เราอย่าลืมว่า  ก่อนที่เท้าของเขาจะก้าวไปข้างหน้าก้าวหนึ่งๆ นั้น  เขาต้องลงทุนกำลังแรงทั้งกายและใจถากถางไม้ไล่เสียก่อนแล้ว.  ความทุกข์ในก้าวที่หนึ่งดับไปพอเบาใจสักประเดี๋ยว  ก็พบความทุกข์ที่จะย่างก้าวที่สองขวางหน้าอยู่อีก  เป็นดังนี้เรื่อยไปจนถึงที่สุดที่หมาย.

        พระพุทธศาสนาก็สอนตามแนวนี้ :  คือสอนให้เห็นว่าสัตว์โลกจำต้องต่อสู้เอาชนะทุกข์เรื่อยไปทุกระยะก้าวของชีวิต,  จนกว่าบรรลุถึงขั้นสุด  คือพระนิพพาน;  เพราะสัตว์โลกทั้งสิ้น ทุกชาติ ทุกชนิด และทุกชั้น  ย่อมต้องพบความทุกข์อันเป็นเหมือนศัตรูคู่อาฆาตของชีวิตเสมอ.  ความทุกข์ต้องบังคับเขาให้หันหน้าเข้าต่อสู้กับมันเรื่อยไป.  ใครมีปัญญา  หรืออาวุธดี  ก็อาจเอาชนะทุกข์ได้ดีกว่าคนโง่เขลาเบาปัญญา  หรือขาดอาวุธ  แลอาจถึงที่หมายอันไม่ต้องมีการต่อสู้เร็วกว่ากัน.  พุทธศาสนาไม่ได้สอนคนให้โง่ถึงกับหมายสุขในกองขี้เถ้าดอก.  สรุปความในตอนนี้ว่า  พุทธศาสนาไม่เพียงแต่สอนมากในเรื่องทุกข์ของโลกแล้วปล่อยให้คนจมอยู่ในมหาสมุทรแห่งทุกข์เหล่านั้น  แต่ยังได้สอนให้คนรู้ถึงวิธีที่จะเอาชนะทุกข์เป็นขั้นๆ ไปด้วย  จนกว่าจะถึงพระนิพพานขั้นที่สุด  ที่สุดแห่งทุกข์.

        นัยสุดท้ายแห่งปัญหาข้อต้น  นายเหตุผล  กล่าวว่า  “พุทธศาสนาดูถูกอารยธรรมแผนใหม่ของมนุษย์  โดยไม่มีเหตุผล”  แลยังแถมขัดคอตนเองไว้ในวรรคสุดท้ายว่า  “เขาจะทำการงานให้เหนื่อยยากทำไม  ถ้าโลกมีแต่ทุกข์”  ก่อนจะตอบข้อนี้  ข้าพเจ้าขอถาม  นายเหตุผล  สักหน่อยว่า  นายเหตุผล  เข้าใจคำว่า  อารยธรรมแผนใหม่อย่างไร  อารยธรรมมีสักกี่แผน?  ถ้า  นายเหตุผล  เข้าใจว่า  อารยธรรมแผนใหม่คือการสร้างสรรพาวุธหรือวัตถุต่างๆ เพื่อฆ่าฟันกัน  ข่มเหงหรือทำร้ายซึ่งกันและกันแล้ว  ขอตอบว่า  พุทธศาสนาดูถูกการกระทำเช่นนั้นมาแล้ว  กำลังดูถูก  และจะดูถูกเรื่อยไป  จนกว่าพุทธศาสนายังมีลมหายใจถึงวาระสุดท้าย  หรือจนถึงความดับสูญของมันทีเดียว.  แต่ถ้า  นายเหตุผล  เข้าใจอารยธรรมแผนใหม่โดยถือหลักที่ว่า  โลกปัจจุบันนี้เจริญด้วยศาสตร์ที่มีประโยชน์แก่มนุษย์ชาติต่างๆ  เช่น  วิทยาศาสตร์  เป็นต้น  ขอตอบว่า  พุทธศาสนาไม่ดูถูกดอก,  ตรงกันข้าม,  พุทธศาสนากลับสรรเสริญผู้ฉลาดในศาสตร์,  ศิลปเหล่านั้น,  แต่มีนัยอยู่ว่า  ศาสตร์  ศิลป  หรือการฉลาดในศาสตร์ศิลปเช่นนั้น  ยังไม่อำนวยสุขที่เป็นโลกุตตระได้โดยแท้จริง;  เพราะวิทยาศาสตร์หรือศาสตร์ต่างๆ ที่โลกปัจจุบันค้นกัน  โดยมากมักคิดค้นกันด้วยความมุ่งหมายเพื่อ  Supply  แก่  Demand  ของมนุษย์  ซึ่งอาจดับทุกข์ได้เพียงชั่วคราวแต่ไม่ตลอดไป.  ถ้าตราบใดยังไม่รู้ถึง Demand  ที่แท้ของตนจริงๆ.

        คิดดูซีว่า  คนเกิดมาทั้งร้อยก็ แก่ เจ็บ ตาย ทั้งร้อย,  เกิดมาเท่าไร  ก็ตายเท่านั้น.  เกิดมาก็ แก่ เจ็บ ตาย มาก,  โรงพยาบาลที่สร้างขึ้นสำหรับคนร้อยหนึ่ง  ก็ขยายไปสำหรับสองร้อย  สามร้อย  ฯลฯ  เรื่อยไป;  นักวิทยาศาสตร์ก็คิดวิธีรักษาใหม่ๆ เรื่อยไป,  แม้กระนั้นคนที่เกิดมาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย.  จริงอยู่ไม่มีใครเถียงดอกว่า  วิทยาศาสตร์อันเป็นปัจจัยเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สุขของมนุษยชาตินั้น  มีประโยชน์และเป็นเหตุให้ดับทุกข์ของมนุษย์ได้มาก;  ความดับทุกข์ก็เป็นความหมายอันหนึ่งของพุทธศาสนาอยู่แล้ว  แต่ความดับทุกข์อันเป็นผลไม่ได้ดับที่เหตุนั้น  ทางพุทธศาสนากล่าวยืนยันว่าไม่เป็นความดับที่สนิทตลอดไปเท่านั้น.  เราต้องทำความเข้าใจในตอนนี้ให้ดี  เพราะถึงแม้หากจะมีวิทยาศาสตร์ที่ทำให้คนอายุยืนได้ตั้งพันสองพันปี  แต่เมื่อยังไม่พ้นตายแล้ว  ประโยชน์อะไรจะต้องมาทรมานคนให้แก่ให้เจ็บอยู่นานถึงเพียงนั้น.  เช่นนี้  ถ้าเราหาทางทำไม่ให้เกิดเสียเลยจะมิดีกว่าหรือ?  อย่างไรก็ตาม  ข้อนี้สำหรับผู้ที่ยังเห็นสนุกในความเกิด,  ความแก่,  ความเจ็บ,  และความตายแล้ว  ก็เห็นยากสักหน่อย.

        ถึงแม้ว่าเรายังสนุกเพลิดเพลินในสภาพทั้งสี่นั้น  แต่พูดกันออกมาตามใจจริงดูทีว่า  การแก่กับการไม่ต้องแก่,  การเจ็บกับการไม่ต้องเจ็บ,  แลการตายกับการไม่ต้องตาย,  ไหนจะดีกว่ากัน.  ถ้าใครตอบว่าการแก่ เจ็บ ตาย ดีก็แล้วไป  แต่ถ้าใครตอบว่า  การแก่ เจ็บ ตาย ไม่ดีแล้ว,  ขอตอบว่าการเกิดก็ไม่ดี;  เพราะว่าเกิดนั่นเองที่ทำให้มีสภาพเหล่านั้น.  โดยเหตุดังกล่าวนี้  เราจะด่วนลงโทษพุทธศาสนาว่าไม่มีเหตุผลอย่างไร.  ยังอีกในวรรคสุดท้ายที่ว่า  “เขาจะต้องทำงานให้เหนื่อยยากทำไม  ถ้าโลกมีแต่ทุกข์”  ข้าพเจ้าขอย้อนถามว่า  ถ้าโลกมีแต่สุขแล้ว  ก็จะต้องทำงานให้เหนื่อยทำไม?  เพราะโลกทุกข์นั่นซิ  เราจึงต้องนอนตีพุงอยู่ไม่ได้;  เพราะโลกทุกข์น่ะซี  ต้องทำให้เราลุกขึ้นทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ  เพื่อชนะทุกข์ของชีวิต;  แลก็เพราะโลกทุกข์นะซี  ที่ทำให้เราต้องใช้กำลังใจของเรา  ต่อสู้อุปสรรคต่างๆ  ที่เป็นก้างขวางทางแห่งความสุขของเราอยู่เรื่อยไป.

หมายเลขบันทึก: 87200เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2007 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
(ฟังดูเป็น comment จิตนิยมจ๋า)

ถ้าโลกของใครมีแต่ความสุข ก็อาจจะสูญพันธุ์ เพราะว่า หิวก็มีความสุข เจ็บก็มีความสุข ก็คงตายพอดี :-P

อาจจะมีลัทธิที่ทำให้คนมีความสุขแต่สูญพันธุ์? ถ้ามีความสุขแล้ว จะสนใจเรื่องสูญพันธุ์ทำไม :-P 

  • เห็นด้วยอย่างที่สุดครับคุณวีร์  ผมก็คิดเช่นนั้นครับ
  • ก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีศาสนาไหนที่ทำอย่างนั้นได้สำเร็จ  แล้วสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้ครับ

ตามมาอ่านต่อค่ะ คุณP ธรรมาวุธ

ตอนนี้กำลังเจ็บคอเป็นหวัด ทำให้นอนไม่หลับ เลยได้มาอ่านเรื่องเกี่ยวกับทุกข์ และสังเกต "กองทุกข์" ของตัวเองพอดี เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปล่อยวาง และเข้าใจในสภาวะธรรม

 

P

สวัสดีครับอาจารย์

  • ตอนนี้กำลังฟังธรรมเทศนาของ หลวงพ่อปราโมทย์ อยู่ครับ
  • ท่านบอกว่าให้เรา "รู้" อย่างเดียวครับ เจ็บคอก็รู้ เป็นหวัดก็รู้ ไม่ต้องไปอยากให้หาย ไม่ต้องไปบังคับให้หาย (แต่รักษาได้นะครับ) เพราะความอยากเป็นกิเลสครับ
  • ขอให้หายป่วยเร็วๆ ครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

ธรรมะสวัสดีค่ะคุณธรรมาวุธ

มาร่วมเบิกบานใจด้วยธรรมะดีๆตั้งแต่เช้าค่ะ ..

" ทุกข์มีไว้เห็น..ไม่ได้มีไว้เป็น " ..ขอบคุณนะคะที่ทำให้รู้สึกเบิกบานในเช้าวันใหม่..

P

สวัสดีครับ คุณเบิร์ด

  • " ทุกข์มีไว้เห็น..ไม่ได้มีไว้เป็น " เห็นด้วยอย่างที่สุดครับ
  • แต่ปัญหาก็คือเราถูกเลี้ยงดูมาให้เป็นโน่นเป็นนี่มาตลอด  งั้นจะกลับมาเป็นผู้ดูหรือผู้เห็นนี่ ลำบากจริงๆ ครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีครับ
P

รบกวนครับ มาขออนุญาติตัดข้อความบางตอนไปลงที่  http://gotoknow.org/blog/mrschuai/98057

ขอบคุณมากครับ

P
ยินดีอย่างยิ่งครับ แล้วจะไปร่วมแจมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท