สู่ความตายอย่างสงบ : ความจริงสองด้าน สมมติสัจจ์และปรมัตถสัจจ์


บางคนอาจเป็นคนดีในสายตาเพื่อนของเขา แต่อาจเป็นคนโหดร้ายในสายตาของคนอื่น กระนั้น คนคนนั้นไม่มีอะไรแตกต่าง เขาก็คือเขา วัตถุก็เป็นเพียงวัตถุ โลกก็เป็นเพียงโลก เราต่างหากที่รับรู้และมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านื้ไปตามระดับความเข้าใจของตัวเอง

สู่ความตายอย่างสงบ

          หลายท่านอาจเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือคนรอบข้าง  ว่าเมื่อตายแล้วเราจะไปไหน  ชีวิตหลังความตายจะเป็นเช่นไร  ซึ่งอาจได้คำตอบหลากหลาย  บ้างก็ว่าตายแล้วก็จบกัน  บ้างก็ว่าจะไปเกิดเป็นคนใหม่เพียงแต่เปลี่ยนร่างเท่านั้นเอง  บ้างก็ว่าแล้วแต่กรรมที่ทำ  อาจได้ขึ้นสวรรค์  หรือตกนรก และอีกต่างๆ นานา

          แต่ทางพุทธศาสนาเรา  ท่านไม่ให้คิดเช่นนั้น  ท่านว่าทุกอย่างนั้นย่อมเกิดแก่เหตุและปัจจัย  เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดมันก็ต้องเกิด  เหมือนกับตะเกียงที่ถูกจุดเพราะมีเชื้อไฟ  เมื่อหมดเชื้อไฟก็มิอาจจุดติดได้  และเมื่อมีเหตุให้เกิดใหม่ก็อย่าพึงยึดว่านั่นคือตัวเราในชาติก่อนๆ ที่ย้ายดวงจิตมาเกิดในร่างใหม่  ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับเทียนที่ถูกจุดจากเล่มหนึ่งไปยังอีกเล่มหนึ่ง  จะว่าเทียนเล่มใหม่คือเทียนเล่มเก่าก็ไม่ได้  แม้แต่ดวงไฟก็ไม่ใช่ดวงเดียวกัน  มันเป็นแต่กระแสคลื่นแห่งเหตุปัจจัยเท่านั้น

          สิ่งเหล่านี้หากท่านใดอยากเข้าใจให้ลึกซึ้งก็ต้องลองศึกษาเรื่อง อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท ดูครับ

          แต่ไม่ว่าโลกหลังความตายจะเป็นเช่นไร  สิ่งสำคัญอยู่ที่ชาตินี้  อยู่ที่เดี๋ยวนี้  อยู่ที่ปัจจุบันขณะ  เพราะหากปัจจุบันสร้างเหตุปัจจัยที่ดีพร้อม  ชาติหน้าจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นกับปัจจุบันนี้เอง  หรือถ้าเป็นระดับพระอริยเจ้าท่านเน้นที่ไม่สร้างเหตุและปัจจัย  จนสุดท้ายคือหมดเหตุหมดปัจจัย  หมดเชื้อให้เกิดใหม่ทีเดียว  ซึ่งคำว่าเกิดใหม่ นี้ สามารถตีความได้สองความหมาย  ความหมายแรกคือเกิดชาติใหม่ที่เราๆ รู้กัน  และอีกความหมายหนึ่งที่สำคัญกว่าคือ การเกิดครบกระบวนการแห่งห่วงโซ่ปฏิจจสมุปบาท  ซึ่งการเกิดอย่างหลังนี้เป็นไปได้แค่ไม่ถึงเสี้ยววินาทีเท่านั้น

          หลายวันก่อนผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ  สู่ความตายอย่างสงบ  ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  ช่วยให้เราไม่ตั้งตนอยู่บนความประมาท  ความตายนั้นอาจมาเยือนเราได้ทุกเมื่อ  เราไม่มีวันทราบได้แน่ชัดล่วงหน้าว่าเราจะตายเมื่อไร  เวลาใด  ฉะนั้นมันน่าหวาดเสียวเป็นอย่างยิ่งหากเราไม่เตรียมตัวให้พร้อม

          หนังสือเล่มนี้มีขนาดบาง  มีไม่กี่บท  เนื้อหาแต่ละบทก็กระชับสั้น  ผู้เขียนตั้งใจว่าจะคัดลอกให้ครบทุกบทให้ต่อเนื่องกัน  เนื้อหาอาจจะยาวบ้างสำหรับผู้ที่มีเวลาอ่านน้อย  เพราะมีกิจอื่นต้องทำ  หรือมีหลายๆ บันทึกที่น่าสนใจและรอให้อ่าน  แต่ผู้เขียนก็หวังลึกๆ ว่าขอให้ท่านได้อ่านให้จบสักรอบหนึ่ง  อ่านอย่างตั้งใจ  เชื่อว่าคงมีประโยชน์ต่อชีวิตอันวุ่นวายในโลกกลมๆ ใบนี้พอสมควร

          เขียนเสียจนจะยืดยาวกว่าเนื้อหาของหนังสือที่จะนำเสนอแล้วครับ  เอาเป็นว่าเชิญทัศนาเลยแล้วกันครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

 

 

ความจริงสองด้าน  สมมติสัจจ์และปรมัตถสัจจ์

          ภาพการรับรู้เกี่ยวกับตัวตนของเราและสิ่งอื่นๆ  ตลอดจนความรู้สึกที่สลับสับเปลี่ยนอยู่ระหว่างการยึดมั่นถือมั่นหรือผลักไส  คือกระบวนการคิดแบบทวิลักษณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา  สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากภาพการรับรู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาในเบื้องแรก  และเมื่อกระบวนการคิดแบบทวิลักษณ์เริ่มทำงาน  เราก็ถลาจากความสับสนหนึ่งไปสู่อีกความสับสนหนึ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ดังนั้นเราจึงทุกข์ทรมานอย่างไม่มีสิ้นสุดเช่นกัน

          ความทุกข์ทั้งมวลล้วนเป็นผลมาจากการไม่รู้จักธรรมชาติเดิมแท้แห่งจิตของตัวเรา  รวมถึงการยึดมั่นถือมั่นหรือผลักไส  ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากอวิชชา  พิษร้ายเหล่านี้ทำให้เราดิ่งลงไปในกองทุกข์ด้วยการประกอบอกุศลกรรมทั้งทางกาย วาจา และใจ  วิธีคิดแบบทวิลักษณ์นี้เองทำให้เกิดสมมติสัจจ์ขึ้น  เพื่อที่เราจะสามารถเข้าใจความหมายของคำคำนี้  ให้นึกถึงการเข้านอนยามค่ำเป็นตัวอย่าง  เราล้มตัวลงบนที่นอนอันอบอุ่น  ทุกอย่างปลอดภัย  สบายและไร้กังวล  จิตของเราละทิ้งประสบการณ์ยามตื่น  แลเริ่มเข้าสู่ห้วงฝัน

          ภาพฝันไม่ได้ดูจริงน้อยไปกว่าความจริงในยามตื่น  ทุกอย่างดูจับต้องสัมผัสได้  ผู้คนเหล่านั้นก็คือคนจริงๆ  พวกเขายิ้มให้  หรือทำหน้าบึ้งตึงใส่เรา  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  เราจะรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นความจริงอย่างยิ่ง  เราจะลิงโลดยินดีหากถูกลอตเตอรี่  แล้วเริ่มกังวลว่าจะเอาเงินไปซ่อนที่ไหน  ถ้าใครสักคนทำร้ายทุบตีเรา  เราก็จะเจ็บปวด  ถ้ากินน้ำตาล  เราก็จะลิ้มรสได้ถึงความหวาน  แต่ถึงฝันจะดูเหมือนจริง  หากแต่มันก็ไม่ใช่ความจริงของโลกหลังตื่นนอน  เหมือนกับที่ว่าภาวะหลังตื่นนอนของเราก็ไม่ใช่ความจริง  เมื่อเราหลุดออกจากความจริงที่ตัวเองสร้างขึ้น

          นับจากวันที่เราลืมตาถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกจนกระทั่งวันที่เราตายจากไป  เราได้แต่ยึดถือเอาสิ่งต่างๆ ในชีวิตซึ่งล้วนเป็นสมมติสัจจ์อันเปลี่ยนแปรไปไม่รู้จบว่าเป็นความจริงแท้อย่างที่สุด  อย่างไรก็ดี  มันหาใช่ไม่  มันไม่จริงและไม่เที่ยง  นี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจ  เมื่อตื่นจากความฝันแห่งชีวิต  เราไม่มีทรัพย์สมบัติ  ไม่มีญาติมิตรพี่น้อง  ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกอันอ่อนไหว  ประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ดูเหมือนจริง  ล้วนไม่ใช่ความจริงในนัยแห่งปรมัตถ์

          เกณฑ์ที่เรานำสามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจกับปรมัตสัจจ์ได้คือความเที่ยง  หากสิ่งใดเที่ยงแท้  สิ่งนั้นคือความจริง  ถ้าสิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นย่อมไม่ใช่  เพราะที่สุดมันจะสูญสลายไป  เหลือเพียงความทรงจำ  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกแห่งความจริงของเราเป็นเพียงภาพฝันที่วาดขึ้นมา  แล้วยึดถือว่ามันเป็นความจริงและมีความหมายเพียงเพราะมันเกี่ยวข้องกับตัวเรา  ประสบการณ์ของเรางอกเงยมาจากภาพลวงตาอันมีรากเหง้ามาแต่ตัวเราเอง  หากไม่มีพิษร้ายซุกซ่อนในใจ  การรับรู้เกี่ยวกับความจริงของเราอาจเปลี่ยนไปจากเดิม

          เป้าหมายแห่งพุทธธรรมคือการปลุกพวกเราให้ตื่นขึ้นจากภาพลวงแห่งสมมติสัจจ์  และเข้าใจธรรมชาติแห่งจิตเดิมแท้ในตัวเราเอง  มิเช่นนั้น  เราก็ได้แต่ฝันต่อไป  อาจฝันดีหรือฝันร้าย  ทว่าไม่มีอะไรคงอยู่เช่นเดิมตลอดไป  เราเกิด เจ็บ แก่ ตาย และหลับใหลอยู่กับฝันลวงตาไม่รู้ตื่น

          ภาวะของการตื่นรู้อย่างสิ้นเชิงคือการบรรลุโพธิญาณ  อันเป็นการระลึกรู้ต่อสภาวะอันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของตนอย่างไม่มีวันผันแปรเป็นอื่น  ธรรมชาติเดิมแท้ดำรงอยู่ในทุกสิ่ง  โดยมิได้แยกขาดจากสิ่งใด  เราเพียงแต่หลงอยู่ในวังวน  มัวเมากับภาพลวงของทวิลักษณ์  จนทำให้ดวงตามืดต่อความจริงอันเป็นปรมัตถ์  เราเฝ้าแต่วนเวียนอยู่กับสมมติสัจจ์  และคิดว่าปรมัตถสัจจ์นั้นอยู่คนละแห่งหน  คนละห้วงเวลา  แยกขาดออกจากกัน  ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่  เราจึงต้องทนทุกข์อยู่กับชีวิตในสมมติสัจจ์  และได้แต่โหยหาความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปรอันเป็นปรมัตถ์

          หากพิจารณาจากแง่มุมทางธรรม  การพยายามเปลี่ยนโลกภายนอกเพื่อปกป้องตัวเองจากความทุกข์ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง  อย่างเช่น  ถ้าเราส่องกระจกและเห็นว่าตัวเองหน้าตามอมแมมแล้วคิดว่า “ว้า มอมแมมจัง”  แล้วรีบหยิบผ้ามาเช็ดกระจก  นี่ไม่ใช่วิธีทำความสะอาดใบหน้าสกปรก  หากแต่เมื่อเราตระหนักว่าภาพสะท้อนนั้นคือใบหน้าของเราเอง  เราก็จะสามารถเปลี่ยนภาพที่ปรากฏในกระจกได้ง่ายๆ ด้วยการล้างหน้า  การขจัดทุกข์ด้วยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง  แต่การตระหนักว่าเหตุที่แท้ของความทุกข์คือใจของตัวเองต่างหากที่จะทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง

          คนเรามีทัศนะต่างกัน  เช่นคนหนึ่งกินพริกแล้วชอบมาก  คิดว่าไม่มีอะไรอร่อยไปกว่านี้อีกแล้ว  ขณะที่อีกคนกินพริกแล้วสำลักน้ำหูน้ำตาไหล  พริกก็คือพริก  ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน  สิ่งที่ต่างกันคือความรับรู้ที่เอนเอียงไปตามนิสัยเดิม  ตามประสบการณ์  และปฏิกิริยาตอบสนองของแต่ละคน

          เช่นเดียวกับชีวิต  คนหนึ่งมองสิ่งหนึ่งในมุมหนึ่ง  และอีกคนมองสิ่งเดียวกันในอีกมุมที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง  บางคนอาจเป็นคนดีในสายตาเพื่อนของเขา  แต่อาจเป็นคนโหดร้ายในสายตาของคนอื่น  กระนั้น  คนคนนั้นไม่มีอะไรแตกต่าง  เขาก็คือเขา  วัตถุก็เป็นเพียงวัตถุ  โลกก็เป็นเพียงโลก  เราต่างหากที่รับรู้และมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านื้ไปตามระดับความเข้าใจของตัวเอง

 
คัดลอกจากหนังสือ  สู่ความตายอย่างสงบ (Life in Relation to Death)
แต่งโดย ชักดุด ตุลกู รินโปเช
แปลโดย บุลยา
หมายเลขบันทึก: 121106เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2007 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

น้องธรรมาวุธครับ

  • ใจตรงกันนะครับ สมกับเป็นพวกสิงห์ซ้ายเหมือนกัน ผมเพิ่งได้และอ่านหนังสือเล่มนี้จบไม่นาน เพราะ บาง กระชับ อย่างที่น้องว่าจริงๆ
  • ชอบใจประโยคหนึ่งของผู้เขียนในคำนำ ที่ว่า

ความตายนั้นไซร้ คือ เครื่องเตือนความจำอันทรงประสิทธิภาพ ให้เราใช้ชีวิตอย่างงดงาม

P

สวัสดีครับคุณหมอ

รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คุณหมอนำบันทึกไปรวมไว้ครับ  เป็นไอเดียที่ดีมากครับ  สงสัยต้องเลียนแบบแล้วครับ

ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่คุณหมอเป็นบรรณาธิการ  เพื่อนให้ผมยืมมานานเป็นเดือนๆ แล้วครับ  แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด  ผมลืมอ่านไปครับ  ถึงเวลาต้องไปรื้อมาอ่านสักทีแล้วครับ  หนังสือเล่มนั้นก็คือ  บทเรียนจากผู้จากไป ครับ

แล้วค่อยมาเล่าให้ฟังว่าดียังไงครับ อิอิ

ธรรมะสวัสดีครับ

ผ่านเข้ามาเห็นหัวเรื่องก็ต้องรีบอ่านค่ะ ชอบอ่านหนังสือประเภทนี้เหมือนกัน วันนี้ค้นหนังสือเก่าๆจะนำมาอ่านพอดี

 ตีสนิทกับความตายอ่านไปบ้าง แต่ยังไม่จบ

แล้วจะติดตามตอนต่อไปนะคะ

P

สวัสดี ยินดีต้อนรับ และขอบคุณที่มาทักทายกันครับ

ผมไม่มีตัวเลขสถิติในมือ  แต่เชื่อว่าในทุกๆ วินาทีนี้คนบนโลกต้องตายกันหลายคน  ซึ่งเกือบทั้งหมดเราไม่อาจรู้ได้ว่าจะเป็นใคร  จริงๆ แล้วฟังดูน่ากลัวนะครับ  แต่ลองถามคนรอบข้างซีครับว่าเขาพร้อมที่จะตายในวินาทีถัดไปหรือเปล่า?

ผมว่าถามไปอาจถูกตะเพิดได้นะครับ  หลายคนเขาถือว่าเป็นคำถามอัปมงคล  เขาหารู้ไม่ว่านั่นแหละคำถามที่เป็นมงคล  เพราะถ้าเราสนใจ  ให้ความสำคัญ  เราก็จะไม่ประมาท

อาชีพอย่างคุณขนิษฐา  คงใกล้ชิดกับเรื่องเหล่านี้นะครับ?

ตีสนิทกับความตาย รู้สึกจะเคยผ่านตามาหลายครั้งในร้านหนังสือ  อ่านแล้วก็เขียนบันทึกเล่าสู่กันฟังบ้างซิครับ  เป็นวิทยาทาน  และถ้าเขียนก็อย่าลืมกระซิบมาทางนี้บ้างนะครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

น้องธรรมาวุธครับ
หนังสือเล่มที่ว่า ไม่ต้องบอกก็รู้ มันดีตรงหน้าปก แถวบรรทัดล่างๆนะครับ  แหะ แหะ



ตามมาทบทวนธรรมะก่อนนอนคืนนี้...วันนี้ร่างกายและจิตใจอ่อนล้า..ตั้งแต่เช้า...ก็เพียรเฝ้าดูเขาเฉยๆ..หาสาเหตุไม่ได้เลย...แต่สักสายๆ ก็เริ่มดีขึ้น...เย็นนี้เกือบปกติเลย...เลยได้มาอ่านบันทึกทางธรรมได้...

ขอบคุณนะคะ..สำหรับธรรมะก่อนนอน แล้วจะติดตามทบทวนตอนต่อไปค่ะ...ราตรีสวัสดิ์นะคะ...

P

สวัสดีครับคุณแหวว

ร่างกายก็เปรียบเสมือนเรือที่พาเราข้ามฟาก  ถ้าปล่อยให้เรือรั่วหรือชำรุดก็ต้องรีบอุดรีบซ่อมครับ  ไม่งั้นเราจะไปไม่ถึงฝั่ง

ขอให้หายป่วยไวๆ

ราตรีสวัสดิ์ครับ

สวัสดีค่ะคุณ P ธรรมาวุธ

แวะมาทักทายค่ะ ^ ^

ชอบเนื้อหาเรื่องที่นำมาลงมากเลย อ่านแล้วทำให้นึกถึงคำเทศน์ของหลวงปู่ชา  ประมาณว่า สิ่งของก็คือสิ่งของ ความคิดจิตใจเราต่างหากที่ไปลดหรือเพิ่มมูลค่าของสิ่งนั้นๆ  ความรู้สึกเกี่ยวกับความตายก็เช่นเดียวกันค่ะ

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันกันนะคะ

P

สวัสดีครับ อ.กมลวัลย์

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมกันอีกครั้งครับ  หนังสือเล่มนี้เขียนได้เรียบง่าย  แต่ถ้าใครไม่เคยศึกษาหรือปฏิบัติธรรมมาบ้างจะอ่านแทบไม่รู้เรื่องครับ

การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อให้เราแยกของสองสิ่งคือ สมมติสัจจ์ และ ปรมัตถสัจจ์ ออกจากกัน ให้รู้ว่าอันไหนเป็นความจริง  อันไหนเป็นเรื่องสมมติ

เพราะธรรมดาคนเราอยู่ในโลกสมมติจนไม่รู้ตัว  กิเลส ตัณหา ก็เนื่องมาจากความหลงในสมมติบัญญัตินี่แหละครับ

หลงใน กิน กาม เกียรติ แล้วยึดมั่นเป็นตัวกู ของกู  ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนเราสมมติขึ้นมาทั้งสิ้น  แต่ก็ใช่ว่าสมมติบัญญัติไม่จำเป็น  จำเป็นนะครับเพราะถ้าไม่มี คนเราคงอยู่ในสังคมลำบากมาก  มันสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง

แต่คนเรากลับหลงในสิ่งที่เราสมมติกันขึ้นมาเอง

แล้วจะคัดลอกบทถัดไปๆ มาให้อ่านอีกครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีค่ะคุณธรรมาวุธ

วิ่งตามมาอ่านค่ะ ไหนว่าพุงใหญ่ไหงวิ่งได้เฟี้ยวฟ้าวเชียวล่ะคะ อิ อิ

คนหนึ่งมองสิ่งหนึ่งในมุมหนึ่ง  และอีกคนมองสิ่งเดียวกันในอีกมุมที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง  บางคนอาจเป็นคนดีในสายตาเพื่อนของเขา  แต่อาจเป็นคนโหดร้ายในสายตาของคนอื่น  กระนั้น  คนคนนั้นไม่มีอะไรแตกต่าง  เขาก็คือเขา  วัตถุก็เป็นเพียงวัตถุ  โลกก็เป็นเพียงโลก  เราต่างหากที่รับรู้และมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านื้ไปตามระดับความเข้าใจของตัวเอง

ชอบจริงๆค่ะ อะฺบายถึงความแตกต่างของการรับรู้ได้อย่างชัดเจนเลย..พุทธลึกซึ้งและครอบคลุมขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถ " เข้าใจ " ได้เพียงใดนะคะ

ขอบคุณมากๆค่ะสำหรับความช่างสรรหาเรื่องราวดีๆมาฝากกัน ถูกใจจริงๆค่ะ..ตายซะก่อนจะตายเนอะคะ 

P

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

เอ ทำไมวันนี้มาหัวกลมๆ ไม่ท้าวคางนะ อิอิ

ครับ ของสิ่งเดียวกัน  แต่ให้คนหลายคนมองแล้วตีความหมาย ผมเชื่อว่าไม่ตรงกันสักคน  อาจมีคล้ายบ้าง  หรือแม้แต่คนเดียวกัน เมื่อประสบการณ์ต่างออกไป  ก็อาจมองได้ต่างจากเดิม

โลกนี้มันหาอะไรแน่นอนไม่ได้จริงๆ ครับ

คนบางคนเราเกลียดเขามาก  แม้บางทีแค่เห็นหน้า  ไม่เคยพูดจากันยังเหม็นขี้หน้าเลย  แต่เมื่อรู้จักเขาจริงๆ อาจรักหรือบูชาเขาเลยก็เป็นได้

เคยมีคนถามท่านอาจารย์พุทธทาสว่า ทำอย่างไรให้เราทำอะไรให้ดีที่สุด(หรืออะไรประมาณนี้ จำไม่แม่นนัก)  ท่านตอบว่า  ก็ทำให้เหมือนกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต!

เมื่อวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต  คนดีๆ คงเร่งความเพียรอย่างหนัก  ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้  คนที่เคยชังคงไม่ชังแล้ว  คนที่รักก็รักเขาเพิ่ม

ทำได้อย่างนี้ปัญหารกๆ ที่เห็นจากหน้าหนังสือพิมพ์ หรือทีวีคงไม่มีให้เห็นนะครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

P

สวัสดี และยินดีต้อนรับครับคุณ naree

แหม หนังสือเล่มที่ผมคัดลอกก็มาจากผู้แปลและสำนักพิมพ์เดียวกันเลยครับ

มูลนิธิโกมลคีมทองนั้น มีบุคลากรหัวกะทิเป็นสมาชิกทั้งนั้นครับ งั้นงานที่ออกมาแต่ละชิ้นล้วนมีคุณภาพ  และควรอุดหนุนอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้าคุณ naree ได้อ่านประวัติ ครูโกมล คีมทอง  อาจชอบก็ได้ครับ  ผมเคยอ่านมาสิบกว่าปีได้แล้วมั้งครับ ตอนนี้ก็เลือนๆ แล้ว ท่านผู้นี้แหละครับเป็นผู้ที่ให้กำเนิดมูลนิธิโดยที่ตนเองก็ไม่ทราบ(ขณะมีชีวิต)

การที่เพื่อนมอบหนังสือนี้ให้คุณ  ผมเชื่อได้เลยว่าเพื่อนคนนี้เป็นเพื่อนที่น่าคบที่สุดคนหนึ่งทีเดียว  เขาให้สิ่งที่มีคุณค่าและจริงใจ  ซึ่งน้อยนักที่เพื่อนคนใดจะกล้าทำ

ผมเป็นคนเข้าร้านหนังสือบ่อย  แต่ไม่เคยเจอหนังสือเล่มนี้เลยครับ หรือผมหลงตาเองก็ไม่รู้ หรือคงขาดตลาด เดี๋ยวถ้าพบจะรีบคว้ามาครองเลยครับ

ธรรมะคุ้มครอง

ธรรมะสวัสดีครับ

P

สวัสดี และยินดีต้อนรับครับคุณ naree

แหม หนังสือเล่มที่ผมคัดลอกก็มาจากผู้แปลและสำนักพิมพ์เดียวกันเลยครับ

มูลนิธิโกมลคีมทองนั้น มีบุคลากรหัวกะทิเป็นสมาชิกทั้งนั้นครับ งั้นงานที่ออกมาแต่ละชิ้นล้วนมีคุณภาพ  และควรอุดหนุนอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้าคุณ naree ได้อ่านประวัติ ครูโกมล คีมทอง  อาจชอบก็ได้ครับ  ผมเคยอ่านมาสิบกว่าปีได้แล้วมั้งครับ ตอนนี้ก็เลือนๆ แล้ว ท่านผู้นี้แหละครับเป็นผู้ที่ให้กำเนิดมูลนิธิโดยที่ตนเองก็ไม่ทราบ(ขณะมีชีวิต)

การที่เพื่อนมอบหนังสือนี้ให้คุณ  ผมเชื่อได้เลยว่าเพื่อนคนนี้เป็นเพื่อนที่น่าคบที่สุดคนหนึ่งทีเดียว  เขาให้สิ่งที่มีคุณค่าและจริงใจ  ซึ่งน้อยนักที่เพื่อนคนใดจะกล้าทำ

ผมเป็นคนเข้าร้านหนังสือบ่อย  แต่ไม่เคยเจอหนังสือเล่มนี้เลยครับ หรือผมหลงตาเองก็ไม่รู้ หรือคงขาดตลาด เดี๋ยวถ้าพบจะรีบคว้ามาครองเลยครับ

ธรรมะคุ้มครอง

ธรรมะสวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท