ขอพูดด้วยคนหนึ่งได้ไหม


รวมคะแนนเก็บนักเรียนไปด้วย  ขณะที่รอเน็ตช้า...เป็นการใช้เวลาว่างนิดหน่อยให้เกิดประโยชน์ 

อ่านบันทึกเรื่อง...การประเมินอาจารย์ 3 เชิงประจักษ์..กรณีพิเศษ  ที่ครูวุฒิ..เขียนบันทึกไว้ใน...วิบากรรมของครูไทย ใครหนอใครกำหนด ? (2)  ..วิบากกรรมของครูไทย ใครหนอใครกำหนด? (3)  

เห็นภาพที่ครูผู้พัฒนา....  ได้จัดทำเอกสาร  เพื่อรอรับการประเมินจากคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง...ประกอบกับ..หลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดให้ครูเข้ารับการพัฒนาตามกำหนดปฏิทิน  เหมือนๆกันหมดทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์นี้  ...หมายถึง  ครูผู้เข้ารับการพัฒนาฯ..เพื่อให้มีหรือเลื่อนเป็น...ครูชำนาญการพิเศษ นั้น..ได้กำหนดให้ดำเนินการเหมือนๆกันหมดทั่วประเทศ....

แต่วิธีการปลีกย่อย  ก็สุดแล้วแต่กรรมการในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา...กำหนด...

ครูอ้อยได้เขียนแสดงความคิดเห็นไว้ในบันทึกของครูบาสุทธินันท์...เรื่อง...เมื่อไหร่น้ำจะท่วมโลกเสียที  ได้มีการแสดงความคิดเห็นไป..ด้วยความรู้สึกห่วงใยการศึกษา...เห็นใจครู...ห่วงใยต้นไม้ที่จะมาผลิตเป็นกระดาษ....

ครูอ้อยขอพูดด้วยคนหนึ่งจะได้ไหม  เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นนี้  ครูอ้อยกำลังอยู่ในเหตุการณ์นี้  และเคยมีสภาพเหมือนกับครูผู้เข้ารับการพัฒนาฯนี้ด้วย 

ครูอ้อยจะขอพูดในฐานะเป็น...ครูผู้เข้ารับการพัฒนาฯ  ที่จะต้องศึกษาในแนวกว้าง..เพราะเกณฑ์นี้พิเศษสำหรับครูที่เคยรับการประเมินเพื่อกำหนดตำแหน่ง  อาจารย์ 3 เชิงประจักษ์เมื่อ ปี พ.ศ.2546  แต่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์  หรือ ไม่ได้รับการตรวจผลงานก็ตามแต่...ครูทุกคนต้องเข้ารับการพัฒนาตามที่กำหนด...หมายถึง  เข้ารับการอบรมเข้ม 13 วัน  กลับมาจัดทำแผนฯ 11 สัปดาห์  จัดทำงานวิจัยในชั้นเรียน  ตลอดจนเข้าสอบภาคความรู้เป็นระยะ 

เวลาที่นำแผนไปสอนนักเรียน  ก็จะมีที่ปรึกษาไปดูการสอน  แนะนำการสอน  การจัดทำแผน  การเขียนรายงานวิจัย  รายงานการใช้แผนฯ  ซึ่ง 4 รายการหลังนี้ล่ะที่ครูอ้อย...มีบทบาท  

แต่ในภาพที่ครูวุฒิ  นำมาลงนั้น  ไม่ได้เป็นแบบนี้ทั่วประเทศ...ขอเรียนให้ทราบ  ในหน่วยที่ครูอ้อยพัฒนานั้น...ไม่ได้กำหนดให้มาตั้งผลงานอะไรมากมาย..เรามีวิธีที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์  ยุติธรรม  และให้เกียรติที่ปรึกษา....

เอกสารเป็นส่วนที่สำคัญเหมือนกันที่จะบ่งบอกความเป็น...ครูชำนาญการพิเศษ....

แต่หากมองในมุมกลับที่ผ่านมา...หันมาพิจารณา  ซี  สมัยเก่าของบรรดาผู้บริหารบ้าง....ไม่มีอะไรมาก  เพียงแต่มีกรรมการมาเดินดู  และกินข้าวกลางวัน 

วิธีการประเมินแสนรันทดมากกว่า..วิธีการประเมินของครูน้อยเสียอีก...ยังผ่านและเปิบความสุขไปบนรากฐานของความยากลำบากของครู...

เกณฑ์ของครูกว่าจะได้มาก็เปลี่ยนแปลงไปหลายครั้งหลายครา   ครูก็คือ  ปุถุชน  จะทำก็เพื่อพัฒนา...ผลที่เกิดขึ้นก็เพื่อนักเรียน...นั่นล่ะ  

แต่มีคนอยู่ในกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถกล่าวนามได้...มักจะกีดกัน..และพยายามกางกั้น..ไม่ให้ครูได้สิทธิอันชอบธรรม...เพียงความคิดตื้นๆก็คือ...ครูต้องตกอยู่ใต้...ผู้บริหาร...

จะมาเหนือกว่า...หรือมีอะไรเหนือกว่า..ได้อย่างไร...ครูอ้อยขอพูดด้วยคนหนึ่งจะได้ไหม....

คำสำคัญ (Tags): #ครูอ้อย
หมายเลขบันทึก: 128605เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2007 07:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับคุณครูอ้อย

  • ขอบคุณมากนะครับที่แวะไปเยี่ยมถึง  2 ครั้งแล้ว  แต่กระผมยังไม่ได้ตอบเลย  ครั้งแรก ก็เล็งๆเอาไว้ว่าวันนี้แหละครับ  พอดีเข้ามาและไปตามลิงค์ที่ให้มาแล้ว  ก็อยากจะตอบทันที แต่เพราะข้อมูลหลายอย่างของกระผมยังไม่ครบถ้วน  ในรายละเอียดจึงขอเอาไว้ก่อน
  • หมายความว่า  ก่อนที่กระผมจะคุยยาวกับคุณครูอ้อย  จะขออนุญาตเขียนตอนที่ 4 ของ"วิบากกรรมฯ" ให้เสร็จก่อนนะครับ
  • แล้วค่อยคุยกันต่อนะครับ
  • สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์...ผอ..ครูวุฒิ

  • ยินดีต้อนรับค่ะ  สู่การแสดงความคิดเห็นในบล็อกครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
  • ที่โรงเรียนของท่าน ผอ.มีครูผู้เข้ารับการพัฒนาฯกี่ท่านคะ...ส่วนใหญ่วิชาอะไรคะ
  • การทำงานทุกอย่าง...ก็ลงทุนทั้งนั้นล่ะค่ะ  ขึ้นอยู่กับว่า...ผู้ลงทุนนั้นหวังผล  และต้องการความมั่นใจมากน้อยเพียงใด
  • บางท่านทำผลงานมากมาย  แต่ไม่ผ่านก็มี  ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพด้วยนะคะ  ผอ.
  • ครูอ้อยยินดี และดีใจ ท่านมีความบริสุทธิ์ใจในความเห็นใจครูน้อย...ที่กำลังพัฒนา

ขอบคุณค่ะ...จะรอการแสดงความคิดเห็นต่อไป

สวัสดีครับคุณครูอ้อย
  • ยินดีมากที่ได้รู้จักคุณครูอ้อยครับ และขอบคุณมากสำหรับความสนใจในประเด็นที่ผมบันทึก
  • ที่โรงเรียนมีแม่บ้านครับที่ผ่านการการอบรมเข้ม13 วัน เมื่อมีนาฯที่แล้ว  ตอนนั้นก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด  กลับมาบ้านในสภาพที่เหมือนไก่ต้ม หลังจากนั้นก็อาเจียนอย่างรุนแรง ผมต้องพาส่ง ร.พ.นอนให้เลือดไป 2 กระปุก เพราะตัวซีด เวียนศีรษะ  ทานอะไรไม่ได้เลย  หมอบอกว่าความเข้มข้นของเลือดต่ำมาก ถ้ามาช้ากว่านี้อีกหน่อยเดียว มีสิทธิ์ช้อค  ทั้งๆที่โดยปกติก็เป็นคนแข็งแรงดี  นี่ไม่ใช่รายเดียวที่ผมเห็นครับ ถึงแก่ชีวิตไปก็หลายราย แต่ไม่กล่าวในรายละเอียดนะครับ
  • ส่วนที่เหลืออีก 4 ท่าน เสนอปกติรอบเมษาฯ  อยู่ 2 ท่าน  ก็เพิ่งประเมินด้านที่ 1-2 ไปเมื่อวันพุธที่แล้วครับ  ก็กว่าจะผ่านก็เครียดกันไปทั้งครูทั้งเด็กแหละครับ ส่วนอีก 2 ท่านไม่เสนอ  แต่ก็เต็มที่กับงานแบบเกินร้อยครับ
  • ผมไม่ปฏิเสธนะครับในเรื่องของการลงทุน  โดยเฉพาะเรื่องนี้  ถึงแม้ไม่เสนอเรื่องเลื่อนวิทยฐานะ  ครูเกือบ 100% ก็ลงทุนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมเห็น  เกณฑ์ที่สร้างขึ้นมา  ปรับแล้วเปลี่ยนอีกนั่นน่ะ  วนไปเวียนมาอยู่ในเรื่องของเอกสารทั้งนั้น  ซึ่งคุณครูอ้อยคงทราบดีว่า  หลายอย่างมันเกินความจริงที่ครูจะทำได้  เพราะเมื่ออยู่ที่โรงเรียน  ครูทุกคนมีชั่วโมงสอนเต็มวัน (สอนทุกสาระ เผลอๆบางคนสอน 2 ชั้นอีกต่างหากครับ)  กิจกรรมอื่นอีกเพียบทั้งในและนอกโรงเรียน ภารกิจในเชิงธุรการ การเงิน พัสดุ อาหารกลางวัน อาคารสถานที่อีกพะเรอเกวียน บางโรงเรียนภารโรงไม่มี(เหมือนโคกเพชรไงครับ) ครูต้องพาเด็กลงสนามตัดหญ้าเอง ที่ไม่น่าเป็นงานของครูก็มี เช่น บ่อยครั้งมาก  ที่ครูต้องหอบเอาเครื่องคอมพิวเตอร์(ซึ่งเก่าๆถอดแล้วประกอบอีกอยู่เรื่อยๆ) ไปเข้ารับการอบรมการลงโปรแกรมใหม่ที่ สพท. เสร็จแล้วก็กลับมานั่งกรอกข้อมูล  กรอกไปกรอกมาคอมแฮ๊งค์คอมพัง  ต้องยกไปซ่อมที่อำเภออีก บางทีซ่อมแล้วซ่อมอีก (เพราะยกเข้ายกออกบ่อยนั่นแหละครับเป็นสาเหตุ) ปีหนึ่งๆไม่รู้กี่หน ซึ่ง ร.ร.ในชนบทก็จะเหมือนๆกันเกือบทุกที่  ร.ร.ใดอยู่ใกล้ สพท.ก็ค่อยยังชั่วหน่อย  แต่บางโรงไปกลับเป็นร้อยกิโลนะครับ  แล้วจะให้ครูมานั่งเรียบเรียงผลงานโดยอิงมาตรฐานเดียวกับอาจารย์มหาวิทยาลัย  ผมว่ามันออกจะโหดร้ายไปมั้ง  (ครู กทม.คงไม่เหมือนครูชนบทหรอกนะครับ  เพราะคาดว่าน่าจะสอนเฉพาะวิชาเอก  หรือรับผิดชอบเพียงกลุ่มสาระเดียว)
  • ในส่วนของเด็กที่สอน  ครูชนบทไม่มีสิทธิ์เลือกหรอกครับ จะเอ๋อ จะปัญญาอ่อน จะเซ่อๆซ่า จะเกกมะเหรกเกเร จะดื้อจะซนแบบคุยกันไม่รู้เรื่อง  ครูก็ต้องรับหมด  เดี๋ยวนี้ประเภทขาดความอบอุ่น  ขาดการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ยิ่งเยอะ  เพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย  มีสัดส่วนค่อนข้างมากเสียด้วยที่พ่อแม่หย่าร้างครอบครัวแตกแยก  อาศัยอยู่กับญาติ บางที่เป็นญาติห่างๆซะด้วย  ฯลฯ  และไม่ต้องไปหวังค่าแป๊ะเจี๊ยะพิเศษที่หวังจะเอามาพัฒนาโน่นนี่ที่มันขาดแคลนและจำเป็นต้องใช้  คุณครูอ้อยก็ลองนึกดูนะครับ  เมื่อครูต้องคอยแก้แต่ปัญหาที่อยู่ใต้ดินแบบนี้  แล้วครูชนบทจะเอาเวลาที่ไหนมาเรียบเรียงงานเอกสารตามมาตรฐานที่กำหนดได้ในสภาพของการทำงานปกติ
  • ในส่วนของผมเอง  ตอนนี้ก็ยังเป็นแค่ผู้บริหารชำนาญการ (เกือบๆไม่มีแล้วล่ะ  เพราะที่จริงไม่คิดจะทำ  แต่ถูกคนที่บ้านบังคับให้ทำ)  ทั้งๆที่ผมมีสิทธิ์ทำซี ตั้งแต่ปี 2543  แต่ผมถือว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาระสำคัญของความเป็นครู(ความคิดส่วนตัวนะครับ)  อีกอย่างไม่อยากให้ครูต้องเสียเวลามานั่งปลอมแปลงเอกสารทางราชการ (คัดลอก ป.02 ใหม่ ให้เด็กได้คะแนนเยอะๆเหมือนๆหลายๆโรงเรียนที่ทำกัน) รวมทั้งสร้างเอกสารไร้สาระอีกพะเรอเกวียน  เพื่อรอคณะกรรมการมากินกาแฟและอาหารกลางวัน (บางต่อด้วยอาหารค่ำยังตัวเมืองอีกต่างหาก)  เสียเวลาการเรียนการสอนเยอะเลย
  • ผมเคยสังเกตผลสอบ GAT และ NT ของโรงเรียนที่มีการทำ ผอ.เกณฑ์คุณภาพ  ปรากฏว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มต้องปรับปรุงเกือบทั้งนั้น  แล้วหลับหูหลับตาให้ผ่านเกณฑ์คุณภาพได้ยังไง  ทั้งผลสอบ GAT และ NT ต่ำ ทั้งสั่งให้ครูแก้ ป.02 อย่างที่กล่าวแล้ว ในความรู้สึกของผมแล้วถือว่าเป็นการปล้นชาติชัดๆเลยครับ
  • อีกอย่างที่ผมมองและคาดการณ์ว่า เรื่องค่าวิทยฐานะครูนี้  จะสร้างภาระและปัญหาให้กับสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศชาติในอนาคต  เพราะคิดๆดูแล้วจะเป็นเงินก้อนใหญ่และเพิ่มขึ้นทุกปี  ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระมากมาย  สุดท้ายปัญหาก็ตกที่ชาวบ้านตามเคย
  • ผมเข้าใจในความเป็นปุถุชนคนธรรมดาของครู แต่รายได้ครูจะเพิ่มมากขึ้นทันทีโดยไม่ต้องมีค่าวิทยฐานะ เพราะเพียงแค่ 1) มีการแก้ไขกฎหมายให้เงินงบประมาณการจัดการศึกษา (เท่าที่กระทรวงฯได้รับในปัจจุบันนี้แหละ ไม่ต้องไปขอเพิ่มหรอก เพราะมากพออยู่แล้ว) ถูกส่งไปถึงโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่กับเด็กและเป็นตัวเป้าหมายของการพัฒนาที่แท้จริงให้เพียงพอต่อความจำเป็นต้องใช้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของครูที่ต้องจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าลงไปได้อย่างมาก  2) อย่าสร้างกฎเกณฑ์อะไรที่ทำให้ครูต้องจ่าย ๆ ๆ ๆ แบบที่เห็นและเป็นอยู่ให้มากมาย  แค่นี้ครูก็มีเงินเหลือในกระเป๋าแล้วครับ
  • ร่ายมาเสียยืดยาว หวังว่าคงไม่เบื่อเสียก่อน  โอกาสหน้าคุยกันใหม่นะครับ 
  • สวัสดีครับ

สวัสดีครับคุณครูอ้อย

  • ไม่เห็นไปแวะเยี่ยมบ้างเลย
  • ผมแบมาที่นี่หลายครั้งก็ไม่เห็น
  • เลยอยากฝากบอกว่า

1) ผมไม่มีเจตนาต่อต้านการที่จะให้ครูมีเงินค่าวิทยฐานะหรือเงินประจำตำแหน่ง  แต่อยากให้เกณฑ์ ระบบ  และกระบวนการประเมินมันสอดคล้องกับสภาพการทำงานของครู  ไม่ใช่พลิกไปพลิกมาแบบหลอกครูไปเรื่อยๆแบบนี้ (ผมว่าไม่มีเงินจะให้  ก็เลยกีดกันครูมากกว่า)

2) อยากบอกกล่าวเล่าว่า  ครูส่วนใหญ่ทำงานหนักเกินหน้าที่ มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติราชการที่เบิกไม่ได้ทุกวัน (จำเป็นต้องจ่ายซะด้วย)  สังคมกว้างภาษีสังคมเยอะ ไม่มีเวลาหารายได้เสริม  ครูจึงเป็นหนี้มากขึ้นๆทุกวัน  เพราะฉะนั้น  หน่วยเหนือไม่ควรอย่างยิ่งที่จะซ้ำเติมครูแบบนี้

3)  ถ้าจะให้ผมเสนอให้ครูมีรายได้เพิ่มที่มากกว่าค่าวิทยฐานะ  แต่ไม่เป็นภาระของภาวการเงินการคลังของประเทศในอนาคต  ก็ต้องนี่เลยครับ  ให้ครูกู้สักคนละ 200,000-300,000 บาท  เอาไปหาซื้อที่ปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้ (ที่บ้านนอกอย่างขุขันธ์นี่ ราคาที่ยังไม่แพงครับ 200,000 บาทได้ที่เกือบๆ 10 ไร่เลย)  อีก 4 ปี 7 ปี และ 10 ปีข้างหน้า (ยูคาตัดได้อย่างน้อย 3 ครั้งตามอายุที่ระบุไว้) มาดูกันเลยครับ  ระหว่างค่าวิทยฐานะกับเงินขายยูคาที่หักเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว  อย่างไหนจะมากกว่ากัน  ผมว่าหนี้ครูลดได้แน่ๆ  ขอเพียงอย่าซ้ำเติมกันอย่างที่ว่า

  • ครับอาจสวนกระแสและสวนทางกับครูอ้อยนิดหนึ่งนะครับ  สำหรับผมก็คนคิดแบบไม่มีกรอบแบบนี้แหละครับ
  • ขอบคุณมาก  แล้วคุยกันใหม่ สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะท่าน ผอ...ครูวุฒิ

  • ครูอ้อยได้เขียนตอบท่านแล้ว..เอ้อ..แต่เน็ตหลุดค่ะ  เลยค้างมาเลยค่ะ  ขออภัยนะคะทีทำให้ท่านรอคอย 
  • ครูอ้อยกำลังมีภารกิจเร่งด่วน   เมื่อครูอ้อยเสร็จภารกิจแล้ว  จะกลับมาเขียนด้วยความตั้ใจ...ไม่แพ้ท่านเลยค่ะ

กราบขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท