เรื่องเล่าจากดงหลวง 103 ขึ้นดอย ตอน ควายบนดอย


ชาวบ้านบอกว่าบางที ควาย วัว มันเดินกลับบ้านเองไม่ต้องให้เจ้าของไปตาม และก็กลับบ้านถูกด้วย และบางปีมันเพิ่มจำนวนมาอีก เพราะมันไปเกิดลูกในป่า ช่างน่ารักเสียจริงๆสัตว์ใช้งานเอ๋ย เราจะยังกินมันลงหรือนี่... บางปีมันไม่กลับแถมหายไปทั้งฝูง หรือหายไปบางตัวก็มี แต่ไม่บ่อยนัก

ผู้บันทึกเป็นคนภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง ในช่วงฤดูน้ำหลาก ก็เดือน 10-12 วิถีชีวิตคนภาคกลางจึงเคยชินกับสภาพน้ำท่วม ส่งผลถึงวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆก็คล้อยตามสภาพทางธรรมชาติ เช่น บ้านใต้ถุนสูง มีเรือไว้ใช้ช่วงน้ำท่วมทุกหลังคาเรือน มีการกักตุนไม้ฟืนหุงต้มก่อนน้ำจะท่วม การจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือนานาชนิด การทำน้ำปลาจากปลาสร้อย การใช้เรือพายไปทำบุญที่วัดทุกวันพระ นาข้าวเป็นนาฟางลอย มีการแข่งเรือยาว การสัญจรเดินทางใช้เรือพาย เรือแจว และถ่อ ดังนั้นนวัตกรรมเกี่ยวกับเรือจึงมีมากมาย 

ภาคกลางมีพื้นที่กว้างใหญ่ ทุ่งนากว้างไกลสุดลูกตา ใครจะไปเชื่อว่าใต้ทุ่งนานั้นคือทะเลทราย เพียงมีดินปกปิดอยู่ผิวบนเท่านั้น  ทุ่งกว้างใหญ่นั้นน้ำท่วมมิดหมดไม่เหลือหรอ ข้าวนาฟางลอยก็ยืดยาวตามความสูงของน้ำ ท่านสงสัยไหมละครับว่า เครื่องมือการทำนาชาวบ้านเขาเก็บไว้ที่ไหนยามน้ำท่วมเช่นดังกล่าว  จำพวก ไถ คราด แอก หัวหมู(หัวไถ) จอบ เสียม ฯลฯ เอาขึ้นเพดานยุ้งข้าวครับ หรือไม่ก็เพดานใต้ถุนบ้าน หรือเอาขึ้นบนบ้านเลย  แล้วควายล่ะ ตัวใหญ่เบ่อเร่อ กี่ตัว กี่ตัว ชาวบ้านเอาไปไว้ที่ไหนกันครับ... 

ชาวบ้านที่มีที่ดินดอนน้ำท่วมไม่ถึงก็เอาควายไปไว้บนนั้น แต่ก็น้อย  ส่วนมากสร้างเรือนให้ควายอยู่ครับยกใต้ถุนสูงเหมือนบ้านคนนั่นแหละ ไม่มีหลังคา แต่มีบันไดเป็นทางลาดเอียงทึบและเอาไม้มาตีเป็นขั้นๆสำหรับเหยียบขึ้นลงไม่รื่น สร้างอย่างหนาแน่น เจ้าของมีหน้าที่เป็นธุระต้องไปเกี่ยวหญ้าให้ควายเช้าเย็น หรืออย่างน้อยวันละครั้ง ควายมีหน้าที่กินกับนอนเท่านั้น เดินวนไปมาในคอกยกพื้นสูงนั่นแหละ เพราะลงไปข้างล่างไม่ได้น้ำท่วม ยกเว้นเจ้าของเอาลงไปอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายแล้วเอาขึ้นมาใหม่ 

บางบ้านก็ใช้วิธีไปหาญาติ หรือเพื่อนพ้องที่คุ้นเคยกันดีที่อยู่แถบป่าไกลออกไปซึ่งเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วม ก็เอาฝูงควายเดินทางไปฝากไว้ให้เลี้ยง ให้ใช้งาน หากเกิดลูกก็ยกให้กัน มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว 

กลับมาภาคอีสาน น้ำไม่ท่วมเหมือนภาคกลาง น่าที่จะเอาควายเก็บไว้ตามบ้าน เช่นใต้ถุนบ้าน หรือคอกข้างบ้าน  เป็นเช่นนั้นจริงครับ ยกเว้นชุมชนที่ตั้งอยู่เชิงภูเขา เขาไม่เก็บควายไว้ในคอกหรอกครับ  เขาเอาควายไปปล่อยในป่ากัน หรือปล่อยขึ้นภูเขา หลังทำนาเสร็จจนถึงจะเก็บเกี่ยวข้าว ก็ระหว่างประมาณเดือน ธ.ค. จนถึงจะทำนาครั้งใหม่เดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. หลายเดือนทีเดียวที่ควายหรือวัวพักอาศัยอยู่บนป่าบนภู  

ควายซ่อนกลุ่มนี้ตัวอย่างเงียบเมื่อเราเดินผ่านที่เขาหลบร้อน 

ก่อนขึ้นภูเขาจะผูกกระดิ่งที่มีเสียงดังที่คอวัวคอควายทุกตัว วัว ควายก็แสนจะฉลาด เขาจะขึ้นป่าและเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ไปไหนไปด้วยกันหมด และมีนิสัยคล้ายสัตว์ป่าคือมีสัญชาติญาณระมัดระวังอันตรายต่างๆ เวลายืนพักก็เกาะกลุ่มทุกตัวหันหน้าออกรอบนอกเอาก้นมารวมกันตรงศูนย์กลางวงกลมทำนองนั้น ตาเฝ้ามองศัตรูต่างๆที่จะเข้ามา แม้แต่คนที่ไม่ใช่เจ้าของมัน ก็อาจจะไม่ยอมให้เข้าใกล้เลยเชียวหละ 

ผมเดินขึ้นดอยคราวนี้ก็พบกลุ่มควายของชาวบ้านยืนรวมตัวกันมองมาทางเราตาเขม็งเชียว ผมถามผู้ใหญ่บ้านว่ารู้จักเจ้าของควายกลุ่มนี้ไหม...ผู้ใหญ่บอกรู้จักดี ก็เป็นลูกบ้านนาหลักนี่แหละ 3-4 วันเขาก็เดินขึ้นมาดูควายเสียทีหนึ่งพร้อมกับหาของป่าไปเป็นอาหาร  ควายมันมีกระดิ่ง เจ้าของอาศัยฟังเสียงกระดิ่งก็รู้ว่าควายของตนอยู่ที่ไหน  เดินไปก็เรียกชื่อไป เจ้าควายได้ยินเสียงเจ้าของก็เดินมาหาครับ ..  ชีวิตมันผูกพันกันแบบนี้แหละ เจ้าของมาดูว่าอยู่กันครบไหม เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรบ้าง หากเจ็บไข้ได้ป่วยก็ทำการรักษาทั้งสมุนไพรบ้าง ยาแผนใหม่บ้าง  หากหนักหนาก็จะจูงเอาลงไปบ้าน  หากเรียบร้อยดีก็ปล่อยให้อยู่ป่าต่อไป จนใกล้ทำนาจริงๆก็มารับเอาลงไปบ้าน   

ชาวบ้านบอกว่าบางที ควาย วัว มันเดินกลับบ้านเองไม่ต้องให้เจ้าของไปตาม และก็กลับบ้านถูกด้วย และบางปีมันเพิ่มจำนวนมาอีก เพราะมันไปเกิดลูกในป่า ช่างน่ารักเสียจริงๆสัตว์ใช้งานเอ๋ย เราจะยังกินมันลงหรือนี่... บางปีมันไม่กลับแถมหายไปทั้งฝูง หรือหายไปบางตัวก็มี แต่ไม่บ่อยนัก   

รวมกลุ่มกันแน่นมองพวกเราเดินผ่าน 

มีขโมยหรือครับ..ผู้บันทึกถาม...หากจะมีก็เป็นคนต่างถิ่นไกลๆ เช่นมาจากต่างจังหวัด เข้ามาตั้งใจจะเอาเนื้อวัวเนื้อควาย แต่นานๆจะมีสักที  แต่มีพลัดหลงกันจากฝูง  

ผู้บันทึกถามต่อแล้วทำอย่างไร... ก็ชักชวนเพื่อฝูง ในหมู่บ้านออกตามหากัน บางทีก็พบ บางทีก็หาไม่พบ วิธีที่ชาวบ้านใช้กันคือ ไปหาหมอดูทำการ นั่งทางในดูว่าควายเกิดอะไร ไปอยู่ที่ไหน จะหาได้อย่างไร ซึ่งมักจะทายถูกและตามหาจนพบ มันก็แปลกที่มีเรื่องอย่างนี้...  

3 ชั่วโมงผ่านไปเราเดินกลับ ควายก็ยังอยู่ที่เดิม

ระหว่างคน สัตว์ใช้งาน ป่าเขา ธรรมชาติ ความเชื่อ เป็นวิถีชีวิตแห่งท้องถิ่น ที่สืบต่อกันอย่างนี้มานานแสนนานแล้ว  

เราคนทำงานพัฒนาหากไม่เข้าถึง ก็ไม่เข้าใจ แล้วจะไปพัฒนาเขาได้อย่างไร  ผมคิดในใจเอง

ไฉนเลยไทโซ่จึงมีพิธี 3 ค่ำเดือน 3 ที่เอาเส้นฝ้ายมาผูกเขามันพร้อมขอโทษขอโพย ที่ทุบตีเขายามใช้งาน เอาอกเอาใจไปหาหญ้าอ่อนมาให้กินหาน้ำมาให้กินจนอิ่มหมีพีมัน

เอารูปเก่ามาลง ในประเพณี 3 ค่ำเดือน 3 ของไทโซ่

การที่ผู้เฒ่าเอามือไปลูบหัว พร้อมกล่าววาจานั้น เพราะนี่คือชีวิต คือความรู้สึก คือจิตวิญญาณ คือความผูกพัน 

การมาชนบทแบบฉาบฉวย แล้วไปเสนอทางแก้ปัญหา อาศัยการศึกษาที่สูงกว่า อาศัยตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า อาศัยการพูดจา อาศัยอำนาจของข้อมูลภายนอก ความรู้ที่สูงส่งนั้นเป็นความรู้ภายนอก จะไปเชื่อมต่อชุดความรู้ภายในของเขาได้อย่างไร นี่คือประเด็น

นี่คือคำถามจากมุมมองของผู้ที่อยู่ฐานล่างของสังคม...

หมายเลขบันทึก: 97639เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
เรียนเพื่อน g2k อีกสักพักจะมาเอารูปขึ้นครับ
ผมถ่ายภาพควายมาน้อยไปหน่อยครับครูบาครับ

สวัสดีค่ะคุณ P บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

เข้ามาอ่านตั้งแต่ตอนไม่มีรูปแล้วแหละค่ะ ได้ดูรูปอีกหน่อยก็เลยได้ภาพชัดเจนขึ้น

ประทับใจในความฉลาดและความซื่อสัตย์ของสัตว์ค่ะ คนบางคนยังน่าอายกว่าเลย (แรงไปไหมนี่...)

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

ไม่เป็นไรครับ ไม่ได้เอ่ยชื่อใครครับ

สัตว์เขาใช้สัญชาติญาณ ซึ่งคนมีอะไรที่มากกว่านั้นครับ คือ ปัญญา และธรรม

 

นัยน์ตาสัตว์พวกกินหญ้านี่สวยมาก ชอบเข้าไปดู (ไม่ให้ใกล้นักค่ะ)

พี่บางทรายนี่ยอดนักปฏิบัติจริงด้วยความตั้งใจและเข้าใจ ทั้งยังมีความสามารถสูงในการวิเคราะห์และถ่ายทอดได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย ดีใจที่มีบุคลากรเช่นนี้ในการพัฒนาท้องถิ่นค่ะ

ชอบที่พี่บางทรายได้เปรียบเทียบให้เห็นวิธีการปฏิบัติทีต่างกันในแถบภาคกลางและภาคอีสาน ได้ความรู้มากค่ะ

  • เห็นแล้วนึกถึงวิถีชีวิตชาวบ้านแบบเรียบง่าย ไม่เร่งรีบเหมือนคนเมืองกรุง
  • งานบางอย่างต้องใช้ ใจ สัมผัส เพื่อสื่อถึงกันและกัน

สวัสดีครับน้อง คุณนายดอกเตอร์

 

อื่อพี่ก็ชอบดูตามันเหมือนกัน เพราะมันบริสุทธ์ ดูมันซื่อๆตรงไปตรงมา ไม่เหมือนตาคนเน๊าะ บางคนเราเห็นตาแล้วยังไม่กล้าสู้เลย

ขอบคุณครับที่ชม ก็บังเอิญชีวิตเราก็เป็นคนภาคกลางและผ่านพบ คลุกคลีมากับสิ่งเหล่านี้ด้วยก็จะหยิบเอามาเสนอด้วยครับ  หลายท่านอาจจะไม่ทราบก็จะได้ทราบ หรือทบทวนชีวิตชนบทที่นับวันจะหายไปหมดแล้ว

ขอบคุณครับ  (พี่ส่งของมาให้แล้วนะ อีกวันสองวันคงได้รับครับ)

สวัสดีครับน้องกมลนารี

ใช่แล้วครับชีวิตชนบทเรียบง่าย ไม่รีบเร่ง คนเมืองอย่างเราก็ถวิลหาชีวิตง่ายๆแบบนี้ ตรงข้ามกับคนชนบทจำนวนหนึ่งวิ่งเข้าหาเมือง สวนกันไปสวนกันมาครับ

ชาวบ้านนั้นจริงใจกับเรา  และคนนอกอย่างเราที่เขารู้จักว่ามาทำประโยชน์ให้เขา แม้ว่าจะได้น้อยได้มากเขาก็ให้เกียรติเราอย่างมาก มีน้ำใจต่อเราเสมอมา

  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • พี่สบายดีไหมครับ ไม่ได้ทักทายหลายวันแล้วครับผม
  • ฝนแถวๆมุกดาหารเป็นอย่างไรบ้างครับ มีน้ำเก็บเยอะไหมครับ ช่วงนี้ครับ
  • รักษาสุขภาพครับ

สวัสดีน้องเม้งครับ

พี่สบายดีครับ ฝนมุกดาหารยังไม่มาก ปกติอยู่ครับ เริ่มลงมาบ้างและชาวบ้านเริ่มลงมือเตรียมทำนาปีกันแล้วครับ

พี่ไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมใครเลย Post แล้วก็ตอบ แล้วก็ออกไป เพราะมีงานล้นมือ กำลังทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลโดยใช้เทคนิค PRA ทำแล้วเหนือยก็เลยต้องพักเหมือนกันครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาทักทาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท