บทความในความงดงามของชีวิต วิศิษฐ์ วังวิญญู


ความเรียง ถอดความหมายในแต่ละการเรียนรู้ ของวิศิษฐ์ วังวิญญู เมื่ออธิบายผ่านอาจารย์ผู้สอนสั่งทางจิตวิญญาณ ที่มองผ่าน ติช นัท ฮันห์

รหัสชีวิต

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซกชั่น กายใจ

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2550 

รมณ รวยแสน

ผู้เขียน 

ผู้นำคือผู้รับใช้

  <p>ชื่อของ วิศิษฐ์ วังวิญญู นักเขียน นักแปลหนังสือหลายเล่ม เล่มหนึ่งที่เขาแปลคือ ดวงตะวันดวงใจฉันเขียนโดย ติช นัท ฮันห์ หรือหนังสือที่เขาเขียนเองอย่าง ญาณทัศนะแห่งการเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงมณฑลแห่งพลัง</p>  <p>ในหนังสือ “มณฑลแห่งพลัง” ของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา มีคำนำที่เขียนถึงวิศิษฐ์ไว้ว่า “คุณวิศิษฐ์เป็นปัญญาชน นักคิด และกระบวนกร (วิทยากรที่เน้นกระบวนการกลุ่ม) ที่นำเสนอความคิดอ่านใหม่ๆ สู่สังคมไทยเสมอ อาทิ วิทยาศาสตร์ใหม่ แนวคิดเรื่องฟิสิกส์และจิตวิญญาณ ในด้านการศึกษาทางปรัชญาแนวคิด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนแนวพุทธศาสตร์ แนววอดอร์ฟ แนวมองเตสเซอรี่ แนวซัมเมอร์ฮิล ฯลฯ” </p>  <p>มณฑลแห่งพลัง เป็นหนังสือที่วิศิษฐ์เขียนจากประสบการณ์หลากหลายของเขาในการจัดเวิร์คชอปและการสนทนาวิสาสะที่เกิดจากการฟังอย่างลึกซึ้ง (dialogue) </p>  <p>กิจกรรมเวิร์คชอปว่าด้วยมณฑลแห่งพลัง เขาได้เรียนรู้การก้าวข้ามของชีวิตผู้คนธรรมดาที่มีพลังอันกระจัดกระจายมาสู่ชีวิตที่ตื่นตัวทั่วพร้อมด้วยพละกำลังอันยั่งยืน </p><p> ก่อนหน้านั้นวิศิษฐ์ใช้ชีวิตเพื่อการเรียนรู้และแสวงหา และใช้เวลาร่วม 10 ปีทำธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าคอมพิวเตอร์หรืออสังหาริมทรัพย์ เขาเรียกชีวิตช่วงนั้นของตัวเองว่า เข้าไปอยู่ใต้ท้องปลาวาฬ (ฝรั่งเปรียบเป็นความชั่วร้าย) ทั้งหมดไปได้ไม่สวยนัก แต่ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้มาก </p><p></p><p>ปัจจุบันวิศิษฐ์ใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงรายเป็นเวลา 8 ปีแล้ว เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งเพื่อเรียนรู้และแสวงหา ก่อนจะหักเหเข้าสู่การทำธุรกิจ แต่งงานครั้งที่สอง และเลี้ยงดูบุตรชาย 1 คน </p><p>หลังจากภรรยาคนแรกเสียชีวิต เขาตัดสินใจที่จะไม่ใช้ชีวิตที่เหลือในวงจรธุรกิจต่อไป ค่อยๆ ตัดความทะยานอยาก แล้วกลับมาใช้ชีวิตอีกอย่างตามแบบที่เขาบอกว่า ไม่ถึงกับจน </p><p>จะไปทำงานเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจต่อก็ได้ แต่ผมเบื่อแล้ว ถ้าประสบความสำเร็จแล้วเพื่ออะไร ตอนนี้ผมอายุ 52 ปี ก่อนจะทำธุรกิจผมอยู่กับชีวิตเรียนรู้แสวงหามานานกว่า 30 ปี ทำธุรกิจตอนอายุ 33 ปี แต่งงานตอนอายุ 36 ปี เลิกทำธุรกิจตอนอายุ 42 ปี ค่อยพลิกชีวิตกลับไปอย่างเดิม” วิศิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ ในโอกาสหนึ่งที่เชียงราย</p><p> ภรรยาผมเคยทำงานที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น จบธรรมศาสตร์เป็นนักกิจกรรม” วิศิษฐ์ เอ่ยถึงภรรยาของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว และการเสียชีวิตนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ต้องมีเหตุผลในการประนีประนอมเพื่อทำธุรกิจต่อไป</p><p></p><p> สิ่งสุดท้ายประการเดียวที่เธอขอกับผมก่อนจากลา ก็คือ ขอให้เลี้ยงและอบรมลูกชายเพียงคนเดียวที่มีอยู่ให้เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว เธอกล่าวว่าทรัพย์สมบัติอื่นใดในโลก หาสำคัญไปกว่าการทำการกิจข้อนี้ไม่” คำอุทิศผู้แปลในหนังสือ ดวงตะวันดวงใจฉัน </p><p>8 ปี ในเชียงราย วิศิษฐ์ ช่วยก่อตั้งโรงเรียนแนวมองเตสเซอรี่ ชื่อ ปิติศึกษา ตอนนี้เปิดสอนเป็นปีที่ 6 - 7 แล้ว ช่วยก่อตั้งมูลนิธิสังคมวิวัฒน์ ล้อกันกับจิตวิวัฒน์ที่กรุงเทพฯ ให้คนหนุ่มทำหน้าที่ประธาน ส่วนคนรุ่นเขาทำหน้าที่รับใช้ </p><p></p><p>งานที่ทำทั้งหมดของสถาบันขวัญเมืองอยู่ในมูลนิธิสังคมวิวัฒน์ สร้างองค์กรขึ้นมารับใช้คน คนแก่รับใช้คนหนุ่ม ชอบใช้คำหนึ่งว่า ผู้นำคือผู้รับใช้ ทำงานอย่างมีความสุข ทำงานโดยเชื่อในสติปัญญาร่วม ไม่เชื่อใน Private Ownership ไม่เชื่อในลิขสิทธิ์ ต่อไปเขียนหนังสือใส่ชื่อมูลนิธิแทน ตัวตนมันจะหายไป จริงๆ แล้วที่คิดมีสติปัญญาอยู่ทุกวันนี้ ผมยืนอยู่บนบ่ายักษ์ใหญ่หลายคน ส.ศิวรักษ์, ท่าน ติช นัท ฮันห์, เจ้าคุณปยุต (พระพรหมคุณาภรณ์ : ป.อ.ปยุตฺโต) ผมมีกัลยาณมิตรดีๆ หลายคน แล้วเวลาเราคุยกัน ความคิดดีๆ เยอะเลย แล้วมันเป็นของใคร มันเป็นสังคมนิยมแล้วนะ มันเป็น Collective” </p><p></p><p>เมื่อขอให้ วิศิษฐ์ เล่าถึงที่มาที่ไปของความสนใจทั้งเรื่องธรรมะและการเรียนรู้เพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ๆ เขาเล่าย้อนถึงวัยเด็ก </p><p>ผมเป็นเด็กกำพร้า ความเป็นเด็กกำพร้าทำให้ช่างคิด แสวงหาอะไรใหม่ๆ เริ่มต้นจากการแสวงหาความอบอุ่น ชอบอ่านหนังสือ คิดใคร่ครวญ เป็นเด็กช่างคิด เด็กกำพร้าจะมีอยู่อย่างคือ ต้องฝึกอ่านใจคน ต้องไปอาศัยเขาอยู่ ครอบครัวผมดี น้าๆ หลายคนรักผมเหมือนลูก เลี้ยงเหมือนลูก แต่เราก็รู้ว่าเราไม่ใช่ลูก เราก็แสวงหา” </p><p>อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ การเติบโตมาจากสังคมพุทธจากยาย เขาเล่าว่า ยายไปวัด วัดธรรมดาๆ ไม่ใช่วัดปฏิบัติ เป็นวัดบ้านนอกทั่วไป แต่มีความสุขสงบประหลาด วัดสมัยเด็กๆ ของเขาไม่ได้วุ่นวายอย่างสมัยนี้ สมัยก่อน ดูธรรมดา สงบเรียบง่าย เวลาเข้าวัดจะมีความสุข </p><p>นอกจากนี้ก็เก็บเกี่ยวด้วยการอ่านหนังสือดีๆ หนังสือของท่านพุทธทาส เขาอ่านตั้งแต่เรียนอยู่ม.ต้น และทำกิจกรรมตั้งแต่เรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่ไปช่วยทำค่ายยุวชนสยามของโรงเรียนสวนกุหลาบ พอทำกิจกรรมก็เบื่อเรียนหนังสือ เข้าเรียนมหาวิทยาลัยมหิดล เขาแทบไม่ได้เรียนและไม่ได้สอบ จึงตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยและออกจากบ้านมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง ด้วยการเขียนหนังสือ แปลหนังสือ ขณะนั้นอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ทำสำนักพิมพ์เคล็ดไทย เขาก็เข้าไปเขียนบ้าง แปลบ้าง และร่วมทำกิจกรรมในองค์กรพัฒนาต่างๆ </p><p>และเขาก็ได้พบกับ ติช นัท ฮันห์ ในปี 2518 </p><p></p><p>ก่อนปี 2519 เวียดนามแตก ตอนนั้นผมเจอท่านที่วัดผาลาด มีการจัดประชุมผู้นำศาสนา เขารบกัน เราก็มาหาแนวทางสันติวิธี อาจารย์ (ส.ศิวรักษ์) ให้ผมไปอยู่ดูแลท่าน กุฏิก็เล็กนิดเดียว ดูแลท่านก็เหมือนท่านดูแลเรา ตอนนั้นผมอายุ 22 ปี ท่าน ติช นัท ฮันห์ อายุประมาณ 50 ปี” </p><p></p><p>เขา เล่าว่า เวลาที่ได้เจอคนเจริญสติภาวนา มีความสงบ มีคุณสมบัติบางอย่างอยู่ในตัว เป็นการเรียนธรรมะโดยไม่ต้องพูดกัน </p><p></p><p>อยู่เฉยๆ ก็ซึมเข้ามา ท่านก็เมตตาเรา ตอนนั้นก็ตื่น 3 เดือน เห็นอะไรก็งดงามไปหมด เขียนหนังสือก็ดี เขียนกวีก็ดี ชีวิตก็ลงตัว ความอดรนทนไม่ได้มันหมดไป แฮปปี้มาก เห็นอะไรก็สวยงามไปหมด แล้วเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ถ้ามีอยู่ในตัว ก็จะงอกงามในตัวเรา ท่านก็เขียนหนังสือหลายเล่ม พวกเราแปลกันหลายเล่ม ที่เห็นแปลมีอยู่เกือบ 20 เล่ม ในเมืองไทยขายดี ผมแปลเล่มหนึ่ง ดวงตะวันดวงใจฉัน” วิศิษฐ์ เล่าถึงส่วนหนึ่งในชีวิต </p><p></p><p>อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับธรรมะคือ เรื่องการสืบต่อ โดยเฉพาะปณิธานของท่านพุทธทาสและเจ้าคุณปยุตฯ ทั้งสองท่านเห็นว่า ธรรมะต้องอยู่กับการดำรงชีวิตตามปกติธรรมดา ไม่ได้มีไว้บนหิ้งเท่านั้น การอภิปรายในครั้งหนึ่งของท่านพุทธทาส และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อประมาณปี 2512 -2513 ที่หอประชุมคุรุสภา </p><p>ครั้งนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พูดถึงธรรมะระดับโลกุตรว่า นำมาปฏิบัติไม่ได้ ชาวโลกมันมีความโลภ มันมีแรงขับท่านคิดในแง่เศรษฐกิจ ส่วนท่านพุทธทาสบอกว่า ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน นิพพานต้องที่นี่ เดี๋ยวนี้ ทำงานก็ต้องมีความสุข ต้องมีสติปัญญา </p><p>ข้อคิดนั้นผนวกรวมกับการอ่านอื่นๆ ของ วิศิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด ไม่ว่าจะอหิงสาของคานธีหรือเศรษฐศาสตร์แบบชูมาร์คเกอร์ นั่นก็มีธรรมะ และต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในวิทยาศาสตร์หรือในการบริหารจัดการ </p><p></p><p>ธรรมะไม่ได้อยู่บนหิ้ง ต้องอยู่ในเลือดเนื้อ ลมหายใจ อยู่ในสิ่งละอันพันละน้อย ในการดำรงชีวิตอยู่ของเราทั้งหมด พวกนี้ไปทำงานกับจิตไร้สำนึก ขยายความจิตไร้สำนึก อย่างมานั่งร้านสวยๆ งามๆ จิตไร้สำนึกได้รับการดูแล จิตไร้สำนึกของเราสัมผัสสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา นั่งอยู่ในสถานที่แตกต่างกัน การคุยจะไม่เหมือนกัน ถามว่าเกี่ยวกับจิตสำนึกหรือไม่ ไม่นะมันเกี่ยวกับจิตไร้สำนึก” </p><p></p><p>วิศิษฐ์ พูดในตอนท้ายของการสนทนาครั้งนั้นว่า </p><p></p><p>งานของผมคือ เขี่ยผงออกจากลูกตาคน คนมีคุณภาพ แต่ความเป็นไปของสังคม ความเชื่อของยุคสมัย มันไปขวางกั้นธรรมชาติของมนุษย์ วิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ งานผมคือเขี่ยผงออกจากลูกตา เขาต้องโตเอง เห็นเอง เราช่วยนิดหน่อย กิจกรรมผมโดยทั่วไปจะพูดน้อย แต่จะให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง พอคนค้นพบตัวเอง คำพูดจะไพเราะและมีพลัง”</p>

หมายเลขบันทึก: 97632เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เคยฟังอาจารย์ไปบรรยายที่เมืองทองธานี
  • ชื่นชมในตัวอาจารย์มากค่ะ
  • ขอบคุณที่นำงานของอาจารย์มาเล่าต่อนะคะ
  • สวัสดีครับ 
  • ขอบคุณเช่นกันครับ คุณ
    P
  • สำหรับผลงาน และมุมมองของ พี่ใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู เป็นสิ่งที่งดงามมากครับ สำหรับการได้ฟัง ได้รับรู้ และได้อ่านงานเขียน งานแปล
  • ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสนั่งคุย เมื่อ 15 - 16 ปีก่อน เคยถามว่า ตอนนี้พี่อ่านอะไรอยู่ เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่า คนที่เขียนหนังสือ แปลหนังสือ น่าจะมีมุมมองการอ่าน ที่ทำให้เราเดินตาม เพื่อค้นหาคำตอบบางอย่างได้บ้าง
  • พี่ใหญ่ ตอบว่า กำลังอ่านหนังสือของนักเขียนอเมริกัน ที่เขียนเกี่ยวกับการขับรถแบบเซน
  • หลังจากฟังคำอธิบาย ที่บอกว่า การขับรถให้เป็นธรรมชาติ ให้เหมือนสายน้ำนั้น จะทำให้เราเข้าใจ และค้นพบคำตอบในใจเช่นไรบ้าง ก็ต้องใช้เวลาอีกนานเลยครับ
  • เช่นเดียวกับ ที่พี่ใหญ่ พูดถึงอาจารย์ทางจิตวิญญาณ เช่น ท่าน ติช นัท ฮันห์ ว่าสามารถส่งพลังบางอย่างให้เราได้รับรู้
  • ผมก็พบเช่นเดียวกันว่า ในบ้านเมืองของเรา ยังมีผู้ใหญ่อีกมากที่พลังเช่นนี้ มีน้ำใจ มีความโอบอ้อมอารี กรุณา และปราณีให้กับเด็กๆ ให้กับน้องๆ และคนรอบข้าง
  • ผมยังเชื่อว่า คนเหล่านี้ มีพลังแห่งความรัก และเมตตา ที่ส่งผ่านให้เรารู้สึกว่า สังคมไทยแม้จะประสบปัญหา แต่ก็ไม่เลวร้ายจนหาทางออกไม่พบ สังคมไทยยังมีความหวังอยู่เสมอ
  • ขอบคุณเช่นเดียวกันครับ กับคำกล่าว
  • ผมก็ชื่นชม พี่วิศิษฐ์ วังวิญญู เช่นเดียวกัน
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ยินดีสำหรับการอ่านครับ
  • ขอบคุณมากครับ

ติดตามอ่านผลงานอาจารย์กันทั้งบ้านด้วยความชื่นชมค่ะ.....รออ่านผลงานอาจารย์อย่างจดจ่อค่ะ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ติดตามผลงานอาจารย์ เพื่อบ่มเพาะตนเองคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท