เรื่องเล่าจากดงหลวง 50 วิกฤตของผักหวานป่า


เมื่อพืชป่ากลายเป็นพืชเศรษฐกิจตามฤดูกาลที่สำคัญ ระบบเงินตราเข้ามาครอบอยู่เหนือความพอดี มันส่งผลการทำลายตัวเองของชาวบ้าน ของชุมชน ของสังคม ของระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตที่ดีงานเดิมๆ

 

วิถีชีวิตคนดงหลวงกับผักหวานป่า: ที่ดงหลวงเริ่มมีการเก็บผักหวานป่าไปขายกันตั้งแต่มีถนนเข้าไปในหมู่บ้านนี่แหละ  ในปีพ.ศ. 2525 เมื่อชาวบ้านเริ่มทยอยออกจากป่า และทางราชการสร้างถนนลูกรังเข้าหมู่บ้าน พ่อค้าก็เข้าไปตามถนน ไปถามซื้อของป่าต่างๆ จากชาวบ้าน รวมทั้งผักหวานป่าตามฤดูกาลด้วย เหมือนไปเปิดช่องทางการหาเงิน ขึ้นมา ชาวบ้านก็จะขึ้นภูเก็บของป่าและผักหวานมาขายกัน และเมื่อได้เงินกันเห็นๆ ใครมีปัญญาเก็บได้ก็ไปเก็บเอา ไม่มีกฎกติกาอะไร ของกินง่ายๆมีหมดแล้วเหลือแต่เงินตราที่ไม่มีจึงจะต้องหามา  

 

กลุ่มต้นผักหวานป่าตามธรรมชาติ: ธรรมชาติของสถานที่อยู่ของผักหวานป่ามันจะมีต้นพ่อแม่อยู่บนที่สูงของที่ลาดชันบนภูเขา  เมื่อถึงฤดูแล้งเขาจะออกดอก ผสมพันธุ์แล้วเกิดเป็นเมล็ด ร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน แล้วเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนก็จะพัดพาเมล็ดผักหวานป่ากระจายลงสู่ที่ลาดชันด้านล่างถัดจากต้นพ่อต้นแม่ แต่เนื่องจากธรรมชาติของต้นผักหวานป่าพ่อแม่จะขึ้นตามซอกหิน หรือในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มหินในที่ลาดชัน  การไหลของเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าจึงไหลไปไม่ไกลมากนัก แล้วก็เกิดขึ้นต้นใหม่ และเมื่อเกิดในพื้นที่เป็นหิน จึงอยู่รอดปลอดภัยจากไฟป่า หรือการชะล้างอย่างรุนแรงของปริมาณน้ำฝนที่มีในบางปี

ดังนั้นต้นผักหวานป่าจึงเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้านผักหวานป่าก็ว่าได้ แต่ไม่ใช้ติดๆกัน จะกระจายห่างกันไป จึงสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นกลุ่มต้นผักหวานป่าที่มีลักษณะจากที่ลาดชันด้านล่างขึ้นสู่ที่ลาดชันด้านบนหรือที่สูงขึ้น ท่านก็เดาได้เลยว่าต้นที่อยู่ด้านบนคือต้นพ่อแม่ของต้นที่อยู่ด้านล่าง

 

  เมื่อชาวบ้านเข้าใจเช่นนี้ ท่านหลับตานึกออกได้เลยว่า ชาวบ้านจะไปเก็บผักหวานป่าที่ใดบ้าง จะเดินวนเวียนอยู่ตรงไหน การกระจายตัวแบบนี้ชาวบ้านอธิบายว่านอกจากการพัดพาของน้ำฝนตามธรรมชาติ  แต่ก็มีที่นกคาบเมล็ดเอาไปกินแล้วไปตกแล้วเจริญเติบโตในที่อื่นๆบ้าง  และพบว่ามีต้นผักหวานไปขึ้นในถ้ำ  แสดงว่านอกจากนกแล้วก็อาจจะมีสัตว์จำพวก กระรอกกระแตคาบเอาเมล็ดไปกิน

ในพื้นที่โล่ง เตียน ที่มีแต่ดินนั้นไม่ค่อยพบต้นผักหวานป่า เพราะ อาจจะตายลงไปเพราะไฟป่า หรือโดยกระแสน้ำฝนพัดพาดังกล่าว แต่ละกลุ่มต้นผักหวานป่าหรือหมู่บ้านผักหวานป่าในลักษณะดังกล่าวนี้จะมีอยู่จำนวน 10-20 ต้น 

 การเก็บผักหวานป่า : การเก็บผักหวานป่า ก็จะเข้าป่าเก็บตั้งแต่ 6 โมงเช้าก่อนกินข้าว มักไปกันเป็นกลุ่ม 2-5 คนแล้วแต่ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ส่วนผู้ชายที่เป็นพวกเข้าป่าบ่อยๆรู้จักสถานที่ต้นผักหวานป่าดีๆ ก็จะแอบไปคนเดียว เนื่องจากผักหวานจะทิ้งใบเก่าจนหมด หรือเกือบหมดแล้วแตกใบอ่อน และลำต้นเหนียว และชอบขึ้นอยู่ตามก้อนหิน ชาวบ้านก็จะยืนบนก้อนหินเอื้อมมือไปเก็บ โน้มกิ่งมาเก็บเก็บใส่ภาชนะที่เตรียมไป การเก็บจะไม่เก็บต้นเดียวกันจะตกลงกันเองว่าใครจะเก็บต้นนี้ เพื่อนที่ไปด้วยก็จะไปเก็บต้นอื่นๆที่อยู่ไม่ไกลกันมากนัก

เมื่อมันมีค่ามีราคา ต่างก็จะรีบๆเก็บเพื่อจะได้ไปต้นอื่นต่อไป จึงไม่ทนุถนอม แต่บังเอิญผักหวานป่าเป็นพืชซาดิสม์ ทิ้งไว้ประมาณ 15 วันก็แตกยอดอ่อนมาอีก เก็บได้อีก อย่างนี้เรื่อยไปจนถึงเดือนมิถุนายนช่วงดำนาโน้นแน่ะ  

ช่วงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เด็กนักเรียนหยุดเรียนทั้งเด็กหญิงเด็กชายต่างก็มุ่งหน้าไปหาเงินจากป่า พอสัก 9 โมง 10 โมงก็ลงจากป่า เพราะแดดร้อน และเอามาขายให้พ่อค้า ที่มารับในหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็พักผ่อน หรือผู้ชายพ่อบ้านก็ไปปลูกมันสำปะหลังต่อพอเวลาบ่าย ประมาณ 2 โมงก็เข้าป่าเอาวัวไปปล่อยให้กินหญ้าในป่าแล้วก็เก็บผักหวานต่ออีกรอบ  ตลอด 5 เดือนนี้ ป่าจะมีคนเดินเข้าออกตลอดทั้งวัน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ทั้งหญิงทั้งชาย  

วิกฤตผักหวานป่ามาถึงแล้ว: เมล็ดผักหวานป่าที่สุกแล้วกินได้มีรสหวาน แต่ชาวบ้านชอบเอามาต้มกินมากกว่า แต่ไม่มีให้กินอีกต่อไปแล้ว เพราะชาวบ้านมองข้ามการอนุรักษ์ผักหวานป่าไปหมดสิ้นแล้ว ต่างก็มุ่งเอาทุกอย่างของต้นผักหวานป่าที่ขายได้เก็บเอาไปขายจนสิ้น ตั้งแต่ใบอ่อนๆที่เพิ่งจะแตกออกมาได้ไม่กี่วันจนถึงดอกผักหวานป่าซึ่งมีราคาแพงกว่าใบอ่อนเสียด้วยซ้ำไป

ดอกราคาประมาณขีดละ 40 บาท กก.ละ 400 บาท  ขณะที่ใบอ่อนสวยๆอย่างดีที่สุดก็ราคา 300 บาท มีพ่อค้าจากอำเภอนาแกมารับที่หมู่บ้านทุกเช้า ในพื้นที่ตำบลหนองแคนชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่าพ่อค้าจะมารวบรวมและคาดว่าจะได้ผักหวานไปประมาณ 50-100 กก.ต่อวัน อย่างไม่ได้เลยก็วันละ 10-20 กก. ซึ่งก็จะเอาไปส่งแม่ค้าที่ตลาดในเมืองอีกทอดหนึ่ง เนื่องจากระบบนิเวศน์ของพื้นที่ดงหลวงเป็นภูเขารอบด้าน จึงมีแหล่งผักหวานป่ารอบด้านเช่นกัน แต่จุดจบก็คืบคลานเข้ามาแล้ว 

ผมตั้งคำถามว่าทำไมไปเก็บดอกผักหวานป่ามาจนหมด ไม่เก็บไว้ให้มันเป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไปจะได้ขยายต่อ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีผักหวานเกิดขึ้นใหม่อีกแล้ว

ชาวบ้านตอบว่า ต้องการเงินเป็นสำคัญ จึงไม่คิดเรื่องนั้น ยิ่งดอกมีราคาแพงยิ่งมุ่งจะเอาดอก ถ้าเราไม่เก็บเพื่อนบ้านคนอื่นก็เก็บ  หากคนบ้านนี้ไม่เก็บคนบ้านอื่นก็มาเก็บ ชาวบ้านต้องการเงิน มันถึงกับนอนไม่หลับนะครับ ชาวบ้านกล่าว  ผมหลับตานึกถึงต้นผักหวานต้นนั้น ต้นนี้ ใครขึ้นไปเก็บหรือยังหนอ บางครั้งตื่นตั้งแต่ตี 5 รีบขึ้นไปเก็บผักหวานก่อน  มันอยู่บ้านไม่ได้ ต้องไปครับ ไม่ว่าที่ดงหลวงหรือที่ไหนๆก็เหมือนกัน

 เมื่อพืชป่ากลายเป็นพืชเศรษฐกิจตามฤดูกาลที่สำคัญ  ระบบเงินตราเข้ามาครอบอยู่เหนือความพอดี มันส่งผลการทำลายตัวเองของชาวบ้าน ของชุมชน ของสังคม ของระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตที่ดีงานเดิมๆ พวกเราต้องทำงานหนักมากขึ้น       

หมายเลขบันทึก: 84392เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2007 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

โอ่ น่าสงสารผักหานจัง

  • แถบบ้านออตกินเฉพาะยอดครับ
  • ไม่นิยมกินดอกครับ แปลกจังกินดอก
  • ดีจังเลยคุณออตที่ชาวบ้านแถบนั้นไม่เก็บดอก
  • ผมต้องทำงานหนักขึ้นอีกแล้วครับในดงหลวง
  • ได้ยินแล้วตกใจ  เห็นที่ตลาดแล้วเศร้า
  • งานพัฒนาคนมันมีอะไรมากมายทำไม่จบสิ้นนะครับ

ครูแอนก็เคยไปเก็บค่ะ ร้อนมากค่ะ เหนื่อยมากต้องขึ้นไปบนดอย เดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้ว แก่แล้ว...ที่หมู่บ้านครูแอนสอนอยู่ที่แม่ฮ่องสอน เมื่อก่อนชาวบ้านจะเก็บมาขายเก็บได้มากเท่าที่จะสามารถเอามาได้ ผักหวานป่าแทบจะหมดป่า เผาป่าเพื่อเอายอดผักหวาน แต่ระยะหลังกำนันต้องประกาศเสียงตามสายอนุญาตให้เก็บมาเฉพาะกินเท่านั้น ห้ามขายให้แม่ค้าที่มารับซื้อมิฉะนั้นจะถูกปรับ ก.ก.ละ 100 บาท นี่คือมติที่ประชุมหมู่บ้าน ปีนี้ยังไม่ได้กินค่ะ

  • ผมก็คิดว่าต้องไปคุยกับผู้นำชุมชนเพื่อรณรงค์เรื่องนี้กันครับ
  • การห้ามเก็บมาขาย เก็บมากินได้ ผมเห็นด้วยครับ
  • ขอบคุณครูแอนครับ
  • สวัสดีครับ พี่บางทราย
  • ออ ส่วนหนึ่งที่เกิดควันขึ้นคือ การเผาป่าเพื่อเอายอดฝักหวานด้วยหรือเปล่าครับ
  • เห็นแล้วเข้าใจพี่บางทรายเลยครับ ทำงานกับชุมชนได้ประสบการณ์เยอะใช่ไหมครับ แต่คงมีเรื่องให้ต้องขบคิดตลอดเลยใช่ไหมครับ
  • เพราะว่าพื้นฐานทางด้านปากท้องหรือเปล่าครับ บางทีผมก็เห็นใจชาวบ้านนะครับ หากเค้าไม่ทำเค้าจะพอมีกินในพื้นฐานปกติไหมครับ
  • ว่างๆ คงต้องรบกวนพี่ให้เล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ
  • น่าจะมีการรับซื้อเมล็ดผักหวานนะครับ ซื้อ กก.ละหนึ่งพันบาท คนจะได้รอคอยให้เป็นผล เป็นเมล็ด จะได้เอาไปเพาะพันธุ์ได้ครับ
  • สั่งไว้ให้ผมซักกิโลกรัมก็ได้ครับ ลองดูครับ ใครขายบ้างครับ แบบตีราคาไปเลย อิๆ เมล็ดผักหวาน กก.ละ ห้าพันบาท อิๆ จะมีใครรอไหวไหมครับ ซื้อแล้วก็เอามาทำวิจัยการขยายพันธุ์ แล้วคืนกลับไปให้ชาวบ้านใหม่อีกที แต่ต้องยั่งยืนไม่เผาป่า ไม่ทำลายชีวิตเค้าจนเกินไป
  • อืม เศร้า ต่อไปคงต้องเพิ่มรายชื่อผักหวานเข้าไปเหมือนต้นไม้ของพี่บางทรายอีกแล้วครับ เป็นผักหวานพืชหายาก
  • ขอบคุณมากครับ
  • ใช่ ชาวบ้านเขาก็คิด ไม่ใช่เขาไม่คิดถึงการสูญเสียผักหวานป่าในอนาคต แต่ความต้องการเงินเป็นแรงขับ(drive) มากกว่า ความตระหนักในด้านอนุรักษ์  เราจะไปห้ามตรงๆไม่ได้ ต้องคุย แลกเปลี่ยนสร้างความตระหนักแล้วให้เขาเองกำหนดทางออกด้วยกันเอง
  • ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางสร้างกิจกรรมที่มีรายได้มาทดแทนครับ
  • ความคิดเจ๋งจริงๆ เรื่องการกระตุ้นอีกทางหนึ่งคือ การสั่งซื้อเมล็ดผักหวานป่า เป็นทางอ้อมให้เขาคิดเก็บเมล็ดผักหวานป่ามาขายเรา พี่ขอนำไปเป็นประเด็นหนึ่งคุยกับชาวบ้านครับ
  • ขอบคุณครับ
เดิม จากบ้านโพนไฮ

สวัสดีคับพี่บางทราย  ผมอยู่บ้านโพนไฮ ต.หนองแคนคับ

เห็นด้วยกับพี่คับแต่ผมเป็นเยาวชนก็ได้แค่มองน่ะครับจริงๆแล้วก็อยากให้ชาวบ้านบ้านร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์จะได้มีกินมีใช้ไปนานๆ แต่อย่างว่าผู้นำชุมชนไม่แข็งแรงหมายถึงไม่ค่อยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันถ้ามีพี่บางทรายมาแนะนำเรื่องการเกษตรหรือแนะแนวเรื่องอาชีพให้กับชาวบ้านก็คงดีมากๆเลยน่ะคับ และเรื่องการอนุรักษ์เรื่องผักหวานป่าด้วยน่ะคับ ยังงัยก็มาคุยกับผู้นำชุมชุนบ้านโพนไฮด้วยน่ะคับเป็นห่วงเหมือนกัน

ปล.....คนจากบ้านมาไกล

สวัสดีครับน้อง คนเดิม จากบ้านโพนไฮ

 

น้องอยู่ที่ไหนครับติดต่อคุยกันหน่อยซิ  เมื่อกลับไปบ้านโพนไฮจะได้ปรึกษาหารือกัน  เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่  ผู้ใหญ่วองเป็นคนที่รับงานมากเลยทำงานแต่ละอย่างไม่ได้เต็มที่  พี่เองจะไปทำอะไรไม่ได้มากหากชาวบ้านไม่ตื่นตัวกัน

แต่เห็นด้วยที่จะต้องรณรงค์กันเพื่อรักษาอนาคตไว้ ดูเหมือนทุกคนรู้ แต่ไม่ได้ก้าวเข้ามาช่วยกันปกป้องเอาไว้ สักวันหนึ่งข้างหน้าก้ไม่ต้องกินผักหวานป่ากัน  และก็ไม่ปลูกด้วยนะ..

อย่าลืมนะว่างๆติดต่อกันนะครับ

เห็นด้วยอย่างมากเลยคะ กับการแจ้งให้ชาวบ้านร่วมอนุรักษ์ผักหวานป่า ด้วยการขอซื้อเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าในราคากิโลกรัมละ 1,000 - 2,000 บาทเพื่อนำมาขยายพันธุ์ ในจังหวัดพิษณุโลก ถ้าเป็นไปได้ดิฉันขอซื้อ 2 กิโลกรัมคะ เพราะเป็นครูสอนชีววิทยา อยากให้เยาวชนได้รัก และหวงแหนพืชผักพื้นบ้าน ขณะนี้ก็กำลังรวบรวม ผัก ผลไม้พื้นเมืองมาปลูกเช่นต้นทำเทงป่า ทำเทงบ้าน( ลูกสำเนียง) มะหวด ฯลฯ

เรียนคุณ ไม่มีรูป 10. อรุณี สว่างแสง

 

ดีใจครับที่สนใจ  ผมจะเข้าพื้นที่แล้วจะถามชาวบ้านน่ะครับว่าปีนี้มีเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าหรือไม่  หากมีจะบอกนะครับ  เอผมจะติดต่ออย่างไรล่ะครับ  กรุณาบอกที่อยู่ผ่าน email คติดต่อด้วยครับ

ผมดีใจมากครับที่มีคนชอบไม้พื้นบ้านไม้ป่า ผมกำลังจัดหาไม้พื้นบ้าน ไม้ป่า สมุนไพรและไม้ผลโดยเฉพาะมะม่วงทุกสายพันธ์ เพื่อนำมาปลูกในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของผมจำนวน 11ไร่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของมวลมนุษยชาติต่อไป ใครมีพันธ์ไม้อะไรแปลกๆขอความอนุเคราะห์แบ่งปันหรือขายราคาถูกด้วยครับ ขอบคุณล่วงหน้า จากวิศาล กองเงิน โทร 086-6638513

สวัสดีครับคุณวิศาลครับ

หากสนใจจริงเชิญไปดงหลวงเลยครับ ไปคุยกับผู้นำเรา ชาวบ้านเราครับจะได้แลกเปลี่ยนกัน เรื่องอื่นนั้นคุยกับชาวบ้านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท