เรื่องเล่าจากดงหลวง 19 ลักษณะเฉพาะของสังคมดงหลวง


วัฒนธรรม ประเพณีเดิมๆยังถือปฏิบัติกันอยู่ เช่น ไหว้เจ้าที่ หรือเลี้ยงปู่ตา การเหยา การทำพิธีครอบ การผูกข้อต่อแขนเมื่อเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน พิธี 3 ค่ำเดือน 3 พิธีตรุษโซ่ การกินยาสมุนไพรที่ได้จากไม้ป่ามีมากในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือวัยกลางคนขึ้นไป

ลักษณะเฉพาะของดงหลวง:

·       ตอนเดินทางเข้าพื้นที่ดงหลวงใหม่ๆเมื่อปี 2544 นั้นผู้เขียนนึกว่ากลับไปถิ่น อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่  เพราะมีลักษณะคล้ายๆกัน คือ หมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างภูเขา และมีสายน้ำหลักไหลผ่าน แต่ลำห้วยที่ดงหลวงกับที่สะเมิงต่างกัน ที่สะเมิงลำห้วยจะไม่ลึกมาก ชาวบ้านจะทำฝายกั้นน้ำเอาเข้าแปลงนาเมื่อย่างเข้าฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ เพื่อเอาน้ำที่ไหลรินจากภูเขามาใช้เพาะปลูกพืชหลังนา เช่น กระเทียม ถั่วเหลือง ยาสูบ เป็นต้น แต่ที่ดงหลวงลำห้วยลึกมาก ไม่สามารถกักน้ำเอามาใช้ในฤดูแล้งได้  ลำห้วยสาขาน้ำก็จะแห้งหายไป นี้เองพื้นที่ดงหลวงไม่มีศักยภาพทำการเพาะปลูกพืชหลังนาได้เหมือนภาคเหนือ  แต่ก็มีเกษตรกรบางคนที่อาศัยพื้นที่ริมห้วยบางทรายบางตอนที่พอมีที่ลาดเอียง ไม่ชันมากนักเพาะปลูกพืชได้บ้าง  แต่น้อยมาก  นี่ทำให้ชาวดงหลวงต้องมีชีวิตอยู่รอดด้วยการเข้าป่า  เสมือนป่าคือชีวิต  ไม่มีอะไรทำก็เข้าป่า  ไม่มีอะไรกินก็เข้าป่า  อยากได้เงินทองใช้ก็เข้าป่าหาของป่ามาขาย  โดยเฉาะคนหนุ่ม และคนที่มีครอบครัว  ผู้หญิงก็เข้าเก็บของป่าตามฤดูกาลเช่น ฤดูเห็ด  ฤดูผักหวานป่า ฤดูหน่อไม้ป่า ฤดูหอยแก๊ด ฤดูปูคาย ฤดูเก็บ ขี้ซี หรือยางไม้ป่าที่รวบรวมเอามาขายให้พ่อค้าเร่ที่ตระเวนมารับซื้อ 

·       ชนเผ่าไทโซ่ เป็นที่รู้จักกันว่า ขี้เกียจ (อ้างจาก..คนนอกที่กล่าวถึงไทโซ่..)  เพราะเอาแต่อาศัยป่า ไม่เก็บสะสม ไม่กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากโลกภายนอก เชื่อผีมากกว่าเชื่อพระ  เมื่อก้าวออกสู่สังคมภายนอกจะเก็บเนื้อเก็บตัว เพราะมองตัวเองว่าต่ำต้อยกว่า  แต่เมื่อเข้ากลุ่มพวกเดียวกันแล้ว ไม่มีใครเกรงกลัวใคร  วัฒนธรรมประเพณีจะเกี่ยวข้องกับผีเจ้าที่มาก  แต่ก็เคารพในความเป็นอาวุโส 

·       สตรีมักจะมีสถานะต่ำต้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับสตรีของชนเผ่าผู้ไท สตรีผู้ไทและกะเลิงจะมีบทบาทสูงในการทำกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชนเทียบเท่าชาย แต่สตรีไทโซ่มีน้อยมาก และในส่วนที่มีน้อยนั้นเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมก็จะไม่มีปากมีเสียง แต่สตรีผู้ไทยมีบทบาทมากกว่ามากหลายเท่าตัว

·       วัฒนธรรม ประเพณีเดิมๆยังถือปฏิบัติกันอยู่ เช่น ไหว้เจ้าที่ หรือเลี้ยงปู่ตา  การเหยา  การทำพิธีครอบ  การผูกข้อต่อแขนเมื่อเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน พิธี 3 ค่ำเดือน 3 พิธีตรุษโซ่   การกินยาสมุนไพรที่ได้จากไม้ป่ามีมากในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือวัยกลางคนขึ้นไป

·       เมื่อสังคมเปิดมากขึ้น คนหนุ่มสาวก็เริ่มเรียนหนังสือมากขึ้นและออกจากหมู่บ้านใกล้ชิดสังคมเมือง รับเอาค่านิยมเมืองเข้ามาในหมู่บ้านมากขึ้น และในที่สุดก็หาทางไปทำงานในกรุงเทพฯ  เป็นค่านิยมว่าต้องไปทำงานกรุงเทพฯอย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง ปัจจุบันนับว่าเป็นรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมการดำรงชีวิตแบบเก่าของรุ่นพ่อแม่ที่ออกมาจากป่ากับอิทธิพลสมัยใหม่ของรุ่นลูกหลาน ที่นับวันจะเติบโตเข้ามาแทนที่มากขึ้น

·       อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ มากกว่า 90 % ของคนไทโซ่ที่มีอายุ 45 ขึ้นไป  เวลามีการประชุม ฝึกอบรม สัมมนา ซึ่งระเบียบราชการต้องการชื่อเกษตรกรพร้อมลายเซ็นเมื่อมีการประชุมเจ้าหน้าที่ต้องเตรียมหมึกไปด้วย เพื่อให้เกษตรกรพิมพ์หัวแม่มือเต็มกระดาษไปหมด  เมื่อภาษาคือสื่อของการรับความรู้เป็นเช่นนี้ โอกาสเพียง 2 อย่างคือ ฟัง กับ ดู  ข้อจำกัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนาเพราะเอกสารที่เราแจกไป มันไม่มีประโยชน์ อาจจะมีบ้างคือการนำไปมวนยาสูบ...  เมื่อมาถึงตรงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสมัยทำงานที่สะเมิง มีหลายหมู่บ้านที่เป็นชาวไทยภูเขาแต่อยู่นอกพื้นที่โครงการ  แต่เขาขออนุญาตเข้ารับการฝึกอบรมด้วย ดูซิว่าคนเราต่างกันอย่างไร คือ ชาวไทยภูเขาท่านนี้ไม่สามารถอ่านและเขียนได้  ได้แต่ฟังและดูเหมือนไทโซ่ แต่ที่แตกต่างมากคือ ชาวเขาคนนั้นเอาลูกที่เรียนจบ ป.4 ไปเข้าอบรมด้วย เขาให้เหตุผลว่า เราเป็นคนฟังความรู้ แต่ให้ลูกเป็นคนจดบันทึกความรู้ที่ได้ นี่...คนเรามันต่างกันอย่างนี้นะ
หมายเลขบันทึก: 77541เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2007 02:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ฟังแล้วอยากไปเห็นด้วยตนเองจริงๆ เลยครับ ชอบมาก

เชิญนะครับ พวกเรา ประมาณ 6 คนยังอยู่ที่นั่นอีก เกือบ 1 ปี ครับ

ไม่ได้อยู่ขอนแก่นเป็นอาทิตย์ (พอดีมีแขกต่างชาติมาดูพื้นที่จังหวัดเลย จะทำเหมืองทองแดง ก็เลยต้องไปตะลอนทัวร์กะเค้า)

กลับมาก็ได้อ่าน ได้ฟังอะไรดี

อยากจะขอแลกเปลี่ยนในมุมมอง ด้านการเรียนรู้ (พอดี สนใจรูปแบบการเรียนรู้ของเกษตรกร) ที่ว่า

ภาษาคือสื่อของการรับความรู้เป็นเช่นนี้ โอกาสเพียง 2 อย่างคือ ฟัง กับ ดู  ข้อจำกัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนาเพราะเอกสารที่เราแจกไป มันไม่มีประโยชน์ อาจจะมีบ้างคือการนำไปมวนยาสูบ...

แต่ที่แตกต่างมากคือ ชาวเขาคนนั้นเอาลูกที่เรียนจบ ป.4 ไปเข้าอบรมด้วย เขาให้เหตุผลว่า เราเป็นคนฟังความรู้ แต่ให้ลูกเป็นคนจดบันทึกความรู้ที่ได้ นี่...คนเรามันต่างกันอย่างนี้นะ

ประเด็นแรกมองว่า  ในฐานะนักการศึกษา ควรจะหาวิธีการที่ดี เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแนวทาง ที่มากกว่าเอกสาร แผ่นพับที่เราเข้าไปแจก หรือ รูปแบบการฦกอบรม น่าจะมีการ set environment (ในที่นี้หมายถึงหลายๆ อย่างนะคะ ที่ไม่ใช่เฉพาะบรรรยากาศการเรียนรู้) พอดีช่วงนี้กำลังสนใจ และอยากศึกษาวิธีการที่จะจัดการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรที่จะสร้างให้เกษตรไฝ่รู้ และสร้างคว่ทมรู้ไดเช้เอง โดยที่บางสิ่งบางอย่างไม่ต้องรอจากนักพัฒนา  หรือ วิ่งเข้าหาความรู้ (ไม่รู้คิดไกลเกินไปหรือเปล่า แต่ตอนนี้กำลังคิดตลอดเวลา)

ประเด็นที่ 2 กำลังคิดว่า คนอีสานจะเรียนรู้อย่างคนสะมิง ที่เอาลูกไปอบรมด้วย จะมีสักกี่คนที่คิดแบบนี้ เพระมองว่า ประโยชน์ที่ดี มันได้ทั้งสองฝ่าย ได้ทั้งเด็กที่จะเป็นอนาคตเกษตรกรไทยหัวก้าวหน้าต่อไป และผู้ปกครอง

ตอนนี้ก็ยังฝันว่าสักวัน จะค้นพบวิธีการจัดการเรียนร้ที่ดี ที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสังคมเกษตรกร และหวังให้เกษตรกรอีสาน เก่งๆ คิดเก่ง ทำงานเก่ง และพึ่งตนเองได้ทั้งความรู้ และเศรษฐกิจ สุดท้ายคือมีความสุขโดยที่ไม่ต้องรวยมาก (รู้สึกจะฝันมากไปเนาะ หยุดแสดงความคิดเห็นดีกว่า ...เพราะบางทีตัวเราเองจะยังก้าวข้ามไม่พ้นเลย เฮ้อ........)

ถึงกาเหว่า.. เห็นรูปสวยๆแล้ว น่าสนใจ อยากไปเที่ยวบ้าง..สักวัน

สำหรับเรื่อง "วิธีการจัดการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร...." เรื่องนี้เป็นหนังยาวครับ พี่เสนอแนวคิดเบื้องต้นดังนี้

1. หากเราได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่อง Training of the Trainer(TOT) เราจะทราบว่า กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่สุดแนวทางหนึ่งคือ การทำ Training need assessment (TNA) ก่อนที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ต่อไป เมื่อได้ TNA แล้วก็เอาตัวนี้ไปออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นกระบวนการจัดการเรียนรู้จึงขึ้นกับสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนของผู้เรียน(ชาวบ้าน) กับส่วนของผู้จัดการเรียนรู้(นักพัฒนา) ส่วนของชาวบ้านเราก็ทำ TNA ดังกล่าว ส่วนนี้ก็ขึ้นกับว่ากระบวนการทำ TNA นั้นทำอย่างไร แบบไหน สิ่งที่ได้มาใช่ need จริงๆหรือไม่  สมมุติว่าใช่ ต่อมาเรา(นักพัฒนา)จะจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร  เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน มีประสบการณ์เรื่องนี้แค่ไหน เข้าใจชาวบ้านแค่ไหน เทคนิคเดียวกัน หากจะจัดกระบวนการเรียนรู้ชาวบ้านที่ขอนแก่น หรือมหาสารคาม กับจัดกระบวนการเดียวกันกับชาวบ้านที่ดงหลวง ต่างกันเยอะครับ อาจไม่สามารถใช้เทคนิควิธีการเดียวกันได้ นี่แหละในวงการพัฒนาชุมชนจึงมีการพูดถึงแนวทางการพัฒนาแบบ "วัฒนธรรมชุมชน" หากสนใจเรื่องวัฒนธรรมชุมชน แนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ที่ กป.อพช.พิมพ์ออกมาใหม่ หรือไปเสวนากับพี่บำรุงบุญปัญญาที่ กป.อพช.อีสานได้ครับ

2. จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านได้ดีที่สุดนั้นมีหลักกว้างๆดังนี้  - เรื่องนั้นต้องเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างชัดเจน เช่นเรื่องปากท้อง ชาวบ้านจะให้ความสนใจมากกว่าเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 - แม้ว่าจะทำเรื่องดังกล่าวโดยตรง หากชาวบ้านผู้นั้นยังไม่มีความสนใจในระดับสำนึก หรือสนใจอย่างแท้จริงแล้ว กระบวนการเรียนรู้ก็เป็นเพียงกระบวนการเพิ่มเติมความรู้ให้แก่เกษตรกรเท่านั้น  การนำเอาความรู้ไปปฏิบัตินั้นยังต้องการสำนึก ซึ่งในงานพัฒนาเราจึงพูดกันถึงเรื่องกระบวนการ "ปลุก" จิตสำนึก และ "ปลูก" จิตสำนึก  ซึ่งงานการจัดการเรียนรู้ส่วนมากๆในปัจจุบันนี้เป็นเพียงการเพิ่มเติมความรู้ให้แก่ชาวบ้านเท่านั้น  แต่ยังไม่ถึงระดับที่ว่า ชาวบ้าน 20 คนที่ผ่านการเรียนรู้หลักสูตรนี้แล้ว เกิดเอาไปปฏิบัติกันมากถึง 10-15 คนหากเป็นเช่นนี้ หลักสูตรนั้นประสบผลสำเร็จมหาสาร

- แต่กระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านกับการนำความรู้ไปปฏิบัติจริงนั้น มันไม่มีหลักสูตรใดหรอกที่ประสบผลสำเร็จขั้นนั้น และชาวบ้านแต่ละคนแม้ว่าจะเป็นไทอีสานทั่วไป หรือไทโซ่ หรือไทอะไรกเล้วแต่ระดับของการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงวก็ต่างกัน บางคนฟังวิทยากรคนนี้แล้วซาบซึ้งถึงขั้นน้ำตาไหล แต่ในขณะเดียวกันที่มีอีกคนนั่งยิ้ม หรือเฉยๆ  นี่แหละที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าคนเรามันเป็นบัว 4 เหล่า...

- เราจึงเพียงสร้างผู้นำตัวอย่างขึ้นมาให้ชุมชนเห็นประจักษ์  แล้วใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเข้ามาเสริม

- การเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านนั้นมี "ระยะการปรับตัว" มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งมีทัศนคติ "คอยดูก่อน" หากเพื่อนสำเร็จแล้วค่อยๆตามอย่างเงียบๆ หากเขาล้มเหลวก็อาจจะคุยทับเลยก็มี..

- ชาวบ้านไม่ใช่บริสุทธ์ผุดผ่อง ชาวบ้าน 20 คนที่เราจะเอามาจัดกระบวนการเรียนรู้นั้น แต่ละคนมีประวัติศาสตร์ มีพัฒนาการ มีมุมมอง มีเงื่อนไข มีความศรัทธา สนใจที่แตกต่างกัน  หลักสูตรของเรา หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ของเราไม่ได้เอาข้อเท็จจริงส่วนนี้มาประกอบการพิจารณา เลย แต่ตั้งสมมุติฐานที่ว่าทุกคนเท่ากันหมด แล้วสร้างกระบวนการเดียวให้กับทุกคน

- จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ดูคนโบราณสอนคนซิ เขาดูที่นอสัยใจคอแต่ละคน แล้วจึงใช้วิธีการสอนที่ไม่เหมือนกัน

เห็นไหมล่ะ พี่ว่าเป็นหนังเรื่องยาว เอาแค่นี้ก่อนนะ แล้วค่อยเพิ่มเติมกันใหม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท