ธรรมชาติสิ่งที่ต้องเรียนรู้


จริงตามที่หลายท่านบอกว่าหรือบันทึกไว้ว่า KM นั้นต้องลงมือทำ ไม่ทำไม่รู้ และยิ่งทำยิ่งรู้ ผมว่าเหมือนกับคนโบราณ หรือผู้เฒ่าผู้แก่เคยสอนว่า "ทำไปเถอะลูกเอ๊ยงานจะสอนให้เองแหละ"

ผมเขียนบันทึกนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ต.ค.๔๙     แต่เพิ่งนำขึ้น Blog ได้วันนี้ครับ     
             ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว( ๒๐ ต.ค.๔๙) ท้องฟ้ามืดครึ้มทั้งวัน  ตอนกลางคืนฝนก็ตกอยู่เรื่อย ๆ  เช้าระหว่างเดินทางไปอำเภอพระพรหม  พบว่าปริมาณน้ำในคลอลส่งน้ำชลประมาณสูงมาก  หันไปมองนาข้าวของเกษตรกรแล้วก็หวั่น ๆ แทน ก่อนเที่ยงวันฝนก็ตกโปรย ๆ ตลอดชี้ชวนให้เป็นหวัดได้อย่างดียิ่ง  ใกล้รุ่งของวันนี้ (๒๑ ต.ค.๔๙) ลมกระโชกแรง  ฝนตกพอประมาณ  หวั่น ๆ อยู่ว่า ถ้าน้ำท่วมช่วงนี้ความเสียหายที่จะเกิดกับพืชอายุสั้นของเกษตรกรจะมีมากเพราะมีพื้นที่การปลูกเยอะ 


           วันนี้ทั้งวันก็คงใช้วันหยุดตรวจสอบเอกสารหลักฐานการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยของฤดูกาลที่แล้ว ๑,๕๐๐ กว่าราย  เพื่อดูความถูกต้อง ผิดไม่ได้เลย จึงต้องมีสมาธิและละเอียด เวลาวันทำงานปกติก็ไม่สามารถทำได้เพราะอยู่ภาคสนาม  เรียบร้อยแล้วส่งให้ทาง ธ.ก.ส. เตรียมจ่ายเงินช่วยเงินต่อไป  เวลาในการทำงานนั้นปัจจุบันนี้ขนาดมีเครื่องมือหลายอย่างอำนวยความสะดวก  ก็ไม่ทันครับ  การบริหารเวลาทำยากกว่าสิ่งอื่นใด  ทุกอย่างรีบและเร่ง  เวลาน้อยแต่งานมากและมีเงื่อนไขเวลา

            พูดถึงภัยธรรมชาติแล้วสงสารเกษตรกรจริง ๆ ครับ อาชีพการเกษตรมีความเสี่ยงกับธรรมชาติสูงมาก  ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ราบลุ่มด้วยแล้ว  น้ำท่วมได้รวดเร็วมาก แน่นอนว่าพืชผลการเกษตรก็ต้องเสียหายตามกันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ผลกระทบเกิดขึ้นกับเงินส่วนตัว  เงินกู้  เงินยืมต่าง ๆ เป็นลูกโซ่  เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรโดยแท้จริง นั่งตรวจเอกสารไปของรู้สึกหดหู่ครับ 
 
            เมื่อวันที่ ๑๙ ต.ค.๔๙ จัดเวที KM หาโจทย์เพื่อจัดการความรู้เกี่ยวกับการปลูกมันเทศ  ทำให้รู้เรื่องราวเพิ่มมากขึ้น  ผมถามชุมชนว่า  ทำไมเมื่อถึงฤดูกาลปลูกมันเทศเราต้องวิ่งเต้นหายอดพันธุ์มาปลูก  ผลิตเองขายเองไม่ได้หรือ  (ที่ผมคิดก็คือเอาเงินไปให้คนอื่นทำไม)  แต่เมื่อเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ตอบมา  ก็เป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไม่ได้  โดยบอกว่า"พื้นที่บ้านเราเป็นที่ลุ่มน้ำขังตลอด หรือพื้นที่ที่น้ำไม่ขังก็ทำไม่ได้ เพราะฝนตกมาห่าใหญ่ครั้งเดียวแช่ขังนานยอดพันธุ์มันเสียหมดเคยขาดทุนไปหลายรายแล้ว"  หรือถ้าใครคิดที่จะปรับพื้นที่เพื่อการนี้จริง ๆ มีปัญหาด้านการตลาด คือ หากรายใดผลิตยอดพันธุ์ไว้เพื่อขายให้เพื่อน  แต่พื้นที่ของเพื่อนน้ำยังขัง(คือฝนตกไม่ทิ้งช่วง) เขาเตรียมพื้นที่ไม่ได้แปลงยอดมันก็มีปัญหาหาลูกค้าชื้อไม่ได้และต้องขาดทุนในที่สุด  นี่คือปัญหาอาชีพการเกษตรที่ผมได้กล่าวไว้ว่ามันพันเกลียวเชื่อมโยงกันหลายปัจจัย  กระบวนการการจัดการความรู้  เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการให้เกษตรกรได้เรียนรู้ในการประกอบอาชีพ 

            ที่สำคัญคือเราเองที่มีหน้าที่เป็นคุณอำนวยต้องเรียนรู้เพิ่มประสบการณ์ขึ้นอีกให้มาก จริงตามที่หลายท่านบอกว่าหรือบันทึกไว้ว่า KM นั้นต้องลงมือทำ  ไม่ทำไม่รู้  และยิ่งทำยิ่งรู้  ผมว่าเหมือนกับคนโบราณ หรือผู้เฒ่าผู้แก่เคยสอนว่า "ทำไปเถอะลูกเอ๊ยงานจะสอนให้เองแหละ" ทำให้เราทราบว่าความรู้นั้นมีความกว้างไกลล้ำลึกแบบไม่มีขอบเขต  เส้นทางนั้นยาวไกลจริง ๆ ครับ

            คนทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวบางครั้งนำออกมาใช้โดยไม่รู้สึกตัว    และได้ผลดีจนคนอื่นเห็นแล้วอึ้งไปเลย  คงต้องใช้ KM ในการจัดการให้เกษตรกรรู้จักวางแผนโดยเรียนรู้ธรรมชาติในท้องถิ่นเข้าใจธรรมชาติให้มากต้องลึกซึ้งขึ้น และไม่ควรเสี่ยงหรือเผชิญหน้ากับธรรมชาติเพราะไม่มีโอกาสที่ใครจะเอาชนะธรรมชาติได้          
         

คำสำคัญ (Tags): #เรารักในหลวง
หมายเลขบันทึก: 55430เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2006 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้าใจและเรียนรู้ธรรมชาติครับ

............

ผมรู้สึกชื่มชมพี่ชาญวิทย์มากครับ ...ผมคิดว่า ทุกเวลาของพี่ชาญวิทย์ คิดเรื่อง การทำงาน การช่วยเหลือสังคมตลอดเวลา

งานและชีวิตเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน

.............

เหนื่อยมั้ยครับพี่...ผมให้กำลังใจครับ 

เรียน อาจารย์จตุพร ครับ

          ขอบคุณที่มาเยี่ยมให้กำลังใจ  บางครั้งก็เหนื่อยนะครับ  แต่จะหายเหนื่อยเมื่อสิ่งที่ทำได้รับการตอบสนองจากชุมชนครับ กระบวนการที่มีส่วนร่วมแบบ KM นี่ช่วยได้เยอะครับ ผมจึงพยายามหาเพื่อนร่วมทางครับ

มาชื่นชม ซึมซับเอาเป็นกำลังใจในการทำงานของตนอีกคน ...ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท