เรียนรู้จากผู้อ่าน : คุณค่าของความกล้าของคุณหมูในการทำความรู้จักในแบบกันเองของมิตรใหม่ในgotoknow


คุณค่าแห่งการเปิดตัว เปิดใจอย่างจริงใจ จึงได้รับความจริงใจกลับมา

ปกติแล้ว จากการอ่านบันทึกใน gotoknow ทุกคนสามารถเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับคนเขียนบันทึกในส่วนของความคิดเห็นต่อท้ายนั้น แต่ในบันทึกนี้ เป็นอีกรูปแบบของการเรียนรู้จากผู้อ่านที่ยังไม่ได้เขียนบันทึก และไม่ได้แลกเปลี่ยนในส่วนของความคิดเห็นต่อท้ายบันทึก

เอ้า แล้วเรียนรู้จากผู้อ่านได้ยังไง มีแต่เรียนรู้จากผู้เขียนบันทึกนี่นา
ทำอย่างไรกันล่ะ เพราะมีผู้อ่านมากมาย ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยตัว
ถ้าเรียนรู้จากผู้อ่านได้ ย่อมจะได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย




การเรียนรู้จากผู้อ่าน เริ่มจาก ผู้อ่านที่ติดต่อกับผู้เขียนบันทึก ในแบบส่วนตัวผ่านทางเมล์นั่นเอง และติดต่อสื่อสารในแบบเป็นกันเอง เพราะทุกคนล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเขียนบันทึกใน gotoknow หรือติดตามอ่านอย่างเดียวก็ตาม

คุณหมู เมล์มาขออนุญาตินำบันทึกที่ประทับใจของนายบอน ไปเผยแพร่ต่อ  หลังจากที่เธอสารภาพว่า คิดอยู่นานว่า จะเขียนข้อความทางเมล์มาถึงนายบอนดีหรือไม่ ซึ่งในที่สุด ก็ตัดสินใจเขียนมา ซึ่งนายบอนก็อนุญาติทันทีหากเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ แต่เมื่อเธอประทับใจในตัวบันทึกแล้ว จึงอยากจะให้เธอได้รับประโยชน์ จึงติดต่อสื่อสารทำความรู้จักกับเธอเพิ่มเติม เผื่อจะได้เขียนบันทึกที่เป็นประโยชน์กับเธอมากขึ้น

   


คุณหมูเป็นชาวมุกดาหาร เคยเป็นพยาบาลมาก่อน แต่ได้เดินตามความฝันของตัวเองที่จะเป็นครู และเคยออกค่ายกับนักศึกษา มข. ซึมซับแนวคิดในการเป็นผู้ให้ และอยากช่วยเหลือคนอื่นให้มากที่สุด และโอกาสก็มาถึงเมื่อสามารถย้ายมาเป็นอาจารย์ได้สมความตั้งใจ

คุณหมูเปิดใจว่า ความจริงแล้ว เรียนหนังสือไม่เก่ง แต่เป็นคนที่มีความอดทนและมุ่งมั่นกับการต้องเรียนรู้
ไม่คุ้นเคยกับบริบทของกลิ่นไอวิชาการและวิทยาลัย  สอนก็ไม่เป็น เตรียมการสอนก็ไม่เป็น  เข้าสอนนศ. สอนยังไม่หมดคาบสอนก็หมดเรื่องพูด ที่เตรียมก็ลืม  หาข้อมูลก็ไม่เป็น ในช่วงที่มาเป็นอาจารย์ใหม่ๆ เกิดความรู้สึกกดดันจนร้องไห้อยู่บ่อยๆ แต่ยังคงมีความตั้งใจในการทำหน้าที่ครูที่ดีต่อไป 



เมื่อคุณหมูได้รับมอบหมายให้ทำงานประกันคุณภาพและทำKM เธอจึงพยายามหาแหล่งข้อมูลเพื่อเรียนรู้ทั้งในส่วนของงานที่รับผิดชอบและวิชาการ  ซึ่งในช่วงแรกๆ คุณหมูบอกว่าอาจเป็นเพราะคิดเชิงระบบไม่ค่อยเก่ง ทำให้วนเวียนหาจุดไม่เจอ ได้เข้ามาที่ gotoknow  ติดตามอ่านเรื่องราวต่างๆที่นายบอน และท่านอื่นๆเขียน และสมัครเป็นสมาชิก gotoknow ด้วย http://gotoknow.org/profile/phinprapa อ่านแต่ละท่านที่เขียนบันทึกมีแต่คนเก่งและเชี่ยวชาญ ดีใจแทนคนอื่นที่ได้ความรู้จากตรงนี้ด้วย

 * (คุณหมูเป็นสมาชิก gotoknow ตั้งแต่:  อา. 14 ม.ค. 2550 @ 17:03)

นายบอนเห็นข้อความแล้ว เหมือนดั่งต้นไม้ที่กำลังเติบใหญ่ ที่กำลังจะแผ่กิ่งก้านสาขา ให้ร่มเงาแก่ลูกศิษย์ต่อไปในอนาคต จึงรีบตอบเมล์ทันที ซึ่งประเมินดูแล้ว คล้ายกับอาจารย์ใหม่ๆที่มาจากหมออนามัยอีกหลายท่าน ที่ไม่มีประสบการณ์ในการสอนหนังสือมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป สามารถที่จะสอนหนังสือได้อย่างชำนาญทีเดียว

    

การสอนหนังสือให้ชาวสาธารณสุขนั้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานแล้ว มาเรียนเพิ่มเติม  ลักษณะการสอนต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานดูแลสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งคุณหมูที่เป็นพยาบาลมาก่อน ย่อมจะเข้าใจถึงลักษณะการทำงานแบบสาธารณสุข และย่อมจะปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสาธารณสุข ซึ่งย่อมจะแตกต่างจาก นักศึกษาวิทยาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

เมื่อมีประสบการณ์ในการสอนที่มากขึ้น คุณหมูจะค้นพบแนวทางในการสอนด้วยตัวเองเหมือนกับหมออนามัยหลายท่านที่ก้าวมาเป็นอาจารย์ ไม่เคยเรียนวิชาครูมาก่อน แต่ก็สามารถสอนหนังสือได้อย่างดีทีเดียว

เพราะคุณหมูมีสิ่งที่สำคัญในตัวเอง คือ
เป็นคนที่มีความอดทนและมุ่งมั่นกับการต้องเรียนรู้

..ไม่อย่างนั้น คุณหมูจะไม่มีโอกาสได้ก้าวเข้ามารู้จักกับ gotoknow เรื่อยมาจนกระทั่งมีบันทึกที่นายบอนเขียนบันทึกถึงคุณ ในบันทึกนี้ โดยเฉพาะ ....

เมื่อคุณหมูเข้ามาอ่านข้อมูลใน gotoknow ย่อมจะได้รับแนวคิดต่างๆมากมายเิติมเต็มประสบการณ์มากขึ้นทั้งงานประกันคุณภาพและ KM ที่ต่อไปคุณหมูคงจะรู้สึกว่า ง่ายขึ้น

รวมทั้งการคิดเชิงระบบ ที่คงจะต้องสังเกตดูว่า แต่ละท่านที่ถ่ายทอดข้อมูลในบันทึกออกมานั้น หากมองในภาพกว้าง แต่ละท่านมีประเด็นหลักในการนำเสนออย่างไร

  

หากมองประเด็นหลักของแต่ละบันทึก และมองให้กว้างถึงภาพรวมทั้งหมด ทุกบันทึกที่มี เหมือนกับการที่คุณขึ้นไปบนยอดเขา และมองเห็นป่าทั้งป่า เห็นแต่ละจุดแต่ละพื้นที่ว่า ตรงไหนมีอะไรบ้าง

ถ้าคุณมองเห็นทั้งหมด คุณย่อมเข้าใจระบบทั้งหมดได้ มองเห็นความเชื่อมโยงของแต่ละสิ่งได้เช่นกัน
ลองสังเกตใน blog อื่นๆ แต่หากสังเกตใน blog นี้ของนายบอน อาจจะสับสนนะครับ เพราะมีความหลากหลายมากเกินไป...

นายบอนสื่อสารกับคุณหมูผ่านอีเมล์ 4-5 ฉบับ และคุณหมูจะลงท้ายว่า "ขอบคุณความเป็นกัลยาณมิตรคะ"
เมื่อคุณหมูมีความกล้าในการที่จะเริ่มสื่อสาร แทนการอ่านอย่างเดียว ได้ทำความรู้จักกับหลายท่านที่เขียนบันทึก ย่อมจะได้รับข้อมูลที่มากกว่า ใกล้ชิดกว่า การอ่านบันทึกเฉยๆ 

นั่นคือ คุณค่าแห่งการเปิดตัว เปิดใจอย่างจริงใจ จึงได้รับความจริงใจกลับมา เช่นกัน เมื่อคุณหมู สื่อสารอย่างเปิดใจกับท่านอื่นๆใน gotoknow ก็ย่อมจะได้รับความจริงใจกลับคืนมาเช่นกัน

มีประโยคหนึ่งที่สะดุดใจนายบอน คือ ไม่คุ้นเคยกับบริบทของกลิ่นไอวิชาการและวิทยาลัย เมื่อไม่คุ้น ก็ต้องทำให้คุ้นเคยมากขึ้น โดยนายบอนชักชวนให้คุณหมูมาร่วมในงานประชุมวิชาการประจำปี 2550 ของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วง 22 - 24 ส.ค.2550 เสียเลย

ที่ผ่านมานายบอนมักจะหาโอกาสไปร่วมประชุมวิชาการอยู่บ่อยๆ เพื่อเปิดรับข้อมูลใหม่ เรียนรู้และตามให้ทันว่า ปัจจุบันไปถึงไหนแล้ว เมื่อฟังมาก เห็นมาก ย่อมได้สะสมประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งคุณหมูได้ตอบกลับมาว่า...



".....ตั้งใจว่าถ้าไม่ติดประชุมเดิมที่มีอยู่จะไปให้ได้คะ  เวลาที่ไปฟังผู้รู้เขาคุยกันแล้วเราพอจะได้แนวทางไปปรับใช้ในส่วนงานของเราได้  ส่วนตัวแล้วชอบเรื่องวิชาการมาก อยากเป็นคนเก่งคะเมื่อเราเก่งเราสามารถที่จะขยายผลของความรู้ให้คนอื่นได้อย่างถูกต้อง ขอบคุณความเป็นกัลยาณมิตรคะ"
..หมู



และทั้งหมดที่เรียบเรียงมานี้ ทำให้ได้รู้จักกับคุณหมูมากขึ้น จากการใส่ใจ และต้องการเรียนรู้จากผู้อ่านที่ยังไม่มีบันทึกข้อมูลใน blog ความทรงจำ ของคุณหมูเลย (6 มิ.ย.2550)
 
แต่ผลการเรียนรู้ ดังที่ประมวลออกมาให้อ่านในบันทึกที่เห็นนี้  รวมทั้งยังช่วยเชื่อมโยง ขยายผลในสิ่งที่คุณหมูต้องการให้สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น

ก้าวต่อไปนับจากนี้ อยู่ที่คุณหมู และท่านผู้อ่านท่านอื่นจะตัดสินใจต่อไป ในการที่จะก้าวเข้าไปทำความรู้จักกับคนเขียนบันทึกท่านอื่นๆต่อไป....



หมายเลขบันทึก: 101410เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท