หัดเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง “อย่างเป็ด”


...นี่คือวิธีที่มนุษย์ส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยมีสถานการณ์หรือเหตุการณ์ใดที่จะจบสิ้นลงไปจริงๆ ได้ จิตและ “ฉันกับเรื่องราวของฉัน” ยังคงดำเนินต่อไป...

        ช่วงวันหยุดสงกรานต์ ผมได้อ่านหนังสือหลายเล่มที่ซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือเมื่อตอนต้นเดือน หนึ่งในนั้นเป็นหนังสือที่ชื่อว่า โลกใหม่ (A New Earth): ตื่นรู้สู่จุดหมายแห่งชีวิต ซึ่งเขียนโดย Eckhart Tolle (แปลโดย มนตรี ภู่มี สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี) Eckhart Tolle เคยโด่งดังมาจากหนังสือเล่มที่ชื่อว่า พลังแห่งปัจจุบันขณะ (The Power of Now)” ท่านเป็นนักเขียนชาวเยอรมัน ผู้สร้างกระแสเรื่อง ปัจจุบันขณะ ให้คนในสังคมตะวันตกได้สนใจกันอย่างแพร่หลาย ในหนังสือเล่มนี้ท่านได้พูดถึงสิ่งที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือพลังแห่งปัจจุบันขณะ เกี่ยวกับการต่อสู้ของเป็ดว่า...

        ....เวลาที่เป็ดสองตัวสู้กัน (ซึ่งไม่เคยใช้เวลานานสักที) หลังจากนั้นมันจะแยกจากกันและว่ายลอยออกไปในทิศทางตรงกันข้าม แล้วเป็ดทั้งสองตัวก็จะกระพือปีกแรงๆ อยู่สองสามนาที เพื่อระบายพลังส่วนเกินที่มันสร้างขึ้นระหว่างที่ต่อสู้ออกไป หลังจากกระพือปีกแล้ว มันก็จะว่ายน้ำไปอย่างสงบราวกับไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลย

        หากเป็ดมีจิตใจเช่นเดียวกับมนุษย์ มันก็อาจยังคงการต่อสู้นี้ไว้ในความคิด ด้วยการสร้างเรื่องราว และเรื่องราวของเป็ดอาจจะออกมาในทำนองนี้ ฉันไม่อยากจะเชื่อสิ่งที่เขาเพิ่งทำไปเมื่อตะกี๊เลย เขาเข้ามาใกล้ฉันเพียงแค่ห้านิ้ว เขาคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของสระนี้ไปแล้ว เขาไม่คำนึงถึงพื้นที่ส่วนตัวของฉันเลย ฉันจะไม่ไว้ใจเขาอีกต่อไปแล้ว คราวหน้าเขาคงจะหาวิธีตอแยฉันทางอื่นอีก ฉันว่าเขาวางแผนไว้แล้วแน่ๆ แต่ฉันจะไม่ยอมทนกับเรื่องพวกนี้ ฉันจะสอนบทเรียนให้เขา อย่างที่ไม่มีวันลืมเลยทีเดียว

        จิตจะยังคงสาธยายเรื่องราวเหล่านี้ต่อไปไม่จบลงง่ายๆ ยังคิดและพูดเรื่องนี้ไปอีกหลายวัน หลายเดือน หรือหลายปีเลยทีเดียว ในส่วนที่เป็นร่างกายถือว่าการต่อสู้จึงยังคงดำเนินต่อไป และพลังงานที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความคิดเหล่านี้ทั้งหมดก็คืออารมณ์ซึ่งก่อให้เกิดความคิดต่อๆ ไปเป็นลำดับ นี่จึงกลายเป็นความคิดที่เป็นอารมณ์ของอัตตา คุณจะเห็นได้ว่าชีวิตของเป็ดจะมีปัญญาทีเดียว ถ้ามันมีจิตใจแบบมนุษย์ เพราะนี่คือวิธีที่มนุษย์ส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยมีสถานการณ์หรือเหตุการณ์ใดที่จะจบสิ้นลงไปจริงๆ ได้ จิตและ ฉันกับเรื่องราวของฉัน ยังคงดำเนินต่อไป เราเป็นสายพันธุ์ที่สูญเสียวิถีทางของตน ทุกๆ สิ่งที่เป็นธรรมชาติ ดอกไม้ทุกดอก หรือต้นไม้ทุกต้น และสัตว์ทุกๆ ตัวมีบทเรียนสำคัญเพื่อสอนสั่งเรา หากเราเพียงแต่หยุด มอง และฟัง

        บทเรียนเรื่องเป็ดของเราก็คือ จงกระพือปีกของคุณ ซึ่งหมายถึงว่า จงปล่อยวางเรื่องราวนั้นไปเสีย แล้วหวนคืนสู่แหล่งพลังอย่างเดียวเท่านั้นซึ่งก็คือปัจจุบันขณะที่เรามีนั่นเอง

        นี่เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือที่ผมชื่นชอบ ถือว่าเป็นบทเรียนเพื่อการ ปล่อยวาง ที่เราใช้เป็ดเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดีนะครับ...หรือใครมีตัวอย่าง "การปล่อยวาง" ที่ไม่ใช่เป็ด ช่วยเล่าให้พวกเราฟังบ้างครับ

หมายเลขบันทึก: 90877เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2007 06:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
ยังมีสิ่งดีๆ ในหนังสือเล่มนี้อีกหลายจุดครับ ผมจะนำส่วนที่ "โดนใจ" มาให้ท่านได้อ่านต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ครับ

หลายคนบอกว่าอย่าเป็นเหมือนเป็ด เพราะทำได้หลายอย่างแต่ไม่ได้ดีแม้แต่อย่างเดียว...

จากบันทึกนี้อย่างน้อยเป็ดก็มีแง่มุมดี ๆ ให้มนุษย์ได้เรียนรู้...

ขอบคุณมากครับ...

ก๊าบ ก๊าบ รับทราบเลยก๊าบ..

ขอบคุณนะก๊าบบบ.. 

สวัสดีค่ะ อาจารย์ประพนธ์ P beyondKM

แวะมาอ่านค่ะ อาจารย์ ดิฉันก็เพิ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับ "ปัจจุบัน" เหมือนกัน    ช่วงนี้ใจตรงกับหลายคนใน G2K ค่ะ

ดิฉันว่าสาเหตุหนึ่งที่คนไม่ปล่อยวาง ก็คือคนมีสมองและความทรงจำที่ดี (อย่างน้อยดีกว่าเป็ด)

การมีสมองที่คิดและสังเคราะห์ได้เป็นสิ่งที่ดีของการเกิดเป็นมนุษย์ เราก็ต้องใช้ให้ถูกวิธีและไปในทางสร้างสรรค์ สำหรับตัวเราเองแล้วก็สังคม ; )

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ อีกครั้งค่ะ

  • เป็นข้อคิดที่ดีมากครับอาจารย์
  • ขอน้อมรับไปปฏิบัติด้วยจิต
อยากจะปล่อยวางครับ  แต่ใจมันก็ไม่ยอมวางสักที  ไม่รู้จะยังไง

เราเรียนรู้จากเป็ดได้จริงๆนะเนี่ย ขอบคุณที่ช่างสรรหาเรื่องดีๆมาเล่านะคะ

การปล่อยวางเป็นเรื่องที่ยากมากหากเราไม่เข้าใจการทำงานของจิต จิตมีความไวมากและชอบวิ่งไปกับกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ด้วยกันก็ช่วยกันปรุงให้ฟุ้งกันไปใหญ่ การเข้าใจเรื่องจิตและกิเลสของตนที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องฝึก เหมือนเราจะรบเรายังต้องเตรียมอาวุธ มีเพื่อนช่วยรบ มีเสนาธิการ มียุทธวิธี ฝึกใหม่ๆทำอยู่คนเดียวไม่ได้ผล ก้าวหน้ายาก เมื่อเราแข็งแกร่งดีแล้ว สามารถทำให้กิเลสอ่อนแรง เราจึงจะปฏิบัติต่อเองคนเดียวได้

ตัวเองขนาดพอคลำทางได้ พอว่างเว้นการปฏิบัติฝึกหัดจิตกิเลสก็เข้มแข็งขึ้นมาอีก

มีผู้ที่สอนธรรมให้ เคยเตือนเรื่องการปล่อยวางว่า เรื่องที่อยากปล่อยวางมักเป็นเรื่องที่ทำให้ใจเศร้าหมอง เคืองแค้น เกิดขึ้นมาในอดีต เปรียบสเมือนข้าวเก่าที่บูดเน่ากองอยู่ เมื่อเราไม่รู้ไม่เข้าใจยังไปคว้าขึ้นมาเคี้ยวกินอีก ทั้งเหม็นและไม่อร่อย กินแล้วปวดท้องอีกต่างหาก

 

เรียน ท่านอ.ดร.ประพนธ์ค่ะ

  • "เป็ดของอาจารย์"...มันกระพือปีกหลังการต่อสู้...นั่นแปลว่าต้องผ่านการต่อสู้หรือลงสนามแล้ว...เป็นช่องทางละจากความคิด  ความแค้น.....ซึ่งเป็นวิธีการที่ดี(หากหลีกเลี่ยงการต่อสู้ไม่ได้)
  • แต่ดิฉันได้ยินข้อคิดที่ดีมากๆในช่วงวันหยุดสงกรานต์นี้ค่ะ......
  • ฉันเคยเล่าเรื่อง ในบทเรียนจากหนังตลก.."แสบสนิท..ศิษย์ส่ายหน้า" ที่นี่ ค่ะ...และฉันได้ดูซ้ำอีกในเคเบิ้ลทีวี....มีฉากที่พระเอกนางเอกคุยกัน...มีประโยคเด็ดที่ฉันชอบมากๆ....พระเอกถามว่า ..."เขาไม่มีอะไรดีเลยสักอย่าง...ทำไมตัวยังอดทนชอบเขาอยู่อีก"....นางเอกตอบว่า...."เค้าไม่ได้อดทน..แต่เค้าเข้าใจมากกว่า".....
  • ข้อคิดนี้กินใจฉันมากค่ะ ....เปลี่ยนจาก..ความ(ที่ต้อง)อดทนกัน.....เป็นความเข้าใจกันและกัน....ดีกว่า.....เลยเก็บมาฝากอาจารย์ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท