ธรรมาภิบาล


Good Governance

ธรรมาภิบาล ( Good Governance ) เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนชาวไทยที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยลาออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อกล่าวหาหลายๆ ประการด้วยกัน ซึ่งข้อกล่าวหาที่อยู่ในความสนใจและเคลือบแคลงใจของคนไทยมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการขายหุ้นของกลุ่มชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็ค ประเทศสิงคโปร์ จำนวน ๗๓,๐๐๐ ล้านบาท แล้วไม่ยอมเสียภาษีให้รัฐแม้แต่บาทเดียว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นักกฎหมายที่เป็นโฆษกของตระกูลชินวัตรรวมทั้งตัวท่านเอง ออกมาชี้แจงผ่านสื่อต่างๆ ว่าการขายหุ้นของกลุ่มชินคอร์ปนั้น ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ การออกมาชี้แจงลักษณะนี้ส่งผลให้กลุ่มนักวิชาการ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย นักศึกษา ปัญญาชน และกลุ่มคนชั้นกลาง รวมทั้งสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ร่วมกันออกมาเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณฯ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะหมดความชอบธรรมที่จะเป็นผู้บริหารสูงสุดในการปกครองประเทศ เนื่องจากท่านไม่ได้ใช้หลักธรรมาภิบาลหรือ Good Governance ในการบริหารประเทศ การใช้ข้ออ้างความถูกต้องในตัวบทกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการบริหารบ้านเมืองที่ดีได้ ผู้บริหารที่ดีต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อการบริหาร

           หลังจากนั้นเป็นต้นมาคำว่า “ ธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร/ธรรมาภิบาลสำหรับ ผู้ปกครอง ” ก็ถูกใช้เรื่อยมา ซึ่งหลายๆ ท่านคงเข้าใจความหมายดีอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนคิดว่ายังมีอีกหลายๆ ท่านยังคงสับสนกับคำคำนี้อยู่ จึงเป็นโอกาสดีที่วารสารทหารพลร่มฉบับนี้ได้ให้ ผู้เขียนเสนอบทความชิ้นนี้ลงในวารสาร เพื่อที่อย่างน้อยทหารพลร่มจะได้เข้าใจกับความหมายของคำๆ นี้ อีกทั้งยัง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหาร/ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยงาน/องค์กรของตนเองได้ ในโอกาสต่อไป

           ในส่วนประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนไม่ขอแสดงความคิดเห็น แต่จะวางตัวเป็นกลางและอยู่เคียงข้างกับประชาชน ตามแนวทางที่ ผบ . ทบ. ท่านปัจจุบัน ท่านได้เคยกล่าวให้สัมภาษณ์ไว้ และขอภาวนาให้สถานการณ์ของบ้านเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีโดยเร็ว

 

         ความหมายของธรรมาภิบาล

           ธรรมาภิบาล มาจากคำว่า ธรรม และ อภิบาล ซึ่งคำว่า “ ธรรม” หมายถึง คุณ ความดี ความถูกต้อง และหลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา กฎเกณฑ์ ความจริง ความยุติธรรม ส่วนคำว่า “ อภิบาล” หมายถึง บำรุงรักษา ปกครอง ดังนั้น เมื่อนำมารวมกัน ธรรมาภิบาล จึงน่าจะหมายถึงการปกครองและบริหารบนพื้นฐานของหลักธรรม ความดี ความถูกต้อง ซึ่งสะท้อนถึงแนวความคิดปรัชญาที่เน้นเรื่องความดี ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Good Governance ซึ่งความหมายที่น่าจะสอดคล้อง และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปคือ ธรรมาภิบาล หมายถึง การบริหาร โดยยึดหลักธรรม ความดี ความถูกต้อง

           ธรรมาภิบาล เป็นเรื่องของหลักการบริหารแนวใหม่ ( Modern Management ) เป็นหลักการทำงาน ซึ่งหากมีการนำมาใช้เพื่อการบริหารงานแล้ว จะเกิดความเชื่อมั่นว่า จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คือ ความเป็นธรรม ความสุจริต ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยวิธีดำเนินการเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล ก็คือการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความโปร่งใส มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบ และสิ่งที่จะเอื้อให้เกิดการดำเนินการดังกล่าวได้ก็คือ การมีกฎระเบียบ มีแนวปฏิบัติที่รองรับการดำเนินการนั้น ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติชัดเจนเรื่องการเสริมสร้างการมีส่วนร่วม ทางการเมือง ทำให้ประชาชนได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม หรือแสดงสิทธิและเสรีภาพที่พึงมีพึงได้ในทางการเมือง เนื่องจากมีกฎหมายรองรับให้สามารถดำเนินการได้นั่นเอง เป็นต้น

           ธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญเรื่องกระบวนการตัดสินใจทางการบริหาร ดังนั้น จึงเกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติจำนวนมาก ( Actors ) และเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders ) ทั้งหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่น องค์กรประชาชน ซึ่งผู้ปฏิบัติ ทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม ( Civil Society ) รัฐบาลเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมาภิบาล การตัดสินใจในการดำเนินงาน อาจมีปัญหาจากการถูกอิทธิพลครอบงำและอาจนำไปสู่ การคอร์รัปชั่น การทุจริตเชิงนโยบาย ( Policy Corruption ) หรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests ) หากกระบวนการตัดสินใจขาดหลักธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาลประกอบด้วยหลักการต่างๆ หลายหลักการ แล้วแต่ผู้ที่จะนำเรื่องของ ธรรมาภิบาลไปใช้ และจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากกว่ากัน ตลอดจนขึ้นกับบริบท ( Context ) ของประเทศ หรือบริบทของหน่วยงานอีกด้วย อย่างไรก็ดีมีหลักการสำคัญ ๖ หลักการ ที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าเป็นหลักการสำคัญของธรรมาภิบาล คือ            ๑. หลักนิติธรรม ( Rule of Law ) คือ การมีกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีมาตรฐานเชิงซ้อน (Double Standard ) มีการดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ไม่ให้มีการใช้กฎหมายไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับอารยประเทศ มีกรอบการปฏิบัติที่เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งกำหนด กรอบเวลาการปฏิบัติที่ชัดเจนให้ประชาชนทราบ

           ๒. หลักคุณธรรม ( Ethics ) คือ การไม่ทุจริต ไม่ประพฤติผิดวินัย ไม่กระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ รวมถึงการมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ที่ปลอดจากการคอร์รัปชั่น หรือฉ้อราษฎร์บังหลวง การไม่ละเมิดจริยธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติและกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาชีพต่างกันก็จะมีแนวปฏิบัติหรือจริยธรรมที่ต่างกัน อาทิ ผู้ปกครองประเทศย่อมต้องยึดคุณธรรมเป็นสำคัญ และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างอย่างเคร่งครัด

           ๓. ด้านความโปร่งใส ( Transparency ) คือ การมีความโปร่งใสเกี่ยวกับการบริหารงานในทุกๆ ด้าน อาทิเช่น การมีระบบงานที่ชัดเจน มีระบบคุณธรรมในการเลือกบุคลากร รวมถึงการให้คุณให้โทษ ฯลฯ เปิดโอกาสให้สังคมภายนอกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและผลการดำเนินงานที่ผ่านมา หรือมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ

           ๔. หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ( Participation ) คือ กระบวนการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีโอกาสได้แสดงทัศนะและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งมีการนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา กำหนดนโยบายและการตัดสินใจของรัฐ ประกอบด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน (ประชาพิจารณ์) การวางแผนร่วมกัน และการพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

           . หลักจิตสำนึกและความรับผิดชอบ ( Accountability ) คือ หลักการที่สำคัญที่องค์การทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ ซึ่งจะสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders ) เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบในการตัดสินใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสาธารณะ จิตสำนึกและความรับผิดชอบจำเป็นต้องปฏิบัติโดยยึดหลักนิติธรรมและความโปร่งใส

          ๖.หลักความคุ้มค่า ( Value for money ) หรือหลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness ) คือ การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ในการบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน รวมทั้งมีการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม และมีความสามารถในการแข่งขันกับภายนอก

องค์ประกอบของธรรมาภิบาล

   
หลักนิติธรรม
   

หลักด้านคุณธรรม

   
           
                       
       

ธรรมาภิบาล

( Good Governance )
       
หลักความคุ้มค่า
   

หลักความโปร่งใส

   
               
                       
   

หลักจิตสำนึกและความรับผิดชอบ

   

หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน

   
           

ธรรมาภิบาลกับการจัดการภาครัฐ           แนวคิดด้านจัดการ มีพัฒนาการสอดคล้องกับการพัฒนาสังคมมาเป็นลำดับ ขณะเดียวกันสังคมได้ก้าวเข้าสู่สังคมสารสนเทศ บทบาทของวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในการจัดการอย่างมาก และล่าสุดปัจจุบันสังคมได้เข้าสู่ยุคสังคมแห่งความรู้ ( Knowledge Society ) เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และมีแนวคิดธรรมาภิบาลเป็นกรอบการปฏิบัติ

           จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้การจัดการก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ สิ่งที่เห็นชัดคือบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน จากยุคดั้งเดิมที่ความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนเป็นแบบผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง ความสัมพันธ์เป็นแบบบนสู่ล่าง ( Top down approach ) รัฐมีบทบาทชี้นำสังคมอย่างมาก แต่แนวทางปัจจุบัน ที่เน้นธรรมาภิบาล หมายถึงบทบาทของภาคเอกชนและภาคประชาชน มีความสำคัญเด่นชัดมากขึ้น ในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Kownledge based society ) และส่งผลต่อทิศทางในการบริหารจัดการยุคใหม่มากขึ้น เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm ) จากรัฐบาลและการปกครอง (Government ) มาเป็นแบบธรรมาภิบาล (Good Governance )

เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการปกครอง (Government) และธรรมาภิบาล (Governance)
การปกครอง (Government)
ธรรมาภิบาล (Governance)
๑. กฎเกณฑ์ของสังคมเน้นการใช้อำนาจ อย่างเป็นทางการของหน่วยงานของรัฐ ๑. กฎเกณฑ์ของสังคมเน้นการสนับสนุนกิจกรรมที่มีเป้าหมายร่วมกันของกลุ่มทางสังคมหลาย ๆ รูปแบบ
๒. กฎเกณฑ์กำหนดโดยอำนาจจากส่วนกลาง ๒. กฎเกณฑ์ทางสังคมต้องเป็นที่ยอมรับของคนส่วนมาก บทบาทของอำนาจส่วนกลางลดลง
๓. บทบาทของรัฐบาลสามารถควบคุมกลไกทางด้านการค้าและเศรษฐกิจได้ ๓. กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ถูกกำหนดโดยองค์กรหรือกลไกระหว่างประเทศ
  • การใช้อำนาจโดยรัฐ
  • การรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง
  • บทบาทรัฐกับการควบคุมกลไกการบริหารงาน
  • บทบาทและอำนาจส่วนกลางลดลง
  • สนับสนุนกิจกรรมสังคมที่หลากหลาย
  • ยอมรับกลไกการถูกตรวจสอบจากองค์การภายนอก


         บทสรุป

           การบริหารงานของผู้บริหารระดับสูงในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ( Information Tecnology ) หรือ ยุคสังคมแห่งความรู้ (Knowledge Society ) หากผู้บริหารใช้แนวทางการทำงานโดยยึดหลักกฎหมายอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี การนำหลักธรรมาภิบาล (Good Governance ) มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี น่าจะทำให้เกิดผลสำเร็จและสร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่าย การขาดหลักการใดหลักการหนึ่ง หรือเน้นเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งของหลักธรรมาภิบาล ย่อมนำมาซึ่งการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ล้มเหลว เปรียบเสมือนบ้านที่ขาดเสาบางเสา ในที่สุดก็จะล้มไป เฉกเช่นสังคมใดที่ประชาชนส่วนมากยึดหลักธรรมาภิบาล แต่มีคนส่วนน้อยที่มิได้นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ กลับกระทำ ในทางตรงข้ามจนเป็นที่เดือดร้อนของสังคม สังคมนั้นอาจถูกทำลายโดยคนส่วนน้อยที่มีอำนาจได้ ด้วยเหตุนี้ คนส่วนมากควรโน้มน้าว หรือจัดการให้คนส่วนน้อยนั้นเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หันมายึดธรรมาภิบาล เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนในสังคมอีกต่อไป

           สังคมใดที่ผู้นำขาดการยึดหลักธรรมาภิบาล สังคมนั้นก็เสี่ยงที่จะมีการปกครอง ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความขัดแย้ง หากมิได้รับการแก้ไขหรือเยียวยา ก็จะเกิดความรุนแรงและแก้ไขได้ยาก นำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศชาติในที่สุด

-------------------------------

เอกสารอ้างอิง

ไพโรจน์   ภัทรนรากุล,ดร., ธรรมาภิบาลกับการจัดการยุคใหม่ (Good Governance and Modern Management ).
               หนังสือ ๕๐ ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์,๒๕๔๘ : ๒๐๘ - ๒๑๕

ทวิลวดี   บุรีกุล, ผอ . สำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้าฯ. มาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมธรรมาภิบาลกันเถอะ.
               น. ส. พ. มติชน (๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙) : ๖

ข้อมูลจาก : วารสารทหารพลร่ม เดือน ม.ค.-มี.ค. 48

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมาภิบาล
หมายเลขบันทึก: 105143เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท