​คุยกับเธอ"ความเอาจริงเอาจังกับความเป็นตัวของตัวเอง"


คงต้องผสมผสานเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆไว้ การทิ้งของเก่าไปเลย ทำให้ขาดฐานราก วิธีใดวิธีหนึ่ง คงแก้ปัญหาให้กับทุกๆคนไม่ได้ แต่ละคนต้องมีวิธีของตัวเอง

คุณแม่เธอเล่า ลูกสาวเลือกไปเรียนที่นิวซีแลนด์ตั้งแต่เล็กๆ เธอเรียนชั้นประถมต้นเพียง 3 ปีในเมืองไทย จากนั้นเส้นทางการศึกษาเธอ จึงไปเริ่มต้นขึ้นที่ต่างประเทศ แน่นอนว่าฐานะครอบครัวเธอมีความมั่นคง สามารถสนับสนุนเธอได้ อย่างไม่ต้องกังวลใจ

ผมมีโอกาสพูดคุยกับเธอ ในวัยเพิ่งจบมัธยมปลายหรือเยียร์ 13 บ้านเขามาหมาดๆ ชื่นชมความคิดความอ่าน ซึ่งเหนือวัย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับลูกศิษย์ผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งเรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง จากโรงเรียนที่เธอเพิ่งจบการศึกษามา

โรงเรียนในเมืองไทยกับที่โน่น?

ที่โน่นเขาจะสอนซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจกลับมาเรื่องเดิมใหม่อีกก็ได้ ถ้านักเรียนมีความต้องการ คนที่เข้าใจแล้วอาจต้องอดทนฟังซ้ำๆ "ก็แต่ละคนมีความแตกต่างกันนี่ค่ะ"

ทึ่งตรงประโยคท้ายนี้แหละครับ เธอเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลเสียด้วย ตัวเองกว่าจะรู้จักคำคำนี้ ก็เมื่อเป็นครูมากว่าสิบปีแล้ว แถมไม่ลึกซึ้งอะไรด้วย เข้าใจจริงๆจังๆหลังจากนั้นอีกด้วยซ้ำ เห็นเด็กคนแล้วคนเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่าแล้วดอก จึงอ๋อ!กับความแตกต่างฯ

เธอบอกก๋วยเตี๋ยวร้านไหนก็เหมือนกัน อร่อยไม่ต่างกันถ้าไม่ปรุงรส

ถ้าอย่างนั้นจะมีร้านคนกินมากกินน้อย? เป็นเหตุผลได้ไม่ใช่หรือว่าต่าง หรืออร่อยไม่เท่ากัน..ผมเถียง

ก็เป็นแค่รสนิยมของแต่ละคนเท่านั้น..เธอตอบ

"เธอเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ดีจริงๆ"

สอบไม่ผ่าน?

ไม่มีสอบไม่ผ่าน ทุกคนต้องได้ อย่างเช่นเรียนภาษาเยอรมัน คนที่เรียนภาษาต้องพูดได้ สื่อสารได้ ดังนั้นทุกคนต้องฝึกๆ จนพูดได้ ไม่ได้ก็ต้องเอาจนได้ ยังไงก็ต้องได้ "กรณีไม่ผ่านวิชานั้นจริงๆ อาจต้องย้อนมาเรียนซ้ำ เรียนใหม่ หรือสอบใหม่ จนกระทั่งผ่านเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด" ประการหลังนี้ผมจับใจความเอาเอง

ฟังดูแล้ว กระบวนการหรือวิธีการของเขา ไม่ต่างจากบ้านเรา ความต่างจริงๆน่าจะมาจากความเอาจริงเอาจัง ทั้งการจัดการเรียนรู้ การประเมินและการติดตามแก้ไขเสียมากกว่า ประกอบกับนักเรียนเขามีความรับผิดชอบ มีความรู้ และความมุ่งมั่นมาจากครอบครัวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

ระบบการศึกษาบ้านเรา รวมถึงครู อยากให้นักเรียนผ่านมากเกินไป ความห่วง ความช่วยเหลือ การเอื้อหรือให้โอกาสน่าจะกลับกลายเป็นผลเสีย ความเข้มแข็ง ความพยายามของนักเรียน จึงอ่อนด้อยลงเรื่อย

ระเบียบวินัย?

ที่โน่นบังคับให้สวมกระโปรงยาวสูงขึ้นมาจากพื้นไม่เกิน 30 เซนติเมตร คนที่ผิดระเบียบจะถูกครูตรวจวัดตักเตือนอยู่ตลอด แต่ไม่มีการลงโทษอย่างอื่น นอกจากวัด ตรวจสอบ ตักเตือน สุดท้ายคนที่ผิดจะเบื่อรำคาญและปฏิบัติอย่างถูกต้องไปเอง คนที่เบี้ยว ไม่เชื่อฟัง แอบทำผิดระเบียบลับหลังครูไม่ค่อยมี

วิธีการหลักการเรื่องนี้ก็คล้ายกันอีก ระเบียบการลงโทษนักเรียนแต่ก่อนบ้านเราใช้ไม้เรียวกำราบ แต่ปัจจุบันใช้การบำเพ็ญประโยชน์ แต่ที่ต่าง..บ้านเราต่อหน้าครูถ้าเรียบร้อย บางคนอาจต้องไปดูลับหลังด้วย ว่ายังเรียบร้อยอยู่หรือไม่ ยังมีอย่างนี้อีกมาก จะอยู่ในระเบียบกติกาก็ต่อเมื่อคนเห็นคนรู้ "ทำอย่างไรวินัยนี้ จึงจะเข้าไปในหัวจิตหัวใจนักเรียนได้" อาชีพครูของผมถามตัวเองเสมอมา

รักการอ่าน?

เขามีชั่วโมงหนึ่งที่ทุกคนต้องเข้าไปอยู่ในห้องสมุด ไม่ได้บังคับให้ต้องทำอะไร กติกามีแค่ต้องอยู่ในห้องสมุด อาจมีนักเรียนบางคนไม่อ่าน เอาแต่คุยกันอยู่ดี แต่นานไปหรือหลายครั้งเข้าจะเบื่อ สุดท้ายจะหยิบจับหนังสือขึ้นมาอ่านเอง "เรื่องนี้ครอบครัวสำคัญ ครูฝ่ายเดียวทำไม่สำเร็จ" เธอคิด

เธอเป็นนักอ่านตัวยงครับ ขนาดบ่นพ่อแม่ ว่าโควต้าเงินที่ให้ซื้อหนังสือนั้นน้อยเกินไป พ่อแม่พบกับเธอครึ่งทาง โดยมักจะพาไปร้านหนังสือ แล้วปล่อยให้อ่านอยู่ในนั้น เธอก็ได้อ่านอย่างที่ชอบ พ่อแม่ก็จ่ายค่าหนังสือน้อยลง เธอบอกประโยชน์เพิ่มขึ้นจากกรณีนี้ เพราะเธออ่านหนังสือเร็วขึ้น จับใจความ จับประเด็นเนื้อหาได้ดีและรวดเร็วขึ้น "กลอุบายของพ่อแม่เธอ" ผมนึก

การเรียนการสอนชีววิทยา?

ได้ผ่าหัวปลา ผ่าหัวใจ ผ่าปอด เพื่อนบางคนใบหน้าแทบจะจิ้มลงไปที่หัวใจหมูเลย จนเพื่อนเข้าใจว่าเธอตั้งใจเรียนมาก ที่ไหนได้ เธอเห็นเลือดแล้วหน้ามืด พานจะเป็นลมต่างหาก(ฮา)

เรียนวิวัฒนาการต้องท่องปี ค.ศ. กี่ล้านปีมาแล้ว เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคหิน เรียกชื่อว่าอะไร อย่างไร?

ดูแล้วเนื้อหาหลายเรื่องเหมือนบ้านเรา แต่บางเรื่องที่โน่นไม่ได้เรียน เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ บางเรื่องเรียนน้อยกว่า เช่น เรียนนิเวศวิทยาแต่ไม่ได้เรียนวัฏจักรสาร เป็นต้น

ทั้งแบบฝึกหัดและสอบเป็นแบบเขียนตอบเหมือนเขียนเรียงความ ในห้องระหว่างเรียนให้เปิดหนังสือ หรือกางตำราเขียน ที่สำคัญต้องอ้างอิง และต้องอ้างอิงจากหลายแหล่งด้วย ถ้าน้อยแหล่งอาจไม่ผ่านเกณฑ์ จะเขียนตอบด้วยลายมือหรือพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ก็ไม่เป็นปัญหา แต่จะถูกตรวจสอบการคัดลอกอย่างเข้มข้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ถ้าซ้ำกับต้นฉบับจำนวนเท่านั้นเท่านี้ประโยค จะถูกยกเลิกหรือคัดออกทันที แม้มีใครเขียนตอบด้วยลายมือ ก็สามารถใช้วิธีสแกนแล้วตรวจด้วยคอมพิวเตอร์นี้ได้เช่นกัน

ส่วนการทดสอบในห้องสอบต้องเขียนเอง ต้องทำความเข้าใจมา ท่องมา ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นแบบฝึกในห้องหรือการทดสอบก็ตาม หลักสูตรจะมีหัวข้อให้เขียน ซึ่งกำหนดให้ทุกคนรู้ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ว่าต้องเขียนหัวข้อนี้ได้ และต้องได้อย่างน้อยกี่หัวข้อจึงจะผ่าน

ดูแล้วเขาเน้นให้เรียนจากการปฏิบัติ ซึ่งเด็กๆมักจะสนใจกว่าเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว การท่องจำเขาก็ยังใช้อย่างที่ไม่ถูกดูหมิ่นดูแคลน เนื้อหาสาระวิชาที่เขาเรียนน่าจะน้อยกว่า สำหรับการคัดลอกบ้านเราก็เป็นปัญหา ส่วนตัวแก้ด้วยการให้เขียนส่งด้วยลายมือ อย่างไรเสียก็ยังได้อ่านมาบ้าง "ฟังแล้วชอบโปรแกรมตรวจจับการคัดลอกผลงานของเขาครับ"

การสอบหรือแบบฝึกหัดที่เน้นการเขียนตอบ อันนี้ตรงกับที่ตัวเองพยายามปฏิบัติ หัวข้อสำคัญที่นักเรียนควรอธิบายได้ มักย้ำขณะจัดการเรียนการสอน เคยบอกล่วงหน้าเหมือนกัน ถึงประเด็นต่างๆที่นักเรียนต้องอธิบายได้ แถมเคยบังคับต้องเขียนได้จำนวนกี่หัวข้อ ภายในระยะเวลานั้นนี้ด้วย แต่เด็กๆหลายคนทำไม่ได้ จากปัจจัยหลายๆอย่าง ความคิดเราเองก็ไม่แน่วแน่พอ สุดท้ายต้องลดความเข้มงวดเรื่องเหล่านี้ลง

สรุปโดยรวมๆแล้ว หลักการและแนวปฏิบัติของเรากับเขาคล้ายกัน ความต่างน่าจะมาจากการปฏิบัติ โดยเฉพาะความเอาจริงเอาจังในการจัดการเรียนการสอน การประเมิน ตลอดจนการแก้ไขปรับปรุง

นอกจากนั้นบ้านเรายังมีเรื่องอื่นๆเข้ามารบกวนชั้นเรียนมากเกินไปด้วย จนขาดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี บ้านเรากังวลกับการเสียหน้าถ้าเด็กๆสอบไม่ผ่านเป็นจำนวนมาก บ้านเราขาดความเข้มงวดหรือยอมกับความไม่เอาใจใส่ของนักเรียนมากจนเกินไป

เรื่องดีๆหลายเรื่องเราก็เคยมี แต่ปัจจุบันขาดหายไป อาทิ การอ่าน การสะกดคำในภาษาไทย การเขียน การย่อความ การเรียนคณิตศาสตร์ให้ได้ดีการท่องสูตรคูณยังจำเป็น การท่องบทอาขยาน อันมีถ้อยคำที่สละสลวย สัมผัสที่งดงาม ทั้งที่เราก็เคยใช้การท่องจำเหมือนกับเขา แต่ระยะหลังมา ครูคนใดเน้นจะดูเชยดูล้าหลัง เมื่อหลักสูตรเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ใครสอนแบบบรรยายจะรู้สึกผิดทันที

บ้านเรามักอย่างนี้ ความเป็นตัวของตัวเอง ผู้ใหญ่อย่างเราต้องมีก่อน ต้องมั่นคง เราต้องเป็นเรา เพราะทุกคนทุกชาติศาสนามีความต่าง

คงต้องผสมผสานเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆไว้ การทิ้งของเก่าไปเลย ทำให้ขาดฐานราก วิธีใดวิธีหนึ่ง คงแก้ปัญหาให้กับทุกๆคนไม่ได้ แต่ละคนต้องมีวิธีของตัวเอง

ความเอาจริงเอาจังกับความเป็นตัวของตัวเอง สองเรื่องที่คิดได้ จากการคุยกับเธอ

หมายเลขบันทึก: 583034เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2014 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2015 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ชอบใจการจัดการศึกษาของที่นี่

อากาศที่นี่ดีไม่ต่างไปจากบ้านเรามากนัก

แต่มืดช้าไปหน่อย

ไปมาเมื่อ 9 ปีที่แล้ว นานมากๆ

พบว่าการศึกษาของเขาเอาจริงเอาจังมาก

https://www.gotoknow.org/posts/25856

https://www.gotoknow.org/posts/25834

https://www.gotoknow.org/posts/25677


ขอบคุณพี่ครูธนิตมากครับ

สบายดีไหม หายไปนานมากๆๆ


  • มีโอกาสได้พูดคุย ก็เลยลองซักถามอย่างที่เราอยากรู้ครับอาจารย์ ดูๆไปวิธีการ หลักการ ที่เราปฏิบัติอยู่ก็ไม่ต่างอะไรจากเขามากนัก แต่จับน้ำเสียงการเรียนของเธอที่โรงเรียนจริงๆที่เธอเล่า บ้านเราน่าจะขาดความเอาจริงเอาจังและความเป็นตัวของตัวเองเสียมากกว่า เพราะมักเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามแบบอย่างในที่อื่นๆที่เราเชื่อ ณ ช่วงเวลานั้นๆ
  • สบายดีครับ อาจารย์ขจิตก็คงเช่นกันนะครับ สวัสดีปีใหม่ 2558 ด้วยครับ!

สุขสันต์.... วันปีใหม่ 2558 นะคะ



  • ขอบคุณDR.Pleมากๆครับ
  • เช่นกันนะครับ มีความสุขสมหวังในสิ่งที่มุ่งหมายยิ่งๆขึ้น ตลอดปีใหม่นี้และตลอดไปครับ..

เขียนได้สาระน่าสนใจมากๆนะคะ

ขอบคุณเรื่องเล่าที่น่าสนใจนี้ค่ะ...

  • ได้คุย ได้ถาม เราก็พลอยได้ความรู้ไปด้วยครับ อาจารย์..
  • ขอบคุณอาจารย์Preedaครับ
  • นร.ไทยมีจิตอาสา มาช่วยสอนภาษาให้กับนร.ที่โรงเรียนครับพี่ใหญ่ จึงมีโอกาสได้ถาม ได้คุย ทำให้ได้ความรู้ครับ..
  • ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาทครับ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท