ข้อคิดดี ๆ เกี่ยวกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทย


การเป็นประเทศเกษตรกรรม รวยช้า รวยน้อย แต่รวยอย่างยั่งยืน

             เมื่อตอนไปนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมทางวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  มีโอกาสได้ฟังการกล่าวเปิดงานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (ประธานเปิดงาน) ท่านกล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทยในมุมมองที่น่าสนใจ  จึงขอหยิบยกประเด็นที่เห็นว่าสำคัญต่อการก่อเกิดเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทยมาเล่าสู่กันฟัง บางท่านอาจจะเคยได้ยินมาจนชินหู(ก็ต้องทนอ่านอีกรอบ) แต่สำหรับผู้เขียนเองไม่ค่อยได้ฟังประโยคเด็ด ๆ ดี ๆ แบบนี้มากนัก และครั้งนี้เมื่อได้ยินแล้วยังมีโอกาสได้เขียนด้วยก็ขอถือโอกาสเล่าสู่กันฟังนะคะ ท่านได้กล่าวถึงข้อควรระวังในการเข้าสู่การเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทย

             การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติล้มเหลว ความรู้มี ทรัพยากรมีพอ แต่บริหารจัดการไม่เป็น ความรู้จากนักเรียนนอกมีมากมาย แต่ควรระวังเมื่อนำความรู้มาใช้ต้องประยุกต์ ปรับใช้  ใช้ดุลยพินิจ ปรุงแต่งให้เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ใช่การยกรูปแบบที่ไปเรียนรู้มาทั้งหมด เห็นว่าของเขาดีแล้วมาเสนอใช้กับประเทศไทย เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมนั้น แท้ที่จริงคำว่า เสรี คือ มวยวัด ใครแข็งแรงที่สุดเป็นผู้ชนะ  เช่นเดียวกับในเวทีระดับโลก ประเทศใดแข็งแกร่งที่สุดย่อมอยู่เหนือทุกประเทศ 

             เศรษฐกิจพอเพียง ความหมายตามรับสั่งของในหลวง คือ พอมี พอกิน มีหลักการ ข้อที่ 1 คือ ต้องประมาณตน (self assessment) รู้จักตนเองก่อนว่ามีสมรรถนะแค่ไหน มีทุนอะไรบ้าง แค่ไหน จะทำให้สามารถพัฒนาทุนที่มีอยู่ให้เกิดศักยภาพในการพัฒนาประเทศอย่างถูกทิศทาง ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนประเทศอื่น ข้อที่ 2 คือ เลือกทางเดินด้วยเหตุผล แต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องเดินในเส้นทางเดียวกัน เช่น ประเทศสิงคโปร์ เมื่อพิจารณาทุนของประเทศแล้วพบว่าไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดเลย ที่จะนำมาผลิตเป็นสินค้าเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น ในประเทศมีเพียงทรัพยากร คน เท่านั้น  จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพคน จนประเทศสิงคโปร์มีความร่ำรวยจากการขายสินค้า ซึ่งไม่ใช่สินค้าของตนเองด้วยซ้ำ แต่เป็นสินค้าของประเทศอื่น เพราะคนของสิงคโปร์เก่งในการเป็นพ่อค้าคนกลาง ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการเกษตร มีทรัพยากรพร้อม แต่ที่ผ่านมามุ่งไปพัฒนาด้านอื่น เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทำไมไม่ส่งเสริมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยให้คงคุณภาพของผลผลิตไว้อย่างเดิม อันที่จริง ข้าว มีประโยชน์มาก มีผลการวิจัยที่พบว่าหากบริโภคข้าววันละ 1 ถ้วยจะทำให้อารมณ์ดีเพราะมีสาร anti-strain หากเมืองนอกมีการผลิตอาหารเช้า cornflakes เราก็น่าจะมีสินค้ามาสู้กับเขาได้เพราะเรามีวัตถุดิบเพียงพอ และมีภูมิปัญญาการแปรรูปอาหารมานานแล้ว เช่น ไส้กรอกข้าว (จำไม่ได้ว่าท่านยกตัวอย่างอาหารอะไร แต่เป็นอะไรทำนองนี้) ก็พัฒนาคุณภาพ รูปแบบของสินค้าให้สามารถสู้กับต่างชาติได้  อย่าลืมว่าในชีวิตประจำวันทุกประเทศต้องรับประทานอาหาร  แม้ว่าจะร่ำรวยแค่ไหน บางประเทศที่มีเงินจากการขายน้ำมันมากมาย แต่ก็กินน้ำมันไม่ได้แน่นอน ต้องนำเงินนั้นมาซื้ออาหารกิน  เพราะฉะนั้นการเน้นแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ  การเลือกที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาด้านการเกษตรนั้นต้องยอมรับว่ารวยช้า แต่หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสอนให้เราเน้นที่การ พอมี พอกิน ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมากมายเหมือนประเทศอื่น ถึงจะรวยช้า รวยน้อย  แต่เราก็รวยอย่างยั่งยืน              

                นับว่าเป็นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศที่มีประโยชน์  เห็นภาพ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง (หากผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเริ่ม ทำ)

หมายเลขบันทึก: 99943เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2007 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท