ภัยร้ายของการบริโภค "คำใหญ่ คำโต" ในทางปรัชญาโดยไม่อ่านฉลากให้เข้าใจ : คำให้การของเซลส์แมนขายความรู้รุ่นเก๋า "ไชยันต์ ไชยพร"


...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่อาจารย์และลูกศิษย์ต่างก็ไม่รู้เรื่องในสิ่งที่ตนบริโภค (ในที่นี้คือความรู้ในทางทฤษฎีปรัชญา!) พอกัน แต่ก็พากันช่วยสำเร็จความใคร่ให้กันและกันอย่างเพลิดเพลิน...

ข้อความต่อไปนี้คัดลอกจากหนังสือของ ไชยันต์ ไชยพร หน้า 54-55. อ่านแล้ว "โดน" ตัวผมเต็ม ๆ "ตรง" และ "แรง" ช่วยเรียกสติผมให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวได้ชะงัดนัก...หากเพื่อน ๆ เซลล์แมนฝึกหัดท่านใดที่กำลังมีอาการเหมือนผมสมัยที่ที่อยู่ในค่ายฝึกหัดเซลล์แมน...หรือท่านใดที่กำลังจะเข้าค่าย...อ่านไว้เป็นอุทาหรณ์เพื่อเตือนสติตัวเอง...จะได้ไม่มีอาการเหมือนผม...และจะไม่พบจุดจบเช่นเดียวกับตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมาเตือนใจ...เชิญลิ้มรส "ยาขม" ได้เลยครับ

"ในรั้วมหาวิทยาลัยมีปรากฏการณ์ในลักษณะที่ว่านี้  มีเรื่องเล่าว่า  มีนิสิตคนหนึ่งสนใจในทางปรัชญาทฤษฎีการเมือง  เป็นคนที่อ่านหนังสือมาก  โดยเฉพาะปรัชญาความคิดตะวันตก  แต่การอ่านของเขานั้นไม่ได้อ่านเจาะลึก  แต่อ่านแบบผิวเผิน  และมักจะจำเพียงประโยคหรือข้อความเด็ก ๆ (clever speeches) ของนักปรัชญาเช่น "God is dead." ของ Nietzsche เป็นต้น  ในการตอบข้อสอบวิชาทฤษฎีการเมือง  นิสิตผู้นี้ก็จะตอบคำถามในลักษณะที่อ้างอิงประโยคเด็ด ๆ ของนักปรัชญาตะวันตกจำนวนมาก  ซึ่งเป็นนักปรัชญาที่อ่าจารย์เจ้าของวิชาไม่ได้สอน  แต่เป็นนักปรัชญาที่ฮิต ๆ ติดอันดับในแวดวงวิชาการ  แต่เขาไม่อธิบายหรือวิเคราะห์อะไรได้  นอกจากการอ้างอิงถึงประโยคเด็ด ๆ ของนักปรัชญาจำนวนมากเหล่านั้น  ผลที่ออกมาก็คือเขาได้เกรด C ซึ่งทำให้เขาไม่พอใจในอาจารย์คนนั้นอย่างยิ่ง  อาจารย์ผู้นั้นได้อธิบายให้นิสิตผู้นั้นฟังในชั้นเรียนว่า  ข้อดีของเขาคืออ่านหนังสือมาก  จำข้อความต่าง ๆ ได้มาก  แต่ไม่สามารถอธิบายและวิเคราะห์ที่มาที่ไปของนัยความหมายของข้อความนั้น ๆ อีกทั้งไม่สามารถเชื่อมโยงข้อความเด็ด ๆ ของนักปรัชญาต่าง ๆ ที่อ้างถึง  ดังนั้น  ควรจะปรับปรุงโดยวิเคราะห์และเชื่อมโยงให้ดี  ต่อมานิสิตผู้นั้นไปลงในทำนองเดียวกันนี้กับอาจารย์คนอื่น  และกลับได้เกรดดีมาก  และได้รับคำชมเชยว่าเขามีความสามารถระดับ "World Class" ซึ่งทำให้นิสิตผู้นั้นพอใจมาก  และรู้สึกว่าอาจารย์ในวิชาแรกไม่เป็นธรรมต่อเขาอย่างยิ่ง  และคิดว่าอาจารย์ผู้นั้นไม่ได้เรื่องหรืออิจฉาความสามารถของเขา  จึงแกล้งให้เกรดไม่ดี  เพื่อสกัดดาวรุ่งอย่างเขา  โดยเขาหารู้ไม่ว่า  อาจารย์บางคนสามารถให้เกรดดี ๆ กับลูกศิษย์  ด้วยต้องการได้คะแนนนิยมจากลูกศิษย์  และทำให้ลูกศิษย์เกลียดชังอาจารย์ที่ให้เกรดน้อยกว่าตน  โดยเฉพาะอาจารย์ผู้นั้นเป็นคนที่ตนอิจฉาหรือเกลียดชังอยู่แล้ว  พูดง่าย ๆ ก็คือ  เป็นการเล่นการเมืองกับลูกศิษย์  หรือใช้ลูกศิษย์เป็นเครื่องมือในการทำลายอาจารย์ร่วมสถาบันที่ตนไม่ชอบหน้า

ต่อมา  หลังจากจบแล้ว  นิสิตผู้นั้นได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาปรัชญา  และได้พบกับความล้มเหลวทางวิชาการอย่างรุนแรง  ด้วยไม่สามารถอธิบาย  วิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อความเด็ด ๆ ของนักปรัชญาคนสำคัญต่าง ๆ ที่เขาชอบอ้างได้  เขาได้แต่ยกวาทะเด็ด ๆ มาพูดในชั้นเรียนหรือเขียนตอบข้อสอบ  เมื่ออาจารย์ให้อธิบายก็อธิบายไม่ได้  ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนทำได้ดีกว่าเขาแทบทุกคน  เขาเริ่มไม่พอใจคณาจารย์ในภาควิชาปรัชญา  รวมถึงเพื่อน ๆ ร่วมชั้นเรียนของเขา  เขายืนยันกับเพื่อน ๆ ว่า เขาเข้าใจ  แต่มันลึกซึ้งมากจนอธิบายไม่ได้  นักปรัชญาที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษและมักจะหนีบหนังสือของนักปรัชญาผู้นั้นให้ผู้คนได้พบเห็นอยู่เสมอคือ Matin Heidegger เมื่อเขาล้มเหลวในการเรียนปริญญาโทปรัชญาอย่างรุนแรง  ในที่สุด  เขาตัดสินใจลาออก  และสักพักหนึ่งก็กลับมาหาอาจารย์คนที่เคยให้ C และสารภาพว่าเขาเริ่มรับรู้และเข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ C และเริ่มตระหนักถึงคำเตือนทีอาจารย์เคยให้ไว้  อีกทั้งเขาขอขมาต่ออาจารย์ผู้นั้นว่า  ในช่วงเวลาที่เขาไปเรียนกับอาจารย์ที่ยกยอเขาว่าเป็น "World Class" นั้น  เขาได้รวมหัวกับอาจารย์ดังกล่าวด่าทอและแพร่กระจายคำครหาที่ไม่เป็นความจริงต่อตัวอาจารย์ผู้นั้นด้วยความโกรธแค้นที่อาจารย์ผู้นั้นให้ C เขา  หลังจากที่อาจารย์ผู้นั้นให้อภัยไม่ถือสา  เขาก็บอกกับอาจารย์ต่อว่า  เขาไม่ชอบปรัชญาแล้ว  เพราะมันล่องลอยและไม่ได้เรื่อง  และไม่ให้อะไรที่เป็นรปธรรมในชีวิตจริง  เขาตัดสินใจที่จะเรียนต่อทางเศรษฐศาสตร์แทน  เขาจะมุ่งหาเงินให้ร่ำรวยดีกว่าที่จะเป็นนักปรัชญาสติเฟื่อง  อาจารย์ผู้นั้นเข้าใจว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาสุดโต่งที่เกิดจากความล้มเหลวผิดหวัง  อาจารย์ผู้นั้นก็ได้พยายามเตือนสติให้เขาค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ อ่าน  ก่อนจะตัดสินใจอะไรไป  แต่ในที่สุด  นิสิตผู้นั้นก็ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์  แต่ได้ไปทำงานเป็นพนักงานขาย (เซลส์แมน) และปัญหาขัดแย้งกับพ่อแม่  ซึ่งไม่ทราบว่าปัญหาดังกล่าวคืออะไร  ทราบแต่เพียงว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจพฤติกรรมแปลก ๆ ความคิดแปลก ๆ ของลูกชาย  โดยเฉพาะการไปหมกมุ่นกับความเชื่อทางศาสนาและพระเจ้า  ในที่สุดวันหนึ่งก็มีคนพบศพนิสิตผู้นั้นฆ่าตัวตายอยู่ในห้องของโรงแรมม่านรูดแห่งหนึ่ง  โดยข้างศพของเขามีคัมภีร์ศาสนาและลูกประคำ! อนิจจา!

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่อาจารย์และลูกศิษย์ต่างก็ไม่รู้เรื่องในสิ่งที่ตนบริโภค (ในที่นี้คือความรู้ในทางทฤษฎีปรัชญา!) พอกัน  แต่ก็พากันช่วยสำเร็จความใคร่ให้กันและกันอย่างเพลิดเพลิน  ตัวอาจารย์ที่ว่านี้ยังคงลอยนวลอยู่  และยังคงชื่นชมยกย่องนิสิตนักศึกษาประเภทนี้ (นั่นคือประเภทที่ชอบยกคำพูดหรือศัพท์แสงคำใหญ่คำโตในทางปรัชญาออกมาโดยไม่รู้ว่ามันมีนัยหรือความหมายหรือที่มาที่ไปจริง ๆ อย่างไร) เพราะนิสิตนักศึกษาประเภทนี้คือคนที่เหมือนกับตนนั่นเอง   สมดังที่เพลโตได้กล่าวไว้ว่า "The like is always with the like."

นี่เป็นบทเรียนราคาแพงที่คนในวงวิชาการควรจะคิดอย่างจริงจังในการหาทางที่จะไม่ให้โศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีก"

...อึ้ง...เสียว...สงสาร...

...อิ้ง...กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น...เสียว...ผมเกือบเป็นเหมือนนิสิตผู้นั้น...สงสาร...นิสิตผู้นั้นจับใจ...

...นี่แหละน๊า...ระบบการศึกษาของเราที่พยายามสอนคนของเราเรื่อง "ความรู้"...เขาไม่รู้หรือว่ามันเป็นแค่ "agonistics" เท่านั้นเอง...

...น่าน ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เพิ่งเตือนตัวเองอยู่หยก ๆ ว่าให้ระวังในการบริโภค...สวาปามไปอีกคำแล้ว...มันอันตรายจริง ๆ นะครับ...ไอ้คำใหญ่คำโตเนี่ย...ใครเคยบริโภคแล้วมักจะเผลอตัวเผลอใจแอบไปลิ้มลองเสมอ ๆ...ท่านที่ไม่เคย...อย่าลองเป็นอันขาดนะครับ...มันเลิกยาก...

หมายเลขบันทึก: 99237เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2007 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ใช่แล้ว...น้องบ่าววีร์...

เห็นบอกว่าอย่างอ่านงานของ ฟูโก้...อ่านหรือยังครับ...คำที่ควรระวังก็มีหลายคำนะครับ...ก่อนบริโภคต้องอ่านฉลากให้เข้าใจ...โดยเฉพาะไอ้คำว่า "discouse" ที่บ้านเราบัญญัติว่า "วาทกรรม" เนี่ย...

...พี่ยอมรับว่าเคยบริโภคไปแล้ว...ตอนนี้ติดยังกะสาเสพติด...เวลาไปฟุ้งที่ไหน...ถ้าไม่ได้ "ถุย" คำนี้ออกมา...มันท้องอืดยังไงไม่รู้...

...มันน่ากลัวจริง ๆ...คำไทยง่าย ๆ ชาวบ้านรู้เรื่อง...มันคงหาไม่ได้มั้งน้องบ่าววีร์...หรือมันฟังดูไม่โก้ก็ไม่รู้...

  • ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ ที่แบ่งปันครับ
  • อาจารย์อย่างผมคงต้องระวัง  อีกเยอะเหมือนกันครับ...

ครับอาจารย์..."ย่ามแดง"...

ยินดีที่ได้แบ่งปันครับ...แต่แย้งว่า...นี่ไม่ใช่ "เรื่องดี ๆ แน่นอน"  หรืออาจจะกล่าวได้ว่า "เรืองดี ๆ ของตลกร้าย ๆ" ก็ได้...ชักจะงงแล้วไหมครับ...เอาเป็นว่า..."แง่มุมดี ๆ ของเรื่องร้าย ๆ " ก็แล้วกัน...แต่ยืนยันว่า  "นี่ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอนครับ"

...บางทีไอ้คำใหญ่  คำโต  มันก็โก้อย่างว่านั่นแหละ...มันแสดงว่าคนพูน่ะ...รู้มาก...อ่านมาก...เขาเรียกว่าเอาไว้ "บลัฟกันทางวิชาการ" หรือ "เกทับกัน"...ผมก็ยอมรับว่า...สมัยนั้นผมรู้สึกดีมากที่ได้ "พ่น" คำพวกนี้ออกมา...ทำให้คนอื่นงง...แล้วมันทำให้เราดู "เจ๋ง"...

...แต่เดี๋ยวนี้...นึกย้อนไปในอดีต...แล้วรู้สึกอับอายยังไงบอกไม่ถูก...ผมเพิ่งรู้สึกหลังจากได้อ่านบทความนี้ว่า...มันเป็นเครื่องแสดง "ความโง่" ของคนพูดได้เป็นอย่างดีเลย

...เดี๋ยวนี้เลยมาบริโภคคำเล็ก ๆ เช่น...น้ำพริก...ปลาทู...แกงน้ำเคย...คล่องคอกว่าเยอะเล๊ย...

P
เพิ่งเข้ามาเจอ รู้สึกโดนใจ แม้จะช้าไปหน่อย แต่ฝากรอยจารึกไว้............
ในฐานะที่จบปรัขญา ยืนยันได้ว่านักศึกษาปรัขญาทำนองนี้มีเยอะ แต่ที่ล้มเหลวถึงกับตายแบบนี้ ยังไม่เคยเจอ...
อ่านๆ ไป ก็นึกถึงเมื่อตอนบวช ๒-๓ ปีแรก หลวงพี่ท่องธรรมวิภาคนักธรรมตรีและโทได้หมดทั้งสองเล่ม ตอนนั้นคิดว่า ตัวข้าฯ เยี่ยมยุทธ์ ... แต่พอแปลบาลีที่เกี่ยวกับธรรมะ ระดับสูงๆ จึงรู้ว่า อาตมายังมิเท่าใดนัก เพราะนั่นเป็นความจำมากกว่า...  (ท่านดอกเตอร์ก็นักบิณฑ์เก่าคงเข้าใจ 5 5 5)
เจริญพร

สุปฏิปนฺโน ภควโต สวกสํโฆ, ฐานุตฺตโม นมามิ.

สมัยที่ผมใกล้จบการศึกษาจากโรงเรียนประถมศึกษาประจำหมู่บ้าน  ใจคอร้อนรุ่มทุกคราวไป  ที่เห็นนักเรียนรุ่นพี่  ขี่จักรยานไปเรียนมัธยมในตอนเช้า  และขี่กลับในตอนเย็น  พอวันหยุดผมก็ได้แต่นั่งอ้าปากค้าง  ข่มความอยากไว้ภายใน  นั่งฟังเขาคุยกันถึงเรื่องราวในโรงเรียนมัธยมประจำตำบล

ความรวดร้าวเข้าปกคลุมจิตใจ  เมื่อเป็นที่แจ้งชัดว่า  "แม่" ไม่สามารถส่งเสียให้เล่าเรียนในโรงเรียนมัธยมได้เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีนโยบาย "ประชานิยม" อย่างทุกวันนี้

โอกาสที่จะได้เรียนต่อทางสุดท้าย  จึงเป็นวัดที่ผมก็รู้ว่า "แม่" ก็ปวดร้าวอีกคราวที่ไม่มีแม้กระทั่ง "ทุน" ที่จะให้ลูกบวช  ผมได้มีโอกาสเข้าสู่ สํฆมณฑล ก็ด้วยความเมตตาของชาวบ้าน (ชาวบ้านบริจาคเงินซื้อสบงจีวร  ถวายเจ้าอาวาส  เจ้าอาวาสนำเครื่องนุ่งห่มบริจาคแก่ผม  และเป็นเจ้าภาพบวชเณรให้) นี่คงเป็นมูลเหตุที่ทำให้ความคิดความอ่านของผม  มีแนวโน้มเพื่อ "ประชาชน" ซะส่วนใหญ่

ท่องนวโกวาทไป  มองไปบนท้องถนนหน้าวัดก็เห็นเขาขี่รถกลับจากโรงเรียนเป็นทิวแถว "จตุกะ คือหมวดสี่ อริยสัจจ์สี่ ทุกข์ คือสภาวะที่ทนได้ยาก  สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์  นิโรธ คือความดับทุกข์ มรรค คือหนทางแห่งความดับทุกข์"  มันก้องอยู่ในหัวผมตลอด  มันคือธรรมที่ท่านบอกต่อ ๆ กันมาว่า  "องค์ศาสดาตรัสรู้ธรรมนี้" แต่พอมาถึงตัวข้าฯ ท่องได้แล้ว ไฉนยังเป็นทุกข์อยู่?

ความทุกข์รุมเร้าหนัก  จึงยอมพ่ายแพ้ความอยาก  ตะเกียกตะกายไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่ทางวิทยาไปรษณีย์  ด้วยความต้องการในประกาศ ม. 3 มาครองให้หายอยาก  ด้วยความเชื่อว่า "ถ้าหิวก็ต้องกินจึงจะหายหิว" เห็นไหมหละท่าน "ท่องอิรยสัจจ์สี่ได้แล้ว  ก็ยังโง่อยู่" แต่ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่า "โง่"

ได้ใบประกาศ ม.3 แล้วก็อยากได้ ม.6 ได้ ม.6 แล้วก็อยากได้ใบปริญญาบัตร ตะเกียกตะกายอีกรอบเพื่อให้ได้มาครอบครองหวังจะดับความอยากที่แผดเผาอยู่ทุกวินาที  ดูเหมือนว่าเมฆหมอกของของโง่เขลายังปกคลุมไม่หาย  ได้ตรีแล้วก็อยากได้โท  พอตอนได้โทนี่  ดูเหมือนว่าความดำทมึนของเมฆหมอกจะยิ่งเพิ่มทวีเข้าไปอีก  ความอยากได้เอกมาครอบครอง  จนแทบกินไม่ได้นอนไม่หลับโจมตีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน...ร้อนรุ่มเหมือนอยู่ในอเวจีก็ไม่ปาน...ตะเกียกตะกายสุด ๆ...จนได้มาครอง...

มองย้อนกลับไป 20 ปีที่ผ่านมา  บนหนทางของความพยายาม "ดับทุกข์" อย่างโง่เขลาที่ว่า "ความอยากจะดับได้เมื่อได้กิน" กว่าจะรู้ว่าเป็นความโง่เขลาก็ต้องผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวเองถึง 20 ปี...เห็นไหมหละท่าน...ท่อง 2 นาทีก็จำได้...แต่กว่าจะ "เริ่มเข้าใจ" ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี...นี่ยังไม่นับการลงมือปฏิบัตินะว่า...จะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่?  แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ได้รู้...สงสารรุ่นพี่เพื่อน ๆ ที่ขี่จักรยานไปเรียนมัธยมสมัยโน้น...ที่เขาไม่มีโอกาสได้เข้ามา "เรียนรู้"

นี่ยังไม่นับธรรมในหมวดสี่อีกหมวดว่าด้วยเรื่อง "พรหมวิหารสี่" ที่ต้องใช้เวลาไม่แพ้กันในการเรียนรู้

มาถึงทุกวันนี้...ถึงได้รู้ว่า...ผมคงเคยสั่งสมบุญมาบ้างแต่คงไม่มากจิตจึงหนาไปด้วยกิเลสที่ต้องใช้เวลาขัดเกลาถึง 20 ปี...กว่าจะเริ่มเข้าใจเพียงเล็กน้อยว่า "ธรรมะ" คืออะไร...บัดนี้จึงไม่รีรอที่จะสั่งสมบารมีให้แก่กล้า...เพื่อเป็นเสบียงกรังสำหรับการเดินทางอันยาวไกล...เพิ่งจะตระหนักแก่ใจว่า...ชีวิตจริงไม่มีหรอกเครื่องย้อนเวลา  หรือการเดินทางลัด...มนุษย์เราต้องสั่งสมบารมี (บางคนอาจชอบที่จะใช้คำว่า พลัง ก็แล้วแต่ความชอบ  มันคือสิ่งเดียวกัน) ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวาระที่พร้อมที่จะเบ่งบาน...แต่มีสักกี่คนจะตระหนักถึงเรื่องนี้...เพราะเห็นผู้คนแสวงหาทางลัดเต็มไปหมด...

นี่แหละครับพระคุณเจ้า...ท่านจึงว่า...เมื่อศิษย์พร้อมอาจารย์ก็ปรากฏ...พระคุณเจ้าคืออาจารย์ที่ปรากฏกายเพื่อมาสั่งสอนศิษย์เช่นกระผม...ระยะนี้ผมจะไปประจำที่นครศรีธรรมราช...คงจะได้มีโอกาสไปพึ่งบารมีพระคุณเจ้าไม่ช้าก็เร็ว...

กราบนมัสการ

ได้แง่คิดจากบันทึกนี้หลายเรื่องครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท