จาก กพ.สอ. มาเป็น คปสอ. ในระบบสุขภาพระดับอำเภอ


บูรณาการงานสาธารณสุขในระดับอำเภอ ระหว่างโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โดยมีสถานีอนามัย (สอ.) อยู่ภายใต้การบริหารงานของ สสอ. เข้าด้วยกัน ด้วยเพราะเหตุว่าโครงสร้างการบริหารที่แยกขากัน

     แรกเริ่มเดิมทีเมื่อคิดจะบูรณาการงานสาธารณสุขในระดับอำเภอ ระหว่างโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โดยมีสถานีอนามัย (สอ.) อยู่ภายใต้การบริหารงานของ สสอ. เข้าด้วยกัน ด้วยเพราะเหตุว่าโครงสร้างการบริหารที่แยกขากัน กล่าวคือ สสอ.ขึ้นตรงต่อนายอำเภอ แต่ รพช.ขึ้นตรงต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แล้วทั้ง 2 หน่วยงานนี้ค่อยไปบรรจบที่ผู้ว่าราชการจังหวัด (แต่มอบอำนาจบางส่วนให้ นพ.สสจ.) การดำเนินงานในพื้นที่อำเภอจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีคณะทำงานขึ้นมาเพื่อประสานภารกิจด้านสาธารณสุขเพื่อให้บรรลุผลตามโครงการสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for All) ซึ่งเป็นนโยบายหลักในขณะนั้น

     กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีหนังสือที่ สธ.0217/สช./ว.12 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2526 สั่งการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาสาธารณสุขระดับอำเภอ (กพ.สอ.) โดยให้องค์กรนี้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการประสานแผนงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ประสานการปฏิบัติงานรวมทั้งช่วยติดตามและประเมินผลงานสาธารณสุขในภาพรวมของอำเภอ

     แต่ผลการดำเนินงานโดย กพ.สอ.ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ในขณะที่ความจำเป็นต้องประสานงานกันในระดับอำเภอเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ก็นำไปสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่าง ผู้แทน สสอ. และผู้แทน รพช. ฝ่ายละ 21 คน จนได้ข้อสรุปเป็นรูปแบบที่เหมาะสมใหม่ คือเป็นองค์กรคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) หรือชื่อในภาษาอังกฤษคือ District Heallth Coordinating Committee: DHCC และองค์กรนี้ก็ยังมีอยู่จนมาถึงปัจจุบันนี้

     การแต่งตั้งให้แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด มีอายุคราวละ 2 ปี (แรกเริ่ม 1 ปี) โครงสร้างประกอบด้วย ผอ.รพช. และ สสอ. ท่านหนึ่งท่านใดเป็นประธาน ที่เหลือเป็นรองประธาน สำหรับเลขานุการ/ผู้ช่วยเลขานุการ เลือกจากผู้แทนของ รพช. และ สสอ. ฝ่ายละ 1 คน

     คณะกรรมการรวมทั้งหมดแล้ว ไม่ควรเกิน 12 คน หากมีหน่วยงานอื่นด้วยนอกจาก สอ./สสอ. และรพช.แล้ว ก็จะมีเพิ่มได้อีกไม่ควรเกิน 3 คน ในช่วงหลังมีการเพิ่มตัวแทน อสม. และตัวแทนประชาชนอีกอย่างละ 1 คน ด้วย

     สำหรับบทบาทและหน้าที่เฉพาะของ คปสอ.(ไม่นับรวม CUP Board) ที่สรุปได้ในปัจจุบัน คือ

          1. ร่วมวางแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติงานสาธารณสุขของอำเภอ
          2. ดำเนินงานร่วมกันตามแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติงานสาธารณสุขของอำเภอ
          3. ติดตาม ควบคุม กำกับ นิเทศ และประเมินผลงานร่วมกันตามแผนงานโครงการที่วางไว้
          4. ประสานงานและสนับสนุนแผนงาน/โครงการพิเศษตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข จังหวัด และอำเภอ
          5. จัดตั้งและดำเนินงานศูนย์ข้อมูลข่าวสารสาธารณสุขระดับอำเภอ
          6. งานอื่น ๆ ที่ คปสอ.เห็นสมควรและมีมติเห็นชอบร่วมกัน

     ที่นี้ท่านพอจะมองเห็นอะไรบางอย่างใช่ไหมครับ คือองค์กรนี้ไม่มีการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุขในพื้นที่ เป็นองค์กรทางวิชาการที่ทำหน้าที่ประสานงานร่วมกัน ส่วนการบริหารจัดการต่าง ๆ ผู้บริหารหน่วยงานก็รับไปดำเนินการต่อ ซึ่งมาถึงวันนี้เราจะได้ยินคำว่า “CUP Board” หรือ “คณะกรรมการบริหารเครือข่ายหน่วยบริการ” บ่อยขึ้น บางครั้งใช้ปน ๆ กันไปกับ คปสอ.แล้ว คปสอ.ยังมีอยู่อีกหรือไม่อย่างไร คน ๆ เดิมที่เป็นกรรมการแล้วมาเข้าประชุมในแต่ละครั้ง “งง” เมื่อประชุมไปก็ว่าด้วยเรื่องของ “CUP Board” อยู่ ๆ ก็เปลี่ยนเป็นเรื่องของ “คปสอ.”

     โดยเฉพาะยิ่งในปัจจุบันมีทรัพยากร (เงินงบประมาณ UC) ไหลลงมาที่เครือข่ายหน่วยบริการ (Contracting Unit of Primary Care: CUP) ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท ช่วยคนไทยห่างไกลโรค) แต่โดยส่วนตัวผมแล้วจากประสบการณ์การทำหน้าที่เป็นเลขานุการ คปสอ.ประมาณ 6 ปี เห็นเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นการปรับจุดอ่อนเดิมของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ด้วย จุดแข็งของคณะกรรมการบริหารเครือข่ายหน่วยบริการ และกลับกันก็ลดความแข็งกระด้างเกินไปของคณะกรรมการบริหารเครือข่ายหน่วยบริการ ด้วยคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ใช้โอกาสตรงนี้บูรณาการเข้าด้วยกันเสีย เพียงแต่ต้องปรับแนวคิดและความเข้าใจกันเล็กน้อย สถานการณ์จะได้ไม่เป็นเหมือนหลาย ๆ แห่ง เช่นปัจจุบันนี้

     คงต้องติดตามอ่านในบันทึกตอนต่อไป คือ [อะไรคือ CUP Board] และ [จะบูรณาการ DHCC กับ CUP Board อย่างไร] หากใครจะได้ร่วม ลปรร.กันบ้างในประเด็นนี้ก็ขอเชิญด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 9910เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2005 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท