เรียนรู้จากเวที KM Research : สู่การ "เดิน 2 ขา" ของขบวนการ KM Research


         เวที KM Research ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนารวัตกรรมการจัดการความรู้ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ  จัดร่วมกับ สคส. เมื่อวันที่ 21 พ.ค.50  มีการจัดเป็นพิเศษกว่าคราวก่อน ๆ   คือคราวนี้เราเชิญผู้แทนหน่วยงานที่มีประสบการณ์ใช้ KM ในการพัฒนางาน พัฒนาคน และพัฒนาองค์กร มาเล่าประสบการณ์ของตน   เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งส่วนใหญ่เป็น นศ.ปริญญาเอก - โท และอาจารย์ที่ปรึกษาได้รับฟัง   และร่วมกันคิดโจทย์วิจัยจากเรื่องราวเหล่านั้น

         เวทีนี้ออกแบบขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาโจทย์วิจัยจากการปฏิบัติ KM

         และเพื่อเป็นกลไกจับคู่ (match - making) ระหว่างนักปฏิบัติ KM กับนักวิจัย KM เพื่อให้เกิดโครงการวิจัย KM ที่เข้าไปศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการใช้ KM เพื่อบรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน

         ย้ำ ว่าเวทีนี้เป็นเวทีตั้งโจทย์วิจัย KM  และเป็นเวทีจับคู่นักปฏิบัติและนักวิจัย KM

         สคส. ได้ลงแรงและลงทุนกับเวทีนี้ไม่น้อย   เพราะเราเชื่อว่าในการขับเคลื่อน KM ประเทศไทย  เราจะต้องดำเนินการแบบ "เดิน 2 ขา"

         ขาหนึ่งเรียกว่า "ขาปฏิบัติ" หมายถึงการปฏิบัติ นำ KM ไปใช้งาน  อีกขาหนึ่งคือ "ขาวิชาการ" หมายถึงการวิจัย   เพื่ออธิบายปรากฎการณ์แปลก ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการนำ KM ไปใช้งาน

         ผมบอกที่ประชุมว่า องค์กร กลุ่มคน หรือบุคคล ที่นำ KM ไปใช้งานเกิดผลอย่างดีมักจะรู้สึกงง ๆ  ว่าผลดีมันเกิดขึ้นได้อย่างไร  ว่าปรากฎการณ์หลายอย่างที่ประสบมีเหตุผลที่มาที่ไปอย่างไร   นักปฏิบัติสัมผัสกับความรู้สึก บรรยากาศ และผลเหล่านั้น   และพยายามอธิบายทำความเข้าใจด้วยตนเอง   เล่าออกมาในบล็อก ในจดหมายข่าว ในมหกรรมการจัดการความรู้  รวมทั้งในตลาดนัดความรู้และเวทีอื่น ๆ อีกหลายเวที

         แต่ผมคิดว่าความเข้าใจหรือคำอธิบายต่อปรากฎการณ์นั้นมันยังตื้น  ยังไม่ลึกพอ

         ผมมีความเชื่อและศรัทธา ว่าหน้าที่อธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมให้ลุ่มลึกและเชื่อมโยงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการหรือนักวิจัย

         แต่แปลกมากนะครับที่ในสังคมไทย ขา 2 ขานี้มักจะแยกทางกันเดิน  ไม่ค่อยเดินด้วยกัน  ไม่มี synergy กัน  สคส. และภาคีจัดเวที KM Research  เราจึงทดลองจัดให้ 2 ขานี้มาพบกันที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.50

         เราเห็นได้ชัดเจน  ว่าวงการ KM ของเรา "ขาปฏิบัติ" มีความแข็งแรง   เล่าเรื่องราวการปฏิบัติของตนได้ฮือฮาน่าตื่นใจ  ได้ข่าวว่าฮือฮาทั้ง 3 ห้องย่อย   ดร. ประพนธ์ได้เขียนเล่าไว้ที่นี่ (click) และคุณน้ำก็ได้เล่าไว้ที่นี่ (click)

         แต่ "ขาวิชาการ" ของเรายังไม่แข็งแรงครับ   ยังตั้งโจทย์วิจัยกันไม่ค่อยเป็น

         ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยว่าวงการบัณฑิตศึกษาไทยของเรากำลังหลงทางกันหรือเปล่า
- หลงเรียนตอบโจทย์  มากกว่าเรียนตั้งโจทย์
- หลงเรียนเอากระดาษ   มากกว่าเอาปัญญาหรือกระบวนการแห่งปัญญา
- หลงเรียนให้จบง่าย ๆ มากกว่าให้ได้คุณภาพ

         โจทย์วิจัยที่มีการตั้งกันในวันนี้ ในสายตาของผมยังไม่ถึงขั้น คือ ยังติดอยู่แค่ระดับ descripttive  ไม่ไปถึงระดับ explanatory และคนในวงการศึกษามักติดตั้งโจทย์โดยขึ้นต้นด้วย "รูปแบบของ..."  ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้โจทย์ไม่ลึกและไม่คม

         ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ เราประชุมกันแบบ "ประชุมเพื่อตั้งโจทย์วิจัย" ไม่เป็นหรือไม่คุ้นเคย   เราคุ้นเคยกันแต่ประชุมกันแบบ Knowledge Sharing   ไม่คุ้นเคยกับการประชุมแบบ Knowledge Questioning

         เราคุ้นเคยกับการประชุมเพื่อสรุปความรู้หรือความเชื่อ   ไม่คุ้นกับการประชุมเพื่อสรุปความไม่รู้หรือความไม่เชื่อ ความสงสัย หรือช่องว่างของความรู้

         เราคุ้นเคยกับการประชุมที่มีคนมาบอกว่า "ฉันรู้" อะไร   แต่ไม่คุ้นกับการประชุมที่คนมาช่วยกันบอกว่า "พวกเราไม่รู้" อะไร

         การประชุมแนวหลังนี่แหละครับที่เป็นเวทีตั้งโจทย์วิจัย

         เราสรุปกันว่า การประชุมครั้งต่อไปจะจัดที่ มรภ.สวนดุสิต วันที่ 17 ก.ย.50  โดย มรภ.สวนดุสิตกับ สคส. ร่วมกันจัด   จะเป็นเวที "2 ขา" ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น   โดยที่ "ขาวิชาการ" จะเตรียมอ่านบทความวิจัยในวารสารวิชาการต่างประเทศที่คุณภาพสูงเอามาเสนอ   เพื่อร่วมกันเรียนรู้ว่าเราจะผลิตผลงานวิจัย KM จากประเทศไทยแบบไหน   จึงจะตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศได้

         คุณธวัชจะเล่าว่าเราจะเตรียมเวที KM Research วันที่ 17 ก.ย.50 อย่างไร

                      

                            บรรยากาศในห้องประชุม

                     

                                       อีกมุมหนึ่ง

                     

รศ. ดร. อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง  ผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการความรู้ กำลังกล่าวต้อนรับ

วิจารณ์  พานิช
 22 พ.ค.50

 

คำสำคัญ (Tags): #km research#kmr
หมายเลขบันทึก: 97830เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาอ่านค่ะ...ตรง click link ยังไม่ active ค่ะ อาจารย์ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท