The Selfish Gene - ยีนที่เห็นแก่ตัว ทำทุกวิธีเพื่อให้มันอยู่รอด


จากหนังสือ The selfish gene เขียนขึ้นโดย Richard Dawkins
ห่างหายจากบันทึกเล่มนี้ไปเสียนานด้วยเหตุผลหลายอย่าง สาเหตุหนึ่งก็คือ

การเขียนบันทึกเล่มนี้ต้องใช้พลังภายใน ความคิด และความรู้สึก สูงกว่าการเขียนบันทึกเล่มอื่น ๆ อาจด้วยเพราะเราเป็นเพียงมือสมัครเล่น วิทยายุทธ์จึงยังไม่สูงพอ

วันนี้จึงขอเขียนเรื่องง่าย ๆ เบาสมอง แต่ได้สาระแง่วิชาการเล็กน้อยนะคะ ช่วงนี้ได้วนเวียนอ่านพ๊อคเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก 30 ปีที่แล้ว (1976) และเป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้รับความนิยมของผู้เขียนท่านนี้ก็ว่าได้ นั่นก็คือหนังสือที่ชื่อว่า The Selfish Gene ที่เขียนขึ้นโดย Richard Dawkins

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยกล่าวถึงเจ้าสิ่งหนึ่งที่วิวัฒนาการตัวเองมาเป็นเวลาหลายล้านล้านปี นับตั้งแต่โลกใบนี้เกิดขึ้นมาก็ว่าได้ จนถึงตอนนี้มันก็ยังไม่มีวี่แววที่จะหยุดวิวัฒนาการเลย 

 

สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากวัตถุดิบง่าย ๆ ที่โลกใบนี้มีอยู่เมื่อหลายล้านล้านปีที่แล้ว นั่นก็คือ น้ำ แสงแดด และอากาศ รวมตัวขึ้นเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ และพัฒนาความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไปจนถึงปัจจุบันมันก็ยังวิวัฒนาการตัวเองไม่หยุดยั้ง นักวิทยาศาสตร์ยังต้องตามค้นหาปริศนาและความสามารถอีกหลาย ๆ อย่าง และสิ่งนี้ปัจจุบันถูกตั้งชื่อที่เรารู้จักกันดีว่า ยีน (Gene)  

 

ต่างคนต่างมองวิวัฒนาการในต่างแง่มุม Richard Dawkins มองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในวิวัฒนาการคือ ยีน ในขณะที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลกใบนี้ รวมทั้งมนุษย์เอง เป็นเพียงแค่พาหนะ (survival machines) ที่ถูกสร้างขึ้น ถูกควบคุม และถูกใช้ไปโดยยีนเท่านั้น 

 

ยีนสร้างดีเอ็นเอและโครโมโซมขึ้นมาให้เป็นที่อยู่ของมัน ยีนสร้างเซลล์ขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเอง และเซลล์เหล่านี้รวมกันในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิต จุดมุ่งหมายก็เพื่อปกป้องยีนผู้เป็นเจ้านายของสิ่งมีชีวิต ให้ปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและคู่ต่อสู้ของยีน เพื่อให้ยีนอยู่รอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้อย่างปลอดภัย

 

Richard Dawkins เสนอทฤษฎีว่า สิ่งมีชีวิตรวมทั้งมนุษย์เราเกิดมาและตายไป เช่นมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่เฉลี่ยไม่ถึงร้อยปี แต่สิ่งที่อยู่มาเป็นล้านปี ยังคงอยู่ต่อไปและวิวัฒนาการตัวเองอย่างไม่รู้จักสิ้นสุดคือ ยีน นั่นเอง

แล้วทำไม Richard Dawkins ถึงมองว่ายีนเป็นสิ่งที่เห็นแก่ตัว (selfish gene) นั่นก็เพราะยีนทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวมันเองอยู่รอด กำจัดยีนที่ไม่ดีทิ้ง และเก็บยีนที่ดีไว้ในที่พักหรือพาหนะ (ซึ่งก็คือสิ่งมีชีวิต) ที่เหมาะสม 

ตัวอย่างเช่น ยีนที่ทำให้มีจงอยปากแหลม ถูกเก็บไว้ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่านก ยีนที่ทำให้ปีนป่ายต้นไม้ได้ไม่ร่วงตกมาง่าย ๆ ก็ถูกเก็บไว้ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าลิง ยีนที่ทำให้ว่ายน้ำได้ถูกเก็บไว้ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าปลา ยีนที่ทำให้ใช้ประโยชน์จากแสงแดดได้ถูกเก็บไว้ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าต้นไม้

ทั้งนก ลิง ปลา และต้นไม้ จึงจัดเป็นเพียงแค่ survival machines ให้กับยีน เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่สามารถวิวัฒนาการตัวเองได้ มันเกิดขึ้นมาและมันก็ตายไป แต่สิ่งที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งต่อไปเรื่อย ๆ นั่นคือยีน ฉะนั้น แม้ปลารุ่นพ่อจะตายไป แต่ยีนสำหรับว่ายน้ำไม่ได้ตายไปด้วยเพราะปลารุ่นลูกยังว่ายน้ำต่อไปได้ เช่นเดียวกันกับปลารุ่นหลาน รุ่นเหลนยังคงว่ายน้ำต่อไปได้เช่นกันแม้ปลารุ่นก่อนหน้ามันจะตายไป เพราะปลาเป็นเพียงแค่ survival machine ให้ยีนสำหรับว่ายน้ำให้วิวัฒนาการตัวเองและอยู่ต่อไปเท่านั้นเอง

ในขณะเดียวกัน หากมีการกลายพันธุ์ของยีนสำหรับว่ายน้ำเกิดขึ้นระหว่างที่มีการถ่ายทอดยีนจากรุ่นพ่อไปรุ่นลูก การกลายพันธุ์นี้อาจจะทำให้ปลาว่ายน้ำไม่ได้อีกต่อไป แน่นอนว่าถ้าปลาว่ายน้ำไม่ได้ ยีนว่ายน้ำก็จะหายไปด้วย ฉะนั้น วิธีง่าย ๆ ที่ยีนว่ายน้ำใช้เพื่อไม่ให้ตัวมันสูญหายไปจากโลกนี้ก็คือ กำจัด survival machine ที่มียีนกลายพันธุ์ทิ้งไปซะ ที่เห็นชัดก็เช่น ทำให้ปลาตัวที่มียีนกลายพันธุ์ตัวนี้ฟักออกจากไข่ไม่ได้ ถ้ามันยังฟักออกมาได้ก็ให้มันตายไปตั้งแต่เกิดได้ใหม่ ๆ  หรือถ้าปลาตัวนี้ยังมีชีวิตรอดต่อไปได้ ก็ทำให้มันเป็นหมันซะจะได้ไม่มีรุ่นลูกรุ่นหลานปลาที่ว่ายน้ำไม่ได้ เหล่านี้เป็นต้น

  

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากหนังสือเล่มนี้ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้อีกหลายแง่มุม เช่น การต่อสู้กันระหว่างยีนเพื่อให้ยีนที่ดีที่สุดเท่านั้นอยู่รอด ยีนที่แพ้ต้องถูกกำจัด แต่เช่นเดียวกับนักรบ ยีนไหนล่ะจะยอมแพ้ง่าย ๆ ยีนที่แพ้ครั้งแรกพยายามหาวิถีทางอื่นเพื่อให้ตัวมันเองอยู่ได้และกลับมาต่อสู้กับยีนอื่น ๆ อีกครั้ง

ถ้ามีโอกาสเหมาะ ๆ จะแวะเวียนมาเล่าเพิ่มเติม หากใครสนใจหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพิ่มเติมได้จากอ้างอิงที่ให้ไว้ค่ะ  

อ้างอิง Title: The selfish gene, Author: Richard Dawkins, Publisher: Oxford University Press 3Rev Ed edition (16 Mar 2006), ISBN 978-0199291151

หมายเลขบันทึก: 97439เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2007 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ณิชนันทน์......

เข้ามาเยี่ยมแหละ คุณน้อง... 

อ่านๆ ไป คุณพี่ก็คิดว่า ยีน นี้ น่าจะแบ่งเป็น ๓ ฝ่าย นะ

ฝ่ายดี คือ กุศล หรือ โสภณเจตสิก 

ฝ่ายเลว คือ อกุศล หรือ อกุศลเจตสิก

ฝ่ายกลาง คือ อัพยากฤต หรือ สัพพสาธารณเจตสิก

อีกอย่าง... ยีนฝ่ายดีตัองมีกำลังมากกว่ายีนฝ่ายร้าย...  ทำนองดาวศุภเคราะห์ต้องมีกำลังมากกว่าดาวบาปเคราะห์... เพราะมิฉะนั้น โลกาจะพิบัติ...

เจริญพร

น้องณิช

ย้อนรอยไปหลายล้านปี สามารถยาวนานไปอีกนานแสนนาน

.

ชีวิตที่ซับซ้อน ยังพบมองเห็น และหาที่มาที่ไปพอได้

แต่ความคิดคน ซับซ้อนกว่า

.

ยีน มีการพัฒนากันรุ่นต่อรุ่นมากมาย น่าจะเริ่มจาก 501 ไปเป็น 502 หรือเปล่าหนอ อิอิ

สวัสดีค่ะคุณพี่

จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่พูดยาก ยีนไหนจัดเป็นยีนดี ยีนไหนคือยีนร้าย แล้วยีนไหนขอเป็นกลาง

ยีนร้ายตอนนี้ เมื่อพ่ายแพ้ยีนที่ดีไปในการต่อสู้รอบแรก ๆ แต่มันอาจจะปรับปรุงพัฒนาตัวมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมันมีสมรรถนะสูงขึ้น และกลับมาสู้กับยีนดีใหม่ หากมันชนะ มันก็จะได้กลายเป็นยีนดีแทน...

หรือไม่ อีกแง่นึง ยีนร้ายอาจจะดังแล้วแยกวง ไปตั้งเป็นกลุ่มยีนดีใหม่ เช่นในปลา ยีนไม่ว่ายน้ำสู้ยีนว่ายน้ำไม่ได้ แต่ยีนไม่ว่ายน้ำอาจจะมีวิวัฒนาการเกิดขึ้น กลายเป็นยีนที่ทำให้ปลาหายใจด้วยปอดและหาทางขึ้นบก กลายเป็นสัตว์บกอีกชนิดหนึ่ง ยีนไม่ว่ายน้ำที่เคยเป็นผู้ร้าย ก็จะกลายเป็นยีนดีขึ้นมาทันใด ..

อันนี้ไม่ได้อ้างทฤษฎีไหนนะคุณพี่ แค่ยกตัวอย่างเท่านั้น

นมัสการ

สวัสดีค่ะพี่หยู

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมบันทึกนี้ค่ะ :D

ยังแอบมาทิ้งคำคม ความคิดคน ซับซ้อนกว่า ด้วยนะคะเนี่ย อิอิ

ยีนรุ่น 501 นี่มันคงถูกคนซื้อไปใส่หมด จนไม่มีเวลาพัฒนาเป็นยีนรุ่น 502 แล้วล่ะค่ะพี่หยู ฮ่าๆๆ

... ว่าแต่ซื้อมาให้ใส่บ้างสักตัวสิพี่ ยังไม่มีใส่เล้ยยยยย ...

ณิช

 

สวัสดีครับ คุณ P ณิชนันทน์

 

  • หนังสือเล่มนี้ เป็นตำนานประวัติศาสตร์ชีววิทยา ได้เล่มหนึ่ง ที่ผมตั้งตารอว่าจะมีใครหยิบยกมาแปล
  • เพราะ Dawkins vs Gould ปะทะกันในหัวข้อ Evolution vs Intelligent Design จนทุกวันนี้ แม้กูลด์ตายไปแล้ว ประเด็นนี้ก็ยังไม่จบ ซึ่งเมื่อนึกดูว่า อีกไม่นาน ก็จะครบรอบกี่ร้อยปีของดาร์วินอยู่แล้ว ยังไม่เห็นวงการหนังสือไทยขยับอะไรกันเลย
  • แต่เล่มนี้ ผมอ่านยังไม่จบ เพราะหนังสืออ่านยาก (ไม่ใช่แนวประจำที่ผมชอบอ่าน.. ผมชอบอ่านแนวคณิตศาสตร์-ฟิสิกส์ มากกว่า) และ font ก็..พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย..ช่างเล็กกระจิดริดกระไรเช่นนี้  อ่านไม่ค่อยเห็น ขนาดใส่แว่นแล้วนะ

P wwibul

อ่านยากจริง ๆ ด้วยค่ะ อ่านไปมึนไป เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง

หนังสือของ Dawkins น่าสนใจหลายเล่ม แปลกใจว่าทำไมยังไม่มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยนะคะ

แต่หนังสือแนวฟิสิกส์นี่ ขอถอนตัวก่อนเลยค่ะ --"

ตามหาฉบับแปลของ Dawkins เหมือนกันค่ะ ทำไมไม่มีใครแปลบ้างเลยค่ะ หนังสือวิทยาศาสตร์ในเชิงปรัชญาอย่างนี้ อ่านแล้วนอกจากให้ความรู้ และยังทำให้มีความคิดได้หลายหลายอีกด้วย

สัปดาห์หนังสือปี 52จะมีฉบับแปลไทยรึเปล่าคะ สนใจมากค่ะ

Dawkins ไม่ได้เถียงกับ Goulds เรื่อง intelligent design

แต่เป็นเรื่อง progress, เรือง exaptation, เรื่อง group selection , เรื่อง non-overlapping Magisteria

ยีนไม่ได้พยายามทำทุกวิธีเพื่อให้มันอยู่รอด แต่ตัวที่อยู่ไม่รอดก็แค่ไม่ได้แพร่ต่อไป

มันเป็นการเปรียบเทียบที่ Dawkins เตือนไว้แล้วตั้งหลายรอบ

มีอล้วตอนนี้ไทยเวอร์ชั่

ขอบคุณค่ะเนื้อหาน่าสนใจมากอยากได้หนังสือซื้อได้ที่ไหนคะ ชอบอ่านจากหนังสือมากกว่าในเว็บ

ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท