GotoKnow

“ หม่อน ” มุ่งสู่เส้นทางเภสัชโภชนาภัณฑ์

วิโรจน์
เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2550 14:02 น. ()
แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2556 10:45 น. ()
หม่อน

               การนำหม่อนมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ นอกจากใช้ใบเป็นอาหารของหนอน เช่น  ผลหม่อนนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ไวน์ แยม ฯลฯ มาตั้งแต่ปี  2535  ใบผลิตเป็นชาใบหม่อนเครื่องดื่มยอดนิยม และทรงคุณค่า มาตั้งแต่ ปี 2540 ทำให้หม่อนกลายมาเป็นอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและปลอดภัยต่อมนุษย์ โดยนักวิจัยของ สมมช.และมีนักวิจัยจากหลายหน่วยงานร่วมดำเนินการ เช่น กรมวิชาการเกษตร  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยรังสิต  มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มหาวิทยาลัยมหิดล  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลอุดมเดช  จังหวัดอุบลราชธานีและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี     ทำให้ทุกวันนี้ หม่อนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเภสัชโภชนาภัณฑ์ 

           “เภสัชโภชนาภัณฑ์”  คืออะไร  หลายท่านก็คงงงเหมือนผม  เมื่อได้ยินเป็นครั้งแรก คำนี้ตรงกับภาษาอังกฤษ ที่ว่า  “Nutraceuticals”  ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง  nutrient (ธาตุอาหาร) และ pharmaceutical  (ยา) พูดง่าย ๆ “เภสัชโภชนาภัณฑ์”  คือ  อาหารที่มีสรรพคุณเป็นยา (functional  foods)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้นิยาม คำ  “เภสัชโภชนาภัณฑ์” ว่า หมายถึง สารใด ๆ ที่อยู่ในรูปของอาหาร  ซึ่งนอกจากจะให้คุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังมีผลดีทางด้านสุขภาพ ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมสภาพของ   ร่างกายเนื่องจากอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่  ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา  อาหารที่ดี  นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการ  เสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโต  ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ตามที่ทราบ ๆ กันอยู่แล้ว  อาหารดังกล่าวยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน  ป้องกันหรือบำบัดรักษาโรคได้  วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์พบว่า สุขภาพ (health) โรคเรื้อรัง  (chronic) และโรคจากความเสื่อม  (degenerative disease) ล้วนมีความสัมพันธ์กับอาหาร  ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำอาหารตลอดจนสมุนไพรธรรมชาติ  มาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์  ในรูปแบบต่าง ๆ หลากหลายชนิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเสริมสุขภาพในรูปเภสัชโภชนาภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามียอดจำหน่าย สูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ/ปี และคาดว่าตลาดจะเติบโตถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ/ปี ในอีก 5 ปี ข้างหน้า เฉพาะในประเทศไทยมีมูลค่าถึงประมาณ  2,000  ล้านบาท/ปี   หม่อนเป็นเภสัชโภชนาภัณฑ์อย่างไร   เภสัชโภชนาภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์นิวทราซูติคัล มุ่งเน้นที่จะป้องกันหรือบำบัดรักษา  โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคเบาหวาน  โรคอ้วน  โรคระบบทางเดินอาหาร  โรคมะเร็ง  โรคระบบสมอง  แล้วหม่อนจะเป็นเภสัชโภชนาภัณฑ์ได้อย่างไร   หม่อน  (mulberry : Morus spp.) ที่นำมาแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่ม มี 2 ส่วน  คือ  ผลหม่อน และใบหม่อน  

                  1. ผลหม่อน เป็นผลไม้กลุ่มเบอร์รี่ เกษตรกรหรือผู้ประกอบการมักจะ เรียกว่า มัลเบอร์รี่  (mulberry fruit) ถ้าขืนบอกว่าลูกหม่อน ราคาจำหน่ายจะลดลงทันที  คนไทยก็เป็นอย่างนี้แหละ ยิ่งกระแส  เบอร์รี่  เช่น  บลูเบอร์รี่  (blueberry)  แบล็คเบอร์รี่  (blackberry)  หรือ ราสพ์เบอร์รี่  (raspberry)   มาแรงในกลุ่มผลไม้สีแดง-ม่วง  ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง  จากการวิจัยของผมและคณะพบว่า  ผลหม่อน  มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพราะมีสารกลุ่มโพลีฟีนอล (total  polyphenol)  กลุ่มแอนโทไซยานิน  (anthocyanins)  ในผลหม่อนสุก  (ผลสีม่วงดำทั้งผล)  มีสารสำคัญเหล่านี้ประมาณ 2 เท่า ของผลหม่อนห่าม (ผลสีแดง 50%  สีม่วงดำ  50%)  มีมากในผลหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และพันธุ์เชียงใหม่  นอกจากนั้น ผลหม่อนยังมีกรดโฟลิก  (folic  acid) สูง   ในผลสุกมีมากกว่าผลห่าม สารนี้จะมีมากในพันธุ์ ศรีสะเกษ 33 และพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และมีมากกว่า บลูเบอร์รี่ ถึง 2-3 เท่า    (29 , 21 และ 10 ไมโครกรัม / ผลหม่อน 100 กรัม ตามลำดับ) แท้ที่จริงแล้วบรรพบุรุษของเราได้นำผลหม่อนมาต้มเป็นยาเย็น ยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ ดับร้อน ทำให้ชุ่มคอ บำรุงไต  มานานแล้วนะจะบอกให้       

ประโยชน์ของกรดโฟลิก และความต้องการกรดโฟลิก                                              

1.  ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเจริญเต็มที่ ถ้าขาดจะเป็นโรคโลหิตจาง                 

2.  ทำให้เซลล์ประสาทไขสันหลังและเซลล์สมองเจริญเป็นปกติ            

 3.  สตรีมีครรภ์ต้องการกรดโฟลิก 0.4  มิลลิกรัม / วัน คนปกติ 0.1  มิลลิกรัม / วัน

ประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระ                                                                  

1.  ป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก                                         

2.  ทำให้กระแสเลือดหมุนเวียนดี  และหลอดเลือดแข็งแรง         

 3.  ยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่                                                                                                                                                                                  4.  ลดอาการแพ้ต่าง ๆ และยืดอายุเม็ดเลือดขาว                                 

5.  สารต้านอนุมูลอิสระ  สามารถดูดซึมเข้าร่างกายทางลำไส้เล็กและไม่เปลี่ยนแปลงสภาพ                                                                                                                            6. พืชใช้สารเหล่านี้เพื่อให้ทนต่อ ลม  ฝน  แสงแดด  ซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องอาศัยจากพืช 

        2.  ใบหม่อน  มีการนำใบหม่อนแปรรูปเป็น ชาใบหม่อน และผงหม่อน เพื่อใช้เป็นเครื่องดื่ม และส่วนประกอบของอาหารหลากหลายชนิด  ตำราแพทย์สมุนไพร กล่าวว่า ใบหม่อน ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้เจ็บคอ     ต้มดื่ม แก้ไข้  ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอ ระงับประสาท แก้โรคตา ได้หลายชนิด เช่น  ตาแดง ตาแฉะ ตามัว ตาฟาง แต่ถ้าตาถั่ว แก้ไม่ได้นะครับ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าสารในใบหม่อนสามารถลดน้ำตาล ความดัน และคอเลสเตอรอล ในเลือดได้      วิโรจน์  แก้วเรืองและคณะ พบสารโพลีฟีนอลหลายชนิดในใบหม่อน และน้ำชาใบหม่อน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า สารสำคัญเหล่านี้จะพบมากในใบหม่อนส่วน ยอด มากกว่า ใบอ่อน และพบในใบอ่อนมากกว่าใบแก่ ดังนั้นการจำหน่ายชาใบหม่อนที่ทำจากส่วนยอดควรมีราคาสูงกว่าชาใบหม่อน ที่ทำจากใบอ่อน และใบแก่ตามลำดับ การปลูกหม่อนในสถานที่ต่างกันก็ทำให้สารสำคัญที่ได้แตกต่างกัน เช่นเดียวกับพันธุ์หม่อน ปัจจุบันพบว่า พันธุ์คุณไพ พันธุ์บุรีรัมย์ 60 (บร.60) และพันธุ์นครราชสีมา 60 (นม.60) เป็นพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง การผลิตชาใบหม่อนในรูปของชาเขียวทั้งการผลิตแบบครัวเรือนและโรงงานจะให้ปริมาณสารเควอซิติน เคมเฟอรอล และโพลีฟีนอลโดยรวมสูงสุด ดังนั้นการผลิตชาใบหม่อนควรผลิตด้วยกระบวนการผลิตชาเขียวใบหม่อน และใช้วิธีการนึ่งหรือผ่านไอน้ำเดือดเป็นเวลา 1 – 2 นาที แทนวิธีการเดิมที่เคยแนะนำให้ลวกน้ำร้อน 20 วินาทีแล้ว จุ่มน้ำเย็นทันที เนื่องจากวิธีนี้สารออกฤทธิ์ในใบหม่อนจะสูญเสียไปส่วนหนึ่ง   การชงชาใบหม่อน การชงชาใบหม่อนด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 80–90 องศาเซลเซียส จะทำให้สารสำคัญละลายออกมาได้ดีกว่าการชงด้วยน้ำเย็น ดังนั้นถ้าจะดื่มชาใบหม่อนควรชงไว้นานอย่างน้อย    6 นาที ก่อนดื่ม  จะได้คุณค่าทางโภชนาการและเภสัช  ต่อมา นางสาวสิริพรรณ ตั้งสิริกุลชัย และนางสาวอัญชลี ทิมเสถียร   นักศึกษาภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรคณะเทคโนโลยีการเกษตรสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่าน้ำชาใบหม่อนที่ทำการ ฆ่าเชื้อด้วยวิธีพาสเจอไรเซชั่น (Pastrurization) ที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที แล้วนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส  สามารถทำลายเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคได้นานอย่างน้อย 15 วัน น้ำชาใบหม่อนที่เก็บรักษาไว้ 3 วัน มีคุณภาพดีเช่นเดียวกับน้ำชาที่ชงเสร็จใหม่ ๆ ทั้งด้าน สี กลิ่น รสชาติ และความใส ส่วนที่เก็บไว้ 6 วัน ยังคงมีสภาพค่อนข้างดี ไม่แตกต่างจาก 0 วัน และ 3 วัน มากนัก แต่ที่เก็บไว้ 9 วัน เป็นต้นไป มีคุณภาพไม่ค่อยดีเนื่องจากน้ำมีสีเข้มขึ้น แต่กลิ่นน้อยลง เช่นเดียวกับปริมาณสารสำคัญในชาเขียวใบหม่อนพร้อมดื่มที่เก็บไว้ 0 – 6 วัน มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยและที่มีอายุการเก็บรักษาไว้นาน 9 วัน ก็ยังคงมีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นชาเขียวใบหม่อนพร้อมดื่มควรมีอายุการเก็บรักษาไม่เกิน 9 วันนางสาวรัตนาภรณ์ บุญจรัส นักศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาถึงการยับยั้งฤทธิ์การกลายพันธุ์ของแมลงหวี่ที่เกิดจากยูรีเทน  ด้วยชาใบหม่อน ทั้งการผลิตแบบ   ชาเขียว   ชาจีน และชาฝรั่ง ด้วย การสกัดสารจากชาใบหม่อนด้วยน้ำร้อนแล้ว นำไปผสมกับอาหาร+ ยูรีเทน (สารก่อการกลายพันธุ์) ก่อนใช้เป็นอาหารของหนอนแมลงหวี่ พบว่า   ชาใบหม่อนแบบ ชาเขียว ชาจีน และชาฝรั่ง ลดการก่อกลายพันธุ์ได้ 61.01% 59.23% และ56.99% ตามลำดับ และอีกการทดลองหนึ่งให้หนอนแมลงหวี่กินอาหาร + น้ำชาหม่อน ก่อนที่จะให้กินอาหาร +   ยูรีเทน เปรียบเทียบกับอาหารปกติ พบว่าลดการก่อการกลายพันธุ์ได้ 35.57% 25.36% และ 15.73% ตามลำดับ จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า ชาหม่อนมีศักยภาพในการลดฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ได้ แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ 100% ก็ตาม ดังนั้น ชาหม่อนจึงน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในด้านการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้  คุณระพีพร  พรหมเกตุ   นักศึกษาปริญญาโ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น พบว่าสารสกัดจากหม่อน มีคุณสมบัติลดการเกิดแผลและยับยั้งการไหลของเลือดในกระเพาะหนู ลดการเกิดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลายชนิดดังได้กล่าวมาแล้ว อีกทั้งไม่มีผลข้างเคียง เมื่อให้หนูกินในปริมาณมากกว่าปกติ  ดร.ไพโชค ปัจจะ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี ได้รายงานว่า การเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ด้วยอาหารสำเร็จรูป และเสริมชาใบหม่อนที่ระดับ2%ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดไก่และในไข่ไก่ลดลง จากระดับ134.5 มิลลิกัม/เดซิลิตร เหลือ 110.5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และ 93.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เหลือ 78.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตามลำดับ อีกทั้งไตรกลีเซอไรด์ก็ลดลงด้วยเช่นกัน จากระดับ 75.5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เหลือ 58.5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และ 834.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เหลือ 739.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตามลำดับ ดังนั้นการเสริมชาใบหม่อนหรือใบหม่อนในอาหารไก่  จึงเป็นการลดอันตรายจากคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเนื้อไก่และไข่ไก่ได้อีกทางหนึ่ง นางสาวปรินดา เป้าเพชร นักศึกษาปริญญาโท สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  พบว่าสารสกัดจากชาใบหม่อนด้วยน้ำร้อนมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ และการใช้ชาใบหม่อนผสมในการหมักไก่ก่อนนำไปทอด ก็สามารถลดการก่อกลายพันธุ์ได้ 40-60%ดังนั้น ชาใบหม่อน จึงได้รับความสนใจในการใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ  เพราะมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารที่เกิดขึ้นในสภาวะ ที่เป็นกรดคล้ายกับการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร พูดง่ายๆชาใบหม่อนอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้    จะเห็นว่า อาหารและเครื่องดื่มจากผลหม่อนและใบหม่อน  สามารถเป็นเภสัชโภชนาภัณฑ์ ได้โดยมีผลงานวิจัยรองรับจากนักวิจัยหลายกลุ่ม  หลายสถาบัน มานานกว่า10  ปี  มีการผลิตวัตถุดิบและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ โดยกลุ่มเกษตรกร บริษัท และองค์กรต่าง ๆ  พร้อมวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ  หลายแห่งดังนั้นถ้าท่านสนใจข้อมูลในการปลูกหม่อนเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หรือข้อมูลการวิจัยเชิงคุณภาพ โปรดติดต่อ สมมช. และถือโอกาสนี้อวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยทั้งปวงด้วย เภสัชโภชนาภัณฑ์  นอกจากเป็นการลดการใช้เวชภัณฑ์หรือยารักษาโรคที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศแล้วยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตแต่อาหาร     ที่เป็นเภสัชโภชนาภัณฑ์ ซึ่งเรามีอยู่อย่างมากมาย ดังที่   ฮิปโปเดรติส บิดาแห่งการแพทย์ของชาวตะวันตก กล่าวว่า “ ยาที่วิเศษที่สุดก็คือ อาหาร ” 


                                                                             

                   บรรณานุกรม

 กองบรรณาธิการ.2549.หม่อน (Mulberry) : Herbal Plant of TheYear 2006. หน้า  90-95. ใน Herb for Health  สมุนไพรเพื่อสุขภาพ.ปีที่6 (9)

ปรินดา  เป้าเพชร. 2546. ผลของชาใบหม่อนและผงหมักไก่ต่อสารตั้งต้นที่สามารถ ทำปฏิกิริยาไนเตรตได้สารก่อกลายพันธุ์ในไก่ทอด. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ  มหาวิทยาลัยมหิดล. 67 หน้า

ไพโชค ปัจจะ. 2547.  ผลของการเสริมชาใบหม่อนลงในอาหารไก่ไข่ต่อผลผลิต คุณภาพ  และปริมาณ   โคเลสเตอรอลของไข่. ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร   คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี. 7 หน้า

 ไพโชค ปัจจะ. 2547. ผลของการเสริมชาใบหม่อนลงในสูตรอาหารต่อความสามารถในการเจริญเติบโต    และคุณภาพซากของไก่กระทง. ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี. 8 หน้า 

วิโรจน์ แก้วเรือง. 2543. ชาหม่อน. สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิมพ์ครั้งที่ 2. 

40  หน้า 

วิโรจน์  แก้วเรือง  สถาพร วงศ์เจริญวนกิจ  กรกนก อิงคนินันท์  และจารุนันท์  วงศ์ไทย. 2550. ศึกษาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระและกรดโฟลิกในผลหม่อนพันธุ์ต่างๆ ใน  รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนงานวิจัยและพัฒนาหม่อน  ปี. 2550. 27 หน้า

วิโรจน์ แก้วเรือง สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ สถาพร วงศ์เจริญวนกิจ รัตติยา สำราญสกุล และทิพรรณี    เสนะวงศ์.    2545. วิเคราะห์สารออกฤทธิ์ในชาหม่อน การประชุมวิชาการหม่อนไหม ประจำปี 2545  สถาบันวิจัยหม่อนไหม  กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โรงพิมพ์ ชุมนุม   สหกรณ์การเกษตรแห่ง  ประเทศไทย จำกัด. 292 หน้า

 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย .2550. เส้นทางสู่ความสำเร็จของนิวทราซูติคัล.    เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ  วันที่  29  มีนาคม  2550  ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น.

สิริพรรณ ตั้งสิริกุลชัย และอัญชลี ทิพเสถียร. 2545. การศึกษาคุณสมบัติด้านอนุมูลอิสระในชาเขียวใบหม่อน พร้อมดื่ม ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร      สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. 40 หน้า

Rattanaporn Boonjarat. 2002. Protection by Extraction from Mulberry Herb Tea Strain Burirum 60   Against Somatic Genotoxicity Induced by Urethane in Drosophila. Faculty of Graduate Studies.  Mahidol University. 74 pp.

 

คำสำคัญ (Tags): #ผลหม่อน 


ความเห็น

ออต ญาณพิสิษฐ์
เขียนเมื่อ

ขอเสนอแนะอาจารย์ให้แยกบันทึกเป็นสองบันทึกครับ

ไพรัตน์ บึญพุท
เขียนเมื่อ

รักฉ่ายนะ สู้ๆ จากพี่น้อย

วิโรจน์
เขียนเมื่อ

ตอบ คุณออต

ขออภัยที่ตอบช้าครับ และขอขอบคุณมากครับ

mohock03
เขียนเมื่อ

อยากทราบวิธีทำให้ต้นหม่อนออกลูก

วิโรจน์
เขียนเมื่อ

เรียน mohock03

ก่อนทำให้ต้นหม่อนออกลูก ควรให้ต้นหม่อนเจริญเติบโตอย่างน้อย 8 -12 เดือน แล้วโน้มกิ่งให้ขนานกับพื้นใช้เชือกยึด

กิ่งหม่อน อยู่ในระดับที่ขนานกับพื้น รูดใบออก หลังจากนั้นไม่เกิน 1สัปดาห์ หม่อนจะแทงช่อดอก และสามารถเก็บผลได้หลังจากนั้นประมาณ 45-60 วัน (ในกรณีต้องการให้ออกนอกฤดูกาล) แต่ปกติ หม่อนที่มีอายุมากกว่า 1 ปี เมื่อถึงช่วงเดือน

มีนาคม หม่อนจะออกดอกออกผลเองตามฤดูกาล โดยไม่ต้องดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น

ขอบคุณครับ

สิวาภรณ์
เขียนเมื่อ

สวัดดีค่ะหนูเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎอุบล สาขาสัตวศาสตร์ค่ะหนูกำลังทดสอบการเลี้ยงไก่โดยใช้ใบหม่อนอยู่ หนูเลยยากขอคำแนะนำในการเลี้ยงและการใช้วัตถุดิบในการเลี้ยง...หนูสนใจผลงานของคุณวิโรจน์มากค่ะขอบคุณค่ะ

วิโรจน์
เขียนเมื่อ

เรียน  คุณสิวาภรณ์

  ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 084-4387107 หรือ 02-5587941

ขอบคุณครับ

วิโรจน์ แก้วเรือง



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย