ศูนย์ฯวิทย์โฉมใหม่จ๊าบสุดใจ


                    สัปดาห์นี้ที่ได้ไปสำนักบริหารงานกศน.  ก็ได้พบกับพันธมิตรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน คืออาจารย์อนงค์ เชื้อนนท์ ที่สนใจจะแชร์ความรู้กับชาว Gotoknow กับกศน.แปดริ้ว  อาจารย์อนงค์ ได้ บันทึกเรื่อง ศูนย์ฯวิทย์โฉมใหม่จ๊าบสุดใจ ผมจึงนำมาเผยแพร่เพื่อแชร์ความรู้ความคิด ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากำลังพากันทำ ล้วนต้องมีการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างที่ดี ๆ มีไว้ให้เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละหน่วยงาน/สถานศึกษา มาเจาะความคิดจากบันทึกของอาจารย์อนงค์กันครับ

  

 

              เมื่อวันอังคารที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมานี้ดิฉัน (อนงค์  เชื้อนนท์) ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผอ.ชำนาญ เรียนเลิศอนันต์ (ศูนย์วิทย์ฯจังหวัดสระแก้ว)  คุยกันไปคุยกันมาก็เลยได้ความคิดในการปรับโฉมหน้างานของศูนย์วิทย์  เพื่อให้มองเห็นเป็นรูปธรรมเลยต้องจดบันทึกไว้เพื่อทบทวนความจำ ผลอีกประการหนึ่งคาดหวังว่าเพื่อจุดประกายให้กับศูนย์วิทย์ อีก 11 แห่ง (สำหรับศูนย์วิทย์รังสิต   ศูนย์วิทย์ท้องฟ้าจำลอง(สุขุมวิท) และศูนย์หว้ากอ  อาจต้องมองเลยไปถึงความเป็นศูนย์วิทย์ระดับประเทศ หรือระดับภาค  ควรมีมุมมองแนวทางการดำเนินงานที่กว้างขวาง)   ก็เลยเขียนมาเล่าให้ฟังประสาคนช่างคิดช่างฝัน....

ปรับรูปโฉมด้านกายภาพ                1.  บริเวณรอบ ๆ ศูนย์วิทย์จัดเป็นสวนหย่อมให้หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู เข้าไปดูแล้วให้เหมือนสวนสาธารณะ ต้นไม้ต่าง ๆ ติดป้ายให้ทราบชื่อ  ต่อไปก็จัดทำสวนสมุนไพร สวนต้นไม้แปลกหายากให้คนมีโอกาสมาศึกษาเรียนรู้รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย  (เปิดศูนย์ฯเช้า ๆ ปิดเย็น ๆ หน่อยเพื่อให้คนมาออกกำลังกาย  ต่อไปก็จัดให้มีครูฝึกอาราบิค  ไท้เก๊ก  โยคะ)   อันนี้เรียกว่า  ได้กำไรสุดสุด มาออกกำลังกายที่ศูนย์วิทย์ เราก็ได้โอกาสประชาสัมพันธ์ศูนย์ไปในตัว และใช้สถานที่ได้คุ้มค่า) 

                2.  จัดตั้งแสดงนิทรรศการกลางแจ้ง  เช่น  หิน ดิน ทราย  สิ่งประดิษฐ์  เพื่อให้คนที่มาเดินเล่นออกกำลังกายและออกกำลังสมองได้เรียนรู้ไปด้วย

                3.  เมื่อศูนย์วิทย์เปิดเร็วปิดเย็น ๆ  แล้วน่าจะจัดเป็นมุมสำหรับแวะพักหลังออกกำลังกายให้ดื่มน้ำ/น้ำผลไม้ปั่น หรือผลิตภัณฑ์ที่เสริมสุขภาพ(อาจเป็นของกลุ่มแม่บ้าน/อาสาสมัคร/นักเรียน)นำมาจำหน่ายเพื่อสนับสนุนสินค้าในชุมชนเป็นการกระจายรายได้ และเปิดโอกาสให้นำสินค้ามาแสดงได้อีกด้วย  เมื่อตลาดติดดีแล้วต่อไปเราอาจจะจัดเป็นตลาดนัดผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทย(ปราชญ์ชุมชน/ภูมิปัญญา) ของคนในชุมชนได้อีกด้วย

ปรับรูปโฉมนิทรรรศการ 

                1.  กรอบเนื้อหาสาระที่จัดแสดงวิทยาศาสตร์สำหรับนักศึกษาทั้งนอกและในระบบโรงเรียน  เพิ่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สนองตอบต่อการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ วิชาวิทยาศาสตร์

                                1.1  วิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา  1  ห้องนิทรรศการ

                                1.2  วิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  1  ห้องนิทรรศการ

                                1.3  วิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (พร้อมห้องทดลองวิทยาศาสตร์)

1 ห้องนิทรรศการ

                เมื่อนักศึกษา/นักเรียน มาชมนิทรรศการต้องมีใบงาน/การประเมินผล มีครูวิทยาศาสตร์มาด้วย  เรียนแล้วได้ความรู้จริง สามารถตีค่าเป็นหน่วยการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ได้

                2.  กรอบเนื้อหาสาระที่จัดแสดงวิทยาศาสตร์สำหรับประชาชนทั่วไป  จัดแสดงตามหัวข้อประเด็นร้อน ของสังคมที่ต้องการให้ความรู้เฉพาะ     ยกตัวอย่างเช่น

                 หน้าร้อน อากาศร้อน (เดือนมีนาคม/เมษายน/พฤษภาคม) ก็ควรจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่อง  ภาวะโลกร้อน  การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์/ดวงจันทร์   กลุ่มดาวในช่วงนี้ มีดาวอะไรให้ดูบนฟากฟ้า   ต้นไม้ชนิดใดออกดอกออกผล   การระเหยของน้ำ การระเหิด  จุดเดือด จุดเยือกแข็ง  ฯลฯ  ระบบนิเวศน์กับมนุษย์  วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต้นน้ำลำธารต่าง ๆ    ผ้าชนิดของผ้าต่าง ๆ ที่ควรใช้ในหน้าร้อน  อาคารบ้านเรือนที่ปลูกอย่างไรให้เหมาะกับลัษณะภูมิอากาศ  อาคารประหยัดพลังงานทำได้อย่างไร  บ้านเรือนในอนาคตเป็นอย่างไร

                โทรศัพท์/ดาวเทียม และอาชญากรรมทางอากาศ   ที่มีการขโมยข้อมูล  แอบดักฟังโทรศัพท์ก็ควรจัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยุโทรคมนาคม/ดาวเทียม/โครงข่ายใยแก้ว   ให้เห็นทั้งประโยชน์ของโทษสิ่งเหล่านี้ เป็นต้น

หมายเหตุ    ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มีมากมาย ควรจัดแสดงตามความเหมาะสมตามโอกาสที่สังคมชุมชนเกิดคำถามและต้องการคำตอบ  เพราะนี่คือสิ่งประชาชน และสังคม คาดหวังจากศูนย์วิทยาศาสตร์ และคำตอบที่ให้กับประชาชนและสังคมต้องเป็นหลักวิชา น่าเชื่อถือ ศูนย์ฯวิทย์จะเป็นมือที่ส่งผ่านความรู้ไปยังประชาชนและสังคม  เมื่อศูนย์วิทย์ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ (ต้องขยันที่จะส่งผ่านความรู้เรื่องต่าง ๆ มากมาย สิบเรื่อง ร้อยเรื่อง พันเรื่อง ก็ต้องทำไปเรื่อย ๆ ตามประเด็นร้อนที่สังคมต้องการ )  จะส่งเสริมให้สังคมป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

                3.  กรอบเนื้อหาสาระเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์   (เราอาจตั้งชื่อห้องว่า ห้องนักประดิษฐ์ /ห้องนักคิด/ห้องนักทดลอง/ห้องนักค้นคว้า)   จัดแสดงอีก 1 ห้องนิทรรศการ  เพื่อให้เกษตรกร เห็นแนวทางแล้วนำไปใช้ในชิวิตประจำวันได้  สามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในงานเกษตรกรรม  สุขภาพอนามัย  สิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่าง ๆ   ที่เกิดจากการนำฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แล้วเกิดสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์  ผลิตผล ด้านการเกษตร สุขภาพอนามัย  รวมทั้งเชื่อมโยงภูมิปัญญา/ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อให้ผู้ที่มาศึกษาเรียนรู้สามารถติดต่อกับท่านเหล่านี้ได้ เมื่อจัดค่ายวิทยาศาสตร์อาจนำนักเรียน/นักศึกษาไปดูงานในพื้นที่นา บ้านเรือนของปราชญ์ชาวบ้าน ก็จะเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

หมายเหตุ   ห้องนิทรรศการนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เราสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งประดิษฐ์ ข้อคิดค้นของปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญา ให้โดดเด่น เพื่อให้เกิดการเสริมแรงให้ประชาชนทั่วไปสามารถสัมผัสได้ว่า วิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งไกลตัว วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งใกล้ตัวสามารถเรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนา ได้ตลอดเวลา นี่จะเป็นการส่งเสริม

ให้นักเรียน/นักศึกษา/ประชาชน เป็นนักคิด  นักค้นคว้า นักหาคำตอบ นักทดลอง  นักประดิษฐ์  เมื่อทำได้เช่นนี้เป็นการเตรียมพร้อมให้นักเรียน/นักศึกษา/ประชาชน เป็นนักวิทยาศาสตร์

การแสดง                เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์                1.  วิทยาศาสตร์โชว์  (Science Show)    เน้นการแสดงที่สนุกสนาน ตื่นเต้น  น่าฉงน  ให้สาระความรู้แก่ผู้ชมเป็นหลัก  (คล้าย ๆ  ที่ สสวท.จัด  รายการฉลาดสุดสุด)

                2.  มายากลวิทยาศาสตร์ (Science Magic) เน้นการแสดงที่น่าทึ่ง สนุกขบขัน ขณะเดียวกันก็ต้องเฉลยให้ผู้ชมทราบด้วยหลักการของวิทยาศาสตร์

                3.  วิทยาศาสตร์แสนสนุก (Science Fun)  เน้นการแสดงที่สนุกสนาน ตื่นเต้น  น่าฉงน  ต้องให้ผู้ชมเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงด้วยไม่ใช่เพียงแค่แสดงให้ดูเท่านั้น (คล้าย รายการโทรทัศน์ชุด ดาดฟ้าท้าทดลอง)

ค่ายวิทยาศาสตร์                1.  ค่ายสำหรับเด็กประถมศึกษา  (ค่ายหนูน้อยนักสืบ  ค่ายนักสำรวจรุ่นจิ๋ว  ค่ายสัตว์โลกแสนรู้ ฯลฯ)                2.  ค่ายสำหรับเด็กมัธยมศึกษา     (ค่ายนักสืบ   ค่ายนักสำรวจ  ค่ายเปิดโลกแมลง ฯลฯ)                3.  ค่ายสำหรับกลุ่มเกษตรกร  เรียนรู้เกษตรวิทยาศาสตร์ (ค่ายเกษตรอินทรีย์  ค่ายเกษตรชีวิตพอเพียง ฯลฯ )                4.  ค่ายสำหรับครอบครัว   (ค่ายชมนกชมไม้     ค่ายรักษ์ต้นน้ำลำธาร  ค่ายรักษ์ธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา ฯลฯ)                    การจัดทำนิทรรศการ  อาจทำได้โดย..

                1.  มอบหมายให้บุคลากรในศูนย์วิทยาศาสตร์จัดทำ

                2.  ขอความร่วมมือไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยม/ครูวิทยาศาสตร์/นักเรียน มาช่วยจัดทำห้องวิทยาศาสตร์สำหรับชั้นประถมศึกษา  มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย  โดยศูนย์วิทย์จัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการ เป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วม สำหรับนักเรียนและครูวิทย์ที่จะมาช่วยจัดห้องนิทรรศการและห้องทดลองวิทยาศาสตร์ก็จะถูกใจผู้ใช้บริการเอง เพราะ แล้วโรงเรียนเหล่านี้ก็จะเป็นลูกค้าผู้ใช้บริการของศูนย์วิทย์ตลอดปีและตลอดไป

                3.  จ้างให้เอกชนมาจัดทำนิทรรศการบางเรื่องที่มีความชำนาญ  เช่น  ห้องนักประดิษฐ์(ภูมิปัญญา)

หรืออื่น ๆ

                4.  ขออาสาสมัครมาช่วยจัดทำนิทรรศการบางเรื่อง  อาจเป็นกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน อาจจะมาช่วยจัดนิทรรศการเรื่องผ้าพื้นบ้าน การแต่งกายตามประเพณีของท้องถิ่น   การแปรรูปผลผลิต  เป็นต้น  ข้อนี้จะได้ใจของชาวบ้านมาก เพราะนี่คือสุดยอดของความร่วมมือในระหว่างรัฐและประชาชน  ทำให้ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของศูนย์วิทยาศาสตร์   ไม่ใช่ให้แค่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของ  แต่ให้เป็นเจ้าของจริง ๆ มีอะไรมาช่วยกันทำ ประชาสัมพันธ์

                1.   ประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก   ศูนย์วิทยาศาสตร์เป็นเหมือนสวนสาธารณะกลาย ๆ  เป็นแหล่งเรียนรู้  เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์   ประชาชนที่มาออกกำลังกายจะบอกกันปากต่อปากว่าให้มาดู ให้มาใช้บริการ

(ศูนย์วิทย์ดีจริง ๆ นะจะบอกให้)                2.  ประชาสัมพันธ์แบบรุกเร้า    เมื่อทำศูนย์วิทย์ให้สะสวยสมใจแล้ว  ก็เปิด รอบแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านกับศูนย์วิทย์   โดย ผอ.ศูนย์วิทย์ ทำหนังสือเชิญ/เชิญด้วยตนเอง/โทรศัพท์เชิญ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ     ผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกแห่งทั้งนอกและในโรงเรียน   พี่น้องนักข่าว ให้มาชมแล้ว ผอ.นำชมด้วยตนเอง เป็นรอบพิเศษ                  3.  ประชาสัมพันธ์แบบรุกล้ำ    รอบต่อไปให้เชิญครูสอนวิทย์/ครูวิชาอื่น ๆทั้งนอกและในโรงเรียนของจังหวัดให้มาชมศูนย์วิทย์ เพื่อครูวิทย์จะได้นำเด็ก/ผู้เรียนมาใช้บริการที่ศูนย์วิทย์ได้ (ผอ.สถานศึกษา และครูวิทย์ จะเป็นผู้ออกแบบและนำนักเรียน/นักศึกษา มาเรียนวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิทย์ต่อไป)

                4.  ประชาสัมพันธ์แบบลึกล้ำ   รอบต่อไปให้เชิญ อบต. ผู้นำหมู่บ้าน กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ชาวบ้านเวณบ้านใกล้เรือนเคียงของ ศูน์ฯวิทย์มาชมให้หมด ให้ทุกคนรู้จักและใช้บริการ

                5.  ประชาสัมพันธ์แบบแผ่ขยาย   รอบต่อ ๆ ไปให้เชิญ อบต.หมู่บ้าน กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน หมู่บ้านถัดไป ๆ ๆ  ๆ ๆ ให้มาชมศูนย์วิทย์ให้ทุกคนรู้จักและใช้บริการ

                6.  ค้นให้พบสัญลักษณ์ของศูนย์วิทย์ของตนเอง แล้วสร้างเป็นตัวเด่นเพื่อเป็นตัวประชาสัมพันธ์งานของศูนย์วิทย์   เช่น  ศูนย์วิทย์ฯรังสิต  อาจใช้  น้องพลูโต (ศูนย์วิทย์อื่น ๆ ต้องค้นให้พบเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของตนเอง)  เป็นตัวชูโรงประชาสัมพันธ์  ออกแบบตัดชุด(เหมือนน้องพลูโต)ให้พนักงานใส่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์รับแขก รับนักเรียนนักศึกษา 

                7.  แต่งกายโฉมใหม่ให้ถูกใจวัยเรียน/ดึงดูความสนใจของผู้เข้าชมนิทรรศการ  ถือว่ามัคคุเทศก์มีความสำคัญเท่า ๆ กับนิทรรศการเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่ต้องโชว์  ด้วยการออกแบบชุดมัคคุเทศก์ให้เหมาะสมกับห้องนิทรรศการ   ยกตัวอย่างเช่น 

 

ห้องภูมิปัญญา/เกษตร  มัคคุเทศก์นำชมแต่งตัวเป็นหนุ่มสาวจากเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง 

                                 ห้องนิทรรศสำหรับระดับประถมศึกษา  มัคคุเทศก์ นำชมแต่งตัวเป็น ปังปอนด์  หนุมาน ก้านกล้วย

                                ห้องนิทรรศการสำหรับระดับมัธยมศึกษา  มัคคุเทศก์ นำชมแต่งเป็น นักฟุตบอล  นักเทนนิส

ที่อยู่ในความชื่นชมของผู้คน

                                ห้องนิทรรศการเกี่ยวกับดาวเทียม/โทรคมนาคม   มัคคุเทศก์นำชมแต่งตัวเป็น ตัวละครในนิยายวิทยาศาสตร์ที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ เช่น  อัศวินลุค   แฮรี่พอตเตอร์    หรือแต่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โลกรู้จัก                 หากใครมีอะไรดี ๆ ก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ
หมายเลขบันทึก: 96725เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
สวัสดีค่ะคุณดิศกุล โอย! ชอบจัง...อยากไปดูที่สุดเลย..เป็นกำลังใจให้นะคะ..อยากเห็นอย่างนี้ให้เต็มพื้นที่เลยค่ะ
     ในหลายประเทศเกือบทั่วโลกมีการส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์อย่างมากและจริงจัง  ถ้าหากเป็นไปได้ในประเทศของเราเอง   ทั้งแนวคิดและวิธีการรวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายส่วน  คงมีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตหรือการดับสลายของมวลมนุษย์บนโลกอย่างแท้จริง    
นลินทิพย์ สังข์เจริญ ศบอ.แปลงยาว

รับทราบค่ะ

                 วิทยาศาสตร์อยู่คู่กับมนุษย์ตลอดไปอยู่แล้วค่ะ....มันมีความสำคัญอย่างมาก

 

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

         ขอบคุณครับ ที่มาเยื่อนให้กำลังใจ  กศน.มีกิจกรรมหลากหลายครับ คุณเบิร์ดเป็นเพื่อนเรียนรู้   ของเราชาวกศน.คนหนึ่งครับ

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดสระแก้ว นับว่าได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น บริเวณรอบๆตัวอาคาร ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใน มีการจัดฐานการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆมากขึ้น และฐานการเรียนรู้ภายนอกมีการปรับปรุงพัฒนามากขึ้น ดีใจกับบุคลากรศูนย์ฯวิทย์ที่พัฒนาในด้านต่างๆให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ ทางด้านวิทยาศาสตร์ ต่อไป

วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญต่อเราทุกคน

ขอบคุณผอ.ที่นำความรู้ดีๆมาให้ค่ะ

นางสาววราภรณ์ ทรัพย์ศฤงศิริ

      หลายประเทศ ให้ความสำคัญกับ  วิชาวิทยาศาสตร์  เช่น  ประเทศอินเดีย  ที่เคยดูในรายการ  TV   สร้างห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์  ให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองอยากรู้  เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรนำมาประยุกต์ให้กับ  นักเรียน  นักศึกษาของประเทศไทย  ได้ศึกษาแบบนี้บ้าง  แต่ก็คงจะมีแค่บางโรงเรียนเท่านั้นที่เสียค่าเทอมแพง  นักเรียน นักศึกษาก็จะได้รับสิ่งที่ทันสมัย   แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้เรียนที่แสวงหาความรู้   

      ขอบคุณ  ผอ.ดิศกุล  ที่ได้นำข้อมูลข่าวสาร มาประชาสัมพันธ์  ให้กับชาว  กศน. แปดริ้ว  ได้รับทราบข้อมูล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท