จากความเข้าใจ..สู่การปฏิบัติ


ถ้าเราตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบด้วยความรู้สึกกลางๆ ไม่รีบตัดสินใจ จะทำให้เราฉลาดขึ้น นิ่งขึ้น เพราะความไม่หล่อเลี้ยงให้เกิด เวทนาต่างๆต่อไป

ในชีวิตประจำวันของเรา  มีเรื่องราวมากมายที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้ง 6 เกิดการกระทบกันเป็นกระบวนการปฏิจสมุบปบาทจนครบวงจร

แต่ถ้าย่นให้ดูง่ายๆเราจะเห็นอย่างรวดเร็วว่าเมื่อสิ่งที่มากระทบเรา  เราจะมีการตอบสนองด้วยความรวดเร็วทันที  คือความรู้สึกในทางลบ  คือไม่ชอบ  โกรธ  ร้อนใจ....     ความรู้สึกทางบวก  ปีติ  ดีใจ  สนุก ชอบใจ...  และความรู้สึกที่บอกไม่ถูกคือไม่รู้ว่าดีใจหรือเสียใจ

   วันก่อนผมได้อ่านพบว่า  ถ้าเราตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบด้วยความรู้สึกกลางๆ   ไม่รีบตัดสินใจ  จะทำให้เราฉลาดขึ้น  นิ่งขึ้น  เพราะความไม่หล่อเลี้ยงให้เกิด เวทนาต่างๆต่อไป

   ในหนังสือพุทธรรมก็ให้ความสำคัญกับกระบวนการของการนี้  ช่วงขั้นตอนของการเกิดเวทนา  การรู้เท่าทัน  การตัดตอนที่จะให้ไม่เกิดเวทนาในทางไม่ดี  แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ไปในวงจรของการสร้างปัญญาขึ้นเรื่อยๆ

    ด้วยการมองตามแนวทางนี้  ย้อนกลับมาที่ชีวิตปัจจุบันจริงๆของเรา  การมีชีวิตอยู่ในสังคมและโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการกระทบ  การเกิด-ดับตลอดเวลา  รวดเร็วจนเราไม่เห็นความต่อเนื่อง  การฝึกเจริญสติตลอดเวลา  ด้วยความเพียร  มุ่งมัน ด้วยวิธีการหลายอย่าง  จะทำให้เรารู้เข้าใจมากขึ้น  เป็นความรู้ที่เกิดจากการฝึกสติและ  การภาวนา

      เป็นความเข้าใจที่อาจจะยังไม่ตกผลึกมากนักของผู้เริ่มต้นครับ...

หมายเลขบันทึก: 96609เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2007 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ผ่านมาเห็นบล๊อกครับ  จึงขอแลกเปลี่ยนบ้างครับ...

การศึกษาธรรม  ต้องศึกษาอย่างมีเป้าหมายครับ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว จะเกิดคำถามได้  เพราะเริ่มต้นพระอริยสงฆ์ท่านเมตตาให้เราท่านควรจะศึกษาธรรมด้วยอาศัยหลัก ๒ อย่างครับ คือ สัทธา และปัญญา

สัทธา คือต้องเห็นด้วยเรื่อง คนเราเกิดมามีกรรมเป็นของตน  คนเรามีกรรมเป็นตัวกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  เชื่อในวิบากกรรม และเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์จริง 

ส่วนปัญญา คือการเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ส่วนที่ทำให้เกิดปัญญา มี ๓ ทาง คือ เกิดจากการฟังมาก .....เกิดจากการใคร่ครวญธรรมอยู่เสมอ (กว่าจะเข้าใจต้องคิดไปคิดมาจนเข้าใจเอง) และเกิดจากการทำวิปัสสนากัมมฐาน (การฝึกสติ และเจริญภาวนาครับ)

ผมคงอธิบายมากไป แต่ก่อนที่เราจะเข้าใจอายตนะ การผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั้นเราต้องรู้ธรรมะหมวดต่าง ๆ ก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นปรมัตถธรรม ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมพื้นฐานก่อนเราก็จะไม่เข้าถึงธรรมะต่อ ๆ ไป ครับ   ขอบคุณที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนครับ

สวัสดีครับอาจารย์สมพงษ์

  • ขอบคุณมากๆครับ 
  • เป็นการแลกเปลี่ยนที่ให้คุณค่า  ให้ความเข้าใจยิ่งๆขึ้นกับผู้เริ่มต้นอย่างผมมากๆครับ
  • คำแนะนำของอาจารย์ผมจะนำมาใตร่ตรองเพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างถูกต้องและเกิดผลที่ดียิ่งๆขึ้นมากที่สุดครับ
  • อยากรบกวนอาจารย์  เข้ามาให้คำแนะนำบ่อยๆอีกครับ
  • น.พ.สุพัฒน์         ปาย....

สวัสดีค่ะ คุณหมอ kmsabai

เห็นด้วยเลยค่ะว่า หากเรารู้ทันสิ่งที่มากระทบ แทนที่เวทนาจะเกิด ปัญญาจะเกิดแทน  ดิฉันว่าหากมีความเข้าใจถึงวงจร อย่างน้อยก็มาถูกทางแล้ว..ที่เหลือก็คือปฏิบัติให้ลึกซึ้ง และรู้เท่าทันให้มากยิ่งขึ้น

ขอบคุณคุณหมอที่เอาเรื่องดีๆ มาฝากค่ะ..

ถ้าเราตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบด้วยความรู้สึก

กลางๆ   ไม่รีบตัดสินใจ  จะทำให้เราฉลาดขึ้น  นิ่งขึ้น  เพราะความไม่หล่อเลี้ยงให้เกิด เวทนาต่างๆต่อไป

....ขอบคุณคะ แวะมาอ่าน... มาสำรวจว่า ถ้าเรานิ่งๆในภาวะ ที่ เกิดความยุ่งยาก..จะค่อยๆให้เราคลี่คลาย

หนทางได้... 

อยากให้ สุพัฒน์ อ่าน " ความเป็นมนุษย์ กับการเข้าถึงสิ่งสูงสุด  ความจริง ความดี ความงาม " ของอาจารย์ประเวศ  ที่แจกในงาน 8th HA National forum 

พูดถึงการฟังอย่างลึก สุนทรียสนทนา หนึ่งในอายตนะ คือการฟัง  พูดถึง U theory

เมื่อรับรู้ไม่พูดหรือทำทันที -> แขวนไว้ก่อนอย่าเพิ่งตัดสิน -> พิจารณาอย่างสงบลึก -> เกิดสภาวะ presence  หรือการมีสติกับปัจจุบัน เรียกปัญญา -> ค่อยพูดหรือทำ หลังจากกระบวนการดังกล่าวแล้ว

อยากอ่าน U theory ภาคภาษาไทยบ้่างค่ะ สนใจมากว่าอ. ประเวศ เลือกใช้คำภาษาไทยว่าอะไรบ้าง

ถ้าหมอพัทมี link ขอแบ่งอ่านด้วยนะคะ 

  • การไม่หล่อเลี้ยงเวทนา เป็นเรื่องที่น่าสนใจและนำไปสู่สุขภาวะทางหนึ่งครับ อันนี้เห็นด้วยอย่างยิ่ง
  
  • ส่วนตัวผมเห็นว่า แรกสุดการตอบสนองอาจเริ่มต้นด้วยการพิจารณาอย่างแยบคาย คือแขวนไว้ก่อนอย่าเพิ่งตัดสิน แล้วพิจารณาอย่างสงบลึก อย่างที่หมอจิ้นว่า ขั้นต่อไปเมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว ก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติและใช้เวลา "แขวน" น้อยลง
  
  • คือเมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบปั๊บ ก็ปล่อยให้ผ่านเลยไปปั๊บ เหมือนสายลม ไม่ต้องมาหยุดพิจารณาอะไร (แต่ตรงนี้มีธรรมะสองข้อมากำกับ ซึ่งผมกล่าวไว้ตอนท้าย)
  
  • อันนี้ ผมคิดแบบเซนนะครับ เพราะเวลาฝึกรับการจู่โจมของคู่ต่อสู้ ไม่มีเวลามาหยุดพิจารณา เพราะถ้ามัจจุราชอยู่ตรงหน้าแล้ว มาหยุดคิดไม่ทัน
 เอาจิตไปจองจำอยู่กับจุดที่ถูกจู่โจม ก็เสียโอกาสที่จะแสวงหาทางเลือกอื่นๆ แต่ถ้ามัวจดจ่อรีรอ ก็ไม่ทันการ 

 

  • ในศิลปะการต่อสู้ที่ใช้ "เซน" เช่น ไอคิโด และการฟันดาบซามูไร จิตต้องว่องไวและมีสมาธิครับ หมายความว่า ไม่เอาจิตไปตรึงไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่ต้องฉลาดในการเคลื่อนย้ายจิตเพื่อโต้ตอบไปโดยไม่เสียเวลามาคิด ไม่มีเวทนา อารมณ์โกรธ เกลียด พยาบาท หรือความแน่วแน่จงใจแต่อย่างใด
 
  • เรียกว่ามี อนโภคจรรย (ความไม่ต้องออกแรง) และ อปรนิหิต (ความไม่ต้องการ) สองอย่างนี้เป็นธรรมของนิกายมหายาน ถ้าเทียบกับหินยาน น่าจะเป็น สติสัมโพชฌงค์ คือสติที่มีเองทุกขณะโดยไม่ต้องออกแรงตั้งใจให้มีสติ

  • ส่วนตัวผม ใช้วิธีฝึกสติอย่างนี้ทุกวันครับ เห็นว่าได้ผลดี ก็เลยนำมาแลกเปลี่ยนครับ

สวัสดีครับพี่หมอ

  • เข้าไปอ่านแล้วครับที่ http://prawase.com/
  • เหมือนเคยอ่านแล้วแต่จำไม่ได้ครับ  เรื่องอ่านแล้วจำไม่ได้เนี่ย  เป็นปัญหาส่วนตัวผมเลยครับ  อ่านมากแต่รู้น้อย
  • ขอบคุณมากๆครับ...

สวัสดีครับคุณมัท

  • หายไปหลายวันคิดถึงเหมือนกันนะครับ
  • เข้าไปอ่านได้ที่นี่นะครับ http://prawase.com/
  • มีหลายเรื่องมากครับ  หรือจะ mail ไปคับกับท่านก็ได้ครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์

P
  • เข้าไปอ่านบันทึกอาจารย์แล้วครับ
  • อาจารย์เป็นทั้งครู  เป็นทั้งกัลยาณมิตรของผมครับ
  • ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับพี่

P

 

  • ดีใจที่พี่เข้ามาเยี่ยมนะครับ
  • ผมคิดว่าพี่เป็นตัวแทนของพลังแห่งความดีงาม  ที่อาจจะส่งอิทธิพลต่อความคิดผมอีกทางหนึ่งนะครับ
  • ขอบคุณครับ

แวะเข้ามาอ่านแล้วชอบ ก็เลยสนใจแลกเปลี่ยน ชีวิตประจำวันในทุกนาที เราสามารถเรียนรู้จากตัวตนของเราได้ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มีผลกระทบต่อใจของเราเสมอไม่ว่าจะเป็นในทางใด  

    ในทุกขณะจิตหากเรามีสติว่าสิ่งใดเกิด-สิ่งใดตั้งอยู่-สิ่งใดดับ-เข้าใจโลกตามที่มันเป็นจริง/ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง(ทั้งทางกาย/วาจา/ใจ) เราก็จะทุกข์น้อยลง......................สาธุ  :)

สวัสดีครับคุณkmsabai

ตามอาจารย์กมลวัลย์มาแวะเยี่ยมครับ

ผู้ที่ ตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบด้วยความรู้สึกกลางๆ   นักปฏิบัติธรรมตามวิธีหลวงพ่อเทียนจะเรียกว่า "ผู้ดู" ครับ

แต่ถ้า เมื่อมีสิ่งที่มากระทบแล้วมีการตอบสนองด้วยความรวดเร็วทันที  คือรู้สึกในทางลบบ้าง  เช่นไม่ชอบ  โกรธ  ร้อนใจ....     หรือรู้สึกทางบวกบ้างเช่น  ปีติ  ดีใจ  สนุก ชอบใจ...  หรือมีความรู้สึกที่บอกไม่ถูกคือไม่รู้ว่าดีใจหรือเสียใจ ท่านเรียกว่า "ผู้เป็น" ครับ

หลวงพ่อเทียนท่านสอนศิษย์ให้เป็น "ผู้ดู"  อย่าเป็น"ผู้เป็น"  ครับ  แต่การเป็น "ผู้ดู" สำหรับนักปฏิบัติธรรมทั่วไปจะเรียกว่า "การเจริญสติ" ครับ

ผมมั่นใจว่าคุณkmsabai เข้าใจได้ถูกต้องแล้วละครับหมั่นเป็น"ผู้ดู"ไปเรื่อยๆ   ความเข้าใจ ก็จะตกผลึก เป็น ปัญญา เองแหละครับ  ผมเอาใจช่วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์

P
  • รู้สึกดีใจ  และปิติยินดีมากครับ(และกำลังดูว่าตัวเองรู้สึกแบบนี้ครับ)
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากๆครับ
  • ผมจะปฏิบัติต่อไป  ถ้าได้  หรือเกิดผลลัพธ์อย่งไร  จะขอมาเล่าให้อาจารย์ช่วยสอบอารมณ์ให้ดูด้วยครับว่าตอนนี้ถึงไหนอย่างไรแล้วครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท