AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน


...และก็พบว่าการปฏิบัติตามนโยบายเชิงเดี่ยวนั้นไม่ได้เป็นคำตอบต่อการแสวงหาทางหลุดพ้นจากความยากจนและภาวะวังวนของหนี้สินที่เกษตรกรประสบอยู่...

          เมื่อพูดถึงกระบวนการหรือรูปแบบของการพัฒนานั้น รูปแบบที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็คือ กระบวนการพัฒนาเชิงเดี่ยวที่มักเกิดจากการวางนโยบายและรูปแบบจากศูนย์กลางการพัฒนาเป็นหลัก ซึ่งการวางแนวทางนโยบายนี้ ก็จะมุ่งไปด้านเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก จากการเข้าเรียนกระบวนวิชาประเด็นการพัฒนามนุษย์และนโยบาย (Human Development Issues and Policies) หลักสูตรการพัฒนามนุษย์และสังคม เมื่อภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2548 (นานแล้ว - วันนี้เพิ่งกลับมาค้นเอกสารเก่าและพบเข้าโดยบังเอิญ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ไม่ต่อใครก็ต่อตนเองเป็นที่ตั้งเลยนำมาขึ้นไว้ในบันทึกแห่งนี้)

          ในครั้งนั้นมีการการบรรยายพิเศษโดย ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ นักปราชญ์ชุมชนจากดินแดนถิ่นอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ ท่านเป็นผู้หนึ่งในการแสวงหาแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่นภายใต้การทำการเกษตรทางเลือก  ด้วยเพราะตลอดชีวิตของท่านที่ผ่านมา ครูบาสุทธินันท์ ในอดีตชีวิตของท่านก็ตกอยู่ภายใต้การพัฒนาเชิงเดี่ยวเช่นที่กล่าวมาและก็พบว่าการปฏิบัติตามนโยบายเชิงเดี่ยวนั้นไม่ได้เป็นคำตอบต่อการแสวงหาทางหลุดพ้นจากความยากจนและภาวะวังวนของหนี้สินที่เกษตรกรประสบอยู่ โดยครูบาสุทธินันท์ ได้เสนอแนวทางการพัฒนาแบบการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management: KM) ที่เป็นรูปแบบการพัฒนาหรือ กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเน้นไปในด้านกระบวนการเรียนรู้ที่มีการปฏิบัติจริงและมีการวางรากฐานจากการเตรียมความพร้อมของคนให้เหมาะสมต่อรูปแบบการพัฒนาทางเลือกนี้

                ตลอดการบรรยาย ครูบาสุทธินันท์ ได้เน้นย้ำถึงสิ่งที่สำคัญที่นับว่าเป็นฟันเฟืองอันสำคัญอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ก็คือ การสร้างนักวิชาการท้องถิ่น ให้กลายเป็นนักวิชาการส่วนเกินจากระบบการพัฒนาของรัฐ ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านของแต่ละด้ายของระบบการทำการเกษตร และรวมถึงการให้การยอมรับและยกย่องต่อองค์ความรู้ที่นักวิชาการท้องถิ่นมี รวมทั้งผลักดันให้เกิดการกถ่ายโอนองค์ความรู้นั้นไปสู่ระดับของสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรภายในชุมชนและขยายออกไปเป็นระดับเครือข่าย โดยอาศัยกลยุทธ์ในการจัดการองค์ความรู้ของชุมชน ดังต่อไปนี้ 

          1.     สร้างคนให้กลายเป็นคนแห่งการเรียนรู้มากกว่าการเป็นคนรับรู้ หมายความว่า เราจำต้องปลูกฝังและเลือกสรรบุคคลที่มีแนวโน้มต่อการถูกพัฒนาและเพิ่มศักยภาพที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาได้ ซึงกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะต้องมีอุปนิสัยส่วนตัวที่พร้อมจะเรียนรู้และต้องใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา ทั้งจากห้องเรียนและจากสนาม สิ่งนี้ คือ ขั้นต้นในการเริ่มค่านิยมต่อการเรียนรู้ในระดับปัจเจกบุคคล 

          2.        สร้างพื้นที่ให้เป็นพื้นที่แห่งความรู้ ที่สามารถเปิดกว้างต่อบุคคลภายในและภายนอกชุมชนที่มีความสนใจอยากจะเรียนรู้ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ การมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความรู้ด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่จะได้พร้อมสำหรับการศึกษาและเรียนรู้ ทั้งองค์ความรู้ที่มีอยู่และที่จะเกิดในภาคสนามและความรู้ที่ถูกนำมาเผยแพร่จากกลุ่มผู้สนใจจากภายนอกชุมชน (กลุ่มผู้มาเยี่ยมชม)  

          3.        สร้างความแข็งแกร่งโดยการสร้างเครือข่าย เพื่อให้เกิดการรวมตัวกัน การสร้างความเข้มแข็งจำเป็นต้องเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการสร้างเครือข่ายในระดับเดียวกันก่อน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้หรือสิ่งที่ค้นพบของแต่ละกลุ่ม และเพื่อให้เกิดการขยายออกสู่สังคมในระดับมหภาคได้ โดยใช้แต่กลุ่มเป็นสื่อในการเผยแพร่ ทุกส่วนที่กล่าวมานี้จะต้องมีการเชื่อมโยงกันและกันผ่านกลไกที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้ที่ได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดภาวะสำคัญแห่งการเป็นส่วนสำคัญของทุกฝ่าย เราอาจใช้กระบวนการปรับกลยุทธ์เชิงนโยบายจากภาคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถภาพให้แก่สมาชิก กลุ่ม และชุมชนให้มากยิ่งขึ้น  

          ประการแรก การพยายามคัดและเลือกความรู้ที่มีอยู่มาเป็นต้นทุน จากกลุ่มบุคคลสองกลุ่ม คือ กลุ่มผู้มีความรู้เฉพาะด้านซึ่งสามารถเลือกได้จากผู้เป็นสมาชิกของกลุ่ม (คนในท้องถิ่น) และกลุ่มต่อมา ได้แก่ กลุ่มผู้รู้ในสาขานั้น ๆ ในเชิงวิชาการ เช่น เกษตรอำเภอ หรือนักวิชาการจากหน่วยงานอุดมศึกษา (อาจารย์ นักวิจัย) มาทำงานร่วมกันผ่านการเรียนรู้แลกเปลี่ยน อาจจะเริ่มต้นโดยการจัดสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมและศึกษาความเป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ และค้นหาความเหมาะสมของชุมชนว่าเหมาะสมต่อรูปแบบของการพัฒนาลักษณะใด ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนการผสมผสานองค์ความรู้จากสองด้าน คือ องค์ความรู้ที่เป็นปัญญาชาวบ้าน ตามหลักวิชาการชาวบ้าน และองค์ความรู้ที่เป็นปัญญาจากหลักการวิชาการ ซึ่งการผสมผสานองค์ความรู้สองด้านนี้จะทำให้เกิดการบูรณาการทางความรู้ (Knowing Integration) และยังเป็นการสร้างรูปแบบแห่งการยอมรับความเป็นท้องถิ่นให้มีคุณค่าต่อการเป็นทางเลือกของระบบการพัฒนาได้  

          ประการที่สอง เป็นประเด็นที่สนับสนุนประการแรก คือ การใช้ฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นตัวชี้นำ เพราะคนในท้องถิ่นย่อมคุ้นเคยและได้ปรับตัวง่ายต่อระบบและแนวทางที่เกิดจากท้องถิ่นมากกว่าที่จะยอมรับและรับเอาความรู้จากองค์กรพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งมักใช้เวลานานและมีการต่อต้านลึก ๆ ด้วยเห็นว่าสิ่งที่เป็นท้องถิ่นและที่ตนเองคุ้นเคยมีความดีและเหมาะแก่ตนแล้ว ซึ่งในหลักการนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการที่จะรับเอาแต่เพียงความรู้จากองค์พัฒนาที่มาจากภายนอกเพียงอย่างเดียว เพราะการใช้ปัญญาท้องถิ่นนั้น คือ การนำเอาองค์ความรู้ที่ตกผลึกจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนานมาใช้ผ่านการปรับเปลี่ยนในบางประการเพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อรูปแบบการพัฒนานั่นเอง ดังนั้น การที่จะสังเคราะห์องค์ความรู้ท้องถิ่นให้ผสมผสานกับองค์ความรู้แผนใหม่นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า KM ซึ่งเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่าง ๆ จากหลายฝ่ายจนกระทั่งเกิดข้อสรุปร่วมกันและนำมาเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาต่อไป 

          ประการที่สาม การเชิญผู้อาวุโสในฐานะผู้ให้การชี้แนะและเป็นปัจจัยประเภทตัวบุคคลในการต่อยอดทางความคิด เพราะด้วยประสบการณ์ที่เหล่าผู้อาวุโสได้เรียนรู้ทั้งแบบลองผิดลองถูกและได้เคยพยายามศึกษาเพื่อพัฒนาหาความเหมาะสมในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถให้เกิดผลต่อระบบการเกษตรของตนนั้น ถือได้ว่า กลุ่มผู้อาวุโสเป็นผู้ที่ได้สะสมความรู้ต่าง ๆ ไว้มากมาย ซึ่งเมื่อนำเอาความรู้ที่มีอยู่ภายในตัวบุคคลมาผนวกเข้ากับความรู้ใหม่ ย่อมหมายถึงการให้โอกาสต่อการยอมรับกลุ่มบุคคลที่มักจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มนอกแรงงาน หรือเป็นกลุ่มที่ไม่เอื้อต่อการได้ประโยชน์ในการทำงานในภาคเกษตรกรรมนั้นกลับคืนมา และสิ่งที่ไม่อาจลืมได้เลยว่า ในสังคมชาวเกษตรซึ่งโดยส่วนมายังเป็นสังคมที่ให้ความเคารพนับถือยำเกรงต่อกลุ่มผู้อาวุโส และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยที่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้อาวุโสในชุมชน 

          ประการที่สี่ การเชิญวิทยากรและนักวิชาการจากหน่วยงานที่ชำนาญด้านการเกษตรมาเป็นผู้สานต่อการเรียนรู้ให้มีความถ่องแท้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้กลุ่มชาวบ้านในชุมชนได้รับความรู้ทางการเกษตรที่มีระบบแบบแผนและถูกต้องโดยตรงจากการถ่ายทอดงานที่เป็นเชิงวิชาการ จนสามารถนำมาใช้ต่อวิถีทางการเกษตรในลักษณะตนได้ ซึ่งหมายความว่า จะเกิดความรู้ด้านวิชาการแบบชาวบ้านโดยชาวบ้าน ที่สามารถนำไปเทียบเคียงได้กับระบบความรู้ที่เป็นหลักการได้  

          ประการที่ห้า ประการสุดท้าย การอาศัยกลุ่มบุคคลที่มีความมุ่งมั่น เพื่อเป็นกลุ่มพลังในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้แก่คนอื่น ๆ ในชุมชนได้เห็น และกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มผู้ที่ได้รับการปลูกฝังนิสัยแห่งการเรียนรู้มาแล้ว โดยธรรมชาติแล้ว กลุ่มคนที่พร้อมจะเข้าร่วมโครงการมักมีจำนวนน้อย เพราะเมื่อทำไปจะเริ่มไม่มั่นใจในทางเลือกใหม่นี้ เพราะมีความคุ้นเคยต่อแนวทางเดิมที่ได้รับการชักนำจากนโยบายเสียมากกว่า  จากที่กล่าวมาทั้ง ๕ ประการข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนเตรียมความพร้อม แต่เมื่อพิจารณาถึงระดับการจัดการองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมที่เด่นชัด จำเป็นต้องมีกระบวนการเรียนรู้แบบปฏิบัติการร่วมไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งหมายถึงกระบวนการจัดการความรู้ที่มีอยู่ให้เกิดผลต่อการพัฒนาอย่างแท้จริง โดยเริ่มต้นทั้งแต่ในระดับการเตรียมความพร้อมไปพร้อมกับ 

๑.       การลงมือปฏิบัติจริงจนเกิดความรู้ใหม่จากความรู้เดิม 

๒.     ขยายขอบเขตความรู้ให้กว้างออกไปจากมุมแคบที่เคยได้เรียนรู้มาหรือที่มีอยู่ 

๓.      นำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับหรือที่เกิดจากแลกเปลี่ยนมาใช้อย่างเหมาะสม 

๔.      นำไปต่อยอดโดยอาศัยกลุ่มคนร่วม หมายความว่า ให้สมาชิกนำเอาความรู้ไปใช้จริงใน

          การประกอบการเกษตร ซึ่งในขั้นนี้ถ้าหากสมาชิกไม่นำเอาความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติจริง ก็เท่ากับว่า การพยายามที่จะพัฒนาในด้านต่าง ๆ และการถ่ายโอนความรู้ที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จและถือว่าเป็นการสูญเสีย จากทั้งหมดข้างต้นที่พยายามกล่าวมานี้ ก็เพื่อให้มุมมองเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกรูปแบบการพัฒนาแบบทางเลือกที่เกิดจากท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่น และความต้องการในการแสวงหาหนทางที่เกิดจากการผสานความร่วมมือแบบไตรภาคีเป็นพื้นฐาน ได้แก่ ภาคหน่วยงานพัฒนาที่มาจากรัฐ ภาคสถาบันวิชาการและงานวิจัย และภาคชุมชน ซึ่งเป็นหนทางใหม่ในการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตรในท้องถิ่น (ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคการเกษตรเท่านั้น สามารถขยายไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้เช่นกัน) และในความเป็นจริงในทุกวันนี้ การแสวงหาแนวทางใหม่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้น ยังเป็นหนทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเพื่อกระชับสัมพันธ์ระหว่างความเป็นท้องถิ่นกับภาครัฐ และลดช่องว่างระหว่างผู้พัฒนาและผู้(ถูก)ได้รับการพัฒนา อีกทั้ง เป็นหนทางในการยืนยันในความรู้ความสามารถาของท้องถิ่นที่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมในระบบเศรษฐกิจที่พอเพียงเหมาะสม ซึ่งนับได้ว่า เป็นหนทางในการลดภาระความรับผิดชอบของภาครัฐที่มีต่อท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 96537เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2007 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท