๗.นวัตกรรมประชาสังคม....โลกหลังปลดดาวพลูโต


".......ศาสตร์ของโลกและภูมิปัญญาเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงโลกสมัยใหม่หลังยุคปลดดาวพลูโต ต้นธารจึงมิใช่วิทยาศาสตร์แต่เพียงลำพังครับ ทว่า บูรณาการกับมิติความเป็นมนุษย์และวิธีจัดการอย่างใช้ปัญญาร่วมกันของประชาสังคมวิทยาศาสตร์ครับ....."

             กรณีการหาข้อตกลงกันใหม่เกี่ยวกับดาวพลูโต  ระหว่างนักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์หลายสาขา และในที่สุด  เป็นที่ยุติตรงที่ไม่นับว่าดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ  ทำให้ดาวนพเคราะห์จากที่เคยยอมรับกันว่ามีเก้าดวงเหลือแปดดวง และความรู้พื้นฐานที่ใช้กันในโลกที่เป็นภาคขยายออกไปจากสิ่งที่เดินตามกันมาในแนวนี้  ก็คงต้องปรับไปตามความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้หมด 

              ผมไม่รู้เรื่องพวกนี้หรอก แต่พอจะจับสาระสำคัญและเห็นบทเรียนว่าเรื่องนี้มีข้อที่น่าสนใจที่สาธารณชนมักมิได้กล่าวถึงที่สำคัญอยู่ 2 เรื่องและสำคัญมากด้วย คือ..........

              (1)  เครื่องมือและวิธีการสร้างความรู้เปลี่ยนแปลงความรู้ของทั้งโลก  ไม่ใช่ตัวความรู้หรือศาสตร์ที่สร้างขึ้น

              ที่มาของความเปลี่ยนแปลงวงการดาราศาสตร์  และวิทยาศาสตร์หลายสาขาครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ได้ส่งยานสำรวจอวกาศออกไปจนสุดขอบระบบสุริยะ กล้องที่ส่งไปคือกล้องฮับเบิ้ล  หรือเครื่องมือเก็บข้อมูลภาพจากการสะท้อนแสงและการมีแสงสว่างออกมาของวัตถุ จะว่าไปแล้ว  กล้องฮับเบิ้ลก็คือเลนส์ขนาดใหญ่และที่แปลงสัญาณภาพเป็นสัญญาณดิจิตอลลงมายังโลกนั่นเอง

              ทว่า  ระหว่างที่จะต้องเก็บบันทึกข้อมูลการระเบิดใหญ่ (Big Bang) ของซุปเปอร์โนวา ซึ่งจะเป็นตัวไขความลับและให้ความกระจ่างแจ้งมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการก่อเกิด และความเป็นมา ทั้งของโลก  ระบบสุริยะ  และเอกภพนั้น กล้องฮับเบิ้ลเกิดเสียขึ้นมา  โอกาสอันสำคัญเป็นอย่างยิ่งเช่นนี้  จะหาไม่ได้อีกแล้ว  นักวิทยาศาสตร์ก็เลยส่งสัญญาณแจ้งข่าวฉุกเฉิน  บอกพิกัดให้กล้องอวกาศทั่วโลก  นักดาราศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ  เล็งไปยังพิกัดเดียวกันเพื่อร่วมศึกษา สังเกตการณ์  และระดมเก็บข้อมูลตามแต่จะทำได้ 

             การจัดการความรู้ร่วมกันแบบฉุกเฉินดังกล่าว ก่อให้เกิดความร่วมมือและความพร้อมเพรียงกันมากที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนของทั้งโลก   ระบบกล้องที่ศึกษาอวกาศของหลายประเทศทั่วโลก และการร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดของเหล่านักวิทยาศาสตร์  มุ่งไปยังที่เดียวกัน  ไม่มีความเป็นชาติ  ไม่มีพรมแดนประเทศ  ไม่มีพรมแดนระหว่างศาสตร์และสาขาความเชี่ยวชาญ  ไม่มีพรมแดนจากเครื่องมือและวิธีการ  พรมแดนลัทธิ  ศาสนา  วัฒนธรรม  เพศ  และชนชั้นทางสังคม  เรียกว่ามนุษย์และทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียวกันในครั้งนั้น...จุดเริ่มต้นก็คือ  กล้องเสีย  กับการที่ผู้คนมีสำนึกทางปัญญาสากล และการช่วยกันบอกต่อๆกันไปอย่างไม่ต้องหวงความรู้ไว้กับตนเอง

            เกิดการระดมพลังของเครื่องมือและระบบกล้องศึกษาอวกาศที่สำคัญ 3 ชนิด และมีขอบเขตในการทำงานต่างกัน 3  ระดับคือ  ลอยอยู่นอกวงโคจรของโลก  ลอยอยู่ในวงโคจรของโลก  และอยู่บนภาคพื้นดิน ทำให้เกิดเครือข่ายสุดยอดของเครื่องมือสร้างความรู้สมัยใหม่ ที่พรักพร้อมเป็นที่สุดในยุคสมัยนี้ของโลก คือ

  • ระบบกล้องอวกาศที่เก็บและบันทึกข้อมูลจากการสะท้อนและเปล่งแสง
  • ระบบกล้องอวกาศเก็บบันทึกข้อมูลโดยรับสัญญาณคลื่นวิทยุ
  • ระบบกล้องอวกาศที่เก็บบันทึกข้อมูลโดยรับพลังงานความร้อนจากการแผ่รังสีนิวเคลียร์ฟิชชั่น ที่เกิดจากการระเบิดอย่างมหาศาล

         ทั้งหมดนี้  เป็นการรวมกันของสุดยอดวิทยาการและเทคโนโลยีการสร้างข้อมูลสารสนเทศและภาพ (Imaging Technology) เท่าที่โลกพัฒนาได้แล้ว 3  ระบบ  อันเป็นที่มาของเทคโนโลยีความรู้  ข่าวสาร และสารสนเทศ ที่มีอยู่ทั้งโลก ณ เวลานี้  อีกทั้งก้าวล้ำยุคและแปรมาเป็นธุรกิจที่ใช้ในโลกได้ยังไม่ถึง  20  เปอร์เซนต์ 

           ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงวงการถ่ายภาพและสื่อมัลติมีเดียนั้น เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานของเทคโนโลยีอวกาศ  ทว่า  กล้องดิจิตอลที่ดีที่สุดที่เราหาซื้อได้ในท้องตลาดนั้น  ขีดความสามารถยังไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ของเทคโนโลยีที่ค้นพบและทำได้แล้วที่เป็นกล้องฮับเบิ้ล (สามารถรับภาพจากแสงสะท้อนต่ำกว่าความสามารถที่สายตาของมนุษย์จะมองเห็น 300 เท่าและปรับความคมชัดได้ทุกจุดบนแผ่นรับภาพ)  

          ผลก็คือ เกิดความรู้และข้อมูลอวกาศมากมาย รวมทั้งหลากหลายมากที่สุด เมื่อนำมาปะติดปะต่อกันแล้ว ก็ล้วนน่าเชื่อถือ  ถูกต้อง  และเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ขยายโลกทัศน์และก่อให้เกิดการขยายผลการศึกษาต่างๆตามมาอีกมากมาย  การประชุมเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับกรณีดาวพลูโตก็เป็นส่วนหนึ่ง  ดังนั้น  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกและวิทยาศาสตร์ของโลกครั้งนี้  ไม่ใช่ตัวความรู้ครับ  แต่เป็นเครื่องมือและวิธีการสร้างความรู้  ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

            (2)  จัดการข้อยุติโดยวิธีการทางสังคมและประชาสังคม (Civic Innovation)

            การพิจารณากรณีดาวพลูโตและการหาข้อยุติ  ก็เลยไม่สามารถใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวได้ล่ะสิครับ  เพราะข้อมูลและความรู้ ซึ่งสร้างความจริงขึ้นมาโดยเครื่องมือและวิธีการที่ต่างกัน แต่มุ่งไปยังสิ่งเดียวกัน  ตลอดจนความทรงภูมิของนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาระดับโลกและของทั้งโลก ก็ทำให้หาข้อยุติไม่ได้  วิธีการที่เป็นข้อยุติก็คือ  การประชุมและการโหวตลงคะแนนของเหล่านักวิทยาศาสตร์  ตรงนี้เป็นวิธีการทางสังคมแล้วครับ

             ถึงที่สุดแล้ว  มนุษย์ต้องหันหน้าคุยกันและฟังกัน  อีกทั้งในเวทีประชุมดังกล่าว  นักวิทยาศาตร์ต่างมีอิสรภาพทั้งในฐานะปัจเจกและในฐานะความเชี่ยวชาญของตน  ความสมานฉันท์และการจัดการภาวะผู้นำทางวิทยาศาสตร์ หรือภูมิปัญญาสมัยใหม่ของทั้งโลกได้ในครั้งนี้  จึงเป็นเวทีประชาคมที่เปลี่ยนแปลงโลก

              ศาสตร์ของโลกและภูมิปัญญาเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงโลกสมัยใหม่หลังยุคปลดดาวพลูโต  ต้นธารจึงมิใช่วิทยาศาสตร์แต่เพียงลำพังครับ  ทว่า บูรณาการกับมิติความเป็นมนุษย์และวิธีจัดการอย่างใช้ปัญญาร่วมกันของประชาสังคมวิทยาศาสตร์ครับ

               ความรู้พื้นฐานที่ขับเคลื่อนความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของโลก ดำเนินไปอย่างนี้เสียแล้ว พัฒนาการลำดับต่อไปในยุคนี้  ทั้งของท้องถิ่นและของโลก จึงยากที่จะไม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นสหวิทยาการและการพัฒนาบูรณาการศาสตร์  ทั้งมิติความรู้และการจัดการทางสังคม  สะท้อนให้เห็นว่า  โลกอนาคตต้องมีความพอดีทั้งความร่วมมือและการแข่งขัน  ความเป็นปัจเจกและความเป็นส่วนรวม  ความเป็นเลิศในสิ่งสากลและความเป็นเลิศในตัวของตัวเอง.

 

หมายเลขบันทึก: 93917เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2007 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท