ปัญหานี้เป็นปัญหาพี่หรือปัญหาของชุมชน


ต้องคิดนอกกรอบออกไปบ้าง สุขภาพเป็นของเขาครับ และเป็นของชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคงเป็นได้แต่พี่เลี้ยงผู้คอยให้คำปรึกษาเท่านั้น

     การระบุปัญหาเป็นขั้นตอนแรก ๆ ที่หน่วยบริการสาธารณสุขจะจัดทำโครงการขึ้น แต่ด้วยเหตุที่การเงินการคลังในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนไป (โครงการ 30 บาทฯ) เป็นเงินงบประมาณไปถึงแล้ว (ต่อหัวประชากร) จึงค่อยจัดทำแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งโอกาสที่จะได้แก้ปัญหาตรงกับปัญหาที่แท้จริงเป็นไปได้สูงมาก ไม่เหมือนเช่นในอดีต ที่ต้องทำโครงการตามแนวทาง (เขาสั่ง) เขาคือคนที่โอนเงินมาให้ ผมไม่อยากเรียกว่าเจ้าของเงิน เพราะเจ้าของที่แท้จริงคือประชาชนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

     ฐานคิดตรงนี้สำคัญมากหากเจ้าหน้าที่เราเองยังไม่ปรับเปลี่ยนก็จะได้แผนงาน/โครงการที่เกิดบนโต๊ะ คิดคนเดียว ปัญหาเกิดจากบนโต๊ะ ชาวบ้านรู้ ๆ ก็มีโครงการมาแล้ว ตัวปัญหาที่แท้จริง หรือความเร่งด่วนที่แท้จริงต้องไปถามชาวบ้าน ถึงจะได้ตรงกับความต้องการที่จะแก้ไขจริง ๆ เพราะชาวบ้านเป็นผู้รับผลกระทบของมันทั้งหมดเอง อีกทั้งหากได้เอาไปให้เขาช่วยคิด ช่วยกำหนด ช่วยวางแผน เขาก็จะช่วยทำและช่วยกันแก้ไขเองอย่างภาคภูมิใจ อย่างมีศักดิ์ศรี คำว่า “เหนื่อย ไม่เห็นชาวบ้านสนใจ เขาไม่ตระหนัก” จะได้ค่อย ๆ ลดลง เมื่อเขาเป็นเจ้าของสุขภาพเขาเอง

     บันทึกข้างต้นก็สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันพฤหัสฯ (7 ธ.ค.2548) ผมลากิจไปทำธุระกับพ่อ เมื่อกลับมาถึงที่บ้านพ่อประมาณเวลา 14.30 น. ก็ได้รับโทรศัพท์จากพี่เจ๊ก (45) นักวิชาการสาธารณสุข ประจำสถานีอนามัยบ้านโคกทราย อ.ป่าบอน จ.พัทลุง พี่เจ๊กเป็นพี่ที่มีพระคุณไม่ต่างจากพี่หรอยที่เคยได้พูดถึงบ่อย ๆ พี่เจ๊กโทรมาบอกว่าจะทำโครงการแก้ไขปัญหาขยะของชุมชน ขอให้ผมไปช่วยเป็นวิทยากรทำประชาคมให้หน่อย และขอนัดวันกับผม

     พอผมได้ยินเข้าก็ค่อย ๆ อธิบายดังที่ได้บันทึกไว้ที่ 1-2 ย่อหน้าแรก ๆ โดยสรุป และบอกพี่เขาไปว่าติดใจคำว่า “จะทำโครงการแก้ไขปัญหาขยะของชุมชน และจะทำประชาคม” ก็เลยถามกลับไปแบบหยอก ๆ ว่า พี่ “จะทำประชาคมทำไมอีก ก็พี่จะทำโครงการแก้ไขปัญหาขยะของชุมชนแล้ว” ซึ่งก็ตกลงว่า หมายถึง ว่าจะทำประชาคมเพื่อหาวิธีการแก้ไขแก้ไขปัญหาขยะของชุมชน ผมก็ได้เข้าใจ

     แต่ผมก็ยังย้ำกลับไปอีกว่า “พี่ตกลงว่าปัญหานี้เป็นปัญหาพี่หรือปัญหาของชุมชน” พี่เจ๊กหัวเราะแล้วบอกว่า “เป็นปัญหาของชุมชน พี่วิเคราะห์ดูแล้ว และเลือกปัญหานี้” ผมก็ยังถามเหมือนเดิมว่า “แล้วแน่ใจหรือว่าเป็นปัญหาชุมชนจริง ๆ”

     จริง ๆ ตอนที่คุยกันผมและพี่เจ๊ก ไม่ซีเรียสอะไร แต่พอพี่เขานึกได้ก็เลยคุยกันว่าจะปรับกระบวนการอย่างไร ผมก็แนะนำไปว่าขอเพียงเราอย่างเพิ่งตั้งโจทย์เสียก่อน ทุกอย่างก็จะเดินไปเองได้ ขอเพียงพี่นัดทีมงานที่เป็นไตรภาคีฯ อยู่แล้วไว้ให้พร้อม แล้วเราจะใช้กระบวนการทำงานเป็นทีม กระบวนการกลุ่มจัดการออกมาให้ได้ บางครั้งแก้ได้มากกว่า 1 ปัญหาเสียด้วยซ้ำ ภายใต้งประมาณเท่าเดิม เพราะปัญหาในชุมชนล้วนแต่เกี่ยวยึดโยงเหนี่ยวอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

     อันนี้พี่เจ๊กต้องได้เห็นเองสักหนึ่งครั้ง ก็จะเชื่อตามแนวทางนี้ว่าพลังของไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชนนั้นยิ่งใหญ่จริง ๆ เพียงเราต้องปลดปล่อยพันธนาการทางความคิดเดิม ๆ ให้หลุดเสียก่อนเท่านั้น อย่ายึดติด และต้องคิดนอกกรอบออกไปบ้าง สุขภาพเป็นของเขาครับ และเป็นของชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคงเป็นได้แต่พี่เลี้ยงผู้คอยให้คำปรึกษาเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 9377เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 00:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท