โค้ชส้ม Citrus
Miss. ปรีดิ์ฤทัย โค้ชส้ม ตั้งจิตญาณพัฒน์

ความสำคัญของการรักษาคำพูด


หนึ่งในคุณสมบัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จต้อง รักษาคำพูด รักษาสัญญา

     วันนี้เป็นวันหยุดสำหรับผู้ใช้แรงงานอย่างพวกเรา ฝนตกลงมาหนักๆ หลายวันแล้ว ทำให้อากาศไม่ร้อน ได้อยู่บ้านโดยไม่ต้องทำงานบ้านหนักๆ สักวัน ก็ได้คิดทบทวนอะไรบางอย่าง พอมาอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ได้พบกับสาระของการรักษาคำพูดว่ามีความสำคัญเพียงใด ก่อนหน้านี้ตัวเองก็ยึดมั่นในเรื่องการให้สัญญากับคนอื่นมาก แต่บางทีก็มีหลุดไปเหมือนกัน พอมาอ่านเจอเรื่องนี้ยิ่งรู้สึกว่าต่อไปต้องระวังมากขึ้น          

     คำมั่นสัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเราประสบความสำเร็จ  การไม่รักษาคำพูดอาจทำให้เสียมิตรที่กลายไปเป็นศัตรู นโปเลียน โบนาปาร์ต เคยกล่าวไว้ว่า หนทางที่ดีที่สุดที่จะรักษาคำพูด ก็คือ อย่าพูดให้สัญญากับใคร ก็เป็นเรื่องจริงนะคะ แต่สำหรับตัวเองแล้วไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ เพราะจะเหมือนกับการที่คนบางคนไม่เคยทำอะไรผิด เพราะไม่เคยทำอะไรเลยหรือเปล่า          

     เห็นด้วยกับที่ผู้เขียนบอกว่า การรักษาสัญญา หรือคำพูดเป็นนิสัยที่ควรฝึกฝนให้ติดตัว เพราะเป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงความสำเร็จที่มั่นคงในชีวิตได้  หากเราต้องติดต่อกับใครแล้วอยากให้เขาเชื่อใจ ไว้ใจอยากทำงาน ทำธุรกิจร่วมลงทุนทำอะไรกับเรา เราต้องรักษาสัญญา รักษาคำพูด เรื่องนี้เคยได้ยินพี่ๆ ผู้บริหารระดับสูงเล่าให้ฟังอยู่เสมอว่า เราต้องการให้คนที่มาร่วมลงทุนกับเราอยู่กับเรานานๆ และที่ผ่านมาเขาอยากมาลงทุนต่อเพราะมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน  นั่นเป็นเพราะเราดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส จริงใจ และรักษาสัญญาที่ให้กับคู่ค้า          

     ความบาดหมาง ความขัดแย้งบางอย่างเกิดขึ้นไม่ว่าจะในครอบครัว หรือที่ทำงานอาจมีที่มาจากเรื่องของการไม่รักษาคำพูดก็ได้ เช่น สามีรับปากอาสาว่าจะหาซื้อของมาให้ภรรยา  ทำให้ภรรยาคาดหวัง ณ ขณะนั้นและเต็มไปด้วยความปลื้มปีติ ที่สามีรับอาสาจะซื้อของที่เธอกำลังอยากได้มาให้ แต่แล้วผ่านไปนับเดือน ภรรยาก็ยังไม่ได้รับของจากสามีเลย  ซ้ำเมื่อทวงถามก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่ว่าง ทำให้ภรรยาเกิดอาการน้อยอก น้อยใจ ที่สามีไม่รักษาคำพูดและดูเหมือนว่าจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเธอเลย  ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ที่รับปากลูกว่าจะให้โน่น ให้นี่ ถ้าลูกเรียนเก่ง สอบได้ที่หนึ่ง หรือเมื่อลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการ แต่พอถึงเวลากลับเมินเฉยไม่พูดถึง  เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนที่ไม่ไว้วางใจใคร หรืออาจเป็นคนที่ไม่น่าไว้ใจ เชื่อใจ เพราะคิดว่าการพูดปดเป็นเรื่องปกติที่เคยเห็นพ่อแม่ทำกับตน         

      หลักการง่ายๆ ของการรักษาคำพูด ก็คือ

   -   คิดไตร่ตรองก่อนว่าสามารถทำได้จึงรับปากหรือให้สัญญา ต้องรอบคอบ และไม่รับปากไปด้วยความเกรงใจ-          คำนึงถึงจิตใจของคนที่เราพูดด้วย ต้องรักษามิตรภาพ และความสัมพันธ์ด้วยการรักษาสัญญา

   -  ให้คุณค่าในการระวังรักษาคำพูด คิดก่อนพูด วางแผนก่อนทำ ต้องมั่นใจว่าทำได้

   -    พยายามรักษาคำพูดอย่างสุดความสามารถ พูดจริง ทำจริงอย่างที่พูด โดยฉพาะคนที่เป็นผู้นำที่อยากให้คนเชื่อถื

   -   หากเรารักษาคำพูดไม่ได้ ต้องยอมรับผิด และกล้ารับความจริง  ไม่ควรปกป้องตัวเอง หรือหาข้อแก้ตัวให้พ้นผิดอย่างน้ำขุ่นๆ      

     จะเห็นได้ว่า เรื่องง่ายๆ ธรรมดาที่เราท่านอาจมองข้ามไป ลองดูสิคะว่าตัวอย่างรอบตัวที่เราเห็น เวลาคนอื่นไม่รักษาคำพูดหรือสัญญาที่ให้ไว้กับเรา เรารู้สึกอย่างไร  ดังนั้นต่อไปเราก็ควรระมัด ระวังในเรื่องนี้มากขึ้น แม้แต่เวลานัดกับใคร ถ้าเราเป็นคนตรงต่อเวลาสม่ำเสมอ คนที่นัดหมายกับเราเขาย่อมเกรงใจ แล้วต้องมาตามนัดด้วยเช่นกัน  เวลาอยู่ในที่ทำงานถ้าเราต้องทำงาน ประสานงานกับคนอื่น รับปากที่จะส่งมอบงานให้เขาวันใด ก็ต้องไม่ผิดคำพูด จึงจะทำให้เขาเชื่อถือไว้วางใจได้ โดยเฉพาะถ้าคนคนนั้นคือเจ้านายของเราเอง

คำสำคัญ (Tags): #การรักษาสัญญา
หมายเลขบันทึก: 93636เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2007 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

คุณพ่อเคยสอนพี่ไว้ว่า

Slow to promise but keep it!

ใช้มากระทั่งเดี๋ยวนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณCitrus การรักษาคำพูดเป็นสิ่งที่ต้องใช้สติในการกล่าวคำสัญญาออกไป มิฉะนั้นเราก็อาจลืม หรือไม่ได้ใส่ใจ เราต้องปลูกฝังลูกหลานของเราอย่างจริงจัง เพราะมีความสำคัญอย่างที่คุณกล่าวไว้นี่แหละค่ะ

...เป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงความสำเร็จที่มั่นคงในชีวิตได้ .....

ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆในวันหยุดค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่ sasinanda และ พี่คุณนายดอกเตอร์

ขอขอบพระคุณที่มาร่วมแสดงความเห็นค่ะ

เห็นด้วยกับพี่ทั้งสองมากๆ ค่ะ โดยเฉพาะ slow to promise ก็คือการที่เราต้องไตร่ตรองด้วยสติ ก่อนที่จะเอ่ยคำพูดสัญญิง สัญญากับใคร เพราะพอออกจากปากเราไปแล้ว คำพูดก็เป็นนายเรา นั่นคือบังคับว่าเราต้องปฏิบัติตามคำพูด

 

เป็นบล๊อกที่ดีมากครับ ทำให้หวนนึกถึงคำว่า Trust ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงาน ในการบริหาร แม้แต่การอยู่ร่วมกันในครอบครัว คำว่า Trust หรือ ไว้วางใจ นั้นในการตีความแบบสนุกๆ อาจหมายถึง การที่มีบุคคลสักคนหนึ่ง มีคุณสมบัติที่ทำให้เรา สามารถนำสิ่งที่มีค่าที่สุดคือ "ใจ" นำไป "ไว้" "ให้ไว้" หรือ "วาง" ไว้กับผู้นั้นได้...แต่เมื่อ Trust หายไป...มักพบว่า "ยาก" หรือ "แทบเป็นไปไม่ได้" ที่จะหวนความรู้สึกกลับคืนมาดังเดิม....ดังนั้น เรื่องของ Trust จึงเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในการทำงาน หรืออยู่ร่วมกัน...ที่ต้องรักษากันไว้ให้ดี และให้คงอยู่เสมอ

ในการสร้าง Trust นั้นมีหลายองค์ประกอบ แต่เริ่มแรก มักเริ่มด้วย "สัจจะ" และ "ความคงเส้นคงวา" ครับ

สวัสดีค่ะ อ.cwl

ขอขอบพระคุณสำหรับความคิดเห็นที่ดีมากค่ะ อาจารย์เน้นเรื่อง trust เป็นสำคัญ เรื่องนี้เป็นปัญหาในหลายๆ องค์กรที่พบปัญหา พนักงานไม่ไว้วางใจผู้บริหาร หรือเจ้านาย ก็จะทำงานยาก บรรยากาศไม่ดี ซึ่งทำให้ citrus อดนึกถึงสถานที่ทำงานหน่วยงานหนึ่งของ บริษัทแม่ที่เคยทำงานด้วย ลูกน้องกว่าสามสิบชีวิตทุ่มเททำงานอย่างสนุกสนาน แม้จะมีขัดแย้งกันบ้าง แต่หัวหน้าส่วนสามารถจัดการแก้ปัญหาได้ และที่ทุ่มเท เพราะเชื่อใจว่าสิ่งที่พี่เขาพูด เขารักษาสัญญาและเขาให้ความเป็นธรรมกับลูกน้องทุกคนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท