การเรียนรู้จักที่จะสานแรงบันดาลใจให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน


            ช่วงเช้ากำนันวิดน้ำออกนาแปลงเหนือและได้หอยเชอรี่มาหลายกิโล เลยนำไปใส่ไว้ในถังเหมือนเดิม เพื่อเตรียมหมักปุ๋ยไว้ใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดต่อไป
            ช่วงสายเลยออกตามบ้านสมาชิกเพื่อสำรวจความคิดเห็นอีกครั้งเรื่อง โดยวันนี้มีเป้าหมายไปที่บ้านอาแอ้วและป้าใจ เพื่อไปขอเรียนรู้เรื่องความคิดเห็นจากที่เคยพูดกันไว้ว่าเราน่าจะวางแผนให้เกิดกลุ่มออมทรัพย์ผลิตปุ๋ย ซื้อวัตถุดิบ ซื้ออุปกรณ์มาทำใช้กันเองไม่ต้องรอใครเป็นการสำรวจทัศนคติแรงบันดาลใจเดิมของสมาชิกแต่ละคน ถึงการก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรออมทรัพย์ของแต่ละคน
            เคลื่อนทับไปที่บ้านอาแอ้วก่อน อาแอ้วหมักปุ๋ยไว้ใช้เองหลายถังแล้วมีทั้งปุ๋ยฮอร์โมนไข่ ปุ๋ยจากขยะสด ปุ๋ยหัวเชื้อจุลินทรีย์ ครบครั้นเพราะอาเป็นคนชอบทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว รวยแต่ก็ยังขยันอยู่  ผลการใช้ปุ๋ยของอาแอ้วก็ดูจากดอกไม้ใกล้ตัวที่อาชอบปลูก กล้วยไม้งามออกดอกสะพรั่ง โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีเลย รอบข้างบ้านอาจึงมีแต่อากาศบริสุทธิ์จริงๆ มาคุยเรื่องกลุ่มผลิตปุ๋ยโดยการออมทรัพย์เพื่อการผลิต อย่างที่เคยเล่าให้อาแอ้วฟังและทุกคนฟังว่าสำเร็จไปก้าวหนึ่งคือขอทุนโครงการSMLได้ซื้อแต่อุปกรณ์ เครื่องจักร สถานที่ก็เรือนหลังเล็กที่หนองหลวง แต่ขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะมาซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิต  อาแอ้วเลยกล่าวว่า “อาบอกเลยว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะอาเคยไปดูงานที่พระอาจารย์สุบินทำเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มออมทรัพย์กองทุนเพื่อชุมชน เริ่มจากกลุ่มเล็กและเข้มแข็งไม่หนี้ไม่ทิ้งปัญหาแต่เรียนรู้ร่วมกันทุกคน จนประสบความสำเร็จในด้านการเจริญเติบโตของกองทุน ตรงนี้แหละที่อาเคยบอกว่ากลุ่มเราปัญหามีเยอะถ้าแต่ละคนจะทำใช้กันเอง ทั้งเรื่องหนี้สิน ต้นทุน สุขภาพ เวลาว่างไม่ค่อยมี ถึงต้องซื้อสารเคมีใช้เพราะง่ายดีและปัญหาหนี้สินตามมา หากเรารวมกลุ่มลงทุนกันแล้วพึ่งตนเองช่วยกัน ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไปเพราะเราทำใช้กันเอง เรื่องเวลาก็ไม่ต้องกลัวอย่างที่กอล์ฟบอกพลัดเวรกันมาทำ หัวหน้าก็กอล์ฟอยู่ประจำไม่ต้องกลัวอะไร ถ้ากอล์ฟเป็นคนดูแลและริเริ่มอาก็เอาด้วย” เช่นเดียวกับป้าใจก็พูดเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ นจท.มาสร้างศรัทธาในกลุ่มไว้ การมีส่วนร่วมจึงได้ดึงดูดความต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจังมาคิดวางแผนร่วมกัน
            ผลก็คือความดีใจที่ทุกคนกลุ่มหัวเชื้อเห็นด้วย ในการเกิดกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ทำให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมองจากแรงบันดาลใจ ปัญหาและความต้องการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดและเห็นผลยั่งยืน หากยังไม่เริ่ม มีหรือที่เกษตรกรรายใหม่ๆเข้ามาแล้ว นจท.ดูแลไม่ทั่วถึงจะสามารถลดการใช้สารเคมีได้จริง ต้องเริ่มตั้งแต่จุดประกายให้เร็วเพื่อต่อเติมเชื้อเพลิงได้ถูกเวลา
ผลการเรียนรู้ของแต่ละคนที่สะท้อนการมีส่วนร่วมได้ดี ในการออกค่าใช้จ่ายร่วมกันในการไปศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทุกคนมีแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายวัตถุประสงค์เดียวกันแล้วกลุ่มก็เกิดความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน


โดย พิมพ์พร  ช้างทองคำ
นักจัดการความรู้ท้องถิ่นตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง

หมายเลขบันทึก: 9357เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2005 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท