เยลซิน วิถีโลกใหม่ และหมายเหตุสังคมท้องถิ่นไทย


"........จึงขอน้อมคารวะท่านเยลซิน หนึ่งในมนุษย์ผู้หนึ่งในยุคสมัยของเรา ที่มิเพียงมีความดีงามในชีวิตของตนเองเท่านั้น แต่เกิดมาเพื่อสร้างโลกให้งาม ขอท่านจงเข้าถึงซึ่งนิพพาน หมดสิ้นในเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ สมดังที่ท่านได้ร่วมเปลี่ยนเงื่อนปมแห่งคนทุกข์และสร้างเงื่อนไขแห่งความสงบเย็นของทั้งโลก อย่างสง่างาม....."

            มรณกรรมของประธานาธิบดีบอริส  เยลซิน ของรัสเซีย เป็นวาระ 3 ทศวรรษของการสิ้นสุดสงครามเย็นของโลกและการก้าวสู่ยุคก่อเกิดระเบียบโลกใหม่  เป็นโลกแห่งความหลากหลายซับซ้อน  พลังอำนาจทั้งของโลกและท้องถิ่น ก็เปลี่ยนไปจากอดีต

            เยลซิน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซียในบริบทใหม่ภายหลังการสลายระบอบสหพันธรัฐของสหภาพโซเวียต  เป็นประธานาธิบดีที่ได้มาจากการเลือกตั้งคนแรก  ซึ่งจัดว่าเป็นกิจการภายในของประเทศหนึ่ง  ทว่ามีนัยต่อการเปลี่ยนแปลงโลกไปมากมาย และจะลืมไม่ได้เลยถึงสิ่งสำคัญที่สุดของโลกที่ก่อเกิดก่อนหน้านั้น นั่นคือ บทบาทของ กระบวนการเปเรสตอยก้า ของ นายมิคาอิล  กอร์บาซอฟ  ผมไม่แม่นเรื่องนี้หรอก และไม่ได้ศึกษาจริงจัง  แต่จำได้ว่าสนใจเรื่องนี้ เพราะร่วมสมัยกับความเคลื่อนไหวหลายอย่างในสังคมไทย 

             ช่วงทศวรรษ 2525  ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเฉลิมฉลอง 200 ปีของยุครัตนโกสินทร์  สหภาพโซเวียต นำโดยมิคาอิล กอบาร์ชอฟ ก็ทำในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงรัสเซียและเปลี่ยนแปลงโลกที่สำคัญสองอย่างคือ การสลายความเป็นอาณาจักรแบบสหภาพของโซเวียต หรือการร้อยเป็นพวงของหลายรัฐ หลายประเทศ  หลายแว่นแคว้น  และการนำเสนอแนวนโยบายรัสเซียใหม่  ลดความเป็นประเทศสังคมนิยมแบบอุดมคติสู่การผสมผสาน อีกทั้งเปลี่ยนวิถีจากการแข่งขัน และเผชิญหน้ากันของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอเมริกา สู่การพัฒนาความร่วมมือและใช้วิถีเจรจากันมากขึ้น  ไม่เคยมีผู้นำของโลกคนใดและประเทศใดทำแบบกอร์บาร์ชอฟได้

            ต่อมา  เงื่อนไขใหม่ของกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม  ก็ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันของเยอรมันตะวันออกและตก เป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างร่วมปีติยินดี  แล้วก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั้งยุโรป  ทั้งการรวมประเทศ  การก่อเกิดระบบใหม่ทางการเงิน  ศูนย์กลางตลาดการค้า  ภาษา  การศึกษา  การเดินทาง ติดต่อสื่อสาร  แม้แต่บทบาทของอเมริกาต่อโลก  ญี่ปุ่น  จีน และกลุ่มประเทศต่างๆ ก็จัดระเบียบใหม่ในหลายกรอบ 

            โลกได้เปลี่ยนไปแล้วจากที่ก่อนหน้านั้น ตกอยู่ในภาวะสงครามเย็นและการเผชิญหน้าจนน่าเกรงว่าจะเปิดเงื่อนไขไปสู่สงครามโลกยุคใหม่  จิตใจผู้นำและสปิริตของสังคมที่นำการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างนี้  ปราศจากการรบรา และควรได้รับการน้อมรำลึกถึงเป็นที่สุดอยู่เสมอว่า โลกมีบทเรียนมาแล้วในการเปลี่ยนแปลงและหาทางออกที่ดีกว่า โดยไม่ใช้สงคราม  อาวุธ  และความรุนแรง แต่ใช้ปัญญา  ปรีชาญาณของผู้นำ  การลดอัตตา และการลดทิฏฐิมานะของสังคมโลก

           สังคมไทยมีสิ่งเป็นหมายเหตุทางสังคม ให้รำลึกถึงความร่วมสมัยกับเหตุการณ์สำคัญของโลกมากมาย เนื่องจากเป็นช่วงต่อเนื่องกับวาระการเฉลิมฉลองกรุงเทพ 200 ปี หรืองาน Bangkok Bicentanial  ผมจำได้บ้างในด้านที่ตนเองชอบ เป็นต้นว่า  การเปลี่ยนสนามตะกร้อกับลานเล่นบาสเกตบอล  หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  ซึ่งผมชอบไปนั่งเล่นตอนเย็นๆ หลังเลิกเรียน เป็นลานสาธารณะติดตั้งประติมากรรมโลหะรมดำรูปเทพในรัตนพิมาน สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ  

          การมอบสะพานน็อคดาวน์ คือสะพานไทย-เบลเยี่ยม เป็นเครื่องแสดงสันถวะไมตรีต่อราชอาณาจักรไทยและร่วมเฉลิมฉลองกับสังคมไทยของประเทศเบลเยี่ยม  ซึ่งเป็นของขวัญระหว่างประเทศที่เท่มาก เพราะโชว์ความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีในการจัดการจราจรไปในตัว  เป็นสะพานที่ทำมาจากที่อื่นแล้วก็ใช้เวลาติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในไม่กี่เดือน  การเปลี่ยนสีของตึกและอาคารทั้งหมดของสองฟากถนนราชดำเนิน  จากสีเปลือกมังคุดมาเป็นสีครีมดังที่เห็นในปัจจุบัน 

           นอกจากนี้ ก็มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบระเบียงคดและศาลาราย  ซึ่งเหล่าศิลปิน  ช่างเขียนไทย  ครูอาจารย์และเหล่านักเรียนศิลปะ ทั้งศิลปากร  เพาะช่าง  และช่างศิลป์  ระดมพลังและทุ่มเททั้งชีวิตอย่างไม่เคยมีมาก่อนในการจารึกจิตวิญญาณของสังคมไว้ในงานศิลปะและการช่างอันวิจิตรตระการตา และอีกมากมาย 

           ที่ในท้องถิ่น คืออำเภอพุทธมณฑล  จังหวัดนครปฐม ที่เป็นแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ผมทำงานอยู่ ก็มีหลายอย่างที่เป็นร่องรอยความเปลี่ยนแปลงของสังคมร่วมสมัย เป็นต้นว่า การก่อสร้างพุทธมณฑลสถานได้เริ่มเสร็จสิ้นในภาพรวม  หลังจากเริ่มต้นมานับแต่ทศวรรษ 2500   การตัดถนนสายใต้ใหม่  เปลี่ยนจากถนนสายใต้ที่ออกจากกรุงเทพฯมุ่งสู่ภาคใต้ไปทางวังมะนาว  มาเป็นถนนบรมราชชนนี  ผ่านไปสู่นครปฐม ราชบุรี และไปเชื่อมต่อเส้นทางเดิมที่วังมะนาว จังหวัดเพชรบุรี  ซึ่งทำให้โลกในท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

           การเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ  เคลื่อนมาเป็นลำดับจากยุคการสร้างความมั่นคงทางดินแดน  การทุ่มลงทุนภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมแบบเข้มข้นรวมศูนย์  มาสู่ยุทธศาสตร์ที่กระจายออก คือมุ่งเน้นการสร้างงานในชนบท  การกระจายโอกาสการพัฒนา และการเปิดประตูสู่ภูมิภาคอินโดจีนอย่างจริงจัง  ก็เริ่มในช่วงเวลาดังกล่าวนี้  เป็นการสร้างความมั่นคงทางสังคมผ่านการพัฒนาสังคม  เศรษฐกิจ  และคุณภาพชีวิตของประชาชน  ซึ่งถ้าหากเป็นในอดีต  ก็จัดว่าถึงเวลาแห่งการสร้างบ้านแปงเมืองนั่นเอง  การสลายขั้วอำนาจและลดการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจของโลก จึงเป็นผลดีทั้งต่อความสันติสุขของโลกและโอกาสการพัฒนาของท้องถิ่น

           ในจังหวัดนครปฐมนั้น  ทำให้ศูนย์กลางของเมืองที่สำคัญต่างๆหลายเมือง  กลายเป็นอยู่นอกเส้นทางสัญจรแบบใหม่ เช่น  เมืองนครชัยศรีเดิม ซึ่งก่อนหน้านั้น จัดว่าเป็นศูนย์กลางของมณฑลนครชัยศรีมาแต่ยุครัชกาลที่ห้า มีเมืองบริวารไปถึงราชบุรี  และสุพรรณบุรี แต่ต่อมาก็กลายเป็นเมืองนอกศูนย์กลางของสังคมท้องถิ่นไปแล้ว  อิทธิพลของสังคมโลก กับวิถีสังคมและชีวิตประจำวันในท้องถิ่น มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด  ส่งสัญญาณชัดว่าโลกได้ผันเข้าสู่บริบทใหม่ของความเปลี่ยนแปลง 

           ในท้องถิ่นเล็กลงมาอีก คือในอำเภอพุทธมณฑล  ข้างมหาวิทยาลัยมหิดล  ก็มีโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง  ชื่อว่า  โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชน์บวรนิเวศน์  ซึ่งถ้าอ่านชื่อโดยไม่คิดและรำลึกถึงความเคลื่อนไหวของสังคม  ก็จะไม่เห็นร่องรอยอะไร แต่ถ้าเห็นและคิด  ก็จะรู้ไปด้วยว่า  เป็นโรงเรียนที่อุปถัมภ์และสร้างขึ้นมาโดยมูลนิธิวัดบวรนิเวศน์ สิ่งแสดงความอนุโมทนาจากประมุขฝ่ายจิตใจ ต่อสังคมไทยและองค์พระมหากษัตริย์ พร้อมกับร่วมสมโภชน์เฉลิมฉลอง 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

            ที่ทำงานของผม  ก็เริ่มก่อตั้งและดำเนินการเมื่อช่วงทศวรรษ 2525 เช่นกัน โดยการสนับสนุนทุนความร่วมมือระหว่างประเทศ จากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านองค์การ JICA  ทำงานสาธารณสุขมูลฐาน และถ้าย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในช่วงนั้น ก็จะเห็นสองอย่างที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงไปแล้วของโลก คือ ทุนช่วยเหลือต่างประเทศของญี่ปุ่น  เริ่มมีบทบาทมากในหมู่ประเทศต่างๆทั่วโลก   เริ่มแซงอเมริกาและมากกว่ากองทุนอีกหลายกองทุนที่เคยมีบทบาทมาก่อนหน้านั้น 

           เครื่องมือและวิธีการเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระเบียบโลกใหม่ เปลี่ยนแปลงสู่เรื่องความร่วมมือกันพัฒนาที่เอื้อประโยชน์กันและกันทางเศรษฐกิจ  ความมั่นคงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม  สุขภาพ  การศึกษา  ศิลปะและวัฒนธรรม มากขึ้น  ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เปลี่ยนผ่านจากพลังอำนาจทางกำลังทหารและเครื่องมือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ  สู่การคลี่คลายด้วยตนเองของกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม  มุ่งความสมดุลทั้งการแข่งขันและความร่วมมือกัน ซับซ้อนและหลากหลาย  หลายระดับ

           ที่ทำงานของผม  เป็นหนึ่งในโครงการร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นกับกลุ่มประเทศอาเซียน  ซึ่งก่อนหน้านั้น  ญี่ปุ่นมีบทบาทในภูมิภาคนี้น้อยมาก  โครงการที่หน่วยงานผมทำในนามความร่วมมือของประเทศไทยกับญี่ปุ่น  จึงได้ร่วมเป็นสักขีพยานอย่างหนึ่งของความร่วมมือแรกๆ ที่ก่อเกิดภายใต้ระเบียบโลกใหม่ระหว่างสังคมไทย  อาเซียน และราชอาณาจักรญี่ปุ่น

           ด้านหนึ่ง  จึงสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า  โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย  และอีกด้านหนึ่ง  ก็ทำให้ได้ตระหนักว่า กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก  กำลังผงาดขึ้นในเวทีโลก  ในช่วงนั้น  ถึงกับทำให้ทั่วโลกจับตาดูกลุ่มประเทศนิกส์ (NICs : New Industrial Countries) อีกทั้งเราเองก็เคลิ้มๆ ถึงการจะเป็นเสือตัวที่หกของเอเชีย

           ตอนที่สร้างสำนักงานที่ทำงานผมนั้น  กลุ่มประเทศอาเซียนมีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ  แต่ท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดลในสมัยนั้น อันได้แก่  ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.ณัฐ  ภมรประวัติ (ถึงแก่กรรมแล้ว) ท่านกลับให้สถาบันทำเสาธงหน้าตึกอำนวยการ 10 เสา  เผื่อไว้รอการเพิ่มขึ้นของประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 5 ประเทศ ซึ่งต่อมาก็เป็นเช่นนั้นจริง บ่งบอกถึงวิสัยทัศน์ และความเฉียบแหลม  ที่สะท้อนอยู่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ  ตลอดจนเห็นพลวัตรของโลกในเงื่อนไขใหม่นี้อย่างทะลุปรุโปร่งของท่านศาสตราจารย์ณัฐอย่างยิ่ง 

           เมื่อเราปรับวิธีมองโลก  นั่งใคร่ครวญให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง  มรณกรรมของท่านประธานาธิบดีบอริส  เยลซิน ของรัสเซีย  พัฒนาการของสังคมโลก  ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และวิถีสังคมในท้องถิ่น  จึงร่วมอยู่ในกระแสธารเดียวกัน 

           ในอดีตเราอาจติดอยู่กับการตั้งคำถามแบบมีทางเลือกแต่เพียงว่าจะยึดถือแนวทางใดดีจึงจะดีที่สุด ระหว่างการอนุรักษ์วิถีท้องถิ่นและต่อต้านโลกาภิวัตน์  หรือจะก้าวกระโดดสู่กระแสโลกาภิวัตน์และเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นให้ทันสมัย ทว่า ปัจจุบัน ได้มุ่งสู่การเลือกสรรและผสมผสานอย่างมีเหตุผลทั้งวิถีท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ ซึ่งความเป็นจริงส่วนหนึ่ง ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการนำความเปลี่ยนแปลง ที่ก่อให้เกิดเงื่อนไขอย่างใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งเยลชินเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง

            จึงขอน้อมคารวะท่านเยลซิน มนุษย์ผู้หนึ่งในยุคสมัยของเรา แม้จะต่างชาติ ต่างเผ่าพันธ์กัน  ที่มิเพียงมีความดีงามในชีวิตของตนเองเท่านั้น แต่เกิดมาเพื่อสร้างโลกให้งาม ขอท่านจงเข้าถึงซึ่งนิพพาน หมดสิ้นในเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ สมดังที่ท่านได้ร่วมเปลี่ยนเงื่อนปมแห่งคนทุกข์และสร้างเงื่อนไขแห่งความสงบเย็นของทั้งโลก  อย่างสง่างาม. 

             

หมายเลขบันทึก: 93211เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2007 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 08:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปี ๒๕๕๑ ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ทั่วโลกตะลึงงันในความพร้อมจะเป็นผู้นำในหลายพรมแดนของจีนและวิถีทุนนิยมใหม่ของจีน ซึ่งเป็นทั้งตลาดการบริโภคทั่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความสามารถในการแข่งขันที่มากที่สุด และขยายการเติบโตที่รวดเร็วและรุนแรงที่สุด

ปลายปี ๒๕๕๑ อเมริกาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างแรงจากกลไกการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และขยายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกในลำดับต่อมา

เกิดปรากฏการณ์ใหม่ของอเมริกา โดยได้บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เป็นลูกครึ่งอเมริกันกับแอฟริกัน จึงเป็นผู้นำผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกา เติบโตด้วยครอบครัวอเมริกันอินโดนีเชีย ศึกษาและหล่อหลอมตนเองขึ้นจากสังคมอเมริกัน

ปี ๒๕๕๒ กลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน จัดประชุมสุดยอดผู้นำ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมีประชุมหารือคู่ขนานรัฐมนตรีอาเซียนอีกหลายกรอบ

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน AEAN Summit ยุติและเลื่อนออกไป เนื่องจากเกิดการประท้วงขัดขวางและเคลื่อนไหวทางการเมืองโดย นปช:แนวร่วมประชาชนเพื่อประธาธิปไตย ฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร ซึ่งเคลื่อนไหวมาจากนอกประเทศโดยการโฟนอินคุยกับผู้ชุมนุมสนับสนุน แพร่กระจายโดยเครือข่ายเคเบิ้ลทีวีและการถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียม ไปทั่วประเทศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท