สร้างสันติด้วยมือเรา : กุญแจสำคัญสำหรับการสื่อสารเพื่อสันติ


สร้างสันติด้วยมือเรา : กุญแจสำคัญสำหรับการสื่อสารเพื่อสันติ

เขียนโดย สร้างสันติด้วยมือเรา 

กุญแจสำคัญสำหรับการสื่อสารเพื่อสันติ (Non-violent communication หรือ NVC)

จิตสำนึก

     -    เปลี่ยนจากการตัดสินว่าถูกหรือผิด  เป็นการรับรู้ความต้องการ  (ไปพ้นความคิด ดี/เลว  ถูก/   ผิด  จับผิด  ทำโทษ  สมควรได้รับโทษ  ควร/ไม่ควร

     -    เปลี่ยนจากการให้คนอื่นมารับผิดชอบความรู้สึกของเรามาเป็นรับผิดชอบความรู้สึกของตนเอง

     -    NVC เป็นกระบวนการคิด  ไม่ใช่แค่คำพูด

     -    การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดจะทำให้ชีวิตเราและคนรอบข้างดีขึ้น

     -    NVC  เป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้มีสักษณะแบบที่เอื้อต่อการทำให้ความต้องการของทุกคนบรรลุผล

     -    ทุกๆ การสื่อสารไม่ว่าจะมีรูปแบบ  เนื้อหาเป็นเช่นใด  เป็นการแสดงออกถึงความต้องการด้วนกันทั้งสิ้น

ทักษะ

                - แยกแยะการสังเกต ออกจากการประเมิน การตัดสินและการตีความ

                - แยกแยะความรู้สึกออกจากความคิดและคำพูดที่มีนัยถึงคนอื่น

                - แยกแยะความต้องการออกจากกลยุทธ์

                - แยกแยะการขอร้องออกจากคำสั่งและคำขอที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เน้นการขอร้องที่ปฏิบัติได้จริง เป็นแง่บวก ภาษาที่ใช่สื่อถึงการกระทำที่สามารถทำได้ในขณะนี้

 

การแสดงออก

                - ทุกคำตัดสิน คำสั่ง และนิสัยการแสดงออกอื่น ๆ เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกความต้องการ นี่หมายรวมถึงการตัดสินที่เป็นแง่บวก

                - เราสามารถรับผิดชอบต่อปฏิกิริยาของเราได้โดยเชื่อมความรู้สึกของเราเข้ากับความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง

                - ความต้องการของเรามักไม่ได้รับการตอบสนองเพราะเราไม่ได้บอกตัวเราและผู้อื่นว่าเราต้องการอะไร หากคำขอร้องของเราชัดเจนมากขึ้นเท่าใด จะทำให้มีโอกาสได้รับการตอบสนองมากขึ้นเท่านั้น

 

รับผิดชอบความรู้สึกตัวเอง

                - เรามีนิสัยการคิดที่เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความรู้สึกของเรา

                - จริง ๆ แล้วความรู้สึกเกิดจากการประเมินว่า ความต้องการของเราได้รับการตอบสนองมากน้อยเพียงใด ทุก ๆ ความรู้สึกสัมพันธ์กับความต้องการที่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ การรับรู้ความต้องการเหล่านั้น เป็นกุญแจสำคัญในการรับผิดชอบความรู้สึกของเรา

                - การกล่าวหรือบอกการสังเกตเท่านั้นจะยังไม่เพียงพอต่อการรับผิดชอบ เพราะนั่นเป็นนัยว่าเราคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความรู้สึก

                - ขณะที่เรายังไม่สามารถระบุความต้องการที่ก่อให้เกิดความรู้สึกได้ เราสามารถรับผิดชอบโดยรับรู้และสื่อภาพหรือความคิดที่นำไปสู่ความรู้สึกและรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน

                - เราสามารถรับผิดชอบได้เต็มที่โดยเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการแสดงออกของเรา

ความเข้าใจ

                - ทุกๆ การสื่อสาร ไม่ว่ารูปแบบและเนื้อหาใด เป็นการแสดงถึงความรู้สึกและความต้องการ

                - ความเข้าใจไม่ใช่การบอกผู้อื่นว่าเขารู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร หรือไปวิเคราะห์ผู้อื่น แต่เป็นการคาดคะเน ความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น เพื่อช่วยก่อให้เกิดความเข้าใจและความสัมพันธ์

                - ประเด็นสำคัญของการแสดงความเข้าใจคือ ความสัมพันธ์ ไม่ใช่ความถูกต้องแม่นยำในการคาดคะเน ถ้าอีกฝ่ายไม่เห็นตามที่เราคาด เขาจะบอกเรา หลังจากนั้นเราสามารถคาดคะเนต่อตามข้อมูลที่เขาให้มา

                - ความรู้สึกของอีกฝ่ายเกิดจากว่าความต้องการของเขาได้รับการตอบสนองหรือไม่ ไม่ใช่เกิดจากเรา ในการคาดคะเนเราพยายามเลี่ยงที่จะโยงถึงตัวเรา เมื่อทำเช่นนี้จะทำให้เราและเขาเห็นต้นกำเนิดของความรู้สึกได้ชัดเจน และช่วยให้เราสามารถเปิดใจรับฟังความรู้สึกของเขา โดยไม่ต้องปกป้องตัวเองหรือโจมตีอีกฝ่าย

                - ในการคาดคะเนเพื่อให้ความเข้าใจผู้อื่น เราไม่ได้ปฏิบัติเพียงเพื่อให้ความต้องการความเข้าใจของอีกฝ่ายได้รับการตอบสนอง แต่ยังเพื่อความต้องการด้านความเข้าใจและความสัมพันธ์ของเราเองด้วย รวมทั้งเพื่อให้เราเห็นมนุษย์ทุกคนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (ที่มีความต้องการเป็นตัวกระตุ้น) การให้ความเข้าใจนั้นบ่อยครั้งเท่ากับว่าเป็นการตอบสนองความต้องการความเข้าใจของผู้อื่น และในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการความเข้าใจของเราด้วย

ตอบสารที่ฟังไม่เข้าหู

                - ไม่ว่าใครจะพูดอะไร เราสามารถมองหาความรู้สึกและความต้องการที่อยู่เบื้องหลังคำพูดของเขา

                - การระบุความรู้สึกและความต้องการ ทำให้เราเห็นอีกฝ่ายเป็นมนุษย์เช่นเรา ทั้งลดความรู้สึกแบ่งแยกที่อาจเกิดขึ้น

                - ไม่ว่าทักษะเราจะอยู่ในระดับไหน เรามีความสามารถที่จะกลับมาหาความรู้สึกและความต้องการ เมื่อฝึกปฏิบัติมากขึ้น เราจะสามารถพัฒนาความสามารถถึงขั้นที่จะทำให้ความต้องการด้านความรู้สึกสบายและความสัมพันธ์ได้รับการตอบสนองได้อย่างง่ายดาย

"ไม่"

                - คำว่าไม่ทุกคำ เป็นการบอกว่าใช่ ต่อสิ่งอื่น

                - การรับคำปฏิเสธของผู้อื่นอาจเห็นว่าเป็นดั่งการรับของขวัญ ได้ดังนี้ คือมันจะช่วยให้เราสามารถไว้ใจกันและกันที่จะกล่าวคำปฏิเสธได้ และถ้าเขากล่าวตอบรับคำขอของเรา เราสามารถมั่นใจได้ว่าเขาคิดเช่นนั้นจริง ๆ เราอาจรู้สึกเป็นสุขที่ความต้องการความจริงใจของเราบรรลุผล อาจรู้สึกผ่อนคลายที่ทำให้ทุกผ่ายบรรลุความต้องการ

                - เมื่อใดที่ใครก็ตามปฏิบัติต่อเราด้วยความรู้สึกผิด ความกลัว ความละอาย ทุกๆ ฝ่ายจะได้รับผลกระทบไม่ช้าก็เร็ว

                - คนมักจะไม่ขอร้อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะคิดว่านี่เป็นคำสั่งและจะไม่ปฏิเสธ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะปฏิเสธและเราต้องยอมรับคำปฏิเสธนั้น

                - การเรียนรู้ที่จะปฏิเสธและรับการปฏิเสธ สามารถทำให้เราสื่อสารกับผู้อื่น เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย ได้อย่างเต็มที่และแท้จริง

รับฟังการถูกปฏิเสธ

                - คำปฏิเสธเป็นดั่งคำเชิญให้มีการสื่อสารมากขึ้น

                - เราสื่อสารต่อไปได้โดยเชื่อมโยงว่าความต้องการใดได้รับการตอบสนองบ้างเมื่อเขากล่าวปฏิเสธ อีกวิธีก็คือเวลาที่อีกฝ่ายกล่าวปฏิเสธคำขอร้องของเรา คนนั้นเขาตอบรับความต้องการของเขาข้อใดบ้าง

                - นี่เป็นกุญแจหลักที่จะช่วยให้เราสื่อสารกับอีกฝ่ายต่อไปได้ เช่น ถ้าคน ๆ หนึ่งปฏิเสธคำขอของเราที่จะพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาอาจจะตอบรับกับความต้องการของเขาเรื่องสิทธิส่วนตัว หรืออาจเป็นการต้องการมีพื้นที่ส่วนตัว ความเคารพ ความสบายใจของเขา การเชื่อมโยงกับความต้องการและเข้าใจอีกฝ่ายสามารถเปิดประตูแห่งการสื่อสารได้มากขึ้น

 

กล่าวปฏิเสธ

      - การกล่าวปฏิเสธใน NVC เป็นไปได้ 3 ขั้นตอน

                1. ฟังความต้องการของอีกฝ่าย ที่แสดงออกมาทางคำพูดของเขา

                2. ฟังความต้องการของตัวเอง ที่ขัดขวางไม่ให้เราสามารถตอบรับได้

                3. เสนอคำขอร้องที่สามารถช่วยให้ทั้งความต้องการของเราและเขาได้รับการตอบสนอง

        - เราสามารถทำให้ทุกฝ่ายตอบตกลงได้ด้วยการยึดหลักการตอบสนองความต้องการของทุกคน ไม่ใช่แค่ของเราหรือของผู้อื่น เมื่อคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรารู้สึกว่าเรายึดหลักนี้ พวกเขาจะเปิดรับกับความต้องการของเรามากขึ้น

แสดงความโกรธ

                - ความโกรธมักเกี่ยวข้องกับการตัดสิน การสังเกตดูการตัดสินจะช่วยเราให้เห็นว่าเรากำลังโทษผู้อื่นว่าเขาทำให้เรารู้สึกอย่างไร แทนที่จะรับผิดชอบความรู้สึกของเรา

                - ความคิดที่ก่อให้เกิดความโกรธมักจะเกี่ยวกับความคิดว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ถูก/ผิด ข้อบกพร่อง ฯลฯ

                - แทนที่จะตัดสินความโกรธ เราสามารถเห็นมันเป็นสัญญาณเตือนที่ช่วยให้เรารู้ว่า เรากำลังเชื่อมโยงกับการตัดสินมากกว่าการรับรู้ความต้องการของเรา จากนั้นพยายามกลับมาเชื่อมโยงสู่ความรู้สึกและความต้องการของเรา

                - NVC ไม่เกี่ยวกับ "การทำตัวเป็นคนดีสุภาพเรียบร้อย" หรือหลีกเลี่ยงความรู้สึกเร่าร้อน เราสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกเร่าร้อน แต่เราพยายามรับผิดชอบความรู้สึกนั้น โดยการเชื่อมโยงกับความต้องการของเรา

รับความโกรธ

                - เมื่อคนแสดงความโกรธต่อเรา อาจเป็นเรื่องท้าทายที่จะแยกการกระทำของเราออกจากความโกรธของอีกฝ่าย สิ่งที่จะช่วยเราให้เป็นอิสระได้คือ ความสามารถที่จะสะท้อนกลับความต้องการของอีกฝ่าย

                - เพื่อช่วยให้อีกฝ่ายเชื่อมโยงกับความต้องการของเขา และเปลี่ยนความคิด ถูก/ผิด เราสามารถเดาความรู้สึกที่นอกเหนือจากความโกรธ ความรู้สึกเหล่านั้นคือความรู้สึกที่เราคาดว่าเกี่ยวข้องกับความต้องการของเขา แทนที่จะไปติดอยู่กับความคิดของเขา

ความรู้สึกขอบคุณ

                - ความรู้สึกแง่บวกเกิดจากความต้องการที่ได้รับการตอบสนอง

                - การตัดสินที่เป็นแง่บวก อาจก่อให้เกิดความรู้สึกดี เพราะส่วนมากแล้วคนเราติดนิสัยชอบคำชม แต่ก็เช่นเดียวกับการตัดสินแง่ลบ มันตอกย้ำความคิด ถูก/ผิด ดี/เลว และทำให้เราคงอยู่ในตำแหน่งที่ไปตัดสินผู้อื่น

                - เมื่อเราแปลการตัดสินแง่บวกมาเป็น NVC เราจะใช้จิตสำนึกแบบอำนาจร่วม

                - เมื่อเรามีความสุขหรือรู้สึกขอบคุณอะไรบางอย่าง การบอกว่านั่นเป็นเพราะความต้องการของเราได้รับการตอบสนองบ้าง อาจจะเป็นสิ่งที่มีพลังและทำให้ทั้งเราและผู้อื่นพึงพอใจ

                - ด้วยการบอกสิ่งที่เราสังเกต บอกความรู้สึกและความต้องการแทนคำชมเชย เราจะช่วยให้ความต้องการของผู้อื่นในด้านแรงจูงใจและการต้องการให้ความช่วยเหลือได้รับการตอบสนอง

 

10 สิ่งที่เราสามารถทำเพื่อให้เกิดสันติภายในตัวเอง  สันติระหว่างเรากับผู้อื่น และถึงสันติภายในองค์กร

          1. ในแต่ละวัน ขอให้จัดเวลาสำหรับนั่งไตร่ตรองเงียบๆ ตามลำพังว่า

                เราอยากจะรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง

                และอยากจะมีความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร

          2. ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์ทุกคนมีความต้องการแบบเดียวกัน

          3. ขอให้พิจารณาดูว่า เราใส่ใจกับการที่ "คนอื่นได้ตามที่ต้องการ" เท่ากับ

"ตัวเราเองได้ตามที่เราต้องการ" หรือไม่

           4. เมื่อขอให้ใครทำอะไร คิดดูก่อนว่า เรากำลังจะขอร้องหรือออกคำสั่ง

           5. แทนที่จะพูดว่า เราไม่ต้องการให้เขาทำอะไร

                ขอให้พูดว่า เราต้องการให้เขาทำอะไร

           6. แทนที่จะพูดว่า เราต้องการให้เขาเป็นอย่างไร

                ขอให้พูดว่า เราอยากให้เขาทำอะไร

                ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยให้เขาเป็นแบบที่เราอยากให้เป็น

           7. ก่อนที่จะตอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของใคร

                ขอให้พยายามที่จะรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของเขา

             8. แทนที่จะพูดว่า "ไม่"

                ขอให้พูดว่า เราต้องการอะไร จึงทำให้เราพูดว่า "ตกลง" ไม่ได้

            9. ถ้าเรากำลังอารมณ์เสีย ลองคิดดูสิว่า เราไม่ได้อะไรตามที่เราต้องการ

และเราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้เป็นไปตามที่เราต้องการ

แทนที่จะคิดว่า เราหรือคนอื่นทำอะไรผิด

            10. แทนที่จะชมเชยเขาที่ทำอะไรบางอย่างซึ่งเราพอใจ

                ขอให้แสดงความขอบคุณ โดยบอกกับเขาว่า

                สิ่งที่เขาทำนั้น ทำให้เราได้อะไรตามที่เราต้องการ

( ที่มา : จากบทความเรื่อง 10 things we can do  to contribute to internal, interpersonal, and organizational peace จาก www.cnvc.org (อ้างถึงในเอกสารประกอบการอบรม)

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 93024เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2007 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท