beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

คุณครูภาษาไทย ที่ผมชอบวิธีการสอน


สิ่งที่ผมมีความประทับใจคือวิธีสอนภาษาไทยของแกครับ

      บันทึกนี้เคยเขียนไว้แล้วที่นี่ (มีคนเข้าไปอ่าน 100 ครั้งพอดี มีข้อคิดเห็น 2 ครั้ง)  พอดีเห็นว่าเป็นเรื่องราวที่ควรจะนำมารวมไว้ที่บล็อกนี้ เพราะว่าแสดงให้เห็นถึงวิธีการสอนอย่างหนึ่งที่ทำให้นักเรียนสนใจ และจำได้ไม่มีวันลืม แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 30 กว่าปีแล้วก็ตาม เชิญติดตามอ่านกันได้ครับ (สำหรับคนที่ยังไม่เคยได้อ่าน)...

       เมื่อตอนผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ข.     มีคุณครูท่านหนึ่ง ในโรงเรียนเอกชน (โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา) แถวดินแดง กรุงเทพฯ ชื่อ คุณครูยงยุทธ แสงดานุช มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ในสมัยนั้น แกเป็นคนสอนวิชาภาษาไทยให้ห้องของผม

      ที่ผมจำได้แม่นคือผมเคยถูกแกตีด้วยก้านไม้สน ความผิดไม่มีอะไรมาก คือใต้โต๊ะนักเรียนของผม มันดันมีเศษกระดาษอยู่ชิ้นหนึ่ง เลยถูกทำโทษ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมจะเล่าต่อไป สิ่งที่ผมมีความประทับใจคือวิธีสอนภาษาไทยของแกครับ

       คือ ในชั่วโมงภาษาไทย แกจะแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม ตามแถวที่นั่งครับ ผมจำได้ว่ากลุ่มของผมอยู่ทางซ้ายมือ (ของผมเมื่อหันหน้าเข้าหากระดาน) กลุ่มคู่แข่งก็ต้องอยู่ขวามือของผม ห้องหนึ่งมีนักเรียนเกือบ 50 คน ดังนั้นกลุ่มหนึ่งจึงมี 15-16 คน เป็นเด็กผู้ชายล้วนนะครับ เพราะสมัยนั้น โรงเรียนมี 2 ฝั่งถนน เราเรียกว่า "ฝั่งหญิง" กับ "ฝั่งชาย" (ฝั่งหญิง คือ โรงเรียนสตรีพร้อมพรรณวิทยา ฝั่งชาย คือ โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา)  ตอนเรียน ประถมหนึ่ง-สามสอง จะเรียนแบบสหศึกษา พอขึ้นประถมที่สี่สามแล้ว เด็กผู้ชายต้องแยกไปเรียนอีกฝั่งหนึ่ง

      พอถึงชั่วโมงภาษาไทย คุณครูยงยุทธ ก็จะเข้ามาสอน วิธีสอนก็ จะให้เด็ก 3 กลุ่ม แข่งกันเขียนคำศัพท์ภาษาไทยบนกระดาน โดยให้ตัวแทนกลุ่ม เรียงจากหน้าห้องไปหลังห้องออกมาทีละคน  สามกลุ่ม ก็ออกมาครั้งละ 3 คน  หันหน้าเข้าหากระดานดำ ไม่ดูกัน หยิบชอล์กไว้คนละแท่ง แล้วแกก็จะบอกความหมายของคำศัพท์ในพจนานุกรมภาษาไทย เสร็จแล้วจึงจะบอกคำศัพท์ให้เขียน (เขียนให้ถูก)  

      อย่างเช่น คำว่า "บัณเฑาะว์" (อ่านว่าบันเดาะ) แกก็จะบอกความหมายก่อนว่า "กลองเล็กชนิดหนึ่งมีหนังสองหน้าตรงกลางคอด ริมทั้งสองใหญ่ พราหมณ์ใช้ในพิธี ต่างๆ ขับโดยใช้ลูกตุ้มกระทบหน้ากลองทั้งสองข้าง ; สีมามีสัณฐานดุจบัณเฑาะว์  คือ  มีลักษณะทรวดทรงเหมือน บัณเฑาะว์"  พอบอกความหมายแล้ว ก็จะออกเสียงว่า "บันเดาะ" แล้วก็ให้เขียนแข่งกัน

      บังเอิญ คำนี้ผมต้องเป็นคนเขียน แต่จำไม่ได้ว่าผมเขียนถูกหรือผิด แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่ว่าวิธีสอนแบบนี้ทำให้สนุกเพราะว่ามีการแข่งขันกัน พอเขียนแต่ละคำเสร็จแล้วก็จะเฉลยคำที่ถูก ใครเขียนถูกก็ให้คะแนนกับกลุ่มไป นี้สอนให้ทำงานเป็นทีม (ต้องมีการวางแผนกัน แต่สมัยนั้นยังไม่ค่อยรู้จักการวางแผน)

       แล้วก็ให้ทุกคนในห้อง"คัดลอก" คำที่ถูกไว้แล้วให้เอาไป"คัดไทย"มาส่ง (ได้ทั้งเขียนไทยและคัดไทย)

        ตอนที่ผมมาสอนที่ มน. ผมก็เอา"วิธีการ" ที่คล้าย ๆ กันแบบนี้มาใช้สอนเหมือนกัน

     เพิ่มเติม (เมื่อ 17 มิ.ย.56) ตอนแบ่งกลุ่ม ครูให้มีการตั้งชื่อกลุ่มด้วย พวกนักเรียนในห้องซึ่งเคยเรียนหนังสือภาษาไทยเมื่อตอนชั้นประถมปีที่ ๔ มีการคัดเอาเรื่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนสิ้นบุญขงเบ้งมาให้ได้อ่านกัน ผมจำได้ว่าตอนปิดเทอมชั้นป.๔ นั้น ผมอ่านหนังสือสามก๊กฉบับเต็ม ๒ เล่มใหญ่ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งพี่ชายคนที่ ๔ ซื้อมาจากงานกาชาด อ่านรวดเดียวจบใช้เวลาประมาณ ๑๐ วัน

     เพื่อน ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งตั้งชื่อว่า "ขงเบ้ง" และอีกกลุ่มหนึ่งตั้งชื่อว่า "สุมาอี้" ซึ่งเป็นคู่ปรับกับขงเบ้ง ผมซึ่งตอนนั้นเพื่อนๆ คงอุปโลกน์ให้ผมเป็นหัวหน้า ต้องตั้งชื่อแบบ "ตัดไม้ข่มนาม" กลุ่มอื่นๆ ด้วย จึงตั้งชื่อกลุ่มของพวกผมว่า "สุมาเต๊กโช" พอตั้งชื่อนี้เพื่อนหลายคนไม่เคยได้ยินชื่อ เพราะว่า เคยได้ยินแต่ชื่อ ขงเบ้ง และสุมาอี้ ผมต้องอธิบายว่า สุมาเต๊กโช นั้นเป็นอาจารย์ของขงเบ้ง ด้งนั้นต้องเก่งกว่ากลุ่มของขงเบ้ง และสุมาอี้แน่ๆ

    ผลสุดท้าย หลังจากแข่งขันกันมาประมาณ 4 สัปดาห์ กลุ่ม สุมาเต๊กโช ได้คะแนนมาเป็นอันดับ๑ ได้กิน "ไอติม" ซึ่งกลุ่มแพ้ที่สาม ต้องควักเงินทั้งกลุ่มเลี้ยงพวกเรา กลุ่ม "สุมาเต๊กโช"

    

หมายเลขบันทึก: 92665เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 01:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
แรกเกิดเราฝึกด้วย      การฟัง
กาลต่อหลังจากฟัง      พูดได้
พูดฟังเก่งพอยัง         เขียนอ่าน ตามมา
พ่อแม่คุณครูไซร้        ศิษย์ไหว้ กราบครู
  • ขอเอาไปรวมไว้ที่เดียวกันนะครับ
  • ขอเอาไปรวมไว้ที่เดียวกันนะครับ
  • ที่ไหน? อย่างไรครับ?
  • ขอบคุณและโชคดีครับ
  • อยู่ที่นี่ครับท่านทนัน..
  • ขอบคุณมากครับ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เรียนกับคุณครูยงยุทธ แสงดานุช จำได้ว่าครั้งแรกที่เรียนกับท่านจะเป็นวิชาศาสนาพุทธ โดนเหมือนกันครับไม้เรียว เป็นครูที่ตีเจ็บมากๆ ข้อมือท่านดีมาก เงื้อไม่ไกลให้เสียว แต่พอมันถึงที่หมายรับรองประทับใจครับ ^^ วันนี้นึกถึงครูขึ้นมาเลยพิมพ์ชื่อก็เลยได้เห็นกระทู้นี้ครับ รู้สึกถึงความประทับใจในวัยเด็ก ได้ดีทุกวันนี้ก็เพราะครูท่านนี้และหลายๆท่านที่ส่งผมถึงฝั่ง ขอบคุณครับ

  • ดีใจที่น้องสายัณห์มาเล่าเรื่องให้อ่าน..
  • ถ้าจำไม่ผิดรหัสของผมมันเป็นเลข 3 ตัวเท่านั้น
  • ผมจบ ป ๗ รุ่นสุดท้าย แล้วไปต่อ ม.ศ.๑
  • รุ่นต่อมา เรียนแค่ ป ๖ แล้วไปต่อ ม.๑
  • โรงเรียนที่ผมไปต่อชั้นมัธยม ต้องสอนทั้ง ม.๑ และ ม.ศ.๑ (คุณครูคงยุ่งน่าดูเพราะสอนทั้งสองหลักสูตร)

อาจารย์ค่ะ สบายดีมัยค่ะ หนูมาสอนเด็กแล้วเข้าใจความรู้สึกครูทุกคนเลยค่ะ

คิดถึงที่ตึก BIO และอาจารย์ทุกท่านเลยค่ะ ที่มอบความรู้และความอบอุ่นให้

รักภาควิชาชีววิทยามากค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

  • ยินดีครับ ที่แวะกลับมาทักทายกัน
  • update blog แล้ว link มาให้อ่านกันบ้าง
  • คิดถึงศิษย์ทุกคนครับ

วันนี้ได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของอาจารย์ ดิฉันเป็นครูสอนภาษาไทย ระดับชั้น ม.ต้นค่ะ ได้อ่านบทความเรื่องนี้แล้วได้แนวคิดและจะลองนำไปทดลองสอนดูนะคะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท