น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่การส่งเสริมสุขภาพคนไทย (7) ... ความมีเหตุมีผล


ถ้าเราย้อนกลับไปดูนิยาม ท่านจะเห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการดำเนินชิวิต เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากจะเห็น คือ อยากเห็นผลที่เกิดกับตัวคน

 

ตอนนี้เรามาดูหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงกันนะคะ ในห่วงแรก ความมีเหตุมีผล

พอเรารู้ว่าอะไร ใช่ ไม่ใช่ ไม่แน่ใจ และเราก็รู้แล้วถึงหลักคิด 3 ห่วง 2 เงื่อนไขนี้แล้ว ... ปัญหาอันหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของ ความมีเหตุมีผล ความพอประมาณ ภูมิคุ้มกัน และเราหยุดแค่นี้ บางทีเราก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนัก ว่าเราจะเอาไปใช้อย่างไรดี ผมจึงขออนุญาตนำแต่ละเรื่องเข้ามาดูในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยจะไล่ตามลำดับ ที่เรียงไว้นี้

เวลาที่เราพูดเรื่องความมีเหตุมีผล เราจะนึกถึงอะไร และอาจไปใช้ในหน้าที่การงานอย่างไรบ้าง

  • ความมีเหตุมีผล ... มีความหมายถึง เรื่องของการตัดสินใจเกี่ยวกับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยการพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (ดูเหตุ) ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
  • … เพราะฉะนั้น ความหมายตรงนี้เองก็คือว่า คนที่ทำเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เวลาพูดถึงหลักความมีเหตุมีผล จะต้องเป็นคนที่มีทักษะในการวิเคราะห์ความเป็นเหตุเป็นผลที่ดี สามารถมองสถานการณ์ และมองทะลุว่า เหตุอะไร นำไปสู่ผลอะไร บุคคลจะเป็นนักเศรษฐกิจพอเพียงที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จ
  • ตัวอย่างเล็กๆ น้อย เรื่องสุขภาพ ...
  • ถามคำถามอันแรกเลย ก็คือว่า ถ้าจะทำให้คนไทยมีสุขภาพดีนี้ จะมีปัจจัยอะไร ... หรือคนไทยสุขภาพดีนี้เป็นผล ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือเราอยากจะเห็น แต่ปัจจัยคือ ทำอย่างไร คนไทยจึงจะมีสุขภาพดี
  • เพราะว่าการที่คนไทยจะมีสุขภาพดี อาจจะมีหลายสาเหตุ เรารู้หรือยังว่า สาเหตุเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เพราะว่าถ้าเรารู้ เราก็จะได้เน้นได้ ทุ่มงบประมาณไปยังสาเหตุเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าเรายังไม่ทราบสาเหตุ เราก็ยังต้องคลำหาสาเหตุไปเรื่อยๆ ลองผิดลองถูก เอางบไปทำโครงการโน้น โครงการนี้ ท้ายสุด ผลก็คือ สุขภาพของคนดีขึ้น จริงหรือเปล่า หรือดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพไหม ก็ไม่แน่ใจครับ
  • เพราะฉะนั้นภาคแรกของความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องเป็นนักวิเคราะห์ เป็นเหตุเป็นผลที่ดี อาจจะยกตัวอย่าง คนไทยสุขภาพดี อาจจะเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย (1) เท่าที่ผมนึก (ต้องไปทดสอบดูนะครับ) ฐานะต้องดีพอสมควร ถ้าคนจนจริงๆ นี่ ผมว่าสุขภาพอาจจะแย่ ความสามารถในการมีเงินพอที่จะซื้ออาหารที่มีประโยชน์ ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง (2) ความรู้ความเข้าใจ ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง (3) ก็น่าจะมีปัจจัยอื่นเกี่ยวกับลักษณะการทำงาน คนที่ทำงาน กินอยู่ไม่เป็นเวลาก็อาจจะมีผล (4) อาจมีเรื่องวัฒนธรรม วัฒนธรรมบางอย่างอาจนำไปสู่การบริโภคที่ผิดหลักโภชนาการก็เป็นได้
  • เพราะฉะนั้นเราเห็นว่า การที่คนจะมีสุขภาพดี จะมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องครับ
  • สำหรับสังคมไทย ความสำคัญอาจจะอยู่ที่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์จะต้องศึกษา และจะได้การลงทุนไปถูกจุด
  • สาเหตุที่เรามาดูเรื่องความมีเหตุมีผล คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อย่างตัวอย่างเมื่อสักครู่ เพราะถ้าเรารู้สาเหตุปั๊บ กิจกรรมก็จะตรงไปที่จุดนั้น
  • บางทีเราจะอธิบายเรื่องนี้ให้ภาคเอกชนทำ สำหรับภาคเอกชน เขาก็จะเข้าใจง่ายขึ้น เพราะว่า หลายๆ ครั้งภาคเอกชนได้นำเอาเรื่องความีเหตุมีผลไปใช้อยู่ตลอดเวลาในการประกอบธุรกิจ
  • ผมขอยกตัวอย่างสัก 1 เรื่อง ... ถ้าเราอยากทำธุรกิจเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้ามารับประทานอาหารในร้าน ความเหตุมีผลก็คือว่า มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้ลูกค้าเข้าร้านเรา คนที่วิเคราะห์ความเป็นเหตุเป็นผลได้เก่ง มองทะลุออกได้ว่า ลูกค้าคนไทยต้องการบริการลักษณะการให้บริการแบบไหน และสามารถลงทุนในสิ่งเหล่านั้นได้ เขาก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ร้านอาหารอีกร้านหนึ่งอยากจะดึงดูดลูกค้า แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้ว่า สิ่งอะไรที่ลูกค้าต้องการ เมื่อเขาลงทุนแบบหนึ่ง ไม่ถูกต้อง การลงทุนก็เป็นการสิ้นเปลือง คนก็ยังไม่เข้าร้าน
  • ยกตัวอย่าง ร้าน MK สุกี้ ผมคิดว่า เขาประสบความสำเร็จดี เพราะส่วนหนึ่งผมคิดว่า เขามองออกว่า ลูกค้าต้องการอะไร เขารู้ว่าอะไรที่จะเป็นเหตุที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้าน อาจจะมี 2-3 ปัจจัยที่เขาวิเคราะห์ออกได้ อย่างเช่น ความสะอาดของอาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำสู่ว่า ถ้าร้านอาหารสะอาด ลูกค้าก็จะสนับสนุน สอง อาจจะเป็นความรวดเร็วของการให้บริการ และสาม อาจเป็นเรื่องไมตรีจิตที่พนักงานมีต่อลูกค้า เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดบริษัทวิเคราะห์ 3 ปัจจัยนี้ได้ และนำไปปรับปรุง ไปลงทุนในตัวบุคลากร ตัวความสะอาดของอาหาร ความรวดเร็วในการให้บริการ มันก็ตรงใจลูกค้า ลูกค้าก็เข้าร้าน เพราะฉะนั้น ความสามารถในการวิเคราะห์ การเป็นเหตุเป็นผล ก็เป็นคุณสมบัติที่จำเป็น สำหรับคนที่จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ และเวลาเราเอาไปใช้ก็จะเกิดว่า เมื่อเราศึกษาความเป็นเหตุเป็นผล ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ เพราะเราทราบว่า ต้นตอปัญหาอยู่ที่ไหน เราแก้ถูกจุด ผลผลิตขององค์กร คุณภาพการให้บริการก็ดีขึ้น ยกตัวอย่างร้าน MK เมื่อสักครู่ ถ้าเราสามารถเก็บข้อมูลลูกค้า ทำแบบสอบถามลูกค้าตลอดเวลา ว่าต้องการอะไร และนำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพ องค์กรของเราก็จะดีขึ้น บางครั้งเราสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ลดระยะเวลาการทำงานได้ ... ถามว่าลดได้อย่างไร ก็เป็นเพราะว่าเรารู้ว่า อะไรเป็นตัวปัจจัย เป็นปัญหาหลักในการทำงานล่าช้า พอรู้ปัจจัย แก้ปัญหาถูกจุด ก็ไม่สิ้นเปลืองบประมาณ สังคมก็ได้รับประโยชน์
  • นี่เป็นการมองเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของความประหยัด
  • เมื่อตอนต้นๆ เราพูดถึงการออม การประหยัด แต่จริงๆ แล้ว หัวใจไม่ได้อยู่ที่การออม การประหยัด เพราะว่า การออม การประหยัดเป็นผลของการที่เราใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินกิจกรรม เมื่อเราแก้ปัญหาถูกจุด เราก็สามารถประหยัดทรัพยากรของหน่วยงาน ทำให้หน่วยงานประหยัดทรัพยากร ก็จะเป็นประโยชน์
  • เครื่องมือเช่น การวิเคราะห์ความคุ้มค่า การใช้ Log frame, Balanced Scorecard พวกนี้เป็นเครื่องมือที่เอามาใช้ประกอบในการดำเนินกิจกรรมได้ และสอดคล้องกับความมีเหตุมีผลครับ
  • สรุป ... เพื่อให้เห็นภาพเล็กๆ ก่อนนะครับ ว่า เศรษฐกิจพอเพียง สมมติว่า เราจะเอาเข้ามาในกรมอนามัย เรื่อง ความมีเหตุมีผล เอาเข้ามาอย่างไร เอามาใช้อย่างไร
  • ถ้าจะดูอย่างผิวเผิน แบบง่ายๆ คือ ลักษณะการทำงานของกรมฯ จะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลในการตัดสินใจมากขึ้น เดิมอาจจะทำอยู่แล้ว แต่ว่า ทำมากขึ้นได้ก็ดี ... แต่ถ้าถามว่า ที่ใจผมอยากจะเห็นมากกว่านี่ ไม่ได้อยากจะเห็นในตัวกิจกรรมของกรมฯ ที่มีการวิเคราะห์มากขึ้น แต่ผมอยากเห็นผลในรูปที่ว่า ข้าราชการของกรมฯ มีวิธีดำเนินชีวิต หรือการคิดการอ่านอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น ผมอยากเห็นผลที่เกิดขึ้นกับตัวคน มากกว่าที่จะไปเกิดขึ้นกับกระบวนการทำงานเท่านั้น
  • ถ้าเราย้อนกลับไปดูนิยาม ท่านจะเห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการดำเนินชิวิต เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากจะเห็น คือ อยากเห็นผลที่เกิดกับตัวคน ในองค์กร
  • ว่า เมื่อไร เจ้านายมอบหมายว่า ไปหาวิธีให้คนเลิกบุหรี่ซิ ถ้าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ผมจะถามคำถามคัวเองเลยว่า มีวิธีการอะไรบ้าง ที่จะทำให้คนเลิกบุหรี่ได้ คือ ไปลองศึกษางานวิจัย อะไรก็ตามที่ทำแล้วคนจะเลิกบุหรี่ อาจจะศึกษางานวิจัย เอาข้อมูลมาดูความเป็นเหตุเป็นผลเกิน เมื่อเข้าใจถ่องแท้แล้ว ถึงจะเริ่มกิจกรรม มีค่าใช้จ่าย จัดทำงบประมาณ ที่จะแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ไป
  • อันแรกนี้คือ หัดเป็นคนที่มองประเด็นด้วยความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นกว่าในอดีต

นี่ก็คือ ห่วงแรกของหลักเศรษฐกิจพอเพียงละค่ะ

รวมเรื่อง น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่การส่งเสริมสุขภาพคนไทย

 

หมายเลขบันทึก: 92598เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 06:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท