GotoKnow

Discharge Planning : ตอน Life Style

นาง จุฑารัตน์ เกียรติศิริโรจน์
เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2550 13:19 น. ()
แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2555 21:39 น. ()

พี่จุดขอเล่าเรื่อง   Discharge  Planning  ที่บรรยายโดย  คุณสุห้วง  พันธ์ถาวรวงศ์    ต่อนะคะ  เธอให้ชื่อตอนนี้ว่า   Discharge  Planning  ตอน  Life  Style  ค่ะ 

คนไข้รายนี้มา   รพ.  ด้วยเรื่อง  อุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซต์ล้ม  เป็นผลทำให้คนไข้ถูกเจาะคอและใส่เครื่องช่วยหายใจ  รักษาอยู่ที่ รพ. นานกว่า  2  เ ดือนแล้ว  จากระดับคะแนนโคม่า  ที่ต่ำมาก       จนเดี๋ยวนี้ค่าคะแนนโคม่า  เพิ่มมากขึ้น    แต่ปรากฎว่าคนไข้ยังมีปัญหาเรื่องหย่าเครื่องช่วยหายใจไม่ได้เลย

 คนไข้ ผอม ลงมาก  น้ำหนักจาก 27 กก. เหลือแค่ 22 กก.  ช่วงแรกที่ให้อาหารทางสายยางก็ไม่มีปัญหาอะไร   แต่มาช่วงหลังๆ  เมื่อให้อาหาร จะอ๊วก ตลอดเลย  ผอมมากจนเห็นหนังหุ้มซี่โครง  ในการดูแลรักษาคนไข้  เราได้ใช้กระบวนการ  C3 THER  ร่วมด้วยช่วยกันในทีมสาขาวิชาชีพ  เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ช่วยกันดูแลคนไข้ให้ถึงที่สุด  ดังเช่นคนไข้รายนี้             

   =  ช่วงแรกหมอสั่งให้    pan  300 ซีซี x 4 มื้อ     แต่พี่สุห้วงเสนอความคิดเห็นว่า                         ปริมาณ   300 ซีซี / มื้อ   จะมากเกินไปสำหรับคนไข้เด็กที่มีน้ำหนัก  27  กก.  หรือไม่          

      =  หมอจึงลดปริมาณนมต่อมื้อลง  แต่เพิ่มจำนวนมื้อมากขึ้นแทนเป็น pan 200 ซีซี x 6                  มื้อ   แต่คนไข้ก็ยังอ๊วก……อีก  !!!           

     =  พี่สุห้วงจึงปรึกษาหมอว่า  เป็นไปได้มั้ยที่คนไข้ อาจจะแพ้นม……..??             

   =  หมอจึงลองเปลี่ยน  จาก   นม pan เป็น Blendelige  ให้   แต่คนไข้ก็ยัง อ๊วก…… อีก  !!!

  •    พี่สุห้วงจึงปรึกษาหมออีกว่า    เราน่าจะลองเจาะเลือด เพื่อดู  อิเล็คโตรไลท์  หน่อยจะดี   หรือไม่ ?
  •  หมอเห็นด้วย  จึงเจาะเลือดดูค่าอิเล็คโตรไลท์  ปรากฏว่า ค่า K (โปตัสเซียม) ได้ 3.1  หมอจึงสั่งให้โปตัสเซียมคลอไรด์  15 ซีซี x 3 มื้อ  คนไข้ก็ยังอ๊วก…….อีก !!!
  • หมอจึงสั่งฉีดยาแก้ คลื่นไส้   อาเจียน     เข้าทางเส้นเลือด      แต่มันก็ดีช่วงหลังได้รับยาใหม่ ๆ  พอให้อาหารทางสายยาง  คนไข้ก็อ๊วก…….อีก !!!
  • พี่สุห้วงก็นั่งนึกในใจ  ได้พยายาม แก้ปัญหาให้คนไข้มา   5 ครั้งแล้ว  แต่ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้    ทำไมถึงเป็นอย่างนี้……..????       ขืนปล่อยไว้อย่างนี้  ค่าคะแนน  โคม่าที่เริ่มดี  ก็จะกลับแย่ลง  ดีไม่ดีการอ๊วกบ่อย     เด๋ยวก็จะสำลัก กลายเป็นโรคปอดบวม อีก  ( ของเก่าคนไข้ ก็เคยเป็นปอดบวมมารอบหนึ่งแล้ว   กว่าจะดูแลให้ หายได้ ก็เหนื่อย  ตอนวัดค่าเพื่อระบายเสมหะออกก็ยากมาก  เพราะเด็กก็คือเด็กวัดไม่ได้  พอวัดเสร็จกลับค่าเดิม วัดเสร็จก็กลับค่าเดิมอีก  คนไข้มีเสมหะคั่งที่ปอด  บริเวณด้านล่าง และ ตรงกลางของปอดซีกขวา       คุณสุห้วงต้องขอให้คุณพ่อและพี่ชายคนไข้ผลัดกัน ล็อคตัวเด็กคนละ  15-30 นาที  เพื่อให้ปอดด้านขวาขึ้นบน     เพื่อจะระบายเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น )
  • มีอยู่วันหนึ่ง    น้องผู้ช่วยพยาบาล   ถือถาด   เหยือก  อาหารและอุปกรณ์เพื่อจะไปป้อน อาหารทางสายยางให้คนไข้  คนไข้แค่เห็นถาดปุ๊บก็อ๊วกแตกเลย

=   น้องผู้ช่วยพยาบาลก็พูดขึ้นมาลอย ๆ   ว่า สงสัยน้องเค้าไม่ชอบนมละมั้ง

=     คุณสุห้วงก็ปิ๊งแว๊บขึ้นมาเลยว่า    ทำไมเราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้แหะ!”    พี่สุห้วงจึง ถามพ่อและพี่ชายคนไข้    เค้าก็บอกว่า     น้องคนนี้เกลียดนมเป็นชีวิตจิตใจ     ไปโรงเรียนเมื่อไหร่  ครูที่โรงเรียนจะให้นมมาก็จะต้องฉีกทิ้งให้หมากินทุกครั้งเลย

  •  เมื่อได้คำตอบอย่างนั้น  พี่สุห้วงก็ปรึกษาหมอทันทีเพื่อขออนุญาตป้อนข้าวต้มแทน
  • หมอก็บอกพี่สุห้วงว่า  พี่จะทำยังไงก็ทำเถอะ  ขอให้คนไข้รอดก็แล้วกัน
  • พี่สุห้วงจึงเบิกโจ๊กมาให้  ครึ่งถ้วยเนี่ย…..เด็กกินหมดภายในไม่ถึง  5  นาที   พี่สุห้วงจึงขออนุญาตหมอ ถอดสายยางให้อาหารออก
  • หลายคนอาจคิดว่าทำไมตอนที่คนไข้คะแนนโคม่าที่    4 T   หรือ   5 T     พยาบาลป้อนอาหารทางสายยางให้   ไม่เห็นมีปัญหา    คำตอบคือ……ก็ตอนนั้นคนไข้ไม่รู้เรื่องนะซิ  แต่ตอนนี้เขารู้เรื่องแล้ว  พอเห็นนมปุ๊บก็อยากอ๊วก   พอได้นมก็อ๊วกแตก
  • พอเปลี่ยนเป็นข้าวต้มได้ประมาณ   1   สัปดาห์เท่านั้นเอง        คนไข้ก็เริ่มดีแข็งแรงขึ้น  สามารถหย่าเครื่องช่วยหายใจได้เลย
  • คุณสุห้วงกลับไปนั่งคิดว่า   “Life  Style”  บางทีเราดูแล้ว เหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ   แต่มันกลับมีประโยชน์และมีค่าต่อการดูแลคนไข้เป็นอย่างมาก   พยาบาลต้องฝึกที่จะต้อง เป็นคนละเอียด หน่อย   มองปร๊าดแล้ว อย่ามองผ่านอะไรง่าย    บางทีมันปิ๊งแว๊บ เข้ามาอย่างที่คุณคาดไม่ถึง   นอกจากนี้คุณสุห้วงก็นึกไปถึง   คำพูดของอาจารย์ประเวศ  วะสี  ที่เค้าเคยพูดไว้ว่า

ยุคนี้เป็นยุคของระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์  เมื่อก่อนนี้ระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัย อะไรก็  modern   nice  ไป หมด  แต่จริง ๆ แล้ว คน  มันไม่ใช่แค่   ไข้   ถ้าคุณ   ใช้ระบบบริการที่   1  นั้นคือคุณรักษาแค่ไข้ของเค้าแต่ถ้าเป็นระบบที่  2   คุณต้องรักษา ทั้งคนทั้งไข้   

 ประโยคของ อ. ประเวศ  วะสี  ข้างต้น  ทำให้คุณสุห้วงคิดถึงการดูแลรักษาคนไข้รายนี้  ใช่เลย…….สังเกตมั้ยเราเปลี่ยนแผนการรักษามาตั้ง  5 ครั้งแล้ว  แต่เราไม่ได้คิดถึงเรื่องวิถีชีวิตของคนไข้เลย   (Life  Style)   เราเริ่มเรียนรู้และมีประสบการณ์จริงจากการดูแลคนไข้รายนี้ 

พี่จุดขอสรุปบทเรียนจาก    discharge  planning   รายนี้    สอนให้เราเกิดการเรียนรู้ว่า  การดูแลรักษาพยาบาล  เราต้องดูแล  คน   ที่มีทั้งร่างกาย  จิตใจ  สังคม  และจิตวิญญาณ  ที่แตกต่างกันไปตามแต่วิถีชีวิต            และวัฒนธรรมของแต่ละคนแต่ละครอบครัว อย่าลืมอย่าละเลย     ที่จะดูแลเค้าให้ครอบคลุม……ทั้งคนและทั้งไข้   เหมือนดัง พระราชดำรัสของพระราชบิดาที่ตรัสไว้ว่า 

  ฉันไม่ต้องการให้เธอมีความรู้ทางการแพทย์อย่างเดียว  ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นคนด้วย                   

คำสำคัญ (Tags): #discharge-planning 

ความเห็น

k-jira
เขียนเมื่อ

 

ประทานโทษค่ะพี่จุดขา 

คืออ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจตรงนี้

 " ตอนวัดค่าเพื่อระบายเสมหะออกก็ยากมาก  เพราะเด็กก็คือเด็กวัดไม่ได้  พอวัดเสร็จกลับค่าเดิม วัดเสร็จก็กลับค่าเดิมอีก  "

งงคำว่า "วัดค่า" น่ะค่ะ

แต่เดาเอาจากความทรงจำ ไม่ทราบคือ "จัดท่า"  รึเปล่าคะ

ขอบคุณค่ะ

 

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

พี่จุดไม่แน่ใจคะ k-jira ว่าคุณสุห้วงหมายถึงอะไร แต่พี่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการวัดค่า tidal volume เพราะคนไข้ช่วงที่ปอดบวมครั้งแรกยังใส่เครื่องช่วยหายใจ  แต่จำเป็นต้องทำ postural drainage ให้คนไข้ เพื่อระบายเสมหะออกค่ะ

โอ๋-อโณ
เขียนเมื่อ

พี่จุดถ่ายทอดได้ยอดเยี่ยมอีกตามเคยค่ะ ชมแล้วก็ชมอีกได้ทุกทีที่อ่านสิ่งที่พี่จุดนำมาเล่า เพราะรู้สึกอย่างนั้นจริงๆค่ะ เป็นพรสวรรค์ส่วนตัวของพี่จุดแน่นอนเลยค่ะ

อ่านท่อนท้ายๆแล้วทำให้คิดถึงคำพูดที่ปรมาจารย์ทางการแพทย์ของฝรั่ง ที่คุณหมอ Dr. Robert Centor นำมาเล่าให้ฟังใน MedScape ล่าสุดที่ว่า

 "The good physician treats the disease; the great physician treats the patient who has the disease"

คงใช้ได้กับพวกเราทุกคนในแวดวงการดูแลสุขภาพผู้อื่นนะคะ

Phoenix
เขียนเมื่อ

น่าจะเป็น "จัดท่า" มากกว่า "วัดค่า" ไหมครับ ผป.ใน ICU หรือคนไข้ neuro เราจะจัดนั่งท่า Fowler เพื่อช่วยลด aspitation pneumonia และสะดวกในการเคาะปอด

นึกถึงที่พี่สุข (ICU) เล่าให้ฟังกรณีที่ลุงคนนึงฟังเทปธรรมะแล้วยิ่งกระสับกระส่าย หงุดหงิด ปรากฏว่าเป็นเสียงของหลวงพ่อองค์ที่แกไม่ชอบหน้ากัน!! การดูแล "คน" นั้น ต้อง "เข้าใจ" เขาก่อนจริงๆ จึงจะสามารถดูแลได้ครับ ขอเพียงอย่าด่วนสรุปว่าเราเข้าใจเขาแล้วก็จะลดปัญหาลง เราเคยทำ workshop difficult patient ในกิจกรรมเสวนา palliative care พบว่า เกือบทั้งหมดของ difficult patient กลายเป็น difficult nurse, difficult doctor คือกลายเป็นพวกเราเอง guilt ที่ไม่ได้ เข้าใจ ผป. แต่แปลเป็นผป.หรือญาติไม่ให้ความร่วมมือ

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ
  • ขอบคุณพี่โอ๋มากนะคะที่ให้กำลังใจ กำลังคิดที่จะเปลียนสไตล์การเล่า ไม่เปลี่ยนก่อนดีกว่า ( พูดให้ดูดี เสมือนว่าเรามีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา  แต่จริงๆแล้วก็เปลี่ยนไม่ได้ค่ะ )
  • ขอบคุณ อาจารย์ phoenix มากนะคะที่ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม พี่จุดเคยสอบถามคนไข้เหมือนกันค่ะ  ปรากฎว่า คนไข้บางรายไม่ได้ชอบการฟังเทปธรรมะ  และมีบางรายที่ญาติคนไข้จะปิดเทปที่เราเปิดให้คนไข้ฟัง เพราะเขาไม่ชอบ  ดังนั้นเราควรจะประเมินก่อน...ใช่มั้ยค่ะ

 

 


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย