ปัญญาพิสัย


ปัญญาพิสัย  เป็นคำทางจิตวิทยาการศึกษา  หรือ ทางการศึกษา  บางทีเรียกกันว่า  พุทธิพิสัย  คำ พุทธิ  แปลว่า ปัญญา  ผมเห็นว่า  คำ  พุทธิ มันคุ้นๆใกล้ไปทางคำว่า  พุทธ  ผมจึงใช้คำ   ปัญญา  แทน ครับ  เป็น ปัญญาพิสัย  ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ  ก็จะตรงกับคำว่า  Cognitive Domain

ในบล็อกต่างๆนับจากเรื่องของ  ความจำ,  ความเข้าใจ, การนำไปใช้, การวิเคราะห์,  การสังเคราะห์, และการประเมินค่า ทั้งหมดนั้น จัดเป็นพวก "ความคิด"  หรือ "ปัญญา"  ซึ่งไม่ใช่พวก "อารมณ์"

ความสามารถทางปัญญาเหล่านี้  จะเรียงกันเป็น "ลำดับขั้น"  นับจาก "ขั้นพื้นฐาน"  คือ "ความจำ" เป็นต้นไปจนถึง "การประเมินค่า"  นั่นคือ ถ้าไม่มีความจำแล้ว จะเกิดความคิดเข้าใจไม่ได้  และถ้าไม่มีความคิดเข้าใจแล้ว จะมีการคิดการนำไปใช้ไม่ได้  เป็นดังนี้เรื่อยไปจนถึงขั้นการคิดประเมินค่าครับ

นักการศึกษาของเราได้อาศัยความรู้นี้เป็นแนวทางในการพัฒนาคนในขาติของเรา  โดยการเขียน "พฤติกรรมทางปัญญาเหล่านี้ไว้ในจุดประสงค์ของหลักสูตร์"นับแต่ระดับประถมถึงมัธยม  ถ้าเราไปเปิดดูหลักสูตรดังกล่าว  ก็จะพบข้อความในทำนองว่า "เพื่อพัฒนาความความจำ ความเข้าใจ ใน.......... "  หรือ  "เพื่อให้สามารถ นำไปใช้  วิเคราะห์ .... " เป็นต้น   แต่นับจากที่ได้ปฎิรูปการเรียนการสอนหลังปี ๒๕๔๐ แล้ว  เราจะพบคำว่า " การคิดวิเคราะห์,  การคิดสังเคราะห์,  การคิดสร้างสรรค์"   หนาแน่นมาก

เราสร้างหลักสูตร  เราสร้างโรงเรียน  เราจ้างครู  แล้ว เราออกกฎหมาย"บังคับ"เด็กให้ต้องไปเข้าโรงเรียน  นั่งหน้าสลอนเพื่อรอให้ครู"พัฒนาความสามารถด้านปัญญาพิสัย" เหล่านั้นแก่เด็กนักเรียนของเรา ครับ

แต่ความจริงเราพบว่า  การสอนเพื่อ "พัฒนาปัญญาขั้นสูงๆขึ้นไป--นับตั้งแต่ความคิดเข้าใจ, นำไปใช้, ไปจึงถึง คิดประเมินค่านั้น " นั้น  ครูมักจะไม่ได้สอนกัน !  (มันคงสอนยากกระมัง)  ส่วนใหญ่จะสอนแต่ระดับ "ความจำ" !!

ความจริงอันนี้ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันครับ โดยได้รับคำยืนยันอยูเป็นระยะๆจาก "สมศ" ครับ

หมายเลขบันทึก: 91962เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2007 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดร. ไสว เลี่ยมแก้ว

เห็นด้วยเลยค่ะที่เรายังสอนอยู่กันที่ระดับความจำแม้กระทั่งในระดับอุดมศึกษา เมื่อเช้ามีสัมมนาที่คณะฯ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นอดีตคณบดีและอธิการบดีได้ให้ความเห็นไว้ว่าเราสอนวิศวศึกษากันแบบสอนเนื้อหา ไม่ได้สอนให้ปฎิบัติได้ ทำนองนั้นค่ะ สาเหตุท่านว่ามาจากพวกเรา (หมายถึงพวกอาจารย์ในคณะฯ) ไม่มีความเข้าใจและไม่ได้เน้น training หรือฝึกปฏิบัติจริงมากเท่าใดนัก ทำให้ไปกันคนละทิศทางค่ะ

ไม่ทราบว่าจะเป็นเรื่องเดียวกับกับที่อาจารย์เขียนหรือไม่ พอดีเพิ่งไปสัมมนามาแล้วเห็นบันทึกของอาจารย์พอดี พออ่านแล้วก็อดเขียนแลกเปลี่ยนไม่ได้ ขอบคุณมากค่ะ

 

ดร. ไสว เลี่ยมแก้ว......

อาตมาสะดุดคำว่า  Cognitive และ Cognitivism ครั้งแรก มีผู้บัญญัติศัพท์ว่า ปชาน และ ปชานนิยม ก็จำคำนี้มาตลอด... แม้ภายหลังจะเจอบัญญัติศัพท์เป็นอย่างอื่น แต่ก็โยงถึงสองคำนี้ตลอด....

จำไม่ได้ว่าไปสะดุดคำนี้จากหนังสือเล่มไหน ลองเปิดพจนานุกรมศัพท์ปรัชญา ก็ไม่เจอ ... เจอแต่คำว่า Cognition ซึ่งท่านบัญญัติศัพท์ว่า ปริชาน...

ลองค้นดูในเน็ตนิดหน่อยก็ไม่เจอ... เจอประเด็นน่าสนใจที่ http://ednet.kku.ac.th/~sumcha/2545/nong/cognitivism.html ซึ่งใช้ศัพท์ว่า พุทธิปัญญา คำว่า Cognitivism ..

เจริญพร

สวัสดีครับ อาจารย์กมลวัลย์

ผมรู้สึกดีใจครับที่อาจารย์เข้าเยี่ยม(ผมขอเรียกว่าอาจารย์นะครับ) คงเป็นเรื่องเดียวกันครับ  แต่คงจะเน้นถึงเรื่องการสอนมากกว่าการวัดผลการสอน  นับว่าเป็นข่าวดีมากครับที่คณะต่างๆให้ความสนใจเกี่ยวเรื่องการสอน

ในระดับมหาวิทยาลัยดวร หรือ "ต้อง"เน้นการสอนเพื่อพัฒนา -- ความคิดเข้าใจ, การนำไปใช้, การวิเคราะห์, การสังเคราะห์, และประเมินค่า --- ครับ  โดยใช้ "วิธีสอน"  แบบ "การกระทำ  หรือ  การปฏิบัติ"  คือ ถ้าจะทดลองทางเคมี  ก็ต้องพานักศึกษาเข้าห้องแล็บ  ไม่ใช่ทดลองในกระดานดำ  ให้แต่ละคน"คิด" เสนอโครงการการทดลองสร้างอะไรสักอย่างหนึ่ง  แล้วทำจริงๆ ด้วยตนเอง  ภาคเรียนละ ๒ ชิ้น เรียน ๘ ภาคเรียน  ก็จะได้งาน ๑๖ ชิ้น ! เด็กยังไม่มี "พฤติกรรมแบบนักวิทยาศาสตร์" อีก    ก็ให้มันรูไป  จริงไหมครับ

ผมชอบวิธีของมหาวิทยาลัยมหานครครับ  นักศึกษาปริญญาเอกคนใด "สร้างชิป" อันใหม่เอี่ยม  แปลกไม่ลอกของใครมา  และมันทำงานได้  ก็ให้ Ph.D ไปเลยครับ

การให้ทำวิจัยเพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ ก็เป็นวิธี "พัฒนาปัญญาด้าน การคิดเข้าใจ, คิดนำไปใช้, คิดวิเคราะห์,คิดสัเคราะห์, และคิดประเมินค่า" เหมือนกันครับ  แต่มีเพียง ๑ ชิ้น  น้อยไปครับ

อ้อ --  เราน่าจะหันไปทบทวน "หลักสูตร" ระดับ  ป.โท  ป.เอก  ของเราดูด้วย  ว่า  มีหน่วยกิตหนักไปทางให้นั่งในชั้นฟังครูบรรยายแล้วจดไปท่องมา  หรือว่าหนักไปทางให้ทดลองให้ปฏิบัติ  ถ้าหลักสูตร(สมมุติ)ว่าตลอดหลักสูตร ๑๒๐ หน่วยกิต  นั่งฟังครูบรรยายเพียง ๒๐  หน่วยกิต  นอกนั้นทดลอง  สร้างงาน ทั้ง ๑๐๐ หน่วยกิตแล้วละก้อ  เด็กจบออกมาแล้วเป็น "นักวิทยาศาสตร์" ไม่ได้  ก็ให้มันรู้ไป  จริงไหมครับ

อีกเรื่องหนึ่งครับ  รายวิชาแต่ละวิชา  ก็เขียนไว้เพียง ๒ - ๓ บรรทัด  และ "ไม่มีการเขียนไว้ว่า สอนวิชานี้เพื่อพัฒนา การคิดสังเคราะห์ ---  "ไว้เลยครับ  อาจารย์เขาไม่สอนเพื่อการดังกล่าว  เขาก็ไมผิดนี่ครับ  และสอนง่ายด้วย !

นมัสการพระคุณเจ้า

(๑) "พุทธิปัญญา"  นั้น  คำว่า "พุทธิ" แปลว่า "ปัญญา"  ฉะนั้น  "พุทธิปัญญา"  ก็คือ "ปัญญาปัญญา"  ซึ่งเป็นคำซ้ำ  ผมเองจึงเลือกใช้คำ "ปัญญา" เป็นความหมายของ "Cognition"  และ "ปัญญานิยม" แทนความหมายของ "Cognitivism"

(๒) การนำความรู้จากต่างชาตืมาทำความเข้าใจ  แล้ว ใส่ความหมายด้วยคำไทย  นั้น  ถ้าแปลโดยคณะกรรมการบัญญัติศัพท์  เขาก็จะบรรจุไว้ในพจนานุกรมศัพท์บัญญัติ  อย่างนี้เรานำมาใช้ได้เลย  การเขียนบทความทางวิชาการ  หรือวิทยานิพนธ์ เราใช้คำจากศัพท์บัญญัติดังกล่าว  ก็ปลอดภัยจากการโต้แย้ง

แต่ถ้าไม่มีการบัญญัติศัพท์ไว้  เราก็เลือกใช้คำไทยของเราเอง  แต่ต้องวงเล็บคำภาษาอังกฤษที่เราแปลมานั้นไว้ด้วย  เพื่อบอกให้ท่านผู่อ่านรู้ว่า  เราเข้าใจอย่างนี้ เราจึงใช้คำนี้   คนอื่นอาจจะเข้าใจอย่างอื่น ก็ได้

(๓) คำ "ปชาน"  หรือ  "ปริชาน" นั้น  เป็นคำศัพท์ในพจนานุกรมศัพท์บัญญัติหรือเปล่าครับ

(๔)  แม้แต่คำที่ "บัญญัติไว้ในหนังสือศัพท์บัญญัติ" ก็เถอะ  ถ้าเราไมเห็นด้วย  เราจะไม่ใช้ก็ได้ครับ  แต่ถ้าเราใช้คำต่างออกไป  เราต้องวงเล็บคำต้นภาษาของคำนั้นด้วย

(๕) Cognitive เป็นคำคุณศัพท์  คำ Cognition  เป็นคำนาม  ส่วน Cognitivism นั้น  กลุ่มนักจิตวิทยาเขาคิดใช้กันขึ้นมาเองครับ   อาจจะเลียนแบบ นักปรัชญาที่ชอบ "ยกธงประจำค่าย"  เป็น "ลัทธิๆ" ก็ได้ครับ  และอีกประการหนึ่ง  อาจจะมี "นัย" เป็นการ "ต่อต้าน" กลุ่ม "Behaviorism"  เพื่อให้ดูเป็น "ฝ่ายตรงข้าม" หรือ "ค่ายตรงกันข้าม" ก็ได้ครับ

ไม่มีรูป
ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัญฑิตย์ ปี 2532 ในหน้า 19 อธิบายว่า...

Cognition ปริชาน : การรับรู้ คำนี้เป็นคำกลางที่ใช้เรียกการรับรู้ในลักษณะต่างๆ เช่น สัญชาน (perception) ความจำ (memory) การพินิจภายใน(introspection)...

ส่วน ปชาน นั้น อาตมาลองค้นดู ก็ไม่เจอหนังสือที่ต้องการ... 

เจริญพร

ครับ  มักจะใช้ในความหมายที่แตกต่างกันออกไปเสมอ  ดังนั้น  เมื่อคุยเรื่องอะไร กับใคร บางคนจึงต้องให้นิยามกันก่อน จึงจะคุยกัน ก็มีครับ

ในทางจิตวิทยา  คำ Cognition หมายรวมเอาลักษณะเหล่านี้ของจิต คือ "การรู้สึกสัมผัส, การรับรู้, การจำ, การคิดแบบต่างๆ, การตัดสินใจ ตลอดจนลักษณะอื่นๆที่เกี่ยวกับการคิด"  ซึ่งลักษณะทั้งหมดเหล่านี้ เป็นลักษณะทางปัญญานั่นเอง    เพราะว่า  กระบวนการของปัญญา  เป็นการรวมแบบผสมผสานของลักษณะเหล่านี้  ฉะนั้น  เราจะเรียก Cognition อย่างรวมๆว่า "ปัญญา"  ก็ได้  ซึ่งผมใช้คำนี้ครับ คือ "ปัญญาพิสัย"  และถ้าเป็น Cognitive Psychology ก็ใช้คำว่า "จิตวิทยาปัญญา" ครับ

ขอให้สังเกตว่า  ข้างบนนี้มีคำ "การรับรู้"  กับ "สัญชาน(perception)"  ซึ่งคำ "สัญชาน" ก็แปลว่า "การรับรู้" เหมือนกัน  จึงยังไงๆชอบกลอยู่

นอกจากนี้ก็ยังมีคำ "พินิจภายใน(Introspection)" เพิ่มเข้ามาอีก  ซึ่งคำ "พินิจภายใน"นี้ เป็น "วิธี" ศึกษา Cognition  ครับ  ไม่ใช่ "ลักษณะของจิต" ไม่ควรเอามาเป็นความหมายของ Cognition เลย

ด้วยเหตุที่สับสนกันดังนี้แหละครับ  ผู้เชี่ยวชาญบางคนเขาจึงใช้คำ"ตามความคิด และจินตนาการของเขาเอง"  หนังสือที่พวกเขาเขียนจึงต้องมี Glossary ไว้ท้ายเล่มเสมอ  เพื่อรวบรวมคำที่เขาใช้ในความหมายของเขาเหล่านี้แหละครับ

ขอบคุณ อาจารย์ ดร. ไสว เลี่ยมแก้ว นะคะ ที่ช่วยให้ข้อคิดเห็นเรื่องการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา ตอนนี้กำลังพยายามหาทางสอดแทรก การคิด วิเคราะห์ เพื่อพัฒนา การฝึกปฏิบัติจริง ให้มากขึ้น 

คาดว่าตอนเปิดเทอม คงได้มาเขียนบันทึกว่าได้ทำอะไรไปบ้างนะคะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

เข้าใจผิดมานานครับว่า พุทธะ คือการบรรลุตนเอง  พุทธเจ้าคือการบรรลุด้วยตนเอง  หรือค้นพบธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง

อ่านบทความของอาจารย์แล้วก็ได้แง่มุมใหม่

น่าจะมีบทความเกี่ยวกับเรื่องความจำมากกว่านี้ครับ

ขอบคุณครับ 

ป.ล.  ผมกะลังแปลเรื่องเทคนิคการพัฒนาความจำอยู่ครับ

 

 

สวัสดีครับ คุณแมง

คุณเข้าใจไม่ผิดหรอกครับ  คำ "พุทธ" แปลว่า "ผู้ตรัสรู้"  ส่วน "พุทธิ" แปลว่า "ปัญญา" ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท