บันทึกฉบับนี้พี่จุดจะเล่าเรื่อง Discharge Planning ที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยในประสบการณ์ของ คุณสุห้วง พันธ์ถาวรวงศ์ ที่ได้ดูแลผู้ป่วย และเป็นผู้ป่วยที่จุดประกายให้เธอคิดคำนี้ขึ้นมาค่ะ เธอเล่าว่า
“พี่เคยเจอคนไข้อยู่รายหนึ่ง อายุค่อนข้างมาก สามีเค้ามีปัญหา head injury (ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ) เค้ามาบอกพี่ว่า
ภรรยาคนไข้ คุณพยาบาลคะ ฉันขอฝากคนไข้ไว้สัก 3 วัน นะคะ
คุณสุห้วง จะไปไหนหรือค๊ะ
ภรรยาคนไข้ ฉันจะกลับไปทำคอก
คุณสุห้วง ทำไมต้องทำคอกด้วยล่ะ
ภรรยาคนไข้ แฟนฉันเนี่ย ตอนนี้มีปัญหาทางสมอง เค้ารู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ถ้าเกิดไม่ไว้ในคอกและล่ามโซ่ไว้เนี่ย ฉันไปทำงานไม่ได้ เพราะเราจนมาก ฉันต้องไปขายผักตอนเช้าๆ ที่ตลาดนัด
คุณสุห้วง ทำไมต้องล่ามโซ่ด้วย.....
ภรรยาคนไข้ ถ้าฉันไม่ล่ามเค้าไว้ เกิดเค้าเดินไปไหนตอนฉันไม่อยู่ มันก็จะอันตรายนะ เกิดเค้าหลุดออกไปฉันจะทำอย่างไร ฉันก็เลยต้อง ล่ามโซ่ไว้ ตอนเช้าๆ ฉันก็จะเอาข้าวใส่จานวางไว้ให้พร้อมน้ำดื่ม แล้วฉันก็จะรีบไปตลาดสดขายผักขายอะไรก็ได้เท่าที่จะขายได้ แล้วหลังจากนั้นฉันก็จะรีบกลับมาจัดการที่บ้านทีหลัง”
ทุกท่านที่อ่านถึงตอนนี้ คงไม่มีใครคาดคิดใช่มั้ยคะว่า ในชีวิตจริงของคนเราจะมีวิถีชีวิตอย่างนี้ ทุกคนคงคิดว่ามีเฉพาะในหนัง / ภาพยนตร์เท่านั้น หากเราย้อนกลับมาดูในโรงพยาบาล หลายท่านคงเจอสภาพที่เห็นพยาบาลผูกมัดคนไข้ไว้กับเตียง (restain) เช่นเดียวกัน พี่จุดจึงถือโอกาสนี้อธิบายให้ทุกคนทราบด้วยนะคะว่า อย่าได้คิดว่าพยาบาลใจดำ หรือใจร้ายเลย เพราะพยาบาลที่ขึ้นเวรมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถจะดูแลคนไข้ตัวต่อตัวได้ บางครั้งพยาบาลประเมินคนไข้แล้ว มีระดับความรู้สึกตัวดี ไม่มีปัญหา ที่ไหนได้ แป๊บเดียวคนไข้ก็ดึงท่อช่วยหายใจ หรือดึงสายใส่อาหาร หรือดึงท่อระบายต่างๆ หรือปีนข้ามไม้กั้นเตียงตกลงมา กรณีมีผลเล็กน้อยไม่เป็นอันตรายต่อคนไข้ก็โชคดีไป แต่บางครั้งมีผลเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เราก็จะทุกข์หนัก ดังนั้นเราจึงต้องป้องกันไว้ก่อน นี่คือเหตุผลของพยาบาลที่ต้องผูกมัดคนไข้ค่ะ
คุณสุห้วงเล่าต่อว่า โดยทฤษฎีแล้ว กระบวนการ discharge planning ประกอบด้วย APIE คือ
A = assessment
P = plan
I = implement และ
E = Evaluation
ซึ่งก็คือกระบวนการทางการพยาบาลนั่นเอง แต่ความหมายของ HA เข้าจะเน้นเพิ่มคือ นอกเหนือจาก APIE แล้ว จะต้องเน้นในเรื่องของ C3 THER , HELP , PCT , Risk management แหล่งประโยชน์ และเครือข่ายด้วย โดยในส่วนของ outcome ถ้าเราจะทำให้ได้ผลดี บุคลากรจะต้องมีความรู้สึก มีความสุข ในการทำด้วย ในส่วนนี้คุณสุห้วงได้ให้แง่คิดไว้ว่า ตัวชี้วัดบางตัวที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของ discharge planning เช่น การลดจำนวนวันนอน อย่าได้ไปหลงภาคภูมิใจว่าเราทำได้ดี / ทำได้สำเร็จแล้ว เพราะมีคนไข้หลายรายที่เราจำหน่ายไปแล้ว ไปเกิดปัญหาต่อที่บ้าน หรือต่อครอบครัวเพราะครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ เนื่องจากมีอายุมาก ดังนั้นในบางครั้ง หรือบางรายเราอาจจะจำหน่ายล่าช้า เพื่อให้คนไข้ได้ถอดสายใส่อาหาร หรือถอดท่อเจาะคอก่อน บางครั้งการจำหน่ายเร็วแต่มีผลให้คนไข้ต้อง readmit กับการจำหน่ายช้า แต่ทำให้คนไข้และครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องกลับมานอนโรงพยาบาลใหม่ เราอาจจะเลือกประเภทหลังก็ได้ ดังนั้นการวางแผนควรจะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป
อย่างไรก็ตาม แม้การวางแผนจำหน่าย จะเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ บุคลากรทางสุขภาพทุกสาขา มีการทำเรื่องนี้เป็นยังไม่ทั่วถึง ด้วยเพราะภาระงานที่หนักและมาก และในเวลาที่จำกัด ทุกคนที่ทำเรื่องการวางแผนจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่ทำด้วยใจรัก มีทัศนคติที่ดี ยอมสละเวลาของตัวเอง คุณสุห้วง จะเป็นตัวอย่างพยาบาลที่ดีในเรื่องนี้ ลองมาฟังความรู้สึกของเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้หน่อยนะคะ
“พี่ (คุณสุห้วง) เคยไปพูดบรรยายที่ HA Forum 2 ครั้ง ในหัวข้อเรื่อง Holistic care และเรื่อง HA & HPH บอกได้เลยนะคะว่า ตัวเองไม่เคยอบรม HA ( Hospital Accreditation ) ของ อ.อนุวัฒน์ ไม่เคยฟัง อ.อนุวัฒน์พูด และไม่เคยรู้จัก HA มาก่อน แต่เราถูกเชิญให้ไปเป็นวิทยากรที่ HA ล่าสุดที่ผ่านมา จุดที่ทำให้พี่ภูมิใจมากก็คือ มีหมอคนหนึ่งมาเล่าให้พี่ฟังว่า อ.อนุวัฒน์ ฝากความคิดถึงมา และฝากถามว่า มีเรื่องดีๆ จะเล่าให้อาจารย์ฟังอีกมั้ย พี่ดีใจมาก เหตุที่ดีใจ ไม่ใช่ว่าเราไก้หรู หรือเราได้ไปเป็นวิทยากร แต่ดีใจและภูมิใจเพราะ พี่ได้แสดงถึงศักยภาพของวิชาชีพให้เค้าเห็น ให้เค้าติดตามเราโดยเราไม่ต้องเรียกร้อง ฉะนั้น การวางแผนจำหน่ายพี่มองว่า ต้องไม่ใช่คำสั่งจาก HA ต้องไม่ใช่จาก QA และต้องไม่ใช่เพราะหัวหน้าสั่ง แต่ต้องเป็นเพราะตัวเราเอง มันเป็นแรงจูงใจอะไรบางอย่างที่มันอยู่ลึกๆ ข้างใน อันนั้นจึงจะทำให้การวางแผนจำหน่ายของเราประสบผลสำเร็จ พี่มีตัวอย่างคนไข้จะเล่าให้ฟัง คนไข้รายนี้เป็นบทเรียนมากเลยว่า การวางแผนจำหน่ายต่อไปของพี่ พี่จะไม่ทำอย่างที่คนอื่นเค้าสั่ง แต่เราจะทำอย่างไร.....! เธอกล่าวต่อว่า discharge planning ของพี่ พี่จะทำให้เป็น discharge planning ที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณ เราต้องถามตัวเองว่า คุณค่าของ discharge planning อยู่ที่ไหน ตัวชี้วัด.....ให้ใคร แล้ววัดไปเพื่ออะไร.....?
เรื่อง เล่าต่อจากนี้คือ คนไข้ที่เป็นต้นแบบให้คุณสุห้วงเกิดความรู้สึกและเกิดความคิดที่จะเปลี่ยน discharge planning ให้เป็น discharge planning ที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณ เธอเล่าว่า
คนไข้รายนี้คือ ผู้ชายที่ยิ้ม แต่จริงๆ แล้ว เค้าตาบอดทั้ง 2 ข้าง เรารับเค้าเข้ามานอนรักษาในรพ. ด้วยปัญหา Head injury (บาดเจ็บที่ศีรษะ) คือ เ ค้าถูกตีหัวมา ตอนมาใหม่ๆ อาการเค้าหนักมาก คะแนนโคม่า (coma score) ประมาณ 3-4 T ตอนนั้นหมอคุยกับญาติเรียบร้อยแล้วว่า คนไข้มีโอกาสรอดน้อยมาก ให้เตรียมตัวรับความจริงด้วย แต่พวกทีมพยาบาลก็ดูแลกันอย่างดีเต็มที่ ร่วมกับภรรยาของเค้าที่ดูแลคนไข้ได้ดีมากด้วย เราต่างช่วยกันประคับประคองเรื่อยมา จนกระทั่งคนไข้คนนี้กลับดีขึ้นเกือบปกติ เหมือนมีปาฏิหาริย์ ช่วงแรกๆ คนไข้ก็มีข้อติดบ้าง แต่ได้รับการทำกายภาพบำบัดจนสามารถกลับบ้านได้ นับเป็นความดีใจและภาคภูมิใจของพยาบาลอย่างมาก ที่สามารถดูแลให้ผู้ป่วยที่เกือบจะมีชีวิตไม่รอด กลับรอดชีวิตขึ้นมาได้
แต่แล้วความรู้สึกดังกล่าวก็ถูกทำลายไปหมดสิ้น เมื่อพยาบาลเยี่ยมบ้านกลับมาเล่าให้พยาบาลที่ตึกทราบว่า พยาบาลได้ไปเยี่ยมคนไข้นั้นที่บ้านแต่หาไม่เจอ เมื่อถามชาวบ้านโดยบอกชื่อคนไข้ ชาวบ้านต่างบอกว่าไม่รู้จัก เมื่ออธิบายถึงลักษณะของคนไข้ที่ไปรพ. ด้วยเรื่องถูกผ่าสมอง ชาวบ้านเค้าพูดมาประโยคหนึ่งว่า อ๋อ ! คนที่เมียเลี้ยงเหรอ......... มันเป็นประโยคที่ทำให้คุณสุห้วงรู้สึกเจ็บปวดที่สุดในชีวิต
เธอเล่าต่อว่า คนไข้นี้ได้มารพ.ตามหมอนัด และคนไข้ได้มาเยี่ยมพยาบาลที่ตึกด้วย จากนั้นคนไข้ก็ได้ไปคุยกับผู้ดูแล (care giver) ของคนไข้เตียงต่าง ๆ ซึ่งคุณสุห้วงก็ได้ไปยืนฟังอยู่ด้วย คนไข้ได้กล่าวว่า หาก ย้อนเวลา ได้เค้าอยากบอกพยาบาลว่า ไม่ต้องช่วยชีวิตเค้าหรอก ปล่อยให้ตายดีกว่าเพราะจะทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นการเข้าห้องน้ำ กินข้าว ก็มองไม่เห็น ต้องอาศัยเมียช่วยทำให้ทั้งนั้น เค้าเคยฆ่าตัวตายไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเอามีดแทง ครั้งที่2 ใช้ปืน และครั้งที่3 ผูกคอตาย แต่เมียช่วยไว้ได้ และเฝ้าประกบคนไข้จนตัวเองไม่ต้องเป็นอันหลับอันนอน เพราะไม่รู้ว่าคนไข้จะคิดฆ่าตัวตายอีกเมื่อไหร่ ความรู้สึกของคนไข้คือ คิดว่าตัวเองไม่มีประโยชน์ ไม่มีศักดิ์ศรีอีกต่อไป แต่ที่อยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อลูก ความพิการที่หลงเหลืออยู่นี้ ทำให้ไม่เหลือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไว้เลย
ความรู้สึกของคนไข้ที่สะท้อนออกมาให้พวกเราฟังนี้ พี่จุดอยากจะเสริมความคิดของตัวเองให้ทราบว่าการให้กำลังใจและไม่ซ้ำเติมความโชคร้ายของคนไข้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทุกคนที่มีโอกาสพบเห็นคนไข้เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นใคร รู้จักหรือไม่รู้จัก หรือสังคม / ชุมชนรอบข้าง ต่างล้วนมีความหมายและมีความสำคัญ ที่จะเสริมกำลังใจ ให้น้ำใจ แสดงความเอื้ออาทรออกมาให้ซึ่งกันและกัน อยากบอกทุกท่านว่า ธรรมชาติของผู้พิการทั้งหลายจะมีความรู้สึกน้อยใจเร็วกว่าคนปกติทั่วไป ดังนั้นเราควรจะต้องระมัดระวังและไวต่อความรู้สึกของคนไข้นี้เป็นพิเศษ
คุณสุห้วงได้บอกกับผู้เข้ารับการอบรมว่า “สิ่งที่เราภูมิใจมาตลอดมันผิดทั้งนั้นเลย เราหลงดีใจกับความสำเร็จที่ได้ช่วยชีวิต ช่วยไม่ให้คนไข้สูญเสียอวัยวะ “Safe life…..Safe limb” มาโดยตลอด แต่จริง ๆ แล้วจุดสูงสุดของความสำเร็จน่าจะอยู่ที่ “Safe Quality of Life” ไม่ใช่หรือ.....!”
เพราะคำว่า “Safe Quality of Life” ละมั้ง ที่เป็นตัวจุดประกายให้คุณสุห้วงมุ่งเป้าของการทำ discharge planning ให้เป็น Discharge planning ที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณ พี่จุดฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งกับคำนี้ด้วย จึงขอเป็นพยาบาลที่จะดูแลและกระตุ้นน้อง ๆ พยาบาลให้ดูแล “คนไข้” ด้วยใจที่มีชีวิตและจิตวิญญาณอยู่ด้วยตลอดเวลา