เมื่อความคิดไม่อยู่กับปัจจุบัน


ดิฉันพยายามเจริญสติอยู่ตลอดและได้เห็นความเหนื่อยหน่ายของจิตแล้วแล้วขณะที่เกิด เมื่อเห็นแล้วก็ดูและรอให้อารมณ์เหนื่อยหน่ายและหดหู่นั้นๆ หายไป แต่เที่ยวนี้อารมณ์นี้อยู่กับดิฉันนานมาก เป็นวันๆ

หลายวันนี้ดิฉันส่งจิตออกนอกไปคิดเรื่องโน้น เรื่องนี้ ในอนาคตมากมาย แต่เพิ่งมารู้ตัว เกิดสติชัดๆ เมื่อครู่นี้เอง เพราะ ๒-๓ วันที่ผ่านมานี้ดิฉันคิดไปล่วงหน้าแบบไม่รู้ตัวมาตลอด

ผลจากการส่งจิตออกนอก คิดถึงอนาคตดังกล่าวก็คือ ดิฉันเกิดความเหนื่อยหน่ายและหดหู่ใจเป็นอันมาก ทำให้นอนหลับยาก และเพลียตอนกลางวัน แต่ที่แปลกก็คือ ดิฉันพยายามเจริญสติอยู่ตลอดและได้เห็นความเหนื่อยหน่ายของจิตแล้วแล้วขณะที่เกิด  เมื่อเห็นแล้วก็ดูและรอให้อารมณ์เหนื่อยหน่ายและหดหู่นั้นๆ หายไป แต่เที่ยวนี้อารมณ์นี้อยู่กับดิฉันนานมาก เป็นวันๆ

ดิฉันเพิ่งมาถึงบางอ้อ เมื่อสักครู่นี้เอง เพิ่งรู้สาเหตุว่าทำไมจึงยังรู้สึกหดหู่อยู่ตลอดวันสองวันที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่มองเห็นชัดมากๆ ว่าจิตหดหู่

ปรากฎว่า ดิฉันไม่เห็นสาเหตุ (สมุทัย) ซึ่งก็คือ "ความคิดที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน" ดิฉันเห็นแต่ผล (ทุกข์) ซึ่งก็คือ "จิตอยู่ในสภาพที่หดหู่" นั่นเอง

พอเห็นแล้วว่าความคิดไม่อยู่กับปัจจุบัน ก็เจริญสติดูความคิด รู้ทันความคิด ทำให้ตอนนี้หายจากอาการดังกล่าวแล้วค่ะ

ดิฉันย้อนกลับไปอ่านบันทึกเรื่อง อริยสัจ ๔ คืออะไรที่ตัวเองเขียนไว้ ก็ทำให้เห็นได้ว่าตัวเองได้เคยสรุปไว้แล้วว่าจิตที่ส่งออกนอกไปคิดล่วงหน้านี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ เลยได้ตัวอย่างมาย้ำเตือนตัวเองอีกทีว่าเวลาเจริญสติ จะต้อง

"พิจารณาเหตุ"

เมื่อเห็น "ผล" ด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 90075เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2007 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

มาฟังธรรมครับอาจารย์

สวัสดีปีใหม่ครับ

สาธุ สาธุ สาธุ

สวัสดีปีใหม่เช่นเดียวกันค่ะ

เมื่อครู่ก็เพิ่งแวะไปอ่านของเรื่องนอนกอดนางฟ้ามาเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณที่ให้กำลังใจในการปฏิบัติธรรมของดิฉันอยู่เสมอนะคะ ; )

สวัสดีครับอ่านเรื่องที่อาจารย์เขียน ขอแสดงความเห็นนะครับ ผมรู้สึกว่าจิตส่งออกนอกเป็นจิตที่ไม่อยู่ในปัจจุบันขณะ จิตที่มองเข้าไปข้างในคือจิตที่ถูกบังคับให้อยู่ในปัจจุบันขณะ (พยายามรู้ในปัจจุบันขณะ) จิตที่ปล่อยวางไม่พยายามที่จะรู้ในปัจจุบันขณะ น่าจะเป็นจิตที่รู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ พูดแล้วงงครับไม่ทราบว่าถูกหรือเปล่า

สวัสดีค่ะ คุณ P ฉัตรชัย

ดิฉันขออนุญาตตอบคุณฉัตรชัยในบันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณที่ถามค่ะ เลยได้เขียนบันทึกและใคร่ครวญประสบการณ์ของตัวเองเพื่อเล่าสู่กันฟังค่ะ ; )

สวัสดีครับอาจารย์

  • ผมก็ชอบคิดไปข้างหน้าเหมือนกันครับ
  • มีทั้งรู้ตัว  และไม่รู้ตัวครับ
  • ผมคิดว่าถ้าเรารู้ตัว  และตั้งใจคิดไปวันข้างหน้า  หรือเรื่องราวในอนาคต  บางครั้งก็อาจจะเป็นการคิดด้วยสติก็ได้นะครับ  แบบว่า..ตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่..แล้วเราก็กำลังคิดถึงสิ่งที่มาไม่ถึง  เพื่ออะไร...  อาจจะเพื่อเตรียมการ
  • พูดถึงเรื่องจิต  และสติ  รู้สึกดีมากครับอาจารย์  เพราะทำให้ได้สติ  มา ลปรร  กันเรื่องนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจครับ  เหมือนเป็นการสอบอารมณ์ ออนไลน์ ครับ
  • ขอบคุณครับ...

เห็นด้วยค่ะคุณหมอ P kmsabai

ว่าถ้าตั้งใจคิดไปวันข้างหน้า สามารถคิดด้วยสติได้ค่ะ ดิฉันเรียนมาทางการบริหารงานบ้าง และเคยคิดเหมือนกันว่าถ้าเราไม่คิดวางแผนไปข้างหน้า แล้วเราจะทำงานสำเร็จได้อย่างไร ประมาณว่าอยู่กับปัจจุบันตลอดแล้วมันจะได้เรื่องหรือ... ประมาณนั้นค่ะ

แต่แท้จริงแล้ว เราสามารถคิดในอนาคตแต่จิตอยู่ในปัจจุบันได้ค่ะ คือไม่กังวล เป็นทุกข์ แค่รับทราบว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้น หรือต้องการจะทำอะไรบ้างในอนาคต คือคิดล่วงหน้าอย่างมีสติที่อาจารย์ว่าค่ะ

เผอิญประสบการณ์จิตหดหู่ของดิฉันที่เล่าในบันทึกนี้ ดิฉันยอมรับเลยค่ะ ว่าตามดูสภาวะนี้ จนลืมพิจารณาเหตุค่ะ ; )

P
  • อาจารย์ครับ เดี๋ยวนี้เขาไม่รณรงค์ให้ส่งใครไปนอกแล้วครับ
  • เขาเน้นประหยัด  แบบพอเพียง
  • ตามแนวพระราชดำริน่ะครับ
  • อิอิ  ขอแซงเล่นหน่อยนะครับ (จะโดนดุไหมเนี่ย)

ธรรมะสวัสดีครับ

ไม่ดุแน่นอนค่ะ คุณธรรมาวุธ ; )

ขอบคุณที่นำรอยยิ้มมาให้ค่ะ อนุมานได้ดีจัง "ส่งคนไปนอก" 5555

อารมณ์มันเป็นอะไรซักอย่างที่เกิดขึ้นแล้วบางครั้งใจสั่น อึดอัด หวิวเหมือนจะขาดใจ ซึมๆ มีหลายอย่างแล้วแต่เหตุการณ์ ถ้าเราอยู่วงในคลุกเคล้าอยู่ เราก็จะไม่รู้ว่ามีความแตกต่างของอารมณ์ ถึงเห็นก็ยังไม่ชัดว่ามันเป็นอะไรกันแน่ จะหาวิธีแก้ก็อาจทำได้โดยเปลี่ยนบรรยากาศ หาอะไรทำ แต่ความรู้สึกลึก ๆ ยังมีอยู่ หากอารมณ์ชนิดเดิมไม่มาปรากฏซ้ำ อารมณ์นั้นจะค่อยจางหายไป หรือขณะนั้นเรานึกได้ว่าอ้อสิ่งที่เห็นหรือได้ยินเป็นเพียงการแสดง หรือยังไม่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นเพียงสภาวะ มันจับต้องไม้ได้ เดี๋ยวก็หายไป หรือเราไม่เป็นไรน่ะ ช่างเถอะ เอาไว้ก่อนอย่าเพิ่งเข้ามาตอนนี้งดรับแขก ก็เป็นวิธีหนึ่ง สิ่งสำคัญอย่าให้ความสำคัญกับอารมณ์ดังกล่าว พยายามทำความเข้าใจว่า มันไม่แน่นอน เดี๋ยวมันก็มาเดี๋ยวมันก็ไป ทำบ่อย ๆ ก็จะเห็นชัดขึ้น เมื่อรู้ว่าไม่มีประโยชน์ ใจก็ปล่อยวาง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท