ข้อตกลงพ่วง (Tying arrangement): พฤติกรรมต้องห้ามและน่ารังเกียจ ? (1)


ข้อตกลงพ่วง เป็นข้อตกลงอย่างหนึ่งในทางการค้าว่า ผู้ที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายรายหนึ่งต้องรับซื้อหรือรับเอาสินค้าอีกอย่างหนึ่งของผู้ขายรายนั้นหรือต่างรายตามที่กำหนดในข้อตกลงใดๆที่มีขึ้นระหว่างกันซึ่งเป็นการทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมและอาจส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจได้ แต่การทำธุรกรรมพ่วงจะน่ารังเกียจจริงหรือไม่
ข้อตกลงพ่วง เป็นข้อตกลงอย่างหนึ่งในทางการค้าว่า ผู้ที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายรายหนึ่งต้องรับซื้อหรือรับเอาสินค้าอีกอย่างหนึ่งของผู้ขายรายนั้นหรือต่างรายตามที่กำหนดในข้อตกลงใดๆที่มีขึ้นระหว่างกัน  การทำข้อตกลงขายพ่วงนั้นเป็นนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542  มาตรา 25(2) เพราะ เป็นการกำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือโดย ทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของตนต้อง จำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจำหน่ายสินค้าหรือต้องจำกัด โอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการ จัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น ซึ่งเป็นการทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมและอาจส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจได้                                เมื่อมีการทำข้อตกลงขายพ่วงระหว่างกันโอกาสและช่องทางทำมาหาได้ในทางธุรกิจของผู้ผลิตสินค้าอย่างเดียวกันรายอื่นๆย่อมน้อยลงมากอย่างไม่เป็นธรรม หากเป็นกรณีของสุรา เมื่อธุรกิจของ นาย จ. ซึ่งขายสุราประเภท 40 ดีกรี วิสกี้ ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไป และมีส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่มากที่สุดของประเทศรายหนึ่ง ได้เริ่มทำการขายสินค้า สุรา ประเภท เบียร์ แต่ใช้เครื่องหมายการค้าต่างจากสุราของตนจึงไม่สามารถเจาะตลาดได้มากเท่าที่ควร จึงเริ่มขายสุราวิสกี้ของตนโดยมีข้อแม้ว่า ผู้ซื้อสุราวิสกี้ต้องรับซื้อเบียร์ของตนไปด้วยตามจำนวนสัดส่วนที่กำหนดต่อปริมาณการสั่งซื้อ ดังนี้ปริมาณการขายเบียร์ย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราการขายสุราวิสกี้ โดยผู้จำหน่ายสุรารายย่อยไม่สามารถปฏิเสธได้เนื่องจากความต้องการสุราของ จ. มีสูงมากและอาจสูญเสียลูกค้า ภายหลังการเริ่มนโยบายการตลาดดังกล่าว เบียร์ยี่ห้อ ส. ที่เคยครองส่วนแบ่งการตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเริ่มขายสินค้าได้น้อยลงอย่างมาก เนื่องจากกำลังซื้อและความต้องของผู้จำหน่ายสุราปลีกในส่วนของสินค้าเบียร์ลดลงอย่างรุนแรง อันเป็นผลมาจากการที่เงินส่วนที่ผู้จำหน่ายสุราปลีกกันไว้เพื่อซื้อเบียร์คละยี่ห้อมาจำหน่ายต้องนำไปใช้ในการซื้อเบียร์ของ จ. แต่รายเดียวเป็นจำนวนมากจนไม่อาจซื้อเบียร์จากยี่ห้อ ส. ได้หรือซื้อน้อยกว่าเดิมมาก ดังนี้จะเห็นได้ว่าข้อตกลงขายพ่วงนั้นเป็นนโยบายการตลาดที่ทำให้เสียไปซึ่งสภาวะการแข่งขันในตลาด จนผู้ประกอบการรายอื่นอาจต้องปิดตัวลง ซึ่งเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการทำร้ายผู้บริโภคให้ไม่มีทางเลือกและอำนาจต่อรอง ก่อให้เกิดภาวะผู้ขายรายเดียว (Monopoly) ซึ่งผู้ขายสามารถกำหนดราคาสินค้าเองได้โดยไม่ต้องสนใจกลไกตลาด                                แม้ข้อตกลงขายพ่วงในธุรกิจการขายสินค้าและอุตสาหกรรมการผลิตก่อให้เกิดผลร้ายมากมายและกอบโกยกำไรบนความทุกข์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นดังที่กล่าวมา แต่ปัจจุบันโลกของเราได้เกิดการทำธุรกิจในรูปแบบอื่นนอกจากการผลิตและจำหน่ายสินค้าแล้ว เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการบริการและเทคโนโลยี เป็นต้น ธุรกิจต่างที่กล่าวมานี้บางอย่างต้องอาศัยการบริการหรืออะไหล่ที่มีคุณภาพ เพื่อรักษาความทนทานและสมรรถภาพของเครื่องจักร เช่น ในคดีของ EASTMAN KODAK Case หรือในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งมีต้นทุนสูง และได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นการให้เอกสิทธิทางการค้าที่จะผูกขาด หรือเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยี เช่น MICROSOFT Case (Internet Explorer) เป็นต้น อย่างนี้การทำธุรกรรมพ่วงจะน่ารังเกียจจริงหรือไม่
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8997เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2005 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท