จุดเริ่มต้น และทิศทาง KM ของวลัยลักษณ์


KM ไม่ทำก็ไม่รู้ ไม่หัดเดินก็เดินไม่เป็น

ก่อนอื่นผมต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช และท่านอาจารย์วัลลา ตันตโยทัย ที่ช่วยกรุณาให้คำแนะนำกับผมเกี่ยวกับความรู้ในเรื่อง KM รวมทั้งกระตุ้นผมอย่างมากให้เปิดบล็อก เพื่อเล่าประสบการณ์ในการทำ KM ที่ วลัยลักษณ์ เพื่อจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอื่น ๆ ที่มีการทำ KM อยู่แล้ว ถ้าท่านที่ได้อ่านหากมีข้อคิดใด ๆ มาแลกเปลี่ยนกันผมก็จะยินดีมากนะครับ ในวันนี้ผมอยากจะขอเล่าถึงจุดเริ่มต้นและทิศทางการทำ KM ของวลัยลักษณ์ก่อนนะครับ เมื่อประมาณต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายจากท่านอธิการบดีของวลัยลักษณ์ คือ ท่าน ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา ให้ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องการพัฒนาองค์กร และบุคลากร ซึ่งผมก็ใช้ความคิดอยู่ระยะหนึ่งว่า ผมจะเริ่มจากที่ไหนดี ผมแทบจะไม่ได้นึกถึง KM หรือการใช้เครื่องมือของ KM เลย ถึงแม้ว่า ผมจะรู้ว่าการพัฒนาคน และวัฒนธรรมองค์กร เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในจุดเริ่มต้นของการพัฒนาองค์กร เพราะผมคิดอยู่แล้วว่า มหาวิทยาลัย ถือเป็นแหล่งสร้างและถ่ายทอดความรู้เป็นหลักอยู่แล้ว ดังนั้นการจัดการความรู้ของเรามีการทำอยู่แล้วในหลาย ๆ รูป เช่น การวิจัย การเขียนตำรา การสัมมนา หรือการประชุมในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น จนกระทั่งวันที่ 9 ก.ค. 2548 ผมได้เข้าร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และในวันนั้นผมคิดว่าเป็นวันเริ่มต้น KM ของวลัยลักษณ์ก็น่าจะได้ เพราะโชคดีที่ผมได้มีโอกาสพบกับท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ซึ่งท่านมาประชุมสภามหาวิทยาลัย ผมได้รับความรู้จากท่านมากมายเกี่ยวกับหลักการ และแนวทางปฏิบัติของ KM ตามแนวของ สคส. ในระหว่างที่นั่งรถไปกับท่านเพื่อเดินทางไปจังหวัด สุราษฏร์ธานีประมาณ 2 ชั่วโมง ผมเกิดความคิดขึ้นมาทันทีว่า ผมน่าจะนำ KM มาให้พนักงานทุกคนของวลัยลักษณ์ได้เรียนรู้และน่าจะเกิดประโยชน์ในด้านของการพัฒนาคน และวัฒนธรรมองค์กรตามที่ผมตั้งใจได้ ผมจึงได้นำเรื่องนี้มาเรียนท่านอธิการบดีและเสนอโครงการที่ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งท่านก็ได้มอบหมายให้ผมเป็น CKO โดยในการกำหนดทิศทางการหัดเดินเกี่ยวกับ KM ของวลัยลักษณ์ ผมได้กำหนดไว้เป็น 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด และการใช้เครื่องมือของ KM โดยผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่แนวทางการปฏิบัติงานที่ดีเพื่อวลัยลักษณ์  ซึ่งเราทำกิจกรรมนี้รุ่นหนึ่งประมาณ 40-50 คน เพื่อเรียนรู้อย่างถ่องแท้จริง ๆ โดยเราจะเริ่มจากพนักงานสายสนับสนุนก่อนและขยายผลไปยังสายวิชาการ และเริ่มจากพนักงานที่มีผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ๆ ก่อน

ระดับที่ 2 คือ การพัฒนาผู้นำหรือวิทยากร KM ของวลัยลักษณ์ หรือที่เราเรียกว่า ทีม Facilitators หรือทีมคุณอำนวย เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นและส่งเสิรมการทำกิจกรรมเกี่ยว KM ในวลัยลักษณ์ และเป็นการสร้างความเข้มแข็งในเรื่องการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ KM

ระดับที่ 3 คือ การจัดเวทีให้กับคุณกิจในชุมชนต่าง ๆ ให้ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เฉพาะเรื่อง เฉพาะงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละชุมชน เพื่อพัฒนางานและพัฒนาคน โดยใช้ best practice ของพนักงานในชุมชนเดียวกันเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ที่ผมได้แลกเปลี่ยนมานั้นเป็นทิศทาง KM ของวลัยลักษณ์ทีผมได้มีโอกาสหัดเดินอยู่นะครับ ซึ่งผมเองก็ไม่คิดว่ามันจะถูกหรือดีที่สุด แต่ผมคิดว่า KM ไม่ทำก็ไม่รู้ ไม่หัดเดินก็เดินไม่เป็น อย่างที่ผมได้ฟังท่านอาจารย์หมอวิจารณ์  ให้ข้อคิดในเรื่องนี้เสมอ ๆ  ผมคิดว่าสำหรับจุดเริ่มต้น และทิศทางของการทำ KM ในวลัยลักษณ์ ผมขอเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ไว้เท่านี้ก่อนนะครับ แล้วยังไงผมจะทยอยเล่าความคืบหน้า และเรื่องราวต่าง ๆ ของการทำ KM ในวลัยลักษณ์ในโอกาสต่อ ๆ ไปนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #ทิศทางkm
หมายเลขบันทึก: 8995เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2005 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท