การจัดการความรู้กับโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข (ตอน 2)


                หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากทางคณบดีให้จัดกิจกรรมได้ แต่เจ้ากรรมวันที่เลือกเป็นวันที่ 4-6 ธันวาคม 2549 หลายคนอยากผักผ่อนและไม่อยากมาร่วม ทางทีมงานของอาจารย์จึงเดินสายขอร้องทั้ง อาจารย์และนิสิตให้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกับอธิบายวัตถุประสงค์ของการจัด ท้ายที่สุดจึงได้รับความร่วมมือจากทั้งอาจารย์และนิสิตเข้าร่วม

              พอถึงวันงาน กิจกรรมเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายในวันแรก เต็มไปด้วยการละลายพฤติกรรม โดยแบ่งกลุ่มอาจารย์และนิสิตเป็น 10 กลุ่มเพื่อให้เข้าฐานกิจกรรมต่างๆ โดยเข้าฐานละ 2 กลุ่ม เพื่อแข่งขันกัน โดยกิจกรรมทั้งหมดในแต่ละฐานทางทีมงานก็คิดเองและเน้นที่การสร้างความสามัคคีภายในกลุ่มและความร่วมมือกันเป็นหลัก กิจกรรมนี้ค่อนข้างยาวไปจนถึงเช้าวันที่สอง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทั้งอาจารย์และนิสิตเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน ตรงจุดนี้สำคัญมากเพราะหากทำไม่สำเร็จนิสิตจะไม่กล้าเล่าเรื่อง เนื่องจากทางทีมงานจะมีการแบ่งกลุ่มอาจารย์กับนิสิตในแต่ละกลุ่มเพื่อให้เกิด ความเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่ายทั้งอาจารย์และนิสิต

              พอมาตอนเล่าเรื่อง ก็มีการชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้ อธิบายขั้นตอนในการทำกิจกรรมในแต่ละขั้นตอนโดยละเอียด หลังจากการอธิบายทั้งหมดแล้ว มีการแจกใบงานให้นิสิตได้อ่านอีกครั้งเพื่อเริ่มทำให้นิสิตอยู่กับตัวเองและมีสมาธิ หลังจากนั้น เพื่อทำให้นิสิตนึกเรื่องที่จะเล่าได้ง่ายขึ้น จึงให้นิสิตทำสมาธิโดยหายใจเข้า-ออกแบบลึก ประมาณ 10 นาทีและให้นอนท่าศพ อีก 10 นาที หลังจากนั้นให้นั่งหรือนอนเงียบๆ เพื่อนึกเรื่องที่จะเล่า โดยให้นิสิตเขียนเรื่องเล่าออกมาก่อนเพื่อให้นิสิตเรียบเรียง ทบทวน จัดระบบความคิดอีกครั้ง หลังจากนั้นก็ให้เริ่มเล่าเรื่องที่ละคนไปจนครบ

                 ประเด็นที่ใช้สำหรับการเล่าเรื่องของนิสิต คือ “เหตุการณ์ที่ทำให้นิสิต รู้สึกมีความสุข รู้สึกดี เกิดความประทับใจหรือความภาคภูมิใจตั้งแต่เข้ามาเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

                สำหรับอาจารย์ คือ “เหตุการณ์ที่ทำให้อาจารย์ รู้สึกมีความสุข รู้สึกดี เกิดความประทับใจหรือมีความภาคภูมิใจตั้งแต่เข้ามาทำงานในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือ เหตุการณ์ขณะที่อาจารย์เป็นนิสิต นักศึกษาที่ทำให้อาจารย์รู้สึกดี และเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นอาจารย์ที่ดี”

              ในระหว่างที่เล่า ทางทีมงานก็ขอให้ทุกคนมีการฟังแบบ Deep listening ฟังด้วยความชื่นชมยินดีในเรื่องราว มีการสบตาผู้เล่า ไม่ขัดจังหวะหรือแสดงความคิดเห็นขณะเล่าเรื่อง หากต้องการเสริมก็ให้รอให้เล่าจบก่อน ซึ่งในการแบ่งกลุ่มนั้น ก็มีทีมงานของอาจารย์และกลุ่มนักศึกษาที่ร่วมกันทดลองก่อน กระจายอยู่ในทุกกลุ่มแล้วทำให้บรรยากาศระหว่างการเล่าเรื่องเต็มไปด้วยหยดน้ำตาแห่งความเข้าใจ เรื่องเล่าแต่ละเรื่องก็มีพลังมาก ทั้งอาจารย์และนิสิตต่างร้องไห้ ทพ.พิชิตเล่าว่าช่วงนี้เดินแจกทิชชูไม่ทันเลยทีเดียว
 

               ในระหว่างการเล่าเรื่อง ทางทีมงานก็ขอให้ทุกคนมีการจด Key Success Factor ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เรื่องเล่านั้นมีความสุข ประสบความสำเร็จ แล้วนำมาสรุปรวมกันในภายหลัง พร้อมทั้งเตรียมเรื่องเล่าที่คิดว่าดีที่สุดของกลุ่ม อาจารย์ 1 เรื่อง นิสิต 1 เรื่อง เพื่อมานำมาแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นในวงใหญ่

               ในช่วงการเล่าเรื่องทางทีมงานก็มีการเตรียมตัวและวิเคราะห์ กระบวนการที่วางไว้เป็นอย่างดี เห็นได้ว่ามีการให้นิสิตจดประเด็น KSF ที่คิดได้ระหว่างที่ฟังสมาชิกในกลุ่มเล่าโดยที่ยังไม่ต้องอภิปรายทำให้บรรยากาศการเล่าเรื่องไหลลื่น แล้วจึงนำประเด็นเหล่านั้นมาช่วยกันเต็มเติม ในภายหลัง

หมายเลขบันทึก: 89479เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2007 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท