ขอบคุณ ขอโทษ


                ผมเกือบหายขาดจากโรคติดบล็อก  เพราะเวลาที่มีหมดไปกับการคิด  และทำ(งาน)  จนกระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ย.48  ผมมาทำงานที่คณะศึกษาศาสตร์  ขณะที่กำลังสตาร์ทรถจะกลับบ้านตอนเย็นหลังจากงานเสร็จ  ลูกศิษย์คนหนึ่งเดินมาหา  และพูดด้วยโดยผมไม่ได้ยิน  ผมเปิดกระจกถามว่ามีธุระอะไรหรือ ?  ลูกศิษย์บอกว่า อาจารย์เขียนบล็อกให้อ่านอีกสิคะ  หนูอยากอ่านค่ะ (ผมหายไปจากชุมชนบล็อกร่วมเดือนแล้ว) ผมไม่รู้ว่าที่ผมเขียนลงบล็อกเป็นอย่างไร ?  เกิดประโยชน์กับชุมชนหรือไม่ ?  พอได้ยินลูกศิษย์พูด  ก็ลงมือเขียนโดยบอกกับตัวเองว่าอย่างน้อยก็ทำให้คนที่หลงเข้ามาอ่านได้ประโยชน์บ้างละน่า  ผมจึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณลูกศิษย์ ขอบคุณนะ  ลูกศิษย์ที่รัก
                คำว่า ขอบคุณ นี่  ผมเรียนมาตั้งแต่เด็ก  ครูสอนว่าใช้คู่กับคำว่า ขอบใจ  เดี๋ยวนี้คำว่าขอบใจ  ที่ผู้ใหญ่ใช้กับเด็ก  หรือใช้กับคนอายุรุ่นเดียวกัน  แทบไม่ค่อยได้ยินแล้ว  เหลือแต่คำว่า ขอบคุณ (ซึ่งก็ได้ยินไม่บ่อย)  สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เหมือนกับภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า Thank you หรือ Thanks ที่ความหมายเหมือนกัน คือ ขอบคุณ
                สมัยผมเรียนอนุปริญญาเมื่อ สี่สิบกว่าปีก่อน  อาจารย์เข้าสอนสาย (ช้ากว่าเวลานิดหน่อย) พอเข้าห้องอาจารย์ก็ ขอโทษ พวกเราที่รอเรียนและบอกว่า ครูมาช้าเพราะออกไปธุระข้างนอก  ขากลับนั่งสามล้อมาเลยช้า  ครูให้เงินค่าสามล้อแล้วก็ ขอบคุณ   เขาทำท่าทางแปลกๆ คงไม่ค่อยเคยได้ยิน  แต่ครูคิดว่าการที่ใครทำอะไรให้เรา  เราควรขอบคุณเขา
                ผมจำมาสี่สิบกว่าปีแล้วครับ  ใครทำอะไรให้ควร (ต้อง) ขอบคุณ เราทำอะไรผิดพลาดควร(ต้อง) ขอโทษ นอกจากจำแล้ว  ขอเรียนว่าผมปฏิบัติมาตลอดครับ
                คำว่า ขอบคุณ และ ขอโทษ เป็นคำที่ฝรั่งบอกว่ามีคุณค่ามหาศาล  แต่ต้องทำอย่างจริงใจนะครับ
                มีคำที่มีคุณค่าอีกมากมายที่ควรจดจำ  และนำมาปฏิบัติครับ  อาทิ
                คำพูดที่มีคุณค่า 16 คำ  ของ  จอห์น  เอฟ  เคเนดี้  อดีตประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา  ที่ว่า
                Don’t ask what the nation do for you, but ask what you do for the nation. (อย่าถามว่า ประเทศชาติให้อะไรแก่ท่าน  แต่จงถามว่าท่านทำอะไรให้ประเทศชาติ)
                ถ้าเราจะนำคำที่มีคุณค่ามาประยุกต์ใช้  อาจปรับประโยคข้างต้น  เป็น
                Don’t ask what the university do for you, but ask what you do for the university.
                หรือจะใช้คำอื่นๆ แทน nation เช่น faculty(คณะ), department(ภาควิชา) ก็ไม่น่าเกลียดครับ
                การบริหารไม่ยากอย่างที่คิด  ถ้าคนในองค์กรจะถามตัวเองว่า “ทำอะไรให้องค์กรบ้าง” มากกว่าที่จะถามว่า “องค์กรให้อะไรบ้าง”  เป็นเรื่องของจิตสำนึกเต็มๆ ครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8946เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2005 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ อาจารย์สมบัติที่กลับมาเขียนสิ่งดีดีให้ได้อ่านอีกตามคำเรียกร้อง  เพราะก็ได้ทราบข่าวจากทางคณะศึกษาศาสตร์ว่าอาจารย์มีภารกิจเยอะมาก  และเชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คนที่เข้ามาอ่านบล็อกของอาจารย์และได้รับความรู้พร้อมๆ ไปกับความเพลิดเพลิน  ที่ก็รอการกลับมาของอาจารย์เหมือนหนูเช่นกันค่ะ

ลูกศิษย์ที่รัก  (คนนั้น)

เชาวฤทธิ์ จงเกษกรณ์

เป็นเรื่องที่ดีมีสาระ ไม่เคยอ่านของใครมาก่อนว่า คำว่าขอบคุณนั้นมีค่าสำหรับสังคมไทยเราในปัจจุบัน เรารู้แต่เราไม่ค่อยจะปฏิบัติกันครับ และที่สำคัญ การขอบคุณต้องเป็นการขอบคุณที่มีมาจากจิตใจที่แท้จริง เมื่อทำได้ เช่นนี้ ดูซิว่าสังคมเราจะอยู่อีกเยอะเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท