สุขภาพดีๆ ใน มรภ.


บันทึกนี้จะกล่าวถึงศูนย์สุขภาพชุมชน 9 ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหมค่ะ

แต่ไม่ใช่เลย เพราะว่าปกติแล้วศูนย์สุขภาพหรือ Primary Care Unit นั้น มักจะตั้งอยู่ในชุมชน  หาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ได้ยากมาก  จึงอยากเชิญชวนทุกคนให้เข้ามาศึกษากันว่าเขามีแนวคิด แนวทางอย่างไร จึงเกิดศูนย์ฯ 9 นี้ขึ้นมาได้

ศูนย์นี้เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ด้วยเห็นว่านักศึกษาส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด มาเรียนต่อก็ต้องอยู่หอพัก เมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถใช้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลได้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และเสียเวลาในการไปรับบริการที่โรงพยาบาล

การดำเนินการเริ่มเมื่อมิถุนายน 2543 ด้วยโครงการประกันสุขภาพโดยความสมัครใจ ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีหลักประกันใดๆ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ กำหนดเบี้ยประกันแบบประชาชนและรัฐออกเงินสมทบฝ่ายละ 500 บาท  ต่อมารัฐสมทบให้เพิ่มเป็น 1,000 บาท  ทาง มรภ. นครราชสีมาจึงได้รวบรวมนักศึกษา 5 คน ต่อการซื้อบัตรประกันสุขภาพ 1 ใบ  ในขณะนั้นมีนักศึกษาที่ร่วมโครงการเพียง 3,000 คน ยังไม่ครอบคลุมมากนัก

คุณจรรยา  ดวงใจ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ 9 ได้เล่าถึงระบบงานในศูนย์ว่า ใช้สถานที่ห้องพยาบาลของอาคารศูนย์เวชศึกษาป้องกัน มีบุคลากร 6 คน ประกอบด้วยนักวิชาการสาธารณสุข 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 3 คน เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 1 คน และลูกจ้างอีก 1 คน

กลุ่มเป้าหมายคือ นักศึกษาใน มรภ. และบุคลากร มรภ. รวม 12,814 คน (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2549)

การจัดบริการมีทั้งเชิงรุกและเชิงรับอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพและป้องกันโรค โดยในด้านการรักษา เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่ 08.00 - 18.00 น. ช่วงเช้าให้บริการโดยพยาบาลวิชาชีพ ครอบคลุมการวางแผนครอบครัว Well Baby Clinic และการฝากครรภ์ มีการตรวจรักษาโรคทั่วไปโดยแพทย์และเยี่ยมบ้านในช่วงบ่าย สำหรับวันเสาร์และวันอาทิตย์ ให้บริการตั้งแต่ 08.00 - 16.00 น. โดยในวันเสาร์มีการตรวจรักษาโรคทั่วไปโดยแพทย์ในเวลา 10.00 - 14.00 น.

ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพนั้น ได้กำหนดแผนงานเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพในรั้ว มรภ. ได้แก่ โครงการราชภัฏปลอดลูกน้ำยุงลาย โครงการสุขาภิบาลสำหรับผู้สัมผัสอาหาร โครงการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า และโครงการหลอดเลือดดีชีวีสดใส เพราะส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ไม่ได้ออกกำลังกายและมีภาวะอ้วน

บทเรียนที่สำคัญจากการทำงานคือ แม้ในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นชุมชนของปัญญาชน แต่การเข้าถึงบริการและการสร้างสุขภาพยังถูกละเลย เพราะส่วนต่างคนต่างอยู่ มีเพียงโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีของข้าราชการและลูกจ้างเท่านั้น ส่วนนักศึกษามีเพียงห้องพยาบาลเป็นที่พึ่ง การมีศูนย์สุขภาพชุมชนในมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และด้วยความเป็นชุมชนในบริบทเมือง ที่มีทรัพยากรมากพอสมควร ทำให้สามารถจัดระบบบริการทั้งด้านการรักษาโรคและงานสร้างสุขภาพให้แก่นักศึกษาและบุคลากรได้มาก 

อ้อม สคส. 

หมายเลขบันทึก: 88536เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2007 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 07:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท