คุณปรีดา เรืองวิชาธร คือผู้ที่เขียนคำนิยมให้


ช่วงนี้ผมไม่ค่อยมีอารมณ์เขียนบันทึกเกี่ยวกับ KM ครับ แต่แทนที่จะปล่อยให้ blog นี้ว่างเปล่า ขอเก็บสิ่งดีๆ ที่อยู่ใกล้ตัวออกมา share และหนึ่งในนั้นก็คือ "คำนิยม" ที่ผมได้รับเกียรติจากคุณปรีดา เรืองวิชาธร แห่งเสมสิกขาลัย ได้กรุณาเขียนให้ในหนังสือเล่มใหม่ "intelligence" ผมคัดมาบางส่วนดังนี้ครับ

          "....ท่านผู้อ่านที่ติดตามงานของท่าน Osho จากฝีมือการแปลของอาจารย์ประพนธ์  ผาสุขยืด มานั้น คงจะรู้สึกคล้ายกันอย่างหนึ่งก็คือ ถูกท้าทายให้อยากรู้อยากเห็น อยากพิสูจน์ว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามและเมล็ดพันธุ์แห่งความสามารถอันหลากหลายลึกซึ้งอยู่ในตัวแล้วจริงหรือ เพราะแทบทุกอย่างในสังคมสมัยใหม่นั้น ทำให้เรารู้สึกด้อยและพร่องอยู่ตลอดเวลาต้องแสวงหาเติมเต็มจากภายนอกอย่างไม่รู้สิ้นสุด เราจึงมองไม่เห็นหรือมองข้ามเมล็ดพันธุ์แห่งความสามารถภายในที่รอการเปิดทางให้โอกาสมันเติบโตงอกงามเพื่อรับใช้เราและสังคมได้ตามที่ควรจะเป็น พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ โลกสมัยใหม่ได้ทำให้เรามองข้ามหรือขว้างทิ้งของดีอันมหัศจรรย์ที่ทุกคนมีอยู่ในตัวอย่างน่าเสียดาย

          ใน “Intelligence...เป็นไปได้ด้วยปัญญา... ได้เน้นย้ำถึงความข้างต้นอย่างน่าสนใจว่า ทุกคนล้วนมีเชาวน์ปัญญาภายในอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้หมายถึงความรอบรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้เต็มไปหมด แต่กลับเป็นความสามารถภายในที่มนุษย์ใช้แก้ปัญหาหรือเพื่อดำรงอยู่ในแต่ละขณะที่เรากำลังเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ แต่แล้วสังคมสมัยใหม่ที่คลั่งไคล้วัตถุนิยมได้สร้างปัจจัยทางสังคมต่างๆ มากมายมาปิดกั้น ลดทอน ทำลาย เชาวน์ปัญญาของคนในสังคม จนคนส่วนใหญ่รู้สึกได้ว่า พลังแห่งสติปัญญาของตนได้ง่อยเปลี้ยเสียขาลงไปเกือบทั้งหมด ปัจจัยทางสังคมที่ว่านี้มาในรูปของระบบการศึกษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ วัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคมอันผิวเผินและจอมปลอม เทคโนโลยีชั้นสูงที่ทำลายความสามารถของมนุษย์ รวมถึงการกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูที่ทำลายความเป็นตัวของตัวเองและพลังสร้างสรรค์ภายในของเด็กลง เป็นต้น

          ท่าน Osho ได้สะกิดเตือนให้เราหันกลับมามองอย่างตระหนักรู้ถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำลายเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ลง พร้อมกับเสนอทางออกได้อย่างท้าทายและมีความหวังว่าน่าจะไม่ยากเกินไปนักหรอกที่เราจะพลิกฟื้นให้เชาวน์ปัญญากลับมางอกงามภายในตัวเรา กุญแจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมุ่งแสวงหาเพื่อเติมเต็มความรู้จากภายนอก แต่กลับอยู่ที่การภาวนา นั่นคือการฝึกฝนที่จะตื่นรู้หรือรู้สึกตัวอย่างแท้จริงกับทุกขณะของชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ รู้ชัดว่าเรากำลังทำอะไร รู้ชัดกระทั่งถึงจิตที่กำลังคิดปรุงแต่งในแต่ละขณะ จนจิตเกิดความเงียบสงัดอย่างแท้จริง แล้วเชาวน์ปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาเอง ส่วนศิลปะของการดำรงอยู่อย่างตื่นรู้จะทำได้อย่างไรนั้น หนังสือเล่มนี้กำลังรอให้ท่านค้นหาอย่างใคร่ครวญและลงลึก

          ต้องขอขอบคุณอาจารย์ประพนธ์ ที่แปลงานของท่าน Osho ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมไทยมีโอกาสศึกษาเรียนรู้งานของคุรุชาวภารตะร่วมสมัยขึ้นมาอีกท่านหนึ่งเคียงข้างกับท่านมหาตมาคานธี ท่านรพินทรนาถ ฐากูร ท่านยวาหระลาล เนห์รู และท่านกฤษณะมูรติ ซึ่งคนไทยที่นิยมแสวงหามิติทางจิตวิญญานต่างรู้จักดี ว่ากันถึงท่าน Osho แม้ดูเหมือนว่าไม่ได้ติดกรอบศาสนาใดๆ เลย แต่ผมค่อนข้างเชื่ออย่างสนิทใจว่า ท่านได้ศึกษาแก่นของคัมภีร์ที่ลึกซึ้งอันมีต้นธารอยู่ในอินเดียไม่ว่าจะเป็น พระสูตรสำคัญในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนา หรืออุปนิษัทของพราหมณ์ เป็นต้น เพียงแต่จุดเด่นน่าจะอยู่ตรงที่ท่านสามารถมองทะลุเปลือกกระพี้เข้าสู่แก่นธรรมคำสอนได้ โดยอาศัยการใคร่ครวญและทดลองผ่านตัวท่านจนทำให้มุมมองที่ถ่ายทอดออกมาเหมาะสมสอดคล้องกับคนร่วมสมัยอย่างพวกเรา

          ดังนั้นผู้ที่สนใจการเติบโตทางจิตวิญญาณโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาทางเลือก หรือกำลังสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณของผู้เรียน ควรได้อ่านงานทุกชิ้นของท่าน Osho จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อแสวงหาการเติบโตภายในจากชีวิตประจำวัน รวมถึงในแง่การนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่มีพลังและสดใหม่ ซึ่งหากแวดวงนักการศึกษาทั้งในและนอกระบบต่างได้ช่วยกันสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่ดีให้เป็นคลังสมบัติส่วนรวมของสังคม นั่นก็จะเป็นคุณค่ามหาศาลต่อสังคมไทยและต่อโลกใบนี้ด้วย...."

หมายเลขบันทึก: 88335เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2007 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ศ.นพ.วิจิตร บุณยะโหตระ สามีดิฉัน ก็มีความสนใจในเรื่อง Spiritual เป็นอย่างมากเลยค่ะ เคยซื้อหนังสือ

อ.จ.อ่านด้วย

ชอบท่อนนี้ที่สุดเลยครับ  ..
     แต่แล้วสังคมสมัยใหม่ที่คลั่งไคล้วัตถุนิยมได้สร้างปัจจัยทางสังคมต่างๆ มากมายมาปิดกั้น ลดทอน ทำลาย เชาวน์ปัญญาของคนในสังคม จนคนส่วนใหญ่รู้สึกได้ว่า พลังแห่งสติปัญญาของตนได้ง่อยเปลี้ยเสียขาลงไปเกือบทั้งหมด ปัจจัยทางสังคมที่ว่านี้มาในรูปของระบบการศึกษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ วัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคมอันผิวเผินและจอมปลอม เทคโนโลยีชั้นสูงที่ทำลายความสามารถของมนุษย์ รวมถึงการกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูที่ทำลายความเป็นตัวของตัวเองและพลังสร้างสรรค์ภายในของเด็กลง เป็นต้น.

   เคยพูดทำนองนี้กับหลายเวที หลายคนฟัง  แต่ไม่เฉียบคมเท่าที่ยกมาอ้างครับ
      ด้วยความขอบพระคุณที่นำมาแบ่งปันครับ.

เรียนท่านอาจารย์พินิจที่เคารพ ....ผมรู้สึกเหมือนกันกับอาจารย์ว่าบางที คำพูดเดียวกันนี้ แต่พูดต่างที่ ต่างเวลา กับกลุ่มคนที่ต่างกัน ก็ให้อารมณ์ ความรู้สึก และผลลัพธ์ที่ต่างกัน

ผมบรรยายเรื่อง KM ให้กับครู และผู้บริหารสถานศึกษาหลายที่ หลายเวลา แต่ผมก็ยังประทับใจกลุ่มที่อยู่ในชั้นเรียนของอาจารย์เสมอมา ...เคยพยายามหาคำตอบว่า "เป็นเพราะอะไร?"

ในวันนี้ก็ได้พบคำตอบนั้นแล้วครับ ...เป็นเพราะว่าท่านอาจารย์พินิจ "อยู่ที่นั่น" ด้วยยังไงล่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท