ธรรมะขีดเส้นใต้ ๖: นายเหตุผลถาม....พุทธทาสตอบ[พุทธศาสนาสอนให้คนมักน้อย สันโดษ รัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัวจะต้องล่มจมแน่]


พระองค์ทรงสอนให้บุคคลเป็นผู้สันโดษ ก็เพื่อสอนให้รู้จักประมาณ ไม่ให้ทะเยอทะยาน ในสิ่งที่จะให้เกิดความโลภ จนไม่สิ้นสุด อันเป็นทางที่จะให้เกิดความทุกข์ร้อน ยิ่งกว่าความสุขใจ, และเป็นทางที่จะนำไปสู่หายนะ มากกว่าวัฑฒนะ

ธรรมะขีดเส้นใต้ ๖: นายเหตุผลถาม....พุทธทาสตอบ

[พุทธศาสนาสอนให้คนมักน้อย สันโดษ  รัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัวจะต้องล่มจมแน่]

๒.

        นายเหตุผล ว่า :-  "พุทธศาสนาสอนให้คนมักน้อยสันโดษ  ทำงานแต่พอเลี้ยงตัวไปวันๆ  รัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัว  จะต้องล่มจมแน่  ถ้าคนไทยนับถือพุทธศาสนาให้เคร่งครัดตามนี้  ข้าพเจ้าเห็นว่าในข้อนี้โดยเฉพาะแล้ว  สู้ศาสนาเจ๊กเขาก็ไม่ได้."

 

        พุทธทาส :-  ก่อนตอบปัญหาข้อนี้  นายเหตุผล  ย้อนกลับไปดูคำตอบข้างต้น  ตอนความหมายของพุทธศาสนาที่ว่า  พุทธศาสนามีหลักอยู่ที่  "การกำจัดทุกข์"  และเป็นศาสนาสำหรับโลกหรือคนทั่วไป  ไม่ได้หมายความในวงแคบๆ  เพียงว่าสำหรับชาวไทย  หรือใครๆ โดยเฉพาะเท่านั้น.

        จริงอยู่  ถ้าเรามองเพียงในวงแคบๆ ก็จะทำให้เราเห็นว่า  ถ้าเราปฏิบัติเคร่งครัดตามพุทธศาสนาในข้อนี้แล้ว  เราคงน้อยหน้ากว่าผู้ที่มีความโลภเป็นปกติของใจในทางทรัพย์สิน  หรือสมบัติภายนอกต่างๆ.  แต่เราต้องทำความเข้าใจความหมายของสันโดษให้ดีสักหน่อย,  พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนแต่สันโดษอย่างเดียว,  ในที่อื่นทรงสอนให้บุคคลพยายามทำการงาน  ไม่ให้เกียจคร้านก็มีอยู่.

        ผู้ตีความหมายของธรรมสองประการนี้ไม่ถูก  อาจเหมาว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมขัดกันเองก็เป็นได้  ซึ่งที่แท้จริง  เปล่าเลย!  พระองค์ทรงสอนให้บุคคลเป็นผู้สันโดษ  ก็เพื่อสอนให้รู้จักประมาณ  ไม่ให้ทะเยอทะยาน  ในสิ่งที่จะให้เกิดความโลภ  จนไม่สิ้นสุด  อันเป็นทางที่จะให้เกิดความทุกข์ร้อน  ยิ่งกว่าความสุขใจ,  และเป็นทางที่จะนำไปสู่หายนะ  มากกว่าวัฑฒนะ;  เพราะธรรมดาของความโลภนั้นไม่มีขีดจำกัดวัดประมาณ  ว่าเพียงเท่าไหนจึงจะพอของเขา ;  ยิ่งได้ก็ยิ่งโลภ  จนหนักเข้าก็ทำตัวของตนเป็นเครื่องจักแห่งความโลภไป. 

        เครื่องจักรแห่งความโลภนี้  จะหมุนเรื่อยไปโดยไม่มีเวลาหยุด  จะหยุดก็ต่อเมื่อหมดฟืน  หมดน้ำมัน  หมดน้ำมันแล้วเท่านั้น  คนโลภจนหาขีดขั้นไม่พบ  ก็เหมือนกันมักจะมีชีวิตไปลงด้วยความไม่สมใจ  ไม่สมประสงค์.  นโปเลียน เพราะโลภเกินไป  ในที่สุดก็ต้องเป็นมหาราชที่เขาเนรเทศ  ให้ไปพอใจอยู่ในวงจำกัดบนเกาะเล็กนิดเดียว.  นายเหตุผล  คงมีความรู้พอที่จะทราบถึงประวัติของคนที่ไม่รู้จักประมาณ  เช่นทำนองนี้อีกมากมาย  ที่มีชีวิตไปจบลงในสถานะอันน่าสลด.

        สันโดษสอนให้คนรู้ประมาณในฐานะของตน  ว่าตนมีฐานะเพียงไหน  สันโดษสอนให้รู้ว่า  อะไรเป็นความต้องการหรือ Demand ของตน  แต่ไม่ให้ทะเยอทะยานเกินฐานะ  หรือความต้องการของตนไป;  เพราะเขาว่า  "ไม้สูงกว่าฐานนานไปล้ม"  เราต้องเข้าใจว่าการปฏิบัติศาสนานั้น  มีเป็นขั้น  เป็นชั้น  ตั้งแต่ต่ำไปหาสูง.  ธรรมทุกๆ อย่างของพระพุทธเจ้า  ก็ต้องปฏิบัติกันตามขั้นตามชั้น,  เช่น  เราซึ่งเป็นคฤหัสถ์  หรือผู้ยังมีน้ำใจหนักไปในทางโลก  ยังถือตน,  ถือพวก,  ถือชั้นถือชาติ  ก็ต้องปฏิบัติให้สมกับฐานะนั้นๆ,  จะให้เหมือนกับผู้ที่มีจิตพ้นจากทิฏฐิของโลก  หรือผู้ซึ่งเห็นโลกทุกชาติทุกชั้นเป็นพี่น้องร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย.  หรือผู้ที่ไม่มิกิเลสให้ถือตัว,  ถือพวก,  ถือชาติ  แล้วนั้นหาได้ไม่.

        จริงอยู่  ธรรมของพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเป็นโอสถที่ดีที่ใช้ได้  ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่  แต่เราต้องจำไว้ว่า  การใช้ยาต้องต่างกันตามกำลังและอายุ.  เด็ก ๑ ขวบ ๒ ขวบ จะใช้ยาแม้ขนานที่ใช้ได้ทั่วไป  โดยน้ำหนักอันเดียวกับคนที่มีอายุ ๔๐ หรือ ๕๐ แล้ว หาได้ไม่.  การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน  ถ้าไม่รู้เท่าก็ให้โทษมากเท่ากับให้คุณ.  เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่  และผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็ก,  เราที่ยังมีหน้าที่และการงานเกี่ยวอยู่กับชาติและรัฐบาล  ไม่เหมือนกับพวกที่เขาพ้นจากหน้าที่และการงาน  เช่นนั้นแล้ว,  และพวกที่เขาพ้นจากหน้าที่และการงานเช่นนั้น  ก็ไม่เหมือนกับเราที่ยังเกี่ยวข้องกับการงานและหน้าที่เช่นนั้นอยู่

        พวกที่เขาหมดกังวล หมดภาระหน้าที่ที่เกี่ยวกับชาติ เกี่ยวกับรัฐบาล  เขาจะสันโดษจนถึงที่สุด  แม้เพียงมีข้าวกินวันละมื้อ  มีผ้านุ่งห่มอย่างละผืนก็ใช้ได้,  เขาอาจมีความสุขใจภายใต้รัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด.  แต่เราหรือ นายเหตุผล จะสันโดษเช่นนั้นได้ไหม? ไม่ได้ ยังไม่ได้แน่,  ในเมื่อเรายังรักชาติบ้านเมือง  ยังรักที่จะถือรัฐบาล  แม้เช่นนั้นเราก็อาจปฏิบัติสันโดษได้ตามฐานะ  และหน้าที่ที่จะไม่ทำให้เราเดือดร้อน  เนื่องจากสันโดษเกินไป  หรือไม่พอดีกับความต้องการของเรา.  ความพอดี  ความรู้จักประมาณในอันที่จะเดินสายกลาง  เป็นคำสอนของพุทธศาสนาและเกือบทุกศาสนา  พึงเข้าใจไว้! 

        ทีนี้ นายเหตุผล จะตั้งคำถามว่า  "ถ้าหากว่าชาวไทยพากันปฏิบัติสันโดษชั้นสูงสุด  ถึงกับว่าพอมีข้าวกินวันละมื้อ  หรือมีผ้านุ่งผ้าห่มอย่างละผืนแล้ว  ผลจะเป็นอย่างไร?"  ขอตอบว่า  ถ้าหากการณ์เช่นนี้  จะเป็นไปได้จริง  ชาวไทยก็จะเป็นชาติที่สุขที่สุดในโลก  โดยไม่ต้องมีพวก มีชั้น มีชาติ และรัฐบาล;  เขาจะมีชีวิตที่สุขอยู่ในโลก;  เขาจะทำประโยชน์ให้แก่โลก  โดยไม่นึกถึงตัวและรางวัลตอบแทนจนกว่าจะตาย;  เขาจะไม่ต้องร้อนใจที่อยู่ภายใต้รัฐบาลใดๆ.  เพราะเหตุว่าเขาเห็นว่าตัวเขาไม่มีห่วงกังวล  อันจะทำให้เขาติดอยู่ในข่ายแห่งทิฏฐิอันเกิดจากพวก จากชั้น หรือจากชาติ.  และเมื่อเขาเห็นโลกเป็นพี่น้องกันทุกๆ คนแล้ว,  จะมีอะไรให้เขาเป็นทุกข์กับตัว  หรือกับชาติ  หรือกับรัฐบาลอีก.  แต่อย่างไรก็ตาม  ชาวไทยเราจะเป็นไปอย่างนี้ไม่ได้ทุกๆ คนเป็นแน่  เป็นไปไม่ได้เป็นอันขาดทีเดียว.  กรรมจำแนกคนให้ต่างๆ กัน,  เราเกิดมาไม่พร้อมกัน,  เราตายไม่พร้อมกัน  ฉะนั้น  เราจะมีความเห็นความปฏิบัติให้เหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่าง  ในเวลาเดียวกันไม่ได้  ผลไม้ต้นเดียวกันก็ยังสุกไม่พร้อมกัน  บุคคลในโลกซึ่งต่างกันโดยวัย โดยความรู้ และโดยความคิดเห็น  จะให้มีการปฏิบัติและความเห็นเหมือนกัน  ในเวลาเดียวกันไม่ได้-เหลือวิสัย.

        เพราะฉะนั้น  ไม่เห็นจะต้องวิตกอะไรเลยในข้อนี้  ถ้าเรารู้ความหมายของคำว่าสันโดษ  หรือของการปฏิบัติธรรมแล้ว.  เราต้องมาตรองดูเอาเองว่าเรามีวัยมีชั้น  และความคิดเห็นเข้าใจในธรรม  ว่าเพียงไหนจะเหมาะกับเพศภูมิและภาวะของเรา,  แล้วก็ปฏิบัติให้สมกับตำแหน่งหน้าที่ของตน,  เหมือนกับการรับประทานยาให้พอเหมาะกับที่จะรักษาโรคของตนได้  เท่านั้นเป็นพอ  อย่าให้ต้องเกิดทุกข์เพราะรับประทานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป.

        อนึ่ง เรื่องความสันโดษนี้  ไม่ใช่ว่าจะมีสอนแต่ในพุทธศาสนาเท่านั้น  แม้แต่ในศาสนาอื่นๆ เขาก็มี  แต่เขาก็ไม่วิตกอย่าง นายเหตุผล วิตก.  การปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีการบังคับหรือข่มขี่  เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการหาความสุขทางใจ  ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะได้รับ.

        นักปราชญ์ผู้ซึ่งหยั่งเห็นว่า  วัตถุภายนอกไม่อาจเป็นทางที่ให้เกิดสุขจิตสุขใจจริงๆ ได้  เขาจึงพยายามสอนคนโดยวิธีแห่งการปฏิบัติต่างๆ อันเป็นทางนำให้ได้ความสุขใจ.  อย่าเข้าใจว่า  คนที่มั่งมีเป็นเศรษฐีเท่านั้นที่มีความสุข  แลคนจนเท่านั้นที่มีความทุกข์  คนมั่งมี  หรือคนที่เป็นขุนนาง  หรือพระราชามหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในพระราชวัง  อาจไม่ได้รับความสุขใจจากความสูงในฐานะ,  ในความเกิดในเกียรติยศและชื่อเสียง  ในเมื่อเขายังไม่พบความพอของเขา.  แต่คนจนที่พบความพอของตนอาจหาความสุขได้แม้ในกระท่อมน้อยของเขา;  เพราะมงกุฎของกษัตริย์  หรือหมวกใบลานของคนจน  อาจไม่เป็นเครื่องหมายของความสุขหรือความทุกข์ที่ถูกต้องได้.

        ข้าพเจ้าขอให้ นายเหตุผล พิจารณาและตรองดูตามที่ตอบมานี้  แล้ว นายเหตุผล จะตัดสินคำของ นายเหตุผล ที่ว่า  "สู้ศาสนาเจ๊กเขาไม่ได้"  นั้นได้โดยตนเอง.

หมายเลขบันทึก: 87672เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2007 04:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะคุณธรรมมาวุธ

นอนดึกจังหรือว่าตื่นแต่เช้า ? อ่านแล้วเห็นคำว่า" เศรษฐกิจพอเพียง " อย่างชัดแจ๋วเลยค่ะ

ธรรมะสวัสดีค่ะ

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • ผมอ่านแล้วก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกันครับ
  • อย่างผมมิบังอาจตื่นเช้าครับ แหะๆ นอนดึกครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

 

 

แวะมาอ่านตามเคยค่ะ เห็นด้วยนะคะที่ว่าพระพุทธองค์ทรงสอนให้พอประมาณ ให้เดินทางสายกลาง ไม่มากไปไม่น้อยไป แต่ทางสายกลางของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามกรรมและวิบากของตน ดังนั้นแต่ละคนจึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่างกัน ดิฉันคิดว่าอย่างนั้นนะคะ

สวัสดีค่ะ เห็นด้วยกับพารากร๊าฟนี้ค่ะมากๆค่ะ

สอนให้รู้จักประมาณ  ไม่ให้ทะเยอทะยาน  ในสิ่งที่จะให้เกิดความโลภ  จนไม่สิ้นสุด  อันเป็นทางที่จะให้เกิดความทุกข์ร้อน  ยิ่งกว่าความสุขใจ,  และเป็นทางที่จะนำไปสู่หายนะ  มากกว่าวัฑฒนะ;  เพราะธรรมดาของความโลภนั้นไม่มีขีดจำกัดวัดประมาณ  ว่าเพียงเท่าไหนจึงจะพอของเขา ;  ยิ่งได้ก็ยิ่งโลภ  จนหนักเข้าก็ทำตัวของตนเป็นเครื่องจักแห่งความโลภไป

ยินดีต้อนรับครับคุณ
P
  • ได้ทราบว่าคุณพี่ใกล้ชิดวัดวา และปฏิบัติธรรม
  • อนุโมทนาสาธุด้วยครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท