@Moui
ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ

มหกรรมที่รอคอย .. งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ระหว่าง 30 มีนาคม 2550 ถึง 8 เมษายน 2550


ใครว่าคนไทยไม่รักการอ่านหนังสือนะ !

หลังจากดิฉันทำงานหนักติดต่อกันมาหลายเดือน ประกอบกับมีความจำเป็นในการควบคุมการใช้จ่าย ดิฉันจึงต้องตัดกิจกรรมหรรษาอย่างเคยมีมาในอดีตทิ้งไปหลายอย่าง จนในที่สุด เหลือเพียงกิจกรรมที่เปลืองเงินแต่ตัดไม่ลงเสียที นั่นก็คือ การไปเดินหาหนังสืออ่านในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติค่ะ

ดิฉันต้องออกตัวก่อนว่า เป็นหนอนตัวยง อ่านมันทุกอย่าง สากกะเบือยันเรือรบ อ่านจนแน่ใจแนวทางการอ่านของตัวเองได้ และรู้ช่วงอารมณ์ของตัวเองดีด้วยว่า ณ อารมณ์เช่นนี้ ความเครียดแบบนี้ ดิฉันจะปลดปล่อยตัวเองให้หลุดจากความเป็นจริงได้ ด้วยหนังสือแนวทางไหนบ้าง

และอย่างที่เกริ่นค่ะ มีเหตุจำเป็นต้องให้มีการรัดเข็มขัด การหาซื้อหนังสืออ่านแบบเดิม จำเป็นต้องปรับปรุง คือไม่สามารถจะซื้อมาอ่านทิ้งอ่านขว้างได้ การเลือกหนังสือแต่ละเล่ม มันเป็นความบันเทิงแกมโหดร้ายไปอย่างช่วยไม่ได้

ประกอบกับ ภาวะอันอึมครึมในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความไร้จริยธรรมต่อกันและกันในหมู่คนด้วยกัน ภาวะของโลกอันโหดร้าย (Violance Earth) มันทำให้สุขภาพจิตดิฉันเสื่อมโทรมไปสุดๆ ค่ะ รับตรงๆ ว่า ออกแนวซึมเศร้าเลย ยังบอกกับเพื่อนไปว่า สงสัยเราจะบริโภคข่าวสารมากไป แล้วข่าวสารมันเป็นพิษ จิตใจเลยหดหู่

เพราะฉะนั้น เมื่อวันนี้ได้ไปปลดปล่อยจิตวิญญาณ ไปกับหมู่หนอนด้วยกันที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดิฉันรู้สึกโล่งโปร่งใจ เหมือนได้ไปพักตากอากาศต่างแดนเลยนะคะ สวรรค์ขนาดนั้นเลยขอบอก แม้จะได้ไปตากอากาศแค่ 4 ชั่วโมงก็ตาม

ขอเล่าบรรยากาศในงานให้ฟังนะคะ

เวลา 3 p.m. ดิฉันตัดสินใจไปศูนย์ประชุมฯ ด้วยรถไฟใต้ดิน เพราะรู้ว่า

  • หาที่จอดรถยากมาก
  • รถติดมาก
  • เดินหารถเมื่อยอีกต่างหาก

ดิฉันเตรียมการเดินทางไปงานสัปดาห์หนังสือเป็นอย่างดี ด้วยการ

  • เตรียมเงินสดไปจำนวนหนึ่ง
  • ใส่รองเท้าแบบไม่กัด และเดินทนได้
  • เตรียมกระเป๋าสะพายให้สะดวก ไม่ถูกล้วงง่าย
  • เอากล่องพับ-กางออกใช้ลากได้ติดไปด้วย

เมื่อเข้าไปในสถานี จึงรู้ว่า ปัจจุบันเขามีการตรวจข้าวของผู้โดยสารที่มีสัมภาระมาด้วย จึงขอเตือนท่านที่จะไปงานวันถัดๆ ไปให้ทราบนะคะว่า จะต้องโดนตรวจค้น (หยาบๆ) อาจจะทำให้ท่านเสียเวลา และการจราจรในรถไฟใต้ดินติดขัดได้ค่ะ

ดิฉันไปถึงสถานีเป้าหมายในเวลา 3.15 p.m. เห็นจะได้ แต่ปรากฏว่า ทางผู้จัดงาน กั้นมิให้ผู้มาเข้าง่าย เข้าไปหาหนังสือได้ในทันที เนื่องจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสร็จเป็นองค์ประธานเปิดงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งพระองค์ท่านทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกครั้งอยู่แล้วน่ะค่ะ  

ดังนั้น ทุกคนจึงจำเป็นต้องรออยู่รอบนอก (แต่ก็ยังคงอยู่ภายในอาคารกันนะคะ) พระองค์ท่านเสด็จกลับ ช่วงเวลาประมาณ 5.15 น. จากนั้น พวกเราที่รอกันอยู่จึงได้กรูกันไปหาสำนักพิมพ์ในดวงใจของแต่ละคน (อย่างกับหนอนแตกรังเลยค่ะ สุดยอด) อ้อ ขณะที่รอกันข้างนอก ไม่มีใครบ่นเรื่องต้องรอเลยนะคะ

ส่วนตัวดิฉันเอง ความที่เป็นคนอยู่ไม่สุข ถ้าต้องทนรอขนาดนั้น คงขาดใจ จึงเข้าไปแวะร้านนายอินทร์ ที่อยู่บริเวณชั้นล่าง (ใกล้ห้องน้ำ) หาซื้อหนังสือจำนวน 4 เล่มอ่านขัดตาทัพไปก่อนระหว่างรอค่ะ

พอเข้างานได้ ดิฉันก็ตรงดิ่งไปที่ hall ใหญ่ตรงกลาง .. ไม่ได้แวะร้านหนังสือนานมากแล้วค่ะ .. พอเข้าไปเจอศูนย์รวมสำนักพิมพ์ มันก็อดประหม่าไม่ได้ ไม่รู้จะหันไปทางซ้าย หรือจะเดินไปทางขวาดี แต่ก็สรุปว่า เดินมันทุกแถวนี่ล่ะ เดินไล่เรียง row ไปเลย

ดิฉันได้หนังสือกลับบ้าน เป็นสิบเล่มเลยค่ะ เปลืองเงินไปเยอะ แต่อิ่มอกอิ่มใจมาก จำนวนผู้คนที่เข้ามาเลือกหนังสือก็มากมาย เบียดกันบ้าง เดินเหยียบหัวแม่เท้ากันบ้าง รถเข็นชนกันบ้าง ฯลฯ แต่ต่างคนต่างไม่เคืองกัน รีบเร่งหาสำนักพิมพ์ในดวงใจกันเรื่อยๆ

ตอนที่แวะไปสำนักพิมพ์งานดี เพื่อหาหนังสือของ ว.วินิจฉัยกุล และ แก้วเก้า อ่าน (สองนามแฝงนี้ เป็นของนักเขียนเดียวกันค่ะ ที่แยกนามแฝง เพราะต้องการแยกแนวทางของหนังสือให้ต่างกันออกไป) ก็ไปเจอแฟนหนังสือ คุณ ว. & แก้วเก้า หลายคน เวลาที่เราต้องซื้อหนังสือให้ตรงกับงบที่เตรียมไว้ เราจึงต้องซักถามผู้ขายอย่างละเอียดว่า หนังสือที่เราเลือกมานั้น เป็นแนวไหน การดำเนินเรื่องตรงกับวิธีการดำเนินเรื่องที่เราชอบๆ หรือไม่ ฯลฯ และปกติ ผู้ขายก็มักจะเชียร์หนังสือทุกเล่ม (ก็มันเป็นหน้าที่ของเขา ซึ่งเป็นคนขายนี่คะ เค้าไม่ได้ทำอะไรผิดไปหรอก) แต่เราก็จะอดรู้สึกไม่ได้ว่า เพราะเขาต้องเชียร์นะ หนังสือที่เขาเชียร์ อาจจะไม่สนุกจริงก็ได้ ดังนั้น ผู้อ่านก็จะคุยกันเอง เชียร์หนังสือกันเอง เล่า plot เรื่องให้กันและกันฟัง เป็นที่สนุกสนานค่ะ

ดิฉันออกจากร้านโน้น ผ่านไปร้านนี้ ได้มีโอกาสแวะซื้อหนังสือให้ลูก หลายแนวทาง จากหลายสำนักพิมพ์ และจากหลายประเทศ

มีชุดหนึ่งที่ได้ เป็นวิธีการสอน บวก ลบ เลขค่ะ แต่เป็นการใช้ภาพในการบวก ลบ เป็นหนังสือจากประเทศมาเลเซีย อันที่จริง เราเดินเข้าไปในซุ้มก็จะรู้แล้ว เพราะผู้ขาย นำธงชาติมาประดับล้อมรอบไว้เลย และเพราะลูกชายก็เป็นมาเลเชี่ยนคนหนึ่ง จึงอดไม่ได้ที่จะอุดหนุนหนังสือจากมาเลเซียด้วย ปรากฏว่า ไปคุยถูกคอกับเจ้าของค่ะ เขาเลยลดราคาให้พิเศษจากที่ลดอยู่แล้วไปอีก 10% แถมดิฉันยังไปขอธงชาติมาเลเซียที่เขาเอามาประดับซุ้ม 1 ธงมาให้ลูกชาย จะได้ให้เขารู้จักธงสองประเทศ ประเทศของพ่อ และประเทศของแม่ ประเทศที่เป็นทั้งเพื่อนบ้าน และเป็นคู่แข่งกันในที แต่ที่สุดแล้ว ทั้งสองประเทศนั้น ก็อยู่บนโลกใบเดียวกัน หนีกันไม่พ้น

หนังสือของลูกจากสิงค์โปร์ ก็เป็นหนังสือน่าสนใจอีกค่ะ แต่เท่าที่ scan หนังสือภาษาอังกฤษของเด็กเร็วๆ จะพบว่า หนังสือสอนเด็กเล็ก ภาษาอังกฤษของสิงค์โปร์ จะอ่านยากกว่าของมาเลเซีย และทั้งสองประเทศนั้น จะอ่านยากกว่าของไทยเป็นอย่างมาก  ในขณะที่หนังสือภาษาอังกฤษของฝรั่งแท้ๆ จากค่าย Scholastic หรือค่ายอื่น จะอ่านง่ายกว่า สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ราคาของหนังสือนำเข้าที่แพง ทำให้ผู้ขายไม่สามารถนำหนังสือหลากหลายประเภทมาขายได้ เราจึงถูกบังคับให้เลือก จากการที่ผู้นำเข้าได้เลือกหนังสือมาให้เราอ่านค่ะ

ส่วนหนังสือเด็กที่เป็นภาษาไทยนั้น แตกต่างจากหนังสือเด็กในยุคที่ดิฉันเป็นเด็กหญิงเล็กๆ อย่างมาก อดไม่ได้ที่จะรู้สึกดีใจแทนเด็กยุคนี้ ที่ได้อ่านหนังสือน่าอ่านเยอะแยะไปหมด แต่ก็อดสะท้อนใจไม่ได้ว่า เด็กรุ่นใหม่ ต้องถูกใช้กลวิธีมากมายจูงใจเพื่อให้อ่านหนังสือ ต่างกับเด็กยุคเก่า ที่หนังสือก็คือหนังสือพื้นๆ ไม่ได้มีลูกเล่นอะไรมากมาย

จากประสบการณ์เป็นหนอนในทุกสัปดาห์หนังสือ ความเปลี่ยนแปลงอีกอันหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดขึ้นในระยะเวลา 5 ปีมานี้ก็คือ หนังสือสำหรับเด็ก (ที่ไม่ใช่หนังสือสอบเทีียบ หนังสือเตรียมสอบเข้าต่างๆ หรือพวกหนังสือคู่มือ) มีจำนวนเพิ่มมหาศาลค่ะ วันนี้ที่เห็น ก็มีสำนักพิมพ์มาออกร้านนับไม่ถ้วนเลย ต่างก็มีหนังสือน่าซื้อ มีลูกเล่นอะไรต่างๆ เยอะแยะ มาจูงใจให้จ่ายอีกเพียบ

เล่าแล้วก็สนุก อยากไปอีก แต่คงไม่ไปซ้ำในรอบนี้แล้วค่ะ เพราะงบที่ตั้งไว้นั้น ใช้เกินไปเรียบร้อยแล้ว และจะว่าไปแล้ว ก็ได้หนังสืออย่างที่อยากได้มาครอบครองนอนกอดให้สุขใจ แต่ประสาหนอน ก็อยากมาเล่าสู่กันฟัง อยากให้เมืองไทยมีหนอนเยอะๆ เยอะกว่าที่มีในตอนนี้ เมื่อคนไทยมีการอ่านมากขึ้น ก็ย่้อมมีการ digest มากขึ้น ดิฉันแอบหวังว่า คนไทยจะมีวิจารญาณในการรับ และส่งสารกันได้ดีกว่าในทุกวันนี้ และถ้าทำได้เช่นนั้น คนไทยก็น่าจะรู้จักคำว่า "สมานฉันท์" ดีกว่าทุกวันนี้แน่ค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 87666เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2007 03:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 12:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ดิฉันไปงานสัปดาห์หนังสือเมื่อวันเสาร์ ตั้งใจจะไปฟังการบรรยาย เรื่อง เขียนหนังสืออย่างไรให้ได้รางวัล ดีใจจังที่ได้รู้จักหน้าตาคุณ ก้องภพ รื่นศิริ ที่กวาดรางวัลกลุ่มหนังสือกวีนิพนธ์ในปีนี้ พูดจาสมกับที่เขียนหนังสือดีเด่น คุณหญิงกุลทรัพย์ท่านเป็นผู้ตัดสินหนังสือกวีนิพนธ์กล่าวชื่นชมว่าคุณก้องภพมีหนังสือสามเล่ม ควรได้รางวัลทุกเล่ม แต่กลัวว่าคนอื่นจะเสียขวัญ จึงตัดสินใจให้ 2เล่ม คือ โคลงนิราศแม่เมาะได้ดีเด่น และบทกวีรักแท้ได้ชมชเย คนอื่นตกกะป๋อง อยากให้สนับสนุนงานกวีนิพนหน่อยค่ะ เสียดายของดีดี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท