ทูตทำอะไรในวันๆหนึ่ง


ชีวิตนักการทูตเพื่อการเรียนรู้

ทูตทำอะไรในวันๆ หนึ่ง 

เช้า-เมื่อเดินทางถึงที่ทำงาน สิ่งแรกที่ทำก็คือการเดินสำรวจความเรียบร้อยของสถานทูต เพราะสถานทูตไทยส่วนใหญ่ไม่มียามรักษาความปลอดภัย (ตามประสาประเทศที่มีงบประมาณน้อย) บางแห่งจะมีเพียงคนดูแลสถานทูตซึ่งก็มักจะเป็นคนเก่าแก่ การเดินตรวจดูสถานทูตถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักการรักษาความปลอดภัยเบื้องต้นที่นักการทูตจะต้องเรียนรู้ทุกคน โดยเฉพาะในยุคที่มีการก่อการร้ายแพร่ระบาดไปทั่วโลก การระวังย่อมดีกว่าไม่ระวังเลย

เมื่อดูว่าทุกอย่างเรียบร้อยก็จะมาดูงานที่โต๊ะทำงานของแต่ละคน นักการทูตทุกคนจะได้รับการฝึกมาอย่างดีว่าอะไรคืองาน งานแต่ละชิ้นมีความสำคัญและลำดับความเร่งด่วนอย่างไร มีวิธีการที่จะดำเนินการอย่างไร เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักการทูตทุกคนปฎิบัติมาอย่างยาวนานจากประสบการณ์ของการประจำการในต่างประเทศ

การตามข่าวในแต่ละวันเป็นงานและเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งของนักการทูตในทุกๆ วัน หลักการก็คือ จะต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศที่เราอยู่และประเทศที่ดูแลด้วย (บางครั้งสถานทูตดูแลประเทศอื่นอีกหลายประเทศ) ก็หมายความว่าในแต่ละวันนักการทูตจะต้องอ่านข่าวหนังสือพิมพ์หลายสิบฉบับทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคมและพิจารณาว่าข่าวใดสำคัญ ข่าวใดมีผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่อย่างไร นอกจากข่าวแล้วก็จะมีโทรเลขที่เข้ามาจากกระทรวงในช่วงกลางคืนหรือจากหน่วยงานอื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาดำเนินการต่อไปตามลำดับความสำคัญ

หลังจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ทุกคนมาถึงสถานทูต โดยเฉพาะท่านทูต ก็จะมีการประชุมหารือของเจ้าหน้าที่ทุกคนเพื่อดูว่างานต่างๆ ที่ทำอยู่มีอะไรต้องติดตาม แก้ไขปัญหารวมทั้งพิจารณานำเรื่องใหม่เข้าสู่การหารือเพื่อมอบหมายและให้มีการดำเนินการต่อไป

การประชุมแบบนี้เป็นการประชุมที่รวมข้าราชการจากทุกหน่วยที่ประจำอยู่ในสถานทูต ไม่ว่าจะเป็นนักการทูตจากกระทรวงการต่างประเทศ ข้าราชการจากกระทรวงพาณิชย์หรือหน่วยราชการอื่นๆ เช่นทหาร ศุลกากร ข่าวกรอง ทุกคนจะร่วมกันคิด ร่วมกันทำงานเป็นทีมที่เรียกว่าทีมไทยแลนด์ เพราะเมื่ออยู่ในต่างประเทศทุกคนเป็นข้าราชการในรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของไทยด้วยกันทุกคน

ในช่วงสายๆ นี้มักจะมีบุคคลต่างๆ มาหาท่านทูต ทั้งบุคคลสำคัญของรัฐบาลของประเทศนั้นหรือคณะทูตประเทศต่างๆ ที่อยู่ในประเทศนั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็จะต้องเข้าร่วมหารือและเพื่อจดบันทึกการสนทนาเพื่อจะรายงานต่อกระทรวงต่อไป หากเป็นการนัดหมายล่วงหน้า เจ้าหน้าที่ก็จะต้องจัดเตรียมข้อมูลและประเด็นการสนทนาเตรียมไว้ให้ท่านทูตล่วงหน้า

ข้อมูลที่เตรียมไว้นี้มีความสำคัญมาก เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เรียกว่าทวิภาคี (หรือสองฝ่าย) นั้นครอบคลุมในทุกๆ เรื่องของประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เจ้าหน้าที่จะต้องไปหาข้อมูลมาให้ได้ว่าภูมิหลังของเรื่องนั้นเป็นมาอย่างไร มีสถานะปัจจุบันอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรและแนวที่จะดำเนินการในอนาคตจะเป็นอย่างไรและสุดท้ายคาดว่าหากทำแบบนี้จะมีผลอย่างใดเกิดขึ้น

ในส่วนของเจ้าหน้าที่กงสุล ก็มีหน้าที่ประจำที่ชัดเจนคือในแผนกวีซ่าจะมีคนมาขอวีซ่าตั้งแต่เช้า รวมทั้งคนไทยที่มาติดต่อในเรื่องที่เกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร์ อันได้แก่ แจ้งต่ออายุหนังสือเดินทาง แจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งแต่งงานแจ้งหย่าแจ้งเปลี่ยนชื่อแจ้งหนังสือเดินทางหาย แจ้งบัตรประชาชนหายจนกระทั่งแจ้งว่าทะเลาะกับแฟนฝรั่ง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นงานประจำของเจ้าหน้าที่กงสุลที่จะต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน ซึ่งในหลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คนไทยมาขอความช่วยเหลือ ไม่เว้นแม้วันหยุดราชการ เช่นหากคนไทยไปเที่ยวในต่างประเทศเกิดทำหนังสือเดินทางหาย เจ้าหน้าที่กงสุลก็จะต้องมาทำงานในวันหยุดเพื่อออกเอกสารเดินทางให้เดินทางกลับประเทศไทย...งานกงสุลในต่างประเทศจึงไม่มีวันหยุด........

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 86911เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2007 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ

ตามมาอ่านแล้วก็มีเรื่องสงสัยตามประสาเจ้าหนูจำไมครับ :D หวังว่าคงไม่โกรธนะครับ

อยากทราบว่ามีหลักการอะไรคร่าวๆ ไหมครับที่กระทรวงต่างประเทศนั้นจะไปเปิดสถานทูต แล้วก็ความแตกต่างระหว่างสถานทูตกับสถานกงสุลนั้นต่างกันอย่างไรครับ

เข้าใจว่าสถานกงสุลนั้นเล็กกว่าสถานทูต แต่อยากทราบว่ามิติการทำงานนั้นต่างกันขนาดไหนครับ

ขอบพระคุณมากครับ  

ดีครับ การทูตจะได้ลงมาสู่ประชาชนซะที

การจะเปิดสถานทูตไทยในต่างประเทศนั้น พิจารณาจากผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญครับ ถ้ามีผลประโยชน์ของประเทศ เราก็จะไปเปิดสถานทูตเพื่อดูแล ปกป้องผลประโยชน์นั้น

ผลประโยชน์ที่ว่าก็ได้แก่ผลประโยชน์ทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ การทูต เศรษฐกิจ การค้าและอื่นๆ รวมทั้งการไปรักษาผลประโยชน์ของคนไทยในต่างแดน

สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานทูตนั้นคือที่ทำการหรือที่ทำงานของเอกอัครราชทูต(หรือที่เรียกกันว่าทูต)ซึ่งเป็นตัวแทนระดับสูงสุด(ของไทยได้แก่ข้าราชการระดับซี 10 หรือ 11)ของประเทศหนึ่งในอีกประเทศหนึ่ง ทำหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ในทุกมิติ ทั้งทวิภาคีและพหุภาคีและตามปรกติสถานเอกอัครราชทูตจะตั้งอยู่ในเมืองหลวงของอีกประเทศ.......เช่นไทยกับลาว ก็มีสถานทูตของแต่ละฝ่ายตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและเวียนจันทน์

ส่วนสถานกงสุลนั้นก็เป็นเจ้าหน้าที่การทูต(ข้าราชการระดับซี 9 )หรือกงสุลใหญ่ ที่ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลงานกงสุลของประเทศในอีกประเทศหนึ่ง การตั้งสถานกงสุลมีหลักการแคบกว่าสถานทูตตรงที่สถานกงสุลจะดูแลผลประโยชน์เฉพาะด้านเช่นเรื่องการค้า การลงทุนและดูแลคนไทยและผลประโยชน์คนไทยในประเทศนั้นเท่านั้น

 ตามปรกติสถานกงสุลจะไม่ตั้งในเมืองหลวงแต่จะตั้งตามเมืองใหญ่หรือเมืองท่าธุรกิจที่ไทยมีผลประโยชน์เด่นชัด ในประเทศใหญ่ๆ เช่นสหรัฐฯ จีน อินเดีย จึงมีทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทย 1 แห่งในเมืองหลวงและสถานกงสุลใหญ่หลายแห่งก็ได้ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของไทยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

นอกจากสถานกงสุลแล้ว ในบางประเทศที่กว้างใหญ่ เช่นสหรัฐฯ แต่มีคนไทยอาศัยกระจายกันอยู่ไม่น้อยในบางเมือง ซึ่งไทยเรายังไม่สามารถไปตั้งสถานกงสุลได้ ก็อาจจะจะมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ดูแลแทนก็ได้..โดยตั้งให้คนท้องถิ่นทำหน้าที่กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยซึ่งจะมีอำนาจเฉพาะเรื่อง เช่นการออกวีซ่าเข้าประเทศไทย....เป็นต้น

ตัวแทนทางการทูตของประเทศไทยในต่างประเทศจึงมี 3 แบบคือ สถานเอกอัครราชทูต (ซึ่งรวมเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ จากหน่วยงานอื่นด้วย เช่นพาณิชย์ ทหาร ฯลฯ) สถานกงสุลใหญ่ และสถานกงสุลกิติมศักดิ์ ตามลำดับความสำคัญและระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ.........ผมเล่าโดยสรุปมากนะครับ วันหลังจะได้ทะยอยเล่าไปเรื่อยๆ ครับ

ด้วยความยินดีครับ

สวัสดีครับ

ขอบพระคุณมากครับที่ได้ให้ความกระจ่างครับ :D

ว่าแต่ ที่บอกว่า คนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่กงสุลกิตติมศักดิ์นั้น จำเป็นต้องเป็น citizen หรือถือสัญชาติประเทศนั้นหรือเปล่าครับ

ที่สงสัยเพราะว่า สมมติว่าอย่างคนไทยไปทำงานอยู่เมืองใดเมืองหนึ่งนานแล้ว อย่างนี้จะได้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ได้หรือเปล่าครับ

 

ตามปรกติจำเป็นต้องเป็นคนสัญชาติของประเทศนั้นครับเพราะการเป็นกงสุลกิติมศักดิ์นั้นเพื่อเป็นตัวแทนดูแล ส่งเสริมผลประโยชน์และความสัมพันธ์อันดีของประเทศทั้งสอง เช่นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำนิวยอร์ค ก็เป็นคนอเมริกัน หรือกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำมาดากัสการ์ก็เป็นคนสัญชาติมาดากัสการ์.....ตำแหน่งกงสุลแบบนี้จึงเป็นตำแหน่งที่เป็นเกียรติยศมากกว่า จึงไม่มีการจ่ายเงินเดือนครับ (หากจะมีรายได้จะมาจากค่าวีซ่าเข้าประเทศไทยที่อนุญาติให้กงสุลกิตติมศักดิ์เก็บได้ตามที่ไทยกำหนดเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานของกงสุลกิติมศักดิ) เราจึงจะพิจารณาเลือกจากคนท้องถิ่น(สัญชาติของประเทศนั้น)ที่มีชื่อเสียงดีงาม เป็นที่ยอมรับของสังคมและมีธุรกิจหรืองานที่มีเกียรติ์อยู่แล้ว (มีสำนักงานอยู่แล้ว)อาจจะเป็นทนายความ นักธุรกิจ ฯลฯ และที่สำคัญสามารถเป็นผู้ประสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศได้ด้วย.......คนไทยเราก็มีหลายท่านที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศต่างๆ ให้เป็นกงสุลกิติมศักดิ์ของต่างประเทศ......ในประเทศไทย......

หวังว่าคงได้คำตอบนะครับ

ด้วยความปรารถนาดี

สวัสดีครับ

เข้าใจแล้วครับ ขอบพระคุณมากครับ :D

แนะนำให้เข้าไปดูแผนที่โลกของกรมการกงสุลได้ที่เว็บไซด์ www.consular.go.th  ซึ่งเป็นแผนที่ ที่แสดงที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่งโลกทั้ง 90 แห่งครับ จะทำให้ทราบว่า ในแอฟริกา ไทยเรามีสถานทูต/สถานกงสุลกี่แห่งและอยู่ที่ไหนบ้าง.....เป็นต้น

ด้วยความปรารถนาดี

พลเดช

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท