เก็บตกจากเกาหลี


อันยองฮาเซโย แปลเป็นไทยว่า สวัสดีตอนเช้า / กลางวัน / เย็น

                ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณลุงของฉันซึ่งเป็นผู้อำนวยการ สกสค. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ)ได้เดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศเกาหลี  หลังจากกลับมาฉันจึงไปนั่งคุยด้วยเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้

                ท่านเล่าให้ฟังว่า ที่เกาหลีมีแฟลตมากมายเต็มไปหมด ได้รับคำอธิบายจากไกด์ว่า เกาหลีเป็นดินแดนที่มีหุบเขามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก บริเวณที่เป็นภูเขากินพื้นที่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ดังนั้นพื้นที่ราบจึงเหลือไว้สำหรับการเกษตร ทำให้ที่ดินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยแพงมาก ผู้ที่จะสามารถเป็นเจ้าของบ้านพักบนพื้นที่ราบได้ต้องมีฐานะดี ประชาชนส่วนใหญ่จึงอาศัยในแฟลตหรือคอนโดมิเนียม เพราะมีราคาถูก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับแฟลตหรือคอนโดมิเนียมในบ้านเรา ก็ยังนับว่าแพงอยู่ดีเพราะค่าครองชีพที่กรุงโซลซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้น สูงกว่าเมืองไทยถึงสามเท่าตัว

                เนื่องจากที่ดินมีราคาแพงและค่าครองชีพสูง จึงมีแฟลตและคอนโดมิเนียมสำหรับเช่าผุดขึ้นอย่างมากมายตามพื้นที่ราบ และแถบเชิงเขาซึ่งเป็นพื้นที่ที่แข็งแกร่งด้วยหินแกรนิต เจ้าของแฟลตหรือคอนโดมิเนียมเหล่านั้น จะให้เช่าแบบกำหนดระยะเวลาแน่นอน โดยเรียกเก็บเงินค่าเช่าทั้งหมดล่วงหน้ารวมเป็นก้อนเดียว ผู้เช่าจึงไม่ต้องชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่า เจ้าของแฟลตจะคืนเงินค่าเช่าเท่ากับจำนวนที่เก็บครั้งแรกให้แก่ผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อ ก็ต้องปฏิบัติเช่นเดิม  

                แรกทีเดียว ฉันสงสัยว่าทำเช่นนี้จะได้ประโยชน์ทางธุรกิจอย่างไร ต่อมาได้รับคำอธิบายว่า หากเราใช้เงินก้อนหนึ่งที่มีอยู่ ลงทุนสร้างแฟลตหรือคอนโดมิเนียม นอกจากจะได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังสามารถใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นรวบรวมเงินก้อนเดิมกลับมา เพื่อนำไปลงทุนต่อในรูปแบบอื่นได้อีก

                สำหรับผู้เช่า เมื่อครบกำหนดตามที่ตกลงกันไว้ จะได้รับเงินคืนทั้งหมด เท่ากับว่าสามารถอยู่ได้ฟรี อย่างนี้เรียกว่าทั้งสองฝ่ายมีแต่ได้กับได้

            เมื่อนำแนวคิดของธุรกิจนี้มาเทียบเคียงกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทย ฉันเห็นว่าไปด้วยกันได้ เพราะเป็นการลงทุนแบบมีภูมิคุ้มกัน ไม่จำเป็นต้องนำเงินไปทุ่มกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากแต่เพียงคิดให้รอบคอบ นอกจากสามารถป้องกันความเสี่ยงได้แล้ว ยังจะได้รับประโยชน์กลับคืนมากขึ้นอีกด้วย 

                คงจะดีไม่น้อย หากมีใครคิดนำธุรกิจรูปแบบนี้มาประยุกต์ใช้ในบ้านเราบ้าง

 
หมายเลขบันทึก: 85305เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2007 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท