เรื่องเล่าจากดงหลวง 53 ทุนหายกำไรหด


เด็กที่เกิดมายุคความเสื่อมถอยเหล่านี้ โดยไม่มีแบบอย่างที่ดีให้เปรียบเทียบ ไม่มีผู้ปกครองคอยแนะนำสิ่งที่ถูกต้อง ระบบการศึกษาไม่ได้ชี้แนะสิ่งดีงาม ไม่มีใครในสังคมมาวิภาควิจารณ์ให้กระจ่าง ก็เท่ากับเป็นเบ้าหลอมให้เด็กยุคใหม่นี้คุ้นเคยกับพฤติกรรมเหล่านั้น เห็นเป็นเรื่องปกติ ธรรมดาของสังคม ดังนั้นความเสื่อมทรุดของทุนทางสังคมเดิมจึงมีอัตราเร่งมากขึ้น

ทุนทางสังคม : ทุนทางสังคมมีความใกล้เคียงกับคำว่า วัฒนธรรมชุมชนซึ่งมีนักวิชากรให้ความหมายไว้หลายท่าน หมายรวมถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่นระบบคิด ความเชื่อ ค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคม คือความสามัคคี ความมีน้ำใจ การเสียสละเพื่อส่วนรวม นอกจากนี้ก็หมายถึงภูมิปัญญา ระบบความรู้ และยังหมายถึงสิ่งที่เป็น ระเบียบ กฎเกณฑ์ จารีตต่างๆอีกด้วย 

ทุนที่มีอยู่: ผู้บันทึกมีส่วนในการเก็บข้อมูลเพื่อการประเมินผลทุนทางสังคมให้กับ ธนาคารโลก เมื่อปี 47-48 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมี ดร.มณีมัย ทองอยู่ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าทีม ผลการศึกษาพบว่า

·      ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน คุณลักษณะผู้นำ ความสามารถในการจัดการกลุ่ม องค์กรในชุมชนล้วนมีอิทธิพลต่อความร่วมมือในประเพณีในหมู่บ้านไทยในปัจจุบัน

·      ในหมู่บ้านที่ได้รับโครงการเพื่อทุนทางสังคม เครือข่ายเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการสื่อสาร ส่วนในหมู่บ้านที่ไม่ได้รับโครงการทุนทางสังคม พบว่าการมีกลุ่มและองค์กรที่เข้มแข็งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในชุมชนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันมากขึ้น

·      ในหมู่บ้านที่ได้รับโครงการเพื่อทุนทางสังคม เครือข่ายเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อแรงยึดเหนี่ยวของสังคม ส่วนในหมู่บ้านที่ไม่ได้รับโครงการทุนทางสังคม พบว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเป็นปัจจัยที่ที่มีผลกระทบต่อแรงยึดเหนี่ยวของสังคม

·      ในหมู่บ้านที่ได้รับโครงการเพื่อทุนทางสังคม การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และแรงยึดเหนี่ยวทางสังคมชุมชนมีผลทำให้อำนาจประชาชนและชุมชนเพิ่มขึ้น หมู่บ้านที่ไม่ได้รับโครงการทุนทางสังคม พบว่าอำนาจของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากความร่วมมือและการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เช่นการทำกิจกรรมประเพณีและศาสนา และเครือข่าย  ส่วนในหมู่บ้านที่ไม่ได้รับโครงการทุนทางสังคม พบว่าเครือข่ายที่มีผลโดยตรงต่ออำนาจประชาชน และเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นปัจจัยร่วมที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอำนาจประชาชน 

2.       ทุนที่กำลังร่อยหรอลงไป:  น่าดีใจที่ผลการศึกษายืนยันถึงการที่สังคมไทยมีทุนทางสังคมอยู่ในด้านต่างๆแต่ที่น่าเสียดายที่งานวิจัยนี้ไม่ได้ศึกษาในแง่มุมการเปลี่ยนแปลงของทุนทางสังคม ซึ่งเรารู้ เราเห็น เราสัมผัสได้ว่าทุนต่างๆเหล่านั้นกำลังร่อยหรอลงไปทุกวันๆ ด้วยกระแสทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ ตัวอย่างง่ายๆ

·      การคิดค่าแรงงานแทนการลงแขก หรือเอามื้อเอาแรงกัน

·      การไม่ไว้วางใจกันมีมากขึ้น

·      ผู้นำชุมชนตกเป็นเครื่องมือนักการเมืองมากกว่าจะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนแบบเดิม

·      ความเป็นเครือข่ายทางระบบญาติ ซึ่งถือว่าเป็นแรงเหนี่ยวรั้งทางสังคมที่ดีมากนั้นกำลังเสื่อมถอยลงไปมาก เพราะทางเครือญาติไม่มีกิจกรรมใดๆที่ทำให้มาเกาะเกี่ยวกัน เหมือนเดิม เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนไป

·      การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันลดลง เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป 

·      เมื่อวิถีชีวิตจำเป็นต้องพึ่งพาระบบเงินตรามากขึ้น สังคมชุมชนชนบทก็จำเป็นต้องใช้เงินตรามากกว่าแต่ก่อน คนหนุ่มสาวออกจากบ้านไปหางานทำเพื่อเงิน การออกจากบ้านไปนานๆระบบครอบครัวก็สั่นคลอน ลดความเป็นเอกภาพลง และผลกระทบอื่นๆตามมา

·      พ่อแม่ ไม่ได้อยู่กับลูกหลาน เพราะแยกครอบครัวไปเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

·      ประเพณีชุมชนต่างๆลดการถือปฏิบัติลงมา และหรือเมื่อปฏิบัติก็เป็นเพียงพิธีกรรมแต่ไม่เข้าใจความหมายด้านลึกของสิ่งนั้น

·      ความเข้มข้นของแก่นการปฏิบัติทางศาสนาลดลงเพียงการระบุในเอกสารทางราชการว่านับถือศาสนาพุทธ

·      ระบบการศึกษามุ่งเน้นความสำเร็จทางความรู้มากกว่าหรือไม่ได้สร้างให้เกิดการควบคู่ไปกับจริยธรรม คุณธรรม

·      รัฐมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไปที่ GDP หรือค่าของเงินตราต่อครัวเรือน แต่ไม่ได้วัดความเจริญของประเทศที่คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม

·      "สนิมเกิดแต่เนื้อใน" เช่น พระผิดศีล  ครูทำอนาจารศิษย์  พ่อล่วงเกินเพศบุตรสาว แพทย์ทำลายจรรยาบรรณ นักการเมืองคอรัปชั่นประเทศ 

·      ฯลฯ 

 3.       ดงหลวงหรือจะรอดพ้น: เดี๋ยวนี้ทุกซอกหลืบของประเทศของเราก็หนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ต่างกันที่มากน้อย และสาระที่เปลี่ยนไปเท่านั้น ดูได้จากพฤติกรรมวัยรุ่น การแต่งกาย ระบบคิดที่พูดคุยกันออกมา การปฏิบัติต่อกัน การให้คุณค่าของประเพณีดั้งเดิม ฯลฯ

แต่อย่างไรก็ตามน่าเป็นห่วงว่าเด็กที่เกิดมายุคความเสื่อมถอยเหล่านี้ โดยไม่มีแบบอย่างที่ดีให้เปรียบเทียบ ไม่มีผู้ปกครองคอยแนะนำสิ่งที่ถูกต้อง ระบบการศึกษาไม่ได้ชี้แนะสิ่งดีงาม ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ "ของดีที่มีอยู่" ไม่มีใครในสังคมมาวิภาควิจารณ์ให้กระจ่าง ก็เท่ากับเป็นเบ้าหลอมให้เด็กยุคใหม่นี้คุ้นเคยกับพฤติกรรมเหล่านั้น เห็นเป็นเรื่องปกติ ธรรมดาของสังคม ดังนั้นความเสื่อมทรุดของทุนทางสังคมเดิมจึงมีอัตราเร่งมากขึ้น 

คำสำคัญ (Tags): #ทุนทางสังคม
หมายเลขบันทึก: 85302เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2007 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
อาจารย์บางทรายค่ะ  ขอคุณนะค่ะที่เข้ามาทักทายหนู   ยินดีที่ได้รู้จักกับอาจารย์นะค่ะ  ถ้าหนูมีอะไรสงสัย  หนูขอคำแนะนำจากอาจาย์บ้างนะค่ะ
  • สวัสดีครับ poonim
  • ด้วยความยินดีครับ

สวัสดีค่ะคุณบางทราย

ความเสื่อมทรุดของทุนทางสังคมเดิมมีอัตราเร่งมากขึ้น..เมื่อมองดูหลายๆประเทศในโลก ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ จีนก่อนเปิดประเทศส่วนใหญ่ขี่จักรยาน แต่งตัวเรียบง่าย  ปัจจุบันในขณะที่กำลังทะยานขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีอำนาจต่อรองสูงมากในโลกนี้ จีนเปลี่ยนไป จักรยานเริ่มหายไป  โลกของแฟชั่นไหลบ่าเข้าประเทศ  อาหารหลากหลายวัฒนธรรมมากมายที่ทะลักเข้าไป  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถ้าเทียบกับเราแล้วอาจเป็นอัตราก้าวกระโดด..

ภูมิ = แผ่นดิน , ความสง่าผ่าเผย ความองอาจ สวยงาม

ปัญญา = ความรอบรู้ ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด

ภูมิปัญญา = ภูมิ + ปัญญา = ความฉลาดรอบรู้ เพื่อแผ่นดิน..เอ ! หรือจะเป็น แผ่นดินที่อุดมไปด้วยความรอบรู้.. หรือว่าเป็น สง่า องอาจด้วยความฉลาดรอบรู้..หรือว่า รอบรู้ ฉลาด องอาจ สง่า ดี..

ที่เล่นคำไปมาก็เพราะเบิร์ดมองว่าคำๆนี้น่าจะเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ต้องไปให้ถึงเพื่อให้เกิดวัฒนธรรม ( ความประพฤติที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม )ใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีที่จำต้องเปลี่ยนแปลงไปของสังคมน่ะค่ะ..

 
ถ้าพูดถึง ทุนทางสังคม มีขอบเขตกว้างขวางมาก...ถ้าว่ากันในระดับชุมชน คงหมายถึง สิ่งดีงามที่มีอยู่ในชุมชน...ถามชาวบ้านว่ารู้จัก ทุนทางสังคมไหม คงส่ายหัว...ถ้าถามว่า หมู่บ้านมีฮีต คอง ขะลำ อะไรบ้าง คงตอบได้ไม่ยากนัก...แต่สิ่งที่เห็นคือ ฮีต คอง ที่เคยยึดถือ ทำไมค่อยค่อยหายไปทีละอย่างสองอย่าง...ไปตามยุคสมัยซะอย่างนั้น...ฮีตคองที่ได้ชื่อว่าเป็นเสื้อเกราะของชุมชน...ที่เป็นตัวลดแรงกระแทกของการเปลี่ยนแปลงหยั่งกะพายุของคลื่นโลกาภิวัฒน์...กระบวนการขัดเกลาทางสังคมผ่านฮีตคอง...เริ่มอ่อนแอเพราะเหตุใด?...หรือเพราะสื่อที่เย้ายวนใจมันน่าชื่นชมกว่านิทานก้อม ผญา?...หรือการศึกษาพาให้หลงทาง ไม่รู้อะไรต่ออะไร ยิ่งนานไปยิ่งพอกพูน...ทำอย่างไรฮีตคองที่เหลืออยู่จะไม่หายไป...ทำอย่างไรที่หายไปจะกลับมา...ทำอย่างไรที่กลับมาจะไม่หายไปอีก...ทำอย่างไรฮีตคองจะกลายเป็นกระแสหลัก...ถ้าเปรียบบีกเกอร์คือชุมชน ฮีตคองเหมือนน้ำที่อยู่ในบีกเกอร์ เปรียบสิ่งที่คุกคามจากภายนอกเป็นก้อนดินน้ำมัน ที่เคยทดลองทางวิทยาศาสตร์สมัยมัธยม...เมื่อหย่อนก้อนดินน้ำมันลงไปในบีกเกอร์ที่มีน้ำอยู่...ทีละน้อยจนเต็ม พบว่า ดินน้ำมัน ซึ่งมีความหนาแน่นกว่าจะไปแทนที่น้ำ และน้ำจะค่อยค่อยล้นออกมาจนเกือบหมด...เหลือที่ให้น้ำอยู่เพียงเล็กน้อย...ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ดินน้ำมันเข้ามาแทนที่น้ำในบีกเกอร์ได้...ก็คงต้องดูว่าดินน้ำมันเข้ามาทางไหนบ้าง...ในระดับชุมชนคงมีเพียงไม่กี่ชุมชนที่พยายามรักษาฮีตคองของตัวเองผ่านงานพัฒนา...แล้วมีนักพัฒนาพยายามผลักดันนำเสนอให้เป็นกระแสหลักในสังคม...แต่ทว่าแรงผลักดันดูเหมือนจะน้อยกว่าทุนนิยมซึ่งผ่านสื่อ ผ่านการศึกษาในระบบ ที่ทรงพลังมากกว่า...ฤา อำนาจทุนทางสังคม จะแพ้อำนาจทุนนิยม
  • สวัสดีครับคุณ เบิร์ด
  • เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ต้องไปให้ถึงเพื่อให้เกิดวัฒนธรรม ( ความประพฤติที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม )ใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีที่จำต้องเปลี่ยนแปลงไปของสังคมน่ะค่ะ..
  • ผมเห็นด้วยครับ คำนี้ ภูมิปัญญา เป็นคำที่เหมาะกับเรื่องราวดีๆที่แสดงความเป็นไทย และความเจริญงอกงามที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม
  • สิ่งเหล่านี้คือภารกิจของเราที่ต้องคิดอ่านสร้างสรรค์กันต่อไปครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับคุณ ชอลิ้วเฮียง
  • ตรงใจผมครับ การใช้ทุนทางสังคมนั้นเป็นภาษาของนักวิชาการและนักพัฒนาใช้กัน แต่กับชาวบ้านต้องเป็นรูปธรรมอย่างที่คุณกล่าว เห็นด้วยครับ ฮีต คอง นั้นเด็กปริญญาตรีอาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้  อาจจะเคยได้ยินแต่หากจะอธิบายว่านี่คือ วิถีชีวิตของพี่น้องในสังคมเดิมของไทยอีสาน เขาก็อาจจะงงอยู่ แต่ก็มีหลายคนที่เข้าใจได้ดี
  • ผมเห็นด้วยว่าทุนนิยมในมุมที่เป็นผู้รุกรานรากเหง้าเดิมที่ดีของเรานั้น เป็นคำกล่าวและแลกเปลี่ยนกันในเฉพาะกลุ่มผู้ที่สนใจทางด้านนี้โดยเฉพาะ  โดยทั่วไป ทุนนิยมถูกห่อหุ้มด้วยความทันสมัย ความก้าวหน้า อินเทรน.. ซึ่งเป็นเป้าหมายของชีวิคของคนส่วนใหญ่ในสังคมยุคใหม่ และ สื่อทุกชนิดก็ถูกโอบอุ้มค่าใช้จ่ายด้วยความเป็นทุนนิยม  มันจึงสลัดไม่ออก
  • ผมก็ยังมีความเห็นว่าหากเราหันกลับมาเสริมสร้างความเข้มแข็งของทุนทางสังคมอย่างจริงจัง เต็มๆ ก็เชื่อว่าจะสามารถเป็นเสื้อเกราะของชุมชนได้ 
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท